23/11/2561

หนึ่งโหลเกี่ยวกับ 'ห้อม' ... เอาไว้โม้ เวลาไปเที่ยวแพร่

พาลูกลิงไปเรียนรู้การย้อมผ้าด้วย 'ห้อม' ที่จังหวัดแพร่ มาครับ ... ประทับใจ กลับมาเลยไปค้นเรื่องราวเกี่ยวกับห้อม รวบรวมมาเขียนเก็บไว้ใน blog ตอนนี้ เผื่อใครหลงเข้ามาจะได้ทำความรู้จักห้อมและครามมากขึ้น อาจหลงรัก หรือจะเอาไว้เล่าเล่น ๆ เวลาเที่ยวแพร่ ก็ดีครับ

เพื่อกันความสับสน สีน้ำเงินเข้มที่ได้จากทั้งห้อมและคราม หรือพืชอื่น ๆ ในบทความนี้ผมจะเรียกรวม ๆ ว่า 'คราม' นะครับ

1. 'ห้อม' และ 'คราม' เป็นพืชคนละชนิดกัน 

ถึงจะให้สีน้ำเงินเข้มเหมือนกัน กรรมวิธีย้อมก็เป็นวิธีเดียวกัน แต่ห้อมเป็นพืชล้มลุกในวงศ์เหงือกปลาหมอ (Acanthaceae) วงศ์เดียวกับ 'ต้อยติ่ง' วัชพืชที่เราคุ้นเคย ชอบอากาศเย็น ขึ้นได้ดีตามหุบเขาที่ชุ่มชื้นทางภาคเหนือ ส่วนครามนั้นเป็นพืชล้มลุกเหมือนกัน แต่อยู่ในตระกูลถั่ว (Leguminosae) ปลูกง่าย ชอบแดด ทนร้อน ทนแล้ง ทนดินเค็ม ปลูกได้ทั่วประเทศแต่นิยมปลูกในภาคอีสาน

2. นอกจากจะเป็นพืชที่ให้สีแล้ว ห้อมยังถือเป็นสมุนไพรอีกด้วย

รากและใบ ใช้ต้มน้ำดื่ม แก้ไข้ แก้ปวดศีรษะเนื่องจากหวัด ลดอาการอักเสบ เจ็บคอ หลอดลมอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ ตาอักเสบ  แพทย์จีนทดลองให้คนไข้โรคเอดส์ที่เป็นงูสวัด ดื่มน้ำต้มใบแห้งผสมกับพืชอื่นอีก 3 ชนิด คือ Coptis chinensis, Arnebia euchroma และ Paeonia moutan พบว่า แผลหายภายใน 2 สัปดาห์

3. การสกัดสีครามออกมาใช้ประโยชน์นั้น ไม่ได้มีทำกันเฉพาะภาคเหนือและอีสานของเมืองไทยเท่านั้น

การใช้ครามเป็นวัฒนธรรมร่วมของมนุษยชาติ สืบต่อกันมายาวนาน ตั้งแต่ยุคโบราณ และนิยมไปทั่วโลก จากญี่ปุ่นไปถึงตะวันออกกลาง จากอียิปต์ไปถึงไนจีเรีย ข้ามมหาสมุทรถึงอเมริกากลาง เชื่อกันว่าครามที่ดีที่สุดอยู่ที่อินเดีย พวกฝรั่งยุโรปเลยเรียกครามว่า 'อินดิโก้' (Indigo) ... แล้วก็พัฒนาจากครามสดเป็นครามสังเคราะห์ กลายเป็นสีมาตรฐานในกางเกงยีนส์ทุกวันนี้

4. ครามเป็นสีธรรมชาติสีแรก ๆ ที่มนุษย์เอามาใช้ประโยชน์ 

มีการค้นพบหลักฐานการใช้ครามตามแหล่งอารยธรรมโบราณมากมาย เช่น ที่จีน อายุ 3,000 ปี ... ที่อียิปต์เก่ากว่า 4,500 ปี ... แต่ผ้าย้อมครามที่เก่าแก่ที่สุดบนตัวมัมมี่ที่เปรู อายุเก่ากว่า 6,000 ปี

5. ที่จริงแล้วน้ำหมักใบห้อมมีสีเขียวอมเหลือง ผ้าที่ย้อมด้วยห้อมและครามนั้น จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินก็ต่อเมื่อโดนอากาศ กระบวนการนี้เรียกว่าการ 'ออกซิเดชั่น'

สีครามธรรมชาติจะอยู่ในรูปของสารที่เรียกว่า อินดิแคน (indican) เป็นสารไม่มีสีและไม่ละลายน้ำ วิธีสกัดครามออกมาใช้ ต้องนำใบพืชที่มีสารอินดิแคนมาผ่านกระบวนการ Hydrolysis ซึ่งคือการแช่น้ำทิ้งไว้จนโมเลกุลของอินดิแคนย่อยสลายกลายเป็น อินดอกซิล (Indoxyl) ล่องลอยอยู่ในน้ำ ซึ่งอินดอกซิลนี้ เกิดออกซิเดชั่นได้ง่าย เมื่อสัมผัสกับอากาศก็จะเปลี่ยนสภาพเป็นสีคราม (indigo)

6. การย้อมด้วยสีธรรมชาติส่วนใหญ่จะเป็นการย้อมร้อน แต่การย้อมด้วยห้อมและครามเป็นการย้อมแบบเย็น 

อินดิแคนนอกจากจะไม่ละลายน้ำแล้ว ยังไม่ละลายในความร้อนอีก การนำครามหรือห้อมไปต้มให้สีออกจึงไม่จำเป็น

7. ครามสามารถนำมาย้อมเส้นใยได้หลายชนิด ทั้งเส้นใยธรรมชาติและเส้นใยสังเคราะห์ แต่ฝ้ายเป็นวัสดุที่ย้อมครามติดได้ดีที่สุด

8. เพราะขั้นตอนการสกัดครามออกมาใช้ย้อมผ้านั้น ละเอียดอ่อนมากต้องรักษาค่าความเป็นกรดด่างให้พอเหมาะ ต้องทำให้เกิดการออกซิเดชั่นอย่างสม่ำเสมอ เลยมีความเชื่อกันว่าครามมีชีวิต

ขั้นตอนการทำครามเริ่มจาก นำกิ่งและใบของพืชที่ให้สีครามมาแช่น้ำไว้ข้ามวันให้เปื่อย แล้วเอากากออก เติมปูนขาวแล้วตีจนน้ำในหม้อเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลือง ตีน้ำคราม (กวนคราม) ให้เกิดฟองมาก ๆ 15 - 30 นาที แล้วพักไว้อีกคืน ครามจะตกตะกอนปนกับปูนขาว เทของเหลวใสสีน้ำตาลชั้นบนทิ้ง จะได้เนื้อครามลักษณะเป็นโคลนสีน้ำเงินเข้มตกตะกอนอยู่ก้นหม้อ ... เวลาจะย้อมก็ นำเนื้อครามออกมาผสมกับขี้เถ้า พักน้ำครามไว้ภาชนะที่เย็นและมิดชิด ตักน้ำครามดูทุกวัน วันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น เมื่อน้ำครามให้สีเขียวอมเหลืองจึงจะย้อมได้

9. ครามเป็นสีธรรมชาติที่มีคนนำมาทำลวดลายบนผ้าด้วยเทคนิคและกลวิธีหลากหลายที่สุด

ตั้งแต่การย้อม ไม่ว่าจะเป็น มัดย้อม, มัดหมี่, บาติก, พิมพ์ลายลงบนผ้า ไปจนถึงการเพ้นท์ ระบายลงบนผ้าโดยตรง

10. ไม่ใช่แค่สัญลักษณ์ของชาวไร่ ชาวนา แต่เป็นชุดทำงานกลางแจ้งที่เพอร์เฟค

นอกจากความเรียบง่ายและราคาถูกแล้ว คุณประโยชน์ที่ซ่อนอยู่ คือ ผ้าที่ย้อมด้วยครามมีองค์ประกอบช่วยป้องกันรังสี UV และไม่มีกลิ่นอับชื้น ยิ่งโดนแดดยิ่งหอม จึงเหมาะสมมากสำหรับเอามาทำชุดทำงานกลางแจ้ง ทั้งเสื้อหม้อห้อม ชุดชาวประมงที่เจนัว รวมไปถึงผ้ายีนส์ของคนงานเหมืองที่อเมริกา ก็ใช้ครามย้อม (2 อันหลังเป็นครามสังเคราะห์)

11. หม้อห้อมที่ทุ่งโฮ้ง

เสื้อหม้อห้อมเกิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเริ่มที่จังหวัดแพร่ เนื่องจากพวกลาวพวนที่อพยพเข้าไปอยู่ที่ทุ่งโฮ้งเมืองแพร่ได้เย็บเสื้อผ้าฝ้ายย้อมสีครามดำออกจำหน่ายแก่คนงานและลูกจ้างทำป่าไม้ขึ้นก่อน จึงได้รับความนิยมซื้อสวมใส่กันแพร่หลาย ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2496 นายไกรศรี นิมมานเหมินท์ ได้จัดงานเลี้ยงอาหารแบบขันโตกเพื่อเป็นเกียรติแก่ ฯพณฯ นายสัญญา ธรรมศักดิ์และกงสุลอเมริกัน ขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และได้กำหนดให้ผู้มาร่วมงานสวมเสื้อผ้าฝ้ายคอกลม ย้อมสีคราม คาดผ้าขาวม้า หลังจากงานนี้จึงมีผู้นิยมใช้เสื้อหม้อห้อมกันแพร่หลายยิ่งขึ้น คนทั่วไปจึงคิดว่าเป็นเสื้อประเพณีนิยมสำหรับชายชาวล้านนา

12. ม่อฮ่อม หรือ หม้อห้อม

ม่อฮ่อม เป็นคำ 2 คำมารวมกัน 'ม่อ' เป็นการออกเสียงแบบคนเหนือมาจากคำว่า  'มอ' ที่หมายถึง สีมืด สีทึม สีมอ ๆ ... ส่วน 'ฮ่อม' ก็เป็นชื่อพืชที่นำมาย้อม ... เสื้อม่อฮ่อมก็คือ เสื้อสีมอ ๆ ที่ย้อมด้วยฮ่อม ส่วนที่เขียนว่า 'หม้อห้อม' นั้นเป็นการปรับวรรณยุคให้ตรงกับเสียงตามหลักภาษาศาสตร์ และเพื่อกันความสับสนกับหม้อที่หมายถึงภาชนะ ราชบัณฑิตยสถานจึงให้อธิบายต่อท้ายคำนิยามเดิมของคำ ม่อฮ่อม (ซึ่งแก้ไขการเขียนคำตั้งใหม่เป็น หม้อห้อม) ว่า “เขียนเป็น ม่อห้อม หรือม่อฮ่อม ก็มี” ... (อันนี้เขียนไปเขียนมาจะเข้าใจหรืองงกว่าเก่า ก็คงเป็นเรื่องของ ราชบัณฑิตยสถาน เขาหละครับ)

จบแล้วครับ ^^" ... ถ้าใครอ่านแล้วอยากจะลองย้อมผ้าด้วยห้อม อยากเห็นต้นห้อมตัวเป็น ๆ หรืออยากเห็นตอนห้อมมันเปลี่ยนสี ... หรือแค่อยากมีเสื้อมัดย้อมลายสวย ๆ ก็เชิญที่บ้านป้าเหงี่ยมที่ทุ่งโฮ้งได้เลยครับ

ขั้นตอนการทำก็ไม่มีอะไรยาก เริ่มจากเลือกผ้า ได้ผ้าแล้วก็ไปเลือกลาย ได้ลายแล้วจะมีพี่ ๆ มาสอนมัด มัดเสร็จก็จุ่มลงหม้อย้อมได้เลย อยากได้อ่อนก็จุ่มน้อย ๆ อยากได้เข้ม ๆ จุ่มไป ๆ จนกว่าจะพอใจ เสร็จแล้วก็เอามาซักน้ำเปล่า ล้าง ๆ แล้วก็เอาไปตาก ถ้าแดดแรงก็ประมาณ 2-3 ชั่วโมงก็เก็บได้แล้ว แต่ยิ่งตากก็ยิ่งดี ถ้าใครอยากมาทำบ้าง ผมแนะนำว่า ให้มาตอนเช้าทำเสร็จสาย ๆ ก็ไปหาที่เที่ยว หาอะไรกินก่อน ตอนบ่ายแก่ ๆ ค่อยกลับมาเอา

27/09/2561

สามเหลี่ยมศักดิ์สิทธิ์ที่แพร่

ภาพสเก็ตช์มุมสูง พระธาตุศักดิ์สิทธิ์เมืองแพร่ พระธาตุช่อแฮ พระธาตุดอยเล็ง พระธาตุจอมแจ้ง

"ตั้งใจจะไปไหว้ 'พระธาตุช่อแฮ' ใช่มั้ย? ... ถ้าตรงไปอีกหน่อย จะมีพระธาตุอีก ชื่อ 'พระธาตุดอยเล็ง' อยู่บนเขานะ ช้างบนมีจุดชมวิวมองลงมาเห็นเมืองแพร่ทั้งเมืองเลย และก็มีอีกองค์อยู่ใกล้ ๆ กันก็คือ 'พระธาตุจอมแจ้ง' ... เขาว่ากันว่า ถ้าได้ไหว้ขอพรกับพระธาตุครบทั้งสามองค์แล้ว ขออะไรก็จะได้สมปรารถนา"

นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินชื่อ พระธาตุดอยเล็ง และ พระธาตุจอมแจ้ง (และคงเผลอขมวดคิ้ว) ... พอเห็นพวกเราลังเล 'ป้าตู่' เจ้าของและเป็นทุกสิ่งอย่างของเชตวันโฮมสเตย์ (ที่พักของเราที่แพร่) ก็เลยเล่าประสบการณ์สายบุญของแกต่อ

ป้าเองก็ไปลองมาแล้ว วันนั้นไปไหว้เสร็จสรรพ อธิษฐานไปหนึ่งข้อ ขอว่าเวลามีแขกฝรั่งมาพัก ให้มีใครก็ได้มาช่วยแปลภาษาให้ป้าหน่อย เพราะป้าเนี่ยะ พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย กลับมาที่โฮมสเตย์ก็มีแขกฝรั่งมาพัก ... ป้าก็กังวลอยู่ ไม่นานตอนเย็นก็มีครอบครัวคนไทยที่พูดอังกฤษได้ walk in เข้ามา ป้าเลยมาคิดว่า ท่าทางจะศักดิ์สิทธิ์จริง ๆ ... อย่างเมื่อวาน ตอนจะถามนักศึกษา (ออสซี่) ที่มาพักว่า จะทำมาม่าผัดให้ เอามั้ย? (เพราะดึกแล้ว ฝนก็ตกจะออกไปหาอะไรข้างนอกกินคงยาก) รวมถึงตอนเช้าจะเรียกรถให้มารับกี่โมงดี? ก็ได้แม่หนูคนนี้ (พร้อมกับชี้ไปที่แฟนผม) ช่วยอธิบายให้
อะ ... เอาหละ เดี๋ยวเราสามคน พ่อ แม่ ลูก หนะ ลองไปขอดูนะ แต่มีข้อแม้อยู่ว่า ขอได้เรื่องเดียว ... คุยตกลงกันให้ดีก่อนว่าจะขอเรื่องอะไร แล้วก็ไปขอกัน โชคดีจ้ะ

เมื่อมีคนเอาประสบการณ์การันตีแบบนี้ ไอ้เราก็ต้องลอง ... สินะ

ดูจาก Google map แล้ว ผมเลือกขึ้นเขาไปไหว้พระธาตุดอยเล็งก่อน เพราะตอนเช้า ๆ แดดอ่อน ๆ อากาศกำลังเย็นสบายแบบนี้เหมาะกับการดูวิวแบบพาโนรามามาก เสร็จแล้วลงมาไหว้พระธาตุช่อแฮ แล้วค่อยแฉลบไปจบที่พระธาตุจอมแจ้ง

ก่อนขึ้นไปไหว้พระธาตุดอยเล็ง ตรงใกล้กับลานจอดรถมีจุดชมวิวดอยเล็ง
มองจากจุดชมวิวก็จะอลังการประมาณนี้ ไม่รู้ว่ายอดไหนเป็นดอยอะไร แต่ถ้าข้ามเทือกเขานี้ไปก็จะเจอกับเขื่อนสิริกิติ์
พระธาตุดอยเล็ง
มุมนี้จะเห็นทั้งพระธาตุช่อแฮ และเห็นตัวเมืองแพร่อยู่ลิบ ๆ (มุมซ้ายบนของรูป)
พระธาตุช่อแฮ
เนื่องจากเป็นพระธาตุประจำปีขาล ก็เลยมีรูปเสืออยู่เต็มวัด เจ้าตัวนี้น่ารักดีรู้สึกเหมือนไจแอนท์ในร่างเสือเลย
พระธาตุจอมแจ้ง
วิหารด้านหน้าพระธาตุ ประดับด้วยงานปูนปั้นฝีมือช่างพื้นบ้าน ไม่สวยเนี้ยบแต่น่ารักดี
ด้านในวิหารมีภาพนูนสูงเล่าเรื่องพระเวสสันดรชาดก
ด้านหน้าวัด มีพระนอนองค์ใหญ่อยู่ในสวนที่เล่าเรื่องพุทธประวัติ เหมาะสำหรับนั่งเล่นเย็นสบาย

ถึงผมจะไม่สามารถคาดเดาได้ว่า คำอธิษฐานจะเป็นไปตามที่ขอรึเปล่า (เพราะเป็นเรื่องระยะยาว) แต่การได้มีโอกาสไปที่ที่มีความงดงามแตกต่างกันไป อย่าง พระธาตุดอยเล็งที่เปิดโอกาสให้สัมผ้สธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ของเมืองแพร่, ได้เห็นความอลังการงานศิลป์แบบช่างหลวงชาวล้านนาที่วัดพระธาตุช่อแฮ, รวมทั้งได้สัมผัสความน่ารักของชาวแพร่ผ่านงานปูนปั้นที่วัดพระธาตุจอมแจ้ง ... ได้สัมผัสครบทั้ง 3 ที่ภายในเวลาไม่เกินครึ่งวัน ... ก็นับว่าได้รับพรจากเมืองแพร่แล้วหละครับ

รูปหน้าปกตั้งใจวาดพระธาตุทั้ง 3 องค์ ให้อยู่ในรูปเดียวกัน ถึงแม้ความจริงจากพระธาตุดอยเล็งมองไม่เห็นพระธาตุจอมแจ้ง เพราะมีเขาลูกหนึ่งบังอยู่ ... โดรนที่จะทำให้สามารถมองเห็นมุมที่สูงขึ้นก็ไม่มี ก็เลยต้องใช้ โดระจิต(การเดาผสมจินตนาการเอา) แทน ...

ก่อนจบคิดว่าจะทำให้ blog มีสาระขึ้นมาหน่อย ก็เลยนั่งรื้อหนังสือ ค้นข้อมูล มาเล่าสู่กันฟังเล่น ๆ นะครับ เพื่ออธิบายว่าทำไมถึงมีพระธาตุบนเขาและศักดิ์สิทธิ์ยังไง

ปกติใครที่ไปภาคเหนือ (ตั้งแต่สุโขทัยขึ้นไป) บ่อย หรือคุ้นเคย ก็จะเห็นว่าตรงส่วนที่เป็นเมืองเก่า ไม่ว่าที่ไหนก็มักจะมีองค์ประกอบคล้าย ๆ กัน เช่น อยู่ที่ราบเชิงเขา อยู่ใกล้แม่น้ำใหญ่ ตรงช่วงที่มีลำน้ำสาขาไหลผ่าน ... ที่ราบเชิงเขานี้เหมาะสำหรับทำการเพาะปลูก เนื่องจากเวลาเกิดน้ำหลาก น้ำจะหอบเอาความอุดมสมบูรณ์มาจากป่า พอน้ำลดก็จะทิ้งธาตุอาหารสำหรับพืชสะสมไว้ในดิน   การมีลำธารที่ไหลมาจากภูเขาทำให้การผันน้ำเข้าไปใช้ในไร่นา และในเมืองทำได้สะดวก ส่วนตรงบริเวณที่ลำธารไหลไปรวมกับแม่น้ำใหญ่ก็มักจะมีสัตว์น้ำชุกชุม เรียกว่าเป็นทำเลที่ในน้ำมีปลา ในนาก็มีข้าว

และเพื่อให้เมืองสามารถรองรับการอยู่อาศัยได้นาน ๆ ก็ต้องรักษาสภาพแวดล้อมให้ดีดังเดิม ทั้งขุนเขา ลำธารและแม่น้ำ ก็เลยต้องผ่านกระบวนการทำให้ศักดิ์สิทธิ์ (ตอนแรกก็คงเป็น 'ผี' หรือเจ้าป่าเจ้าเขา พอรับพุทธศาสนาเข้ามาแล้วก็เลยเปลี่ยนเป็นพระธาตุ) เพื่อจะได้ไม่มีใครกล้าทำอะไรอุบาทว์ ๆ เช่น โค่นป่าบนเขาจนไม่มีน้ำในลำธาร ทำน้ำเสียจนปลาตายหมด หรือเปลี่ยนทางไหลของน้ำจนเกิดน้ำท่วมหรือน้ำแล้งผิดฤดู ... เป็นความศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นรูปธรรม สามารถสัมผัสได้จริง

ภาพอธิบายทำเลสำหรับ การสร้างเมืองสมัยโบราณ
ขอบคุณป้าตู่ แห่งเชตวันโฮมสเตย์ที่แนะนำเส้นทางท่องเที่ยวดี ๆ ให้ครอบครัวเรา ครับ https://www.facebook.com/ChatawanHomestay/

26/07/2561

เส้นสาย, เส้นด้าย และสายใยบัว ที่วัดหนองบัว

เวลาเดินทางออกท่องเที่ยว ผมมักจะวางแผนพร้อมความคาดหวังเสมอ ชอบคิดว่าจะต้องไปทำไอ้นี่ที่นั่น ไปถึงตรงนั้นต้องทำอย่างงี้ ฯลฯ ... บางทีไอ้ที่กะไว้ว่าจะดี ว่าต้องเวิร์ค แต่พอไปจริง ๆ กลับรู้สึกแห้ง ๆ แกน ๆ ... แต่ก็มีอีกหลายครั้งที่รู้สึกดีเกินคาด “วัดหนองบัว” ก็เป็นหนึ่งในนั้นครับ

เหตุที่เอาวัดหนองบัวมาอยู่ในโปรแกรมเที่ยวน่านของบ้านเรา ก็เพราะผมติดใจฝีมือของ หนานบัวผัน คนที่เขียนภาพปู่ม่านย่าม่านที่วัดภูมินทร์นั่นแหละครับ  รู้มาว่า ที่ภาพจิตรกรรมในวิหารวัดหนองบัวนี้ก็เป็นผลงานเขาด้วย ก็เลยจะไปตามดู แค่นั้น  พอไปแล้วถึงได้รู้ว่าวัดหนองบัวยังมีอะไรดี ๆ อีกเยอะ สัมผัสความน่ารักได้หลายอย่าง ทั้งบรรยากาศ ทั้งคน  จากที่ตั้งใจแค่แวะเที่ยวระหว่างทางไปอำเภอปัว ไปไหว้พระ ไปดูรูปแค่สักชั่วโมง  กลายเป็นว่าเวลาครึ่งวันเช้าของเราหมดไปกับความเป็นกันเองและความอบอุ่น ของพ่ออุ๊ย แม่อุ๊ย ที่นั่น จนเกือบลืมข้าวเที่ยงเลยทีเดียว

วิหารวัดหนองบัว บ้านหนองบัว อำเภอท่าวังผา น่าน
วิหารทรงล้านนาของวัดหนองบัว

ข้อมูลคร่าว ๆ ของวัดหนองบัว คือ เป็นวัดประจำชุมชนบัานหนองบัว ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ซ่อนตัวอยู่อย่างสงบริมแม่น้ำน่านในเขตอำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ชาวบ้านส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากชาวไทลื้อที่อพยพหนีภัยสงครามมาจากเมืองหล้าในแคว้นสิบสองปันนา เมื่อประมาณ 200 กว่าปีมาแล้ว  ปัจจุบันได้รับการผลักดันให้เป็นหมู่บ้านโอทอปเพื่อการท่องเที่ยว ... แต่จะมีอะไรเที่ยว เส้นสาย, เส้นด้าย, สายใยบัว แต่ละเส้นคืออะไรไปดูกันครับ

03/07/2561

ชวนลูกแอ่วเหนือไปกิน (ให้มัน) คลีน ที่ แพร่-น่าน

สมัยเด็ก ๆ ผมมักจะถูกสอนให้รู้ถึงคุณค่าของอาหารเสมอ มีอะไรก็กินอย่างนั้น กินให้หมดอย่าเหลือทิ้งเหลือขว้าง บางทีก็หลอกว่าถ้ากินไม่เกลี้ยงจาน จะได้แฟนหน้าสิว  โตมาก็ทำตามได้แทบทุกข้อ ยกเว้นเรื่องความสะอาดของจานนี่แหละ ที่ทำไม่ได้สักที มักจะเหลือเศษนู่นเศษนี่ มีเม็ดข้าวไม่เม็ดก็สองเม็ดติดจานประจำ

ตอนจัดกระเป๋าก่อนเริ่มทริป ได้ดูรายการ พื้นที่ชีวิต ตอน "โคโนฮานะ...ฟาร์มแห่งความยั่งยืน" ที่พูดถึงชุมชนโคโนฮานะ เชิงเขาภูเขาไฟฟูจิ ประเทศญี่ปุ่น  เป็นชุมชนทางเลือกสำหรับคนที่ต้องการใช้ชีวิตที่กลมกลืนกับธรรมชาติและสร้างผลกระทบให้น้อยที่สุด ... ผมชอบวิถีปฏิบัติของที่นั่นหลายอย่าง แต่ที่ประทับใจที่สุดคือการที่ทุกคนในชุมชนตั้งใจกินข้าวให้เกลี้ยงจาน เพื่อลดขยะ ลดการใช้สารเคมีในการล้าง ... เป็นวิธีแสดงความเคารพต่อธรรมชาติที่ดูง่าย น่าเอามาทำต่อมาก ๆ

เมื่อได้แรงบันดาลใจแล้วก็ควรจะทำเลย คิดเป็นชาเลนจ์แล้วชวนลูกทำด้วยจะได้มีเพื่อน ทำมันในทริป แพร่-น่าน นี่แหละ

กติกาคือ ในทุก ๆ มื้อ ตลอดทริป แพร่-น่าน 5 วัน 4 คืนนี้ ไม่ว่าจะกินอะไรขอให้กินให้เกลี้ยงที่สุดเท่าที่จะทำได้ กินเสร็จแล้วถ่ายรูปจานไว้เป็นหลักฐานด้วย ... เสร็จแล้วเอามาทำรีวิวลงเพจ โรงเรียนลูกลิงกับพันทิป ส่วนบล็อกนี้จะใช้เก็บบรรยากาศ เบื้องหลัง รวมถึงแนะนำที่กินแบบรวม ๆ

ที่กินสุดประทับใจ ที่น่าน

ถนนคนเดินกาดข่วงเมืองน่าน

ทุก ๆ วันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ ช่วงเย็น ๆ บริเวณถนนผากองด้านข้างวัดภูมินทร์จะมีตลาดนัดชื่อว่า “ถนนคนเดินกาดข่วงเมืองน่าน” ขายทั้งเสื้อผ้า ของที่ระลึกและของกินพื้นเมือง มีขันโตกปูเสื่อให้นั่งกินตรงลานหน้าวัดด้วย อาหารก็น่ากิน บรรยากาศก็น่านั่งบวกกับเวลาตรงกันพอดี พวกเราเลยตัดสินใจว่าตลอดเวลาที่อยู่น่าน มื้อเย็นจะขอฝากท้องไว้กับตลาดนี้แหละ สะดวกดี ... ปกติตลาดนัดที่ขายของกินหรือถนนคนเดินแบบนี้ มักจะมีปัญหาเรื่องขยะ  ไหน ๆ ก็มาแนวรักษ์โลกแล้ว ผมเลยได้โอกาสพกกล่องข้าวไปหัดใช้ด้วย เผื่อจะได้ช่วยลดภาระเขาบ้าง

มื้อเย็นมื้อแรกที่น่าน ของผมเป็นข้าวราดแกงฮังเล ส่วนของลูกเป็นข้าวหนียวกับไส้อั่ว อันที่อยูในห่อคือหมกเห็ด
มื้อที่ 2 ของผมเป็นยำขนมจีน ปลาทู หมูยอ ... กะว่าจะไม่กินปลาร้าเพราะกลัวกลิ่น ... แต่ทันทีที่บอกแม่ค้าเสร็จ แกก็จ้วงตักน้ำปลาร้าลงผสม 2 ทัพพีด้วยความเคยชิน พอทักปุ๊บ มองหน้ากัน แล้วก็ฮากันทั้งคนซื้อคนขาย แต่ก็ดีแล้วเพราะกลายเป็นมื้ออร่อยที่สุดมื้อหนึ่งในทริปนี้เลยแหละครับ ... ส่วนลูกหนีไปกินอะไรกับแม่ก็ไม่รู้
ที่ว่าตามตลาดนัดหรือถนนคนเดินมักมีปัญหาเรื่องขยะนั้น ที่นี่ถือเป็นข้อยกเว้น มีการจัดการที่ดีและทุกคนร่วมไม้ร่วมมือกัน น่าจะเอาไปทำโมเดลตัวอย่างเลยด้วยซ้ำ ... อันนี้ชื่นชมจริง ๆ

ฟาร์มเห็ดบ้านหัวน้ำ

ฟาร์มนี้ซ่อนตัวอยู่ในหุบเขาที่อำเภอปัว เป็นทั้ง ฟาร์มเห็ด, โฮมสเตย์, และร้านอาหาร นอกจากมีวิวทุ่งนาแบบพาโนรามาแสนสดชื่นบวกอาหารอร่อยสุด ๆ แล้ว ยังอยู่ใกล้ ๆ กับ วังศิลาแลง หรือที่เขาเรียกกันว่าเป็น “แกรนด์แคนยอนเมืองปัว” อีก  ใครกินเสร็จแล้วจะไปเดินย่อย หรือไปลุยเล่นแก่งก่อนแล้วค่อยกลับมาหาอะไรกินก็เป็นความคิดที่ดีทั้งนั้น  สำหรับพวกเราแล้ว มื้อที่ฟาร์มเห็ดบ้านหัวน้ำ ถือเป็นมื้อที่อร่อยที่สุดในน่านเลยหละครับ

เห็ดชุบแป้งทอด
เห็ดนึ่งกับน้ำพริกข่า
ที่เด็ดสุดคืออันนี้ พิซซ่าเห็ด

ที่กินสุดประทับใจ ที่แพร่

ของกินตามตลาดเช้า

ตามตลาด ไม่ว่าจะเช้าหรือเย็น ทุกที่ ทุกจังหวัด มักจะเต็มไปด้วยสีสันและของกินอร่อย ๆ เสมอ ที่แพร่ก็เหมือนกัน ตลาดที่เราแวะหาอะไรกินก่อนขึ้นไปไหว้พระธาตุช่อแฮ เป็นตลาดเล็ก ๆ แต่คึกคัก ชื่อ ตลาดป่าแดง-ช่อแฮ มีขายตั้งแต่ผักยันเสื้อผ้า  ของกินก็เป็นของพื้นเมืองบ้าง ของกินง่าย ๆ อย่างพวกปิ้ง ๆ ทอด ๆ กับข้าวเหนียวบ้าง ที่เด็ดสุดคือหมูนึ้งกับน้ำพริกข่า ... เสน่ห์อีกอย่างของตลาดนี้คือ ที่นี่เป็น “ตลาดสายหยุด” คือเริ่มขายเช้ามืดพอสายก็หยุด หยุด ก็คือหยุดจริง ๆ  ... ขากลับจากไหว้พระ ผ่านตลาดนี้อีกที เห็นทุกแผง ทุกร้าน หายเรียบเหลือแต่โต๊ะ บรรยากาศเงียบเชียบราวกับ เมื่อตะกี้ที่เรานั่งกิน นั่งเม้าท์กัน ที่ร้านกาแฟประจำตลาดเป็นเพียงแค่ความฝัน

แอ็บสมองหมู ตอนแรกอยากลอง แต่แตะดูแล้วมันเย็น ๆ ก็เลย ...
โฉมหน้า พ่อลูกผู้ปฏิบัติภารกิจ ที่เห็นปากมัน ๆ เพราะหมูนึ่งกับน้ำพริกข่าที่กินเพลินจนลืมถ่ายรูป

ตลาดโต้รุ่งประตูชัย

ถ้าที่น่านมีถนนคนเดินกาดข่วงเมืองน่าน ที่แพร่ก็มีตลาดโต้รุ่งประตูชัยนี่แหละ ที่เป็นย่านของกินตอนเย็น ๆ ค่ำ ๆ ที่ฝากท้องได้  ที่นี่มีร้านอร่อยมีชื่อเสียงหลายร้าน ไม่ว่าจะเป็น เย็นตาโฟ, ขนมจีนน้ำใส, ข้าวเหนียวมะม่วง นมสดและน้ำแข็งใส  แต่ที่ผมกินแล้วประทับใจที่สุดคือโจ๊กครับ เป็นร้านเล็ก ๆ ไม่น่าจะมีชื่อเสียงอะไรแต่คึกคัก เห็นคนแพร่มาแวะซื้อกลับบ้าง เข้ามาทั้งนั่งกินบ้าง มีมาไม่ขาดสายคนขายไม่ได้พักกันเลยทีเดียว ... เราสั่งโจ๊ก กวยจั๊บ และข้าวต้มปลามาลองดู ทั้งหมดรสชาติอ่อนโยน กินแล้วสบายใจ เหมาะสำหรับคนที่ต้องการพักปาก พักท้อง อย่างเรามากครับ

แปะรูปหน้าร้านไว้ เผื่อใครอยากจะตามรอยไปกิน ร้านนี้อยู่ตรงกันข้ามกับตลาดสดเทศบาล
ข้าวต้มปลาน่ากินมาก

สรุปผล สำหรับตัวเอง

ชอบความรู้สึกตอนนั่งกวาดเม็ดข้าวกินให้เกลี้ยงจาน เวลาคนอื่นมองจานเกลี้ยง ๆ ของเราแล้วรู้สึกกระหยิ่มใจเล็ก ๆ ประมาณว่า "เป็นไง? ... เกลี้ยงป๊ะหละ" อะไรทำนองนั้น  แต่ที่ดีที่สุดคือรู้สึกว่ามีสมาธิกับการกิน สามารถแสดงความเคารพต่ออาหารและสิ่งที่อยู่เบื้องหลังได้อย่างเต็มที่ ... ที่ไม่ค่อยดีคือ จบทริปแล้วน้ำหนักขึ้นนิดหน่อย (-_-")

ส่วนเรื่องการพกกล่องข้าวนั้น คิดว่าถ้าใช้ในชีวิตประจำวัน หรือเป็นที่ที่คุ้นเคย อย่างร้านข้าวร้านประจำก็พอเป็นไปได้  แต่ถ้าจะใช้ตอนเดินทางก็ต้องมีการเตรียมตัวที่ดี เพราะมันมีข้อจำกัดและติดขัดในหลาย ๆ เรื่อง

  • ตามตลาดนัดแม่ค้ามักจะเตรียมของใส่ภาชนะของเขาไว้แล้วเพื่อความสะดวก 
  • กล่องข้าวแต่ละชนิดก็เหมาะกับอาหารคนละแบบไม่เหมือนกัน เช่น แกงถุง ซื้อร้านเดียว ใช้ปิ่นโตเหมาะสุด  แต่ถ้าเป็นตลาดนัดเดินกิน ใช้กล่องช่องเดียวแบบไม่มีชั้น ไม่มีช่อง ไม่ซ้อนกันให้ยุ่งยาก จะดีกว่า

สรุปผล สำหรับลูก

ระหว่างทริปกระตือรือร้นและให้ความร่วมมือดี น่าจะเพราะมีการชาเลนจ์เป็นตัวกระตุ้น กลับมาแล้วก็มีเผลอไปบ้าง แต่เตือนแล้วก็เชื่อดี  ตอนนี้ให้รับหน้าที่เป็นเด็กล้างจานของบ้าน จะได้รู้ซึ้งถึงประโยชน์ของการกินให้จานมันเกลี้ยง ๆ  (พ่อจะได้พัก อิอิ)

แต่สิ่งที่อยากให้ลูก (รวมถึงตัวเองด้วย) เรียนรู้จริง ๆ ก็คือ ให้มองชีวิตเป็นเหมือนจานข้าวของเรา ที่บางครั้งก็ไม่สามารถเลือกเอาแต่สิ่งที่ตัวเองชอบได้ทั้งหมด หน้าที่ของเราคือยอมรับ และกินมันซะให้เกลี้ยง ... ด้วยความเคารพ

05/06/2561

โชว์ช้างที่สุดแสนจะเร้าใจ

เท่าที่เคยเห็นการแสดงของช้างมา ... ตั้งแต่ แบบพื้น ๆ ทั่ว ๆ ไปอย่าง ส่ายหัว, ลุก, นั่ง, ขึ้นเก้าอี้, ยืน 2 ขา หรือการแสดงความสามารถทางศิลปะ อย่างเป่าเมาท์ออแกนเอย วาดรูปเอย หรือจะเป็นแนวกีฬาอย่างการเตะบอล ไปจนถึงการแสดงในเวทีใหญ่ ๆ อย่างการแสดงยุทธหัตถี ... ผมว่า โชว์ช้างว่ายน้ำ ที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียวนี่พีคที่สุดแล้วล่ะครับ

ต้องบอกก่อนว่า สวนสัตว์เปิดเขาเขียวนี่เป็นสวนสัตว์ที่ผมและครอบครัวคุ้นเคยที่สุด คือไปบ่อยมาก เรียกว่านึกอะไรไม่ออกก็ไปเขาเขียว  เพราะเกิดปีขาล วันเกิดนึกอยากจะทำบุญก็ซื้อเนื้อไปให้เสือที่เขาเขียว  มีลูก จะพาลูกไปเยี่ยมตายายที่ระยอง ระหว่างทางก็ต้องผ่านเขาเขียว เลยแวะเป็นประจำ

แต่เพราะว่าแวะบ่อย ก็เลยเบื่อ บวกกับลูกเริ่มโตแล้วไม่ค่อยอยากเที่ยวสวนสัตว์เท่าไหร่ พักหลัง ๆ ก็เลยไม่ค่อยได้แวะ

ล่าสุดไปมาเมื่อเดือนเมษาที่ผ่านมา เพิ่งเห็นว่าเขาเขียวเปลี่ยนไปมาก อัตราค่าเข้าชมแพงขึ้นพอสมควรแต่ก็ยังถือว่าคุ้มค่า เพราะหลายส่วนจัดแสดงได้รับการปรับปรุงภูมิทัศน์ใหม่ให้สวยงามและกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม เช่น ขยายบ้านให้ฮิปโปโปเตมัส, ปรับปรุงบ้านนกเพนกวินให้โปร่งขึ้น เพิ่มส่วนแสดงสัตว์จากทวีปออสเตรเลีย ฯลฯ

นอกจากสถานที่จะสวยขึ้นแล้ว ก็ยังมีกิจกรรมสนุก ๆ มากขึ้นด้วย ... ที่ผมประทับใจจนต้องเอามาวาดรูปก็คือ การโชว์ช้างว่ายนั่นแหละครับ ผมว่าเป็นโชว์ที่ฉลาดคิด แค่ทำสระให้ช้างมาเล่นน้ำ โดยด้านล่างเป็นตู้กระจก ก็ทำให้เราได้เห็นอิริยาบถแปลกตาของช้างขณะว่ายอยู่ใต้น้ำกันแบบชัด ๆ ... วันดีคืนดี ถ้าพังแสงดาว (ดาราประจำโชว์) กินเยอะไปหน่อย ก็อาจจะปล่อยทุ่นระเบิด ลอยตุ๊บป่อง ๆ ให้ ควาญมุดหลบกันเป็นที่สนุกสนานปนหวาดเสียว เรียกเสียงฮาจากผู้ชมได้กระหึ่มสระกันเลยทีเดียว ครับ

มุมมองผ่านกระจกด้านล่างสระ
ด้านบนของสระว่ายน้ำ สามารถสัมผัสให้กำลังใจช้างและควาญได้อย่างใกล้ชิด
ส่วนจัดแสดงฮิปโปโปเตมัสที่ปรับปรุงใหม่ กว้างขวาง
แต่ก็สามารถให้อาหารได้อย่างใกล้ชิด
โคอาลาในส่วนจัดแสดงสัตว์จากทวีปออสเตรเลีย เหมาะสำหรับไปดูตอนเหนื่อย ๆ เพราะอยู่ในห้องแอร์และมีกลิ่นใบยูคาลิปตัส ... สดชื้น สดชื่น
กลับมาเที่ยวเขาเขียวคราวนี้สนุกดีจริง ๆ ไว้ว่าง ๆ นึกอะไรไม่ออกจะไปเที่ยวอีก ไว้เจอกันนะ พังแสงดาว
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม มีโชว์กี่รอบ?  มีโชว์อื่นมั้ย? บัตรราคาเท่าไหร่? อะไร? ยังไง? ... ฯลฯ เชิญ Website Official ของเขาเขียวเขาเลยครับ » สวนสัตว์เปิดเขาเขียว

12/03/2561

จักรวาลของชาวล้านนา ที่เชียงใหม่

ที่ตั้งชื่อเรื่องว่า "จักรวาลของ ... " เพราะรู้สึกว่าคำนี้มันคุ้นดี  เดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็พูดถึงจักรวาลของมาเวลบ้าง จักรวาลของดีซีมั่ง จักรวาลของนู่นนี่นั่น ... ประกอบกับเรื่องที่จะเล่านี้ก็สื่อถึงจักรวาลเหมือนกัน เป็นจักรวาลแบบพุทธศาสนาตามคติความเชื่อของชาวล้านนา ครับ

ถ้าใครเคยไปไหว้พระทางภาคเหนือ คงต้องผ่านตากันบ้างหละ เชิงเทียนไม้แกะสลักสวยแปลกอันใหญ่ รูปทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่วคล้ายหน้าบัน มีที่ปักเทียนอยู่เจ็ดที่ ตรงกลางสูงสุดและลดหลั่นกันลงมาด้านละสาม  ชาวเหนือเขาเรียกว่า "สัตตภัณฑ์" ถือเป็นเครื่องบูชาที่สำคัญ มักจะตั้งอยู่หน้าพระประธานในโบสถ์วิหารทั่วไปในล้านนา (ผมเดินดูเกือบทั่วเมืองเชียงใหม่เห็นมีแทบทุกวัด ถูกใช้งานบ้าง ถูกเก็บบ้าง ... ว่ากันไป ... ส่วนจังหวัดอื่น ๆ ในล้านนานั้น ไม่รู้ครับ เพราะยังไม่เคยไปเลย .. แหะ ๆ )

คนล้านนาสร้างวัดขึ้นตามคติความเชื่อเรื่องไตรภูมิ ทุกสิ่งอย่างในวัดจะมีความหมายที่สื่อถึงจักรวาลแบบพุทธศาสนาซ่อนอยู่เสมอ เช่น ซุ้มประตูโขงหน้าวัดที่มีรูปสัตว์ต่าง ๆ ก็คือป่าหิมพานต์ (สุดเขตแดนโลกมนุษย์) เดินเข้ามาผ่านพื้นทรายในวัดก็หมายถึงมหาสมุทร (มหานทีสีทันดร) เข้ามาในวิหารก็เจอ สัตตภัณฑ์ เป็นตัวแทนของเขาสัตตบริภัณฑ์ทั้งเจ็ดลูก ด้านหลังคือพระประธานหรือพระธาตุที่อยู่ด้านหลังเข้าไปอีกก็คือเขาพระสุเมรุศูนย์กลางของจักรวาล

สารภาพตามตรงว่าตอนที่ผมไปเชียงใหม่ ไม่ได้รู้เรื่องสัตตภัณฑ์อะไรนี่มาก่อนเลย ... แค่รู้สึกว่า เชิงเทียนนี่สวยแปลกตาเหมือนจั่วใหญ่ ๆ นึกว่าจะเกะกะ แต่ดูไปก็เป็นจุดนำสายตาที่ดี ทำให้เวลาเรามองรวมกับองค์พระประธานแล้วรู้สึกว่าองค์ประกอบมันสวยดี เทียบกับรูปทรงของพระพุทธรูป มุมหลังคาหรือมุมของกู่พระด้านหลัง มันรับกันพอดีเป๊ะ สมบูรณ์ลงตัว ... และความสมบูรณ์นี้ก็ทำให้เรารู้สึกสงบได้อย่างประหลาด

รู้สึกติดใจก็เลยถ่ายรูปเก็บไว้ เอามาวาด แล้วก็หาข้อมูลมาเล่าให้ฟัง เอ๊ย! อ่าน นี่แหละ ... เก็บไว้เป็นข้อมูล เตือนใจให้เปิดหูเปิดตาดูให้ทั่ว ๆ เวลาไปเที่ยววัดจะได้สนุกยิ่งขึ้น ครับ
ถ้าใครอยากรู้เรื่องสัตตภัณฑ์มากกว่านี้ หรือเรื่องเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมล้านนา ก็เชิญสองลิงค์นี้เลยครับ https://prachatai.com/journal/2009/01/19851, http://www.lanna-arch.net/ ข้อมูลที่ผมเอามาเขียน blog ก็ได้มาจากสองที่นี้แหละครับ ^_^
ของแถม คือ สัตตภัณฑ์และพระประธานที่วัดเชียงมั่น เป็นวัดแรกขอเมืองเชียงใหม่ และวัดแรกของผมด้วย ตอนที่ไหว้พระไม่ได้สังเกตเชิงเทียนเลย มีพานดอกไม้และอะไรต่อมิอะไรบัง มืด ๆ มัว ๆ จนมองไม่เห็น .. แต่พอมาดูรูปแล้วก็เสียดาย

26/02/2561

ขนมจีนแกงไก่คั่ว โปรตุเกส, จีน, ไทย ของใครอะไรแน่?

แว็บแรกที่ได้ชิม ... เฮ้ย! นี่มันน้ำเงี้ยว? ... อื่ม แกงกระหรี่แบบจีน ๆ มั้ย? ... เอ่อ ก๋วยเตี๋ยวแขก? ... อ่า ลักซาหละ? ไม่มั้ง ... คุ้น ๆ นะ แต่มันเหมือนอะไรก็นึกไม่ออก ... อ้าว! เผลอ ๆ หมดซะแล้ว

╮(╯_╰)╭

ถ้าจะให้อธิบายรสชาติของขนมจีนแกงไก่คั่วนี้โดยไม่ต้องเปรียบเทียบกับอะไร ก็ต้องบอกว่า รสมันนวล ๆ กลม ๆ ไม่เปรี้ยว ไม่เค็ม ไม่หวาน ไม่เผ็ด กลมนัวกันไปหมด และก็ไม่ได้มีกลิ่นเครื่องเทศอะไรมากมาย ตัวเครื่องแกงอาจมีถั่วลิสงผสม เนื้อไก่สับกับเลือดทำให้นึกถึงขนมจีนแกงไก่ (ไทยเรานี่แหละ) ไม่เผ็ดจัดจ้านและก็ไม่เข้มข้นแบบแกงกระหรี่หรือมัสมั่น มีความเบาตามแบบฉบับขนมจีน กลิ่น รสแบบไทย ๆ ... บรรยายซะมากมาย ชักจะวกไปวนมา บอกไม่ถูกต้องไปลองเอง .. แต่สรุปให้ว่า "อร่อย" ก็แล้วกัน

จบเรื่องความรู้สึกไปแล้ว เรามาเข้าข้อมูลกันดีกว่า

เล่ากันว่า "ขนมจีนแกงคั่วไก่" หรือ "ขนมจีนโปรตุเกส" เป็นอาหารโบราณที่สืบทอดกันในหมู่ชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสแถวย่านกุฏีจีน (ฝั่งธนฯ) และบ้านวัดคอนเซ็ปชัญ (สามเสน) มักจะทำกันในงานฉลองพระแม่ไถ่ทาส เดเมย์เซเดย์ หรือที่ชาวบ้านคอนเซ็ปชัญเรียกว่า "พระแม่ขนมจีน" และงานมงคลอย่างงานแต่งงานเท่านั้น  เป็นอาหารที่รวมหลากหลายวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน วัตถุดิบแต่ละอย่างก็ทำให้นึกเชื่อมโยงถึงเส้นทางการค้าในยุคแห่งการสำรวจ (Age of Exploration) ทั้งนั้น  อย่าง พริก, ผักชี, ต้นหอมและไก่ ก็เป็นของที่น่าจะหาได้ง่ายในเรือสำเภาของชาวโปรตุเกส  เลือดไก่ก้อนเป็นวัฒนธรรมการกินที่ติดมาจากชาวจีนโพ้นทะเล  มะพร้าวและกะทิน่าจะเป็นเครื่องปรุงพื้นฐานของคนในแหลมมาลายู  ส่วนขนมจีนนั้น ก็เป็นวัฒนธรรมร่วมของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่แล้ว

ถ้าจะให้จินตนาการถึงต้นกำเนิดของเมนูนี้ ผมว่า ก็น่าจะเริ่มในงานเลี้ยงงานบุญนั่นแหละ แม่ครัวใหญ่ประจำย่าน (อาจมีหลายคนช่วยกัน) คิดเอาของที่หาได้ง่ายมาดัดแปลง ปรุงรส พยายามทำให้ถูกปากคนที่มาร่วมงาน ซึ่งทั้งย่านกุฏีจีนและบ้านวัดคอนเซ็ปชัญนั้น ไม่ได้มีแค่ฝรั่งโปรตุเกสอย่างเดียว มีคนเชื้อชาติอื่นอาศัยอยู่ด้วย ทั้งไทย จีน เขมร แขก ... การทำอาหารที่ทุกคนร่วมกันกินได้อย่างสบายใจนั้น ก็คงคล้ายจะบอกเป็นนัยว่า "รักทุกคนน๊า กลมเกลียวๆ จุ๊บๆ"

ถ้าใครอ่านแล้วอยากกินบ้าง แต่ไม่อยากรอรอเทศกาล ก็แนะนำให้ไปที่ "ร้านเฮโล นมสด" อยู่ตรงหน้าโบสถ์ซางตาครู้ส (Santa Cruz) ครับ ... หาไม่ยาก เป็นร้านของว่างทานเล่น เล็ก ๆ สบาย ๆ น่านั่ง เหมาะสำหรับคนที่มาเดินเที่ยวชุมชนกุฎีจีนแล้วอยากจะพัก นั่งชิว ๆ บางทีมีแมวอ้วนมานอนให้ลูบเล่นด้วย ;)

22/01/2561

วัน by One ┊ชุมพร, เกาะเต่า (วันที่ 5 สุดท้ายแล้ว)

เนื่องจากวันนี้เป็นวันสุดท้าย และต้องเตรียมตัวกลับกรุงเทพฯด้วย เลยไม่ต้องทำกิจกรรมอะไรให้วุ่นวาย 

ตื่นเช้าก็กินข้าวต้มรีสอร์ทรองท้องไปก่อน ทะลงทะเลก็ไม่ต้องคิดเล่นให้เสียเวลา เก็บของ, พาป้าไปส่งบ้าน, ตระเวนรับของฝาก แพ็กใส่รถแล้วขับกลับเลยตอนสาย ๆ

แต่ระหว่างทางที่ไปส่งป้า (จากอ่าวทุ่งมะขามไปปากน้ำฯ) จู่ ๆ แกก็พาผมกลับอีกทาง คือแทนที่จะขับรถเลียบชายหาดเหมือนขามา แต่แกพาขับอ้อมหลังเขาผ่านเข้าไปในดงนากุ้ง ... ขับมาสักพักก็ให้หยุดอยู่ที่เพิงขนมจีนเล็ก ๆ ข้างทาง แล้วบอกว่าขนมจีนร้านนี้อะเด็ด (เป็นอันว่ากินมื้อเช้า 2 ครั้ง ... อีกแล้ว ^^") ... ซี่งก็เด็ดจริง ที่ร้านมีน้ำยากะทิ น้ำพริก แล้วก็แกงไก่ (แกงไก่น่ากินมากกกกก) ให้เลือกกิน รสชาติดีกลมกล่อมถึงเครื่องดีแท้ ใครอยากจะเพิ่มความสะใจก็มีพริกทอดให้ใส่ แต่เสนห์ที่สุดของขนมจีนร้านนี้น่าจะอยู่ที่ที่ผักเหนาะชุดใหญ่ที่อยู่กลางโต๊ะ ... ซี่งก็แปลกเพราะ ไม่ได้มีผักแปลก ๆ หากินยากอะไรเลย ทั้งในถ้วย ทั้งในกระจาดผักสามัญทั้งนั้น ธรรมดาแต่สดและอร่อยทุกผัก ที่ผมชอบที่สุด (อันนี้แปลกหน่อย) คือยอดเสม็ดเพิ่งเคยกินครั้งแรก ฝาด ๆ มัน ๆ เข้ากับขนมจีนน้ำยาที่ซู้ดดดด

ระหว่างทางกลับกรุงเทพฯ ด้วยความอยากมีบ้านอยู่ชุมพรบ้าง ผมจึงถามแม่ว่า ระหว่างชุมพรกับกรุงเทพฯ คิดว่าที่ไหนเป็นบ้านมากกว่ากัน?

แม่บอกว่า ถ้าเป็นสมัยก่อน ก็คงเป็นที่ปากน้ำชุมพรนี่แหละที่เรียกได้ว่าบ้าน แต่ถ้าเอาจริง ๆ แล้ว ตอนนี้พูดถึงบ้านก็คงเป็นที่กรุงเทพฯแล้วหละ อยู่มาตั้งหลายปีนิ ... หลายอย่างเปลี่ยนคนก็เปลี่ยน คนเก่า ๆ แก่ ๆ ก็หายไปกันหมด "บ้าน" มันมีมากกว่าสถานที่นะ

ครับ ผมรับคำแล้วขับรถต่อ

19/01/2561

วัน by One ┊ชุมพร, เกาะเต่า (วันที่ 4)

เรือจากเกาะเต่ามาถึงท่าเรือที่ท่ายางตอนเช้ามืด จากท่ายางขับรถมา 10 นาทีก็บ้านป้าที่ปากน้ำชุมพร และเหมือนเป็นการเลี้ยงต้อนรับ วันนี้แทบทั้งวันมีคนอาสาพาไปกินของอร่อยตั้งแต่เช้ามืด ... ยันค่ำ

ตอนเช้าเริ่มจากขนมกระจุ๊กกระจิ๊กไม่ค่อยเป็นชิ้นเป็นอัน เราปักหลักกันที่ร้านโบตา (ร้านกาแฟเก่าแก่ประจำตลาดเช้าปากน้ำชุมพร) แล้วก็ออกเดินตลาด ใครเจอขนมอะไรอร่อย น่ากิน อยากกินก็ซื้อมา แล้วเอามานั่งกินที่ร้าน ... ที่ผมชอบคือขนมหัวล้านกับปลากระเบนแดดเดียวอร่อยดี อย่างอื่นก็โอเค แต่กาแฟไม่อร่อยเท่าเดิม ซึ่งเหมือนกับของอร่อยอื่น ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ... น่าเสียดายที่ลูกสาวผมเกิดช้าไป ไม่มีโอกาสกินบะหมี่เกี้ยวกวางตุ้ง (แท้ ๆ ) เพราะต้นตำหรับเขาถ่ายทอดวิธีทำเส้นให้คนหนึ่งและสูตรน้ำซุปให้อีกคนหนึ่งซึ่งปัจจุบันเขาไม่ถูกกัน (จบเห่)  เสียดายที่ไม่มีโอกาสกินขนมใส่ใส้ของเจ้ขาบ, เสียดายที่ไม่มีได้ชิมขนมเบื้องญวนของย่าผม ... แต่เท่านี้ขนมก็เต็มโต๊ะแล้ว ...

พอสายหน่อย ขนมยังไม่ทันย่อยหมดดี ป้าก็พาขึ้นไปกินกาแฟถ้ำสิงห์ (กินแล้วกินอีก) บนจุดชมวิวบนยอดเขามัทรี ซึ่งเป็นที่เที่ยวใหม่ของจังหวัดชุมพร ... ผมไม่แน่ใจว่า ผู้ว่าฯ, เทศบาล หรือ อบต. กันแน่ ที่เป็นคนพัฒนาที่บริเวณนี้ เปลี่ยนที่เปลี่ยว ๆ อึม ๆ อย่างซอยเปลี่ยวข้างวัด, ป่าช้าเชิงเขา, ศาลเจ้าเงียบ ๆ ให้กลายเป็นจุดชมวิวที่สวยขึ้นหน้าขึ้นตาได้ขนาดนี้ ต้องขอชื่นชมและขอบคุณ เพราะถึงแม้ทางขึ้นจะชันไปหน่อย ป้ายสำหรับถ่ายรูปวุ่นวายไปนิด  แต่มุมที่มองเห็นตัวเมืองปากน้ำชุมพรได้ทั้งเมืองนี่เป็นมุมที่ผมมองได้ไม่เบื่อเลยจริง ๆ

กินกาแฟเสร็จ ผมก็แว๊บพาลูกพาเมียไปแอบดูวัด (วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย) ที่เคยมาบวชเณรภาคฤดูร้อนตอนเด็ก ๆ ฟื้นความจำ ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ไปตามเรื่อง

กลับจากวัด "พี่โจ" (ลูกชายป้า) ก็พาไปเลี้ยงมื้อเที่ยงอีก ตอนเย็นก็ไปกินอาหารที่หาดทรายรีอีก ... สรุปว่าวันนี้ทั้งวันมีแต่ กิน กิน กิน

วันนี้มีอุบัติเหตุนิดหน่อย จากตอนแรกที่คิดว่าจะพักที่ อช.หมู่เกาะชุมพร แต่เพราะการสื่อสารสับสน ต่างก็จำผิดวัน บัานพักเต็ม ก็เลยต้องระเห็จออกมาพักรีสอร์ทบ้าน ๆ ชื่อ "ทองหลางรีสอร์ท" ที่อ่าวทุ่งมะขามแทน

16/01/2561

วัน by One ┊ชุมพร, เกาะเต่า (วันที่ 3)

เพราะว่าเมื่อวานไปทำกิจกรรมที่เป็นไฮไลท์อย่างดำน้ำมาแล้ว วันนี้ก็เลยเริ่มต้นอย่างเอื่อยเฉื่อย นั่ง ๆ นอน ๆ เล่นน้ำ เล่นทราย จนเริ่มมาพีคเมื่อกิจกรรมหมด ไม่รู้จะทำอะไรแล้ว ... ความเบื่อสะสมจนผมทนไม่ไหวหาเรื่องลำบากลำบน (ไม่คิดว่าจะลำบาก) ชวนกันเดินไปสำรวจจุดชมวิวจอห์น-สุวรรณ

จุดชมวิวจอห์น-สุวรรณ อยู่บนเนินเขา ปลายแหลมที่ขั้นระหว่าง อ่าวโฉลกบ้านเก่า กับ อ่าวเทียนออก  ในไกด์บุค (ที่หยิบได้ฟรี ๆ ที่ท่าเรือ) บอกว่าเป็นจุดชมวิวยอดฮิตบนเกาะเต่าเพราะมองเห็นทะเลทั้งสองอ่าวพร้อม ๆ กัน คล้ายกับที่เกาะพีพี ... ดูรูปก็สวยดี จากแผนที่ก็ไม่ได้อยู่ไกลจากที่พักเรามาก ประมาณกิโลกว่าๆ เท่านั้นเอง และมองจากที่พักเราก็ไม่ได้อยู่สูงมากจนต้องแหงนหน้ามอง ... แต่ความจริง ด้วยความชันบวกกับ "แดดมหาประลัยทะเลใต้" ตอนบ่าย 2 - บ่าย 3 ... กว่าจะเดินถึง, (ต้องซื้อตั๋วด้วย!!! (ʘдʘ╬)) กว่าจะขึ้น, กว่าจะลง, กว่าจะกลับ ... ทั้งร้อนทั้งเหนื่อยแทบจะละลาย  แต่ก็นับเป็นประสบการณ์ที่ดี ที่ได้เห็นสถานที่สวย ๆ อย่างนี้ เป็นอีกมุมของเกาะเต่าที่น่าประทับใจ ... คิดไปคิดมา ก็อดอิจฉาน้าจอห์นกับลุงสุวรรณผู้ค้นพบจุดชมวิวนี้ไม่ได้ สมัยก่อนคงสวยกว่านี้เยอะ และก็คงไม่ต้องเสียค่าผ่านทางอะไรด้วย ("น้า" กับ "ลุง" เป็นคำที่ผมมะโนเอาเล่น ๆ  ที่จริงแล้ว ใครจะเป็นน้าหรือลุงหรืออะไร ผมไม่รู้หรอกครับ : P )

หลังจากกลับมาอาบน้ำอาบท่า พักผ่อนกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผมก็ปรึกษากับแม่ว่าจะกลับชุมพรด้วยเรือนอนคืนนั้นเลย ... ดี หรือจะค้างที่รีสอร์ทอีกคืนแล้วค่อยกลับเรือเร็วอีกวัน ... ดี  ก็ได้ข้อสรุปว่า กลับเลยดีกว่า เพราะจะได้มีเวลาเที่ยวชุมพรบ้าง และอยู่ที่เกาะต่อก็ไม่มีอะไรทำ

ขากลับ สภาพเรือเก่ากว่าขามามาก ราคาก็ถูกกว่านิดหน่อย แต่มีเพื่อนร่วมทางเยอะ และส่วนมากเป็นคนที่ทำงานที่เกาะ ชาวเกาะมั่ง, AEC มั่ง ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยว (ฝรั่ง) สักเท่าไหร่ ... ทะเลมีคลื่นลมนิดหน่อย เลยนอนไม่ค่อยหลับ

15/01/2561

วัน by One ┊ชุมพร, เกาะเต่า (วันที่ 2)

เรามาถึงเกาะเต่าตอนเช้ามืด ตีห้ากว่า ๆ นั่งรอที่ท่าเรือสักพักพนักงานที่รีสอร์ท (ของญาติห่าง ๆ อีกแล้ว) ก็เอารถกระบะคันใหญ่มารับ ขับบึ่งพาเราขึ้นเขา ลงเนิน คดเคี้ยวเลี้ยวลด ผ่านทางมืด ๆ มาแป๊บเดียวก็ถึงที่พักที่อ่าวโฉลกบ้านเก่า

พอถึงรีสอร์ท เก็บของเสร็จ ระหว่างที่เรานั่งกินอาหารเช้ากันชิว ๆ เจ้าของรีสอร์ทก็เข้ามาทักทาย แล้วก็แนะนำว่า วันนี้ฟ้าเปิดน่าจะไปดำน้ำรอบเกาะเลยนะ เขาจะจองให้ ... ผมเองไม่ค่อยอยากไปเท่าไหร่ เพราะยังเหนื่อยจากการเดินทาง ตั้งใจว่าวันนี้จะพักผ่อน ใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อยตามแบบชาวเกาะ ซะหน่อย ... แต่ในเมื่อคนอื่นพร้อม จะฮึดฮัดขัดใจเพื่อนร่วมทริปก็ไม่ไหว เอาวะ ... ไปก็ (ต้อง) ไป

ทัวร์ One Day Trip ดำน้ำรอบเกาะแบบนี้ เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไปที่ไม่ได้เป็นนักดำน้ำจริงจัง มีให้เลือกหลายเจ้า แต่ส่วนใหญ่ก็จะเหมือนกัน  คือ ไม่ใช่การเหมา มีเพื่อนร่วมทริปอีกหลายคณะแล้วแต่ว่ารีสอร์ทที่ตกลงกันไว้เขาจะส่งมากี่คน, มีรถมารับส่งทั่งไปและกลับ, เริ่มออกจากท่าเรือแม่หาดจะวนซ้ายหรือวนขวาก็แล้วแต่ (ของผมวนซ้าย), แวะดำน้ำตามอ่าวสวย ๆ แต่ไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและสถาณการณ์เฉพาะหน้า เช่น อ่าวนี้คนแน่น น้ำแรงไปหรือจู่ ๆ ฝนตก ก็รอไปหรือไปดำที่อื่นได้ ทำนองนี้ ... ส่วนใหญ่จะแวะ อ่าวฉลาม, อ่าวลึก, อ่าวม่วง และที่พลาดไม่ได้คือเกาะนางยวน (ซึ่งเสียค่าขึ้นเกาะอีก 30 บาท) บนเรือมีอุปกรณ์ดำน้ำตื้นให้ครบ มีขนมและชากาแฟให้ชงกินเองได้ไม่อั้น ตอนเที่ยงก็มีข้าวให้กิน เรียกว่าซื้อทัวร์แล้วจบทั้งเที่ยวทั้งกินในหนึ่งวัน

ลำที่ผมใช้บริการนั้นเหมือนจะเป็นกิจการในครอบครัว พ่อเป็นกัปตันขับเรือ, แม่เป็นแม่ครัว, มีลูกชายที่รูปร่างหน้าตาเหมือน "อาไท กลมกิ๊ก" ค่อยดูแลนักท่องเที่ยวคอยเช็คอุปกรณ์ และมีลูกจ้างชาวพม่า (พูดไทยไม่คล่องแต่ภาษาอังกฤษดี) ทำหน้าที่ออกแรง และเป็นไลฟ์การ์ด คอยช่วยคนที่ว่ายน้ำไม่แข็งหรือเหนื่อย พากลับมาที่เรือ

สำหรับผม ถึงแม้ว่าทริปนี้จะเริ่มแบบมึน ๆ ง่วง ๆ แต่ก็เจอตัวอะไรที่ไม่เคยเห็นเยอะดี เห็นปลาวัวไททัน (Titan Trigger Fish) กับฝูงปลาตาโตหลายร้อยหลายพันตัว ... ฯลฯ อาหารเที่ยงก็อร่อย  รวม ๆ แล้วเป็นทริปที่สนุก

10/01/2561

วัน by One ┊ชุมพร, เกาะเต่า (วันที่ 1)

 images

ขยายความ เผื่อมีคนอ่านลายมือผมไม่สะดวก ^.~

การไปชุมพรครั้งนี้ เหมือนการกลับบ้านเก่าไปเยี่ยมญาติมากกว่าจะเป็นทริปท่องเที่ยวธรรมดา เริ่มจากที่ผมได้มีโอกาสมางานศพลุงที่ปากน้ำชุมพร ... ได้มาเห็นญาติ ๆ มารวมตัวกันที่วัด ได้กินอาหารอร่อย ๆ ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของเมืองที่คุ้นเคย ตรงที่ที่เคยเป็นกำแพงวัดกับห้องเย็น (แช่ปลา) ถูกปรับปรุงให้กลายเป็นพื้นที่เปิดโล่ง คล้าย ๆ สวนสาธารณะริมหาด มองเห็นเกาะมัตโพนได้ง่าย ๆ วิวสวย บรรยากาศน่าเดินเล่น ...ฯลฯ

เห็นแล้วก็นึกถึงลูก อยากอวด อยากชวนเขามาสัมผัสชุมพรบ้าง สัมผัสเมืองที่ผมใช้ชีวิต (ช่วงปิดเทอม) ตอนอายุไล่ ๆ กับเขา ... สัมผัสที่ที่ผมกับแม่ของเขาเคยเที่ยวดำน้ำกันสมัยที่พามาแนะนำตัว ... อยากให้มีประสบการณ์การดำน้ำบ้าง แม้จะเป็นแค่การดำผิวน้ำ (Snorkeling) ก็ยังดี ... และที่สำคัญก็พามาหาญาติฝั่ง ปู่ ๆ ย่า ๆ แล้วเอาอาหารใต้เข้าเส้นเลือดบ้าง น่าจะดี ... คิดได้ดังนี้ก็เลยจัดทริป

ทริปนี้กะว่าจะใช้เวลาประมาณ 5 วัน ชวนแม่ไปด้วย ขับรถไปชุมพร เยี่ยมป้าแล้วก็รับไปเที่ยวเกาะเต่าด้วยกัน นอนที่เกาะสัก 2 คืน กลับมาชุมพรพักที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพรสักคืน แล้วก็ขับรถกลับกรุงเทพฯ

ตอนขับรถ เพิ่งรู้ (สึก) ว่าชุมพรอยู่ใกล้กว่าที่คิด จำได้ว่าสมัยก่อนต้องขับรถข้ามวัน, นั่งรถไฟข้ามคืน แต่เดี๋ยวนี้ขับรถออกจากกรุงเทพฯตอนเช้า จะไปกินข้าวเที่ยงในตัวจังหวัดเลย ก็ทำได้สบาย ๆ ไม่ต้องกระเสือกกระสนอะไร หลังจากกินข้าวเสร็จ ก็ขับรถวนไปดูทะเล, พาหลานสาวไปหาย่า (ป้าผม), ใช้อภิสิทธิ์กินโจ๊ก, มาม่า, แถมกับข้าวพิเศษ คือปลาหมึกผัดกระเทียมแบบฟรี ๆ ... อิ่มแล้วก็ช่วยป้าเก็บจาน ปิดร้าน เตรียมตัวขึ้นเรือนอนไปเกาะเต่า

ถึงเรือที่ผมขึ้นเรียกว่า "เรือนอน" แต่หน้าที่หลักของเรือประเภทนี้ก็คือขนของ (สินค้าอุปโภคบริโภค) ขนจากฝั่งไปที่เกาะ ขากลับก็รับของจากเกาะกลับมาฝั่ง  พอการท่องเที่ยวเกาะเต่าเริ่มบูม จากที่เคยรับคนบ้าง ก็เป็นหลาย ๆ คนบ้าง ไทยบ้าง, ฝรั่งบ้าง, จีนบ้าง, จนสุดท้ายก็ขายตั๋วเป็นเรื่องเป็นราว กลายเป็นเรือนอนอย่างที่เห็นกันทุกวันนี้ ... สมัยก่อน ลุงอีกคน (ลูกพี่ลูกน้องแม่) ของผม ก็มีกิจการเรือนอนเหมือนกัน สมัยนั้นเรือของลุงเป็นเรือไม้คล้ายเรือประมงขนาดใหญ่ ผู้โดยสารปูเสื่อนอนกันเรียงรายเหมือนปลาแห้ง ทั้งไทยทั้งฝรั่ง ได้อารมณ์ "เรฟูจี" นิด ๆ เสียดายที่ตอนนี้แกเลิกกิจการไปแล้ว ... แต่คิดอีกที นอนบนเรือเฟอร์รี่เหล็กลำใหญ่ มีแอร์ มีเตียง ไม่โคลงเคลงอย่างนี้หนะ ดีแล้ว

มีเรือนอนออกจากท่าเรือที่ท่ายาง ทุก จันทร์-พุธ-ศุกร์ ประมาณห้าทุ่ม ไปถึงเกาะเต่าก็ราว ๆ ตีห้า
'วัน by One' ก็คือการรวบรวมเหตุการณ์ประทับใจเอย อาหารอร่อยเอย อะไรต่อมิอะไรเอย ภายในหนึ่งวัน แล้ววาดบันทึกให้จบในหนึ่งหน้ากระดาษ ... หวังว่าคนอ่านจะรู้สึกสนุกกับวิธีนำเสนอแบบนี้ เพราะคนเขียนสนุกดี