21/03/2557

สุโขไกด์ ┊3┊กำแพงเพชรเขตวัดป่า หรือจะเป็นเมืองแห่งการศึกษา?

จากเขตเมืองเก่ากำแพงเพชร ผมใช้ทางหลวงหมายเลข 101 มาประมาณ 200 เมตร ก็พบป้ายทางเข้าเขตอรัญญิก (เขตวัดป่า)  แต่ผมสองจิตสองใจ ลังเล ใจหนึ่งอยากรีบไปให้ถึงสุโขทัยก่อนค่ำ อีกใจก็อยากจะแวะดูเพราะตรงนี้ยังไม่เคยมา ... โชคดีที่ขับรถเลยมาเกือบ 2  กิโล เจอทางเข้าอีกทางด้านหลัง เหมือนจะบอกว่า ... "แวะเถอะยังมีโอกาส นะ"

แผนที่เขตอรัญญิกของกำแพงเพชร

เขตอรัญญิกของกำแพงเพชรตั้งอยู่บนเนินขนาดใหญ่กินพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ ใต้เนินดินเป็นแหล่งศิลาแลง ที่ประตูทางเข้าด้านหลัง (ด้านที่ผมหลงมาเข้า) มีวัดชื่อ "วัดอาวาสใหญ่" ... ซึ่ง ใหญ่จริงๆ  ความใหญ่โตของซากวัดที่อยู่ท่ามกลางสวนป่า ให้ความรู้สึกน่าค้นหาอย่างประหลาด ... ภาพที่เห็นเชิญชวนให้ผมคิดว่า เอาหละไหนไหนก็มาแล้ว ตระเวนชมวัดเก่าเมืองกำแพงอีกสักหน่อยจะเป็นไรไป

วัดอาวาสใหญ่ มีบ่อน้ำใหญ่อยู่หน้าวัด ชาวบ้านเรียกว่า "บ่อสามแสน" มีเจดีย์ประธานฐานย่อมุม (สูงมาก) ปัจจุบันเหลือแต่ฐาน หน้าเจดีย์เป็นวิหารขนาดใหญ่ ข้างวิหารทั้งซ้ายขวา มีเจดีย์รายขนาดค่อนข้างใหญ่ วัดนี้อะไรๆก็ใหญ่ไปหมด

แผนผังวัดอาวาสใหญ่
เจดีย์รายวัดอาวาสใหญ่
เจดีย์รายที่วัดอาวาสใหญ่ 
บ่อสามแสน
บ่อสามแสน หน้าวัดอาวาสใหญ่ เดิมเป็นบ่อศิลาแลงที่น่าจะใหญ่และลึกที่สุดในประเทศไทย เชื่อว่า หลังจากขุดศิลาแลงมาใช้ก่อสร้างแล้ว ก็ใช้เป็นบ่อเก็บน้ำไว้ใช้ในเมือง

จากวัดอาวาสใหญ่ ผมขับรถมาเรื่อยๆ ตามถนนเล็กๆ ในอุทยานฯ  ไม่นานก็มาถึงบริเวณที่น่าจะเป็นศูนย์กลางของเขตอรัญญิกนี้  มีวัดขนาดใหญ่ตั้งเรียงขนานกัน 4-5 วัด ที่สำคัญคือ วัดสิงห์, วัดพระสี่อิริยาบถ และวัดพระนอน ทุกวัดมีสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่โตไม่แพ้วัดในวัง (หรือ บางทีอาจจะใหญ่กว่า) 

วัดสิงห์ มีสิ่งที่น่าสนใจคือ อุโบสถขนาดใหญ่ อยู่บนฐานสูงแบบอยุธยาตอนต้น มีร่องรอยของสิงห์ปูนปั้นที่ประดับบันไดทางขึ้น ก็เลยชื่อวัดสิงห์  การมีอุโบสถขนาดใหญ่และตั้งเป็นประธานของวัด แสดงว่าที่นี่มีคนบวชเป็นพระจำพรรษาเยอะ จำเป็นต้องมีอุโบสถ (หอประชุม) เพื่อใช้เป็นที่ "สังฆกรรม" ระหว่างพระด้วยกันเอง และถ้าจะให้ทำสังฆกรรมได้ทุกประเภทแล้ว อุโบสถจะต้องมีขนาดใหญ่พอ จุพระได้ไม่น้อยกว่า 20 รูป

วัดสิงห์
อุโบสถวัดสิงห์
ร่องรอยของสิงห์ที่เฝ้าหน้าโบสถ์

ถัดจากวัดสิงห์ลงมาทางใต้คือ วัดพระสี่อิริยาบถ สิ่งก่อสร้างที่เป็นประธานของวัดนี้ คือ มณฑปพระสี่อิริยาบถ ในมณฑปมีพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ 4 องค์ 4 ปาง (ท่า) หันหลังชนกันและหันหน้าไปตามทิศทั้งสี่  ทางตะวันออกเป็นปางลีลา (พระเดิน) ด้านใต้เป็นพระนั่งปางมารวิชัย ด้านตะวันตกสมบูรณ์ที่สุดเป็นปางประธานอภัย ส่วนด้านทิศเหนือเป็นพระนอนหรือปางไสยาสน์  พระสี่อิริยาบถนี้ เข้าใจว่าได้แบบอย่างมาจากลังกา หรืออาจมาจากศิลปะพุกามในพม่า  เป็นที่นิยมสร้างกันมากในสมัยสุโขทัย และถือเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของแคว้น

วัดพระสี่อิริยาบท
คููหาด้านตะวันออก (หน้าวัด) เป็นปางลีลา
ด้านทิศใต้เป็นปางมารวิชัย
ด้านตะวันตกปางประธานอภัย
ตอนแรกดูเหมือนว่าองค์พระจะดูไหล่กว้างแปลกๆ แต่ถ้าดูในมุมจริงๆ สมัยที่มณฑปนี้ยังมีหลังคา ดูแล้วสมส่วนสวยงาม
ทิศเหนือเป็นพระนอน

รอบๆวัดมีบ่อน้ำเก่าอยู่หลายบ่อ บางบ่อเป็นบ่อศิลาแลงเก่าเหมือนบ่อสามแสนที่วัดอาวาสใหญ่ บางบ่อมีขอบบ่อ อาจจะเป็นที่สรงน้ำของพระเณร ส่วนบางบ่อไม่มีขอบ เขาว่ากันว่าเป็นบ่อส้วมครับ

ฐานกุฎิ? หลังวัด
บ่อน้ำรอบๆวัด อันนี้อาจเป็นบ่อส้วม
บ่อนี้อาจเป็นบ่อศิลาแลงเก่า
เนื่องจากเป็นบ่อ มีจอมปลวก และอยู่ในแคว้นสุโขทัย
จะมีใครนึกถึงพญานาคก็คงไม่แปลกอะไร ;)

กระทงหรือบายศรี รูปพญานาคสีเจ็บ

ถัดจากวัดพระสี่อิริยาบถก็เป็น วัดพระนอน วัดนี้ก็มีอุโบสถขนาดใหญ่และอยู่ในแกนประธานของวัดเช่นเดียวกับที่วัดสิงห์ หลังอุโบสถเป็นวิหารพระนอน ปัจจุบันไม่เหลือร่องรอยขององค์พระแล้ว แต่สิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจก็คือ เสาขนาดใหญ่ของวิหารนี้ แต่ละต้นเป็นศิลาแลงทั้งก้อน และเป็นก้อนมโหฬารที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมาเลยทีเดียว ด้านหลังสุดเป็นเจดีย์ทรงกลมองค์ใหญ่ สัดส่วนสวยงามตามแบบช่างเมืองกำแพงเพชร

เสาศิลาแลงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
เสาศิลาแลงขนาดมหึมา
เจดีย์ประธานวัดพระนอน กำแพงเพชร
เจดีย์ประธาน สวยเพรียวแบบกำแพงเพชร

จากความใหญ่โตโอ่อ่าของบรรดาวัดในบริเวณนี้ ทำให้นักวิชาการด้านโบราณคดีหลายท่าน เชื่อว่า บริเวณนี้ไม่น่าจะเป็นเขตวัดป่าที่เน้นด้านวิปัสสนาธุระ อย่างที่สุโขทัยหรือศรีสัชนาลัย  แต่อาจจะเป็นชุมชนที่ขยายออกมาจากตัวเมืองที่คับแคบ หรือเป็นที่พำนักของพระเถระผู้ใหญ่ที่ อิมพอร์ต มาจากลังกาและเมืองพันของมอญ มากกว่า

ถ้าจะอธิบายให้เห็นภาพ ผมว่า ... เขตอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชรนี้ น่าจะเป็นสถานที่ที่สำนักสงฆ์จากลังกาและเมืองมอญ เข้ามาเปิดวิทยาเขตกัน และคงมีหลายสำนักด้วย ... นอกจากด้านพุทธศาสนาแล้ว เมืองนี่น่าจะมีความเจริญด้านวิชาการอื่น เช่น วิศวกรรม สถาปัตยกรรม และศิลปกรรมอีกด้วย หรือจะเรียกว่าเป็นเมืองแห่งการศึกษาของแคว้นสุโขทัย ก็คงได้ 

ถัดจากวัดพระนอน เป็นวัดนาคเจ็ดเศียร แต่เหลือบดูเวลาก็ปาเข้าไป 4 โมงกว่าแล้ว นอกจากวัดนาคเจ็ดเศียรแล้วยังเหลือวัดสำคัญที่ไม่ควรพลาดอีก คือ วัดช้างรอบ แต่เวลาที่เหลืออยู่คงไม่พอให้เดินเที่ยวต่อ ถ้ามัวโอ้เอ้ คงไปถึงสุโขทัยค่ำมืดเกินไปแน่ๆ ต้องออกเดินทางได้แล้ว วัดที่เหลือก็ใช้วิธีขับรถโฉบไปดูแทนก็แล้วกัน

ระหว่างเดินกลับมาที่รถ ผมก็เจอเด็กสาว ม.ปลายจับกลุ่มกันอยู่สามสี่คน  จริงๆแล้วไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะตลอดทางที่เดินชมโบราณสถานมา ก็รู้สึกเหมือนเดินอยู่ในสวนสาธารณะข้างสถานศึกษา  ผมเจอเด็กวัยรุ่นหลายกลุ่ม บางกลุ่มก็มาซ้อมเต้น บางกลุ่มก็มาซ้อมละคร บางกลุ่มก็มาติวหนังสือ

แต่สาวๆ กลุ่มที่ผมเพิ่งเจอนี่ พวกเธอทำอะไรที่แปลกไป คือ พวกเธอมาพร้อมกล้องวิดีโอ มาดักรอสัมภาษณ์นักท่องเที่ยวและก็ได้เหยื่อพอดีตอนผมเดินมา เสียงสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ ฉะฉาน มั่นใจ เห็นแล้วอดชื่นชมไม่ได้ ... กระชุ่มกระชวยดีแท้

ผมเชื่อว่า สถานที่ต่างๆ จะเก็บสะสมพลังงานของคนที่เคยใช้มันไว้ ถึงแม้เวลาจะผ่านไป พลังงานดังกล่าวก็ยังอยู่ และจะถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังรับรู้ หรือถูกชักนำไปตามรูปแบบของพลังนั้นๆ ... ในที่นี้ พลังงานที่ว่านั่นน่าจะเป็น พลังงานแห่งการเรียนรู้ หรืออาจจะเป็นไฟของวัยหนุ่มสาว ... อิอิ

กลับมาถึงรถ ขึ้นรถแล้วก็ขับวนหาวัดช้างรอบ วนได้สองรอบก็ถอดใจ  วัดช้างรอบอยู่ห่างออกไปนิดหน่อย และก็ไม่มีป้ายบอกทาง เวลาก็บีบ อารมณ์ลูกสาวก็เริ่มบูด (คงจะเหนื่อย) ก็เลยต้องปล่อยผ่านไปอย่างน่าเสียดาย ... ยิ่งมารู้ตอนหลังว่า เจดีย์วัดช้างรอบนี้ถือเป็นเจดีย์ช้างล้อมที่ใหญ่ที่สุดในแคว้นสุโขทัย ยิ่งเสียดายกันเข้าไปใหญ่ ... "ถ้าใครที่อ่าน blog นี้แล้วมีโอกาสไปกำแพงเพชร ... ฝากเที่ยวต่อให้ด้วยนะครับ"

พระสี่อิริยาบท
รูปพระสี่อิริยาบถ ฝีมือลูกสาวผมเองครับ
คนวาดภาพสุดท้าย เริ่มเบื่อมาตั้งแต่วัดพระนอนแล้วหละ ถ้ายังขืนเดินต่อคงเรื่องใหญ่ ^^"
มุ่งหน้าสู่สุโขทัย ยัย ยัย ยัย....
Share: