12/03/2557

สุโขไกด์ ┊2┊กำแพงเพชร รอยต่อระหว่างสุโขทัยกับอยุธยา

และแล้ว ก็ได้ฤกษ์ออกเดินทางกันเสียที ... เส้นทางมาตรฐาน สำหรับการเยี่ยมชมอุทยานประวัติศาสตร์ทั้ง 3 ให้ครบถ้วน (จากกรุงเทพฯ) คือ ... เริ่มต้นที่กำแพงเพชรเป็นออร์เดิร์ฟ ให้สุโขทัยกับศรีสัชนาลัยเป็นเมนคอร์ส และตบท้ายด้วยของหวาน คือไปกราบพระพุทธชินราชที่พิษณุโลก  เพราะฉะนั้น จุดหมายแรกของเรา ก็คือ กำแพงเพชร

ผมออกจากบ้านตอนเช้า ประมาณ 8 โมงกว่าๆ มีแค่กาแฟกับซาลาเปารองท้อง กะว่าจะไปแวะซื้อกล้วยไข่ไว้เป็นเสบียง และหามื้อเช้ากินแบบเหมารวม (เพล) ที่ตัวเมืองกำแพงเพชร  ได้ยินเขาลือกันว่าบะหมี่ที่นั่นอร่อยมาก ห้ามพลาดกันเลยทีเดียว ไปกันเลย...

แปลกใจจริงแขกชอบอะไร ลูกหยี เม็ดก๋วยจี๊ แตงไทย แขกชอบกล้วยไข่ ... แล้วยังได้กินบะหมี่ ... ลั้ลลัลลา ♫

ที่ว่ามานั่นเป็นแค่ความคิด ... ความจริงคือ พอเริ่มเข้าเขตกำแพงเพชร ผมก็ต้องตั้งใจเต็มที่ มีสมาธิจริงจังกับการขับรถ  ไหนจะต้องหนีรถกระบะคันใหญ่ๆที่ไล่จี้ตูด  ไหนจะต้องเร่งแซงรถพ่วงบรรทุกอ้อย  ทั้งยังต้องระวังมอเตอร์ไซต์หวานเย็นข้างทาง ... รู้ตัวอีกทีก็เลยแผงขายกล้วยไข่มาแล้ว ร้านบะหมี่ที่อยากกินก็หาไม่เจอ สุดท้ายเลยต้องไปฝากท้องกับร้านก๋วยเตี๋ยวไก่ต้มยำ (ซึ่งไม่ว่าจะสั่งอะไร ยังไง สิ่งที่จะได้ก็คือ "ก๋วยเตี๋ยวต้มยำ") ข้างกำแพงเมืองเก่า และก็ได้หนังไก่ทอดไปเป็นเสบียงแทน  อิ่มหนำกันแล้วก็ไปเที่ยวเลยดีกว่า

--- ตัวเมืองกำแพงเพชรในปัจจุบัน ตั้งอยู่บนเมืองโบราณ 2 เมือง  เมืองแรกคือ "เมืองนครชุม" ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง ปัจจุบันเป็นย่านตลาดเก่าตรงที่ผมหาทางเข้าไปกินบะหมี่ไม่เจอนั่นแหละครับ  ศูนย์กลางของเมืองนี้อยู่ที่ "พระธาตุนครชุม" ---

เมืองนครชุมนี้ เป็นเมืองที่พระยาลิไทสถาปนาให้เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรม และเป็นหัวเมืองสำคัญเทียบเท่า ศรีสัชนาลัยหรือเมืองพิษณุโลก (สองแคว)  ทั้งนี้เห็นได้จาก การสร้างพระธาตุและศิลาจารึก (หลักที่ 3 นครชุม)  แสดงถึงการพยายามแผ่อิทธิพลมาควบคุมบ้านเมืองในลุ่มน้ำปิง

ต่อมาเมื่อพระองค์ (พระยาลิไท) เริ่มมีปัญหากับอยุธยา พระเจ้าอู่ทองจึงส่ง "ขุนหลวงพะงั่ว" เจ้าเมืองสุพรรณบุรีและเป็นต้นราชวงศ์สุพรรณภูมิ ขึ้นมาเจรจาต่อรองแกมบังคับ  ทำให้พระยาลิไทจำเป็นต้องจำกัดพระราชอำนาจของพระองค์เองเพื่อแลกกับเมืองพิษณุโลก และมีการสร้าง "เมืองกำแพงเพชร" ที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิงตรงข้ามกับเมืองนครชุม เพื่อเป็นจุดยุทธศาสตร์ใช้ควบคุมเฝ้าดูสุโขทัย  ต่อมาเมืองนี้ก็กลายเป็นฐานกำลังของเจ้าชายเลือดผสมระหว่างพระร่วงกับสุพรรณภูมิ ในการชิงอำนาจจากราชวงศ์อู่ทองที่อยุธยา ... และเมืองกำแพงเพชรก็กลายเป็นหัวเมืองสำคัญ (เมืองหน้าด่าน) ของอยุธยามาตลอดจนกระทั่งเสียกรุงครั้งที่ 2

--- เนื่องจากได้รับอิทธิพลทั้งจากสุโขทัยและอยุธยา (โดยเฉพาะสุพรรณภูมิ)  รูปแบบศิลปกรรมในกำแพงเพชรจึงเป็นแบบผสม ผสมกันจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่น่าศึกษา เรียกว่า "สกุลช่างกำแพงเพชร" ---

เมืองกำแพงเพชร มีคูเมือง มีกำแพงศิลาแลงสูงใหญ่แข็งแรงสมชื่อ บนกำแพงมีป้อมปืนแบบฝรั่ง ตามอุดมคติของเมืองหน้าด่านที่ใช้รับศึก  ภายในกำแพงเมืองมี พระอารามหลวง (เขตพุทธาวาสของวัง) ขนาดใหญ่ มีสิ่งก่อสร้างเรียงตัวกันเป็นแนวยาวตามแกนตะวันออก-ตะวันตก ในแผ่นพับของทางอุทยานฯ บอกว่ามี 2 วัด คือ "วัดพระแก้ว" กับ "วัดพระธาตุ"  แต่ถ้าจะแยกตามรูปแบบศิลปกรรมแล้ว จะเห็นว่าอารามหลวงนี้มีการบูรณะเพิ่มเติมสืบต่อกันมาหลายสมัย ส่วนที่เป็นวัดพระแก้วอาจแยกได้ 3 วัด

แผนผังวัดพระแก้วกำแพงเพชร

เริ่มจากอันที่เก่าที่สุดคือ "วัดช้างเผือก" (เรียกตาม อ.ศรีศักร วัลลิโภดม) ด้านตะวันตก ติดกับศาลหลักเมือง วัดนี้มีสถูปทรงกลม ที่ฐานมีช้างล้อมตามแบบสุโขทัย

เจดีย์ช้างล้อมที่วัดช้างเผือก กำแพงเพชร
#1 เจดีย์ช้างล้อม ของวัดช้างเผือก ส่วนยอดหักเสียแล้ว
ช้างปูนปั้นที่ฐานเจดีย์วัดช้างเผือก กำแพงเพชร
#2 ช้างที่ล้อมรอบฐานเจดีย์ ส่วนใหญ่ปั้นขึ้นมาใหม่
หลักฐานว่าเป็นศิลปะสมัยสุโขทัย เอ๊ย! ปั้นใหม่ครับ ^^
#3 กลุ่มเจดีย์บริวารของเจดีย์ช้างล้อม

ถัดมาเป็น "วัดสองพี่น้อง" มีวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ 3 องค์ ศิลปะอู่ทองตอนต้น รอบๆวิหารเคยมีภาพปูนปั้นเรื่องรามเกียรติ์ประดับอยู่ แต่ไม่มีเหลือให้ดูแล้ว

พระประธาน 3 องค์ที่วิหารวัดสองพี่น้อง กำแพงเพชร
#4 พระประธาน 3 องค์ในวิหารวัดสองพี่น้อง
ผมคิดเล่นๆว่า ถ้าในอดีต กษัตริย์เปรียบเสมือนพระโพธิสัตว์ผู้ที่ไม่ยอมไปนิพพาน จะอยู่ช่วยเหลือปุถุชนด้วยความเมตตา พระพุทธรูปนอกจากจะเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าแล้ว อีกนัยหนึ่งก็อาจจะหมายถึงกษัตริย์ได้อย่างไม่ขัดเขิน  พระปางไสยาสน์ข้างหน้าอาจจะหมายถึง พระยาลิไท ส่วนพระปางมารวิชัยอีก 2 องค์ด้านหลัง อาจจะเป็น พระเจ้าอู่ทองกับขุนหลวงพะงั่ว ที่คอยเฝ้าคุมอยู่ และคล้ายกับจะพูดว่า "นิมนต์ให้นอนเสียเถิดนะ พระคุณท่าน ..."

ถัดจากวัดสองพี่น้องก็เป็น "วัดพระแก้ว" ที่ชื่อวัดพระแก้วเพราะเชื่อกันว่า วัดนี้เคยเป็นที่ประดิษฐาน พระแก้วมรกตและพระพุทธสิหิงค์  ด้านหน้าเป็นวิหารฐานสูง เจดีย์ประธานเป็นทรงกลม มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปรอบๆ 16 ซุ้ม  ที่ฐานมีร่องรอยสิงห์ล้อมรอบอยู่ แบบเดียวกับวัดธรรมิกราชที่อยุธยา

วัดพระแก้ว กำแพงเพชร
วัดพระแก้ว
เจดีย์สิงห์ล้อมวัดพระแก้ว กำแพงเพชร
#5 ซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปรอบเจดีย์ มี 16 ซุ้ม
#6 สิงห์ที่ล้อมเจดีย์ เหลือแต่ขา บางตัวก็มีแต่ตัว
ลวดลายประดับบนตัวสิงห์ (เขาว่าเป็นแบบเขมร)

เข้าใจว่าสิงห์ที่ล้อมเจดีย์อยู่นี่ดัดแปลงมาจากเจดีย์ช้างล้อมแบบสุโขทัย และได้รับอิทธิพลมาจากเขมรก็เลยเป็นสิงห์ (แบบเขมร) แทน  แต่ผมดูแล้วกลับไปนึกถึง สิงห์บนเสาอโศกของพระเจ้าอโศกฯ ให้บังเอิญเพราะ ราชวงศ์สุพรรณภูมิผู้สร้างเมืองนี้ ก็ยึดถือคติ "จักรพรรดิราช" ตามแบบพระเจ้าอโศกฯตลอดมา

ด้านหน้าสุดเป็น "วัดพระธาตุ" คาดว่าสร้างหลังสุด และเป็นแบบอยุธยาล้วนๆ แต่คงสร้างตามแบบสกุลช่างกำแพงเพชร สังเกตได้จากองค์ระฆังของเจดีย์ มีขนาดเล็กและเรียวตามความนิยมของสกุลช่างนี้

แผนผังวัดพระธาตุ กำแพงเพชร
#1 ลายปูนปั้นบัวคว่ำบัวหงายที่องค์ระฆังของเจดีย์ประธานวัดพระธาตุ
#2 ฐานเสาข้างวิหาร (ผมเดาว่าอาจจะเป็นเสาหงส์ เพราะกำแพงเพชรใกล้เมืองมอญมาก)

จริงๆแล้วในเขตกำแพงเมืองยังมีที่น่าสนใจอีกหลายที่ เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร และศาลพระอิศวร  แต่เนื่องจากบรรยากาศร่มรื่น เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ ที่วัดพระแก้ว ทำให้ผมเผลอเดินลอยชายจนลืมเวลา รู้ตัวอีกทีก็เกือบบ่ายสามโมงแล้ว ยังเหลือเขตวัดป่าอีกที่อยากไปดู  ผมเลยต้องหยุดการชมเมืองกำแพงในกำแพงเมืองไว้แค่นี้

นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่
กลับมาที่รถ บนเบาะคนขับมีถุงหนังไก่ทอดจากร้านก๋วยเตี๋ยว ข้างในยังเหลืออยู่สองสามชิ้น ... กร่วม ๆ ... อร่อยจริง ๆ แฮะ ... ยังกรอบอยู่เลย
Share: