"ตั้งใจจะไปไหว้ 'พระธาตุช่อแฮ' ใช่มั้ย? ... ถ้าตรงไปอีกหน่อย จะมีพระธาตุอีก ชื่อ 'พระธาตุดอยเล็ง' อยู่บนเขานะ ช้างบนมีจุดชมวิวมองลงมาเห็นเมืองแพร่ทั้งเมืองเลย และก็มีอีกองค์อยู่ใกล้ ๆ กันก็คือ 'พระธาตุจอมแจ้ง' ... เขาว่ากันว่า ถ้าได้ไหว้ขอพรกับพระธาตุครบทั้งสามองค์แล้ว ขออะไรก็จะได้สมปรารถนา"
นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินชื่อ พระธาตุดอยเล็ง และ พระธาตุจอมแจ้ง (และคงเผลอขมวดคิ้ว) ... พอเห็นพวกเราลังเล 'ป้าตู่' เจ้าของและเป็นทุกสิ่งอย่างของเชตวันโฮมสเตย์ (ที่พักของเราที่แพร่) ก็เลยเล่าประสบการณ์สายบุญของแกต่อ
ป้าเองก็ไปลองมาแล้ว วันนั้นไปไหว้เสร็จสรรพ อธิษฐานไปหนึ่งข้อ ขอว่าเวลามีแขกฝรั่งมาพัก ให้มีใครก็ได้มาช่วยแปลภาษาให้ป้าหน่อย เพราะป้าเนี่ยะ พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย กลับมาที่โฮมสเตย์ก็มีแขกฝรั่งมาพัก ... ป้าก็กังวลอยู่ ไม่นานตอนเย็นก็มีครอบครัวคนไทยที่พูดอังกฤษได้ walk in เข้ามา ป้าเลยมาคิดว่า ท่าทางจะศักดิ์สิทธิ์จริง ๆ ... อย่างเมื่อวาน ตอนจะถามนักศึกษา (ออสซี่) ที่มาพักว่า จะทำมาม่าผัดให้ เอามั้ย? (เพราะดึกแล้ว ฝนก็ตกจะออกไปหาอะไรข้างนอกกินคงยาก) รวมถึงตอนเช้าจะเรียกรถให้มารับกี่โมงดี? ก็ได้แม่หนูคนนี้ (พร้อมกับชี้ไปที่แฟนผม) ช่วยอธิบายให้
อะ ... เอาหละ เดี๋ยวเราสามคน พ่อ แม่ ลูก หนะ ลองไปขอดูนะ แต่มีข้อแม้อยู่ว่า ขอได้เรื่องเดียว ... คุยตกลงกันให้ดีก่อนว่าจะขอเรื่องอะไร แล้วก็ไปขอกัน โชคดีจ้ะ
เมื่อมีคนเอาประสบการณ์การันตีแบบนี้ ไอ้เราก็ต้องลอง ... สินะ
ดูจาก Google map แล้ว ผมเลือกขึ้นเขาไปไหว้พระธาตุดอยเล็งก่อน เพราะตอนเช้า ๆ แดดอ่อน ๆ อากาศกำลังเย็นสบายแบบนี้เหมาะกับการดูวิวแบบพาโนรามามาก เสร็จแล้วลงมาไหว้พระธาตุช่อแฮ แล้วค่อยแฉลบไปจบที่พระธาตุจอมแจ้ง
ก่อนขึ้นไปไหว้พระธาตุดอยเล็ง ตรงใกล้กับลานจอดรถมีจุดชมวิวดอยเล็ง |
มองจากจุดชมวิวก็จะอลังการประมาณนี้ ไม่รู้ว่ายอดไหนเป็นดอยอะไร แต่ถ้าข้ามเทือกเขานี้ไปก็จะเจอกับเขื่อนสิริกิติ์ |
พระธาตุดอยเล็ง |
มุมนี้จะเห็นทั้งพระธาตุช่อแฮ และเห็นตัวเมืองแพร่อยู่ลิบ ๆ (มุมซ้ายบนของรูป) |
พระธาตุช่อแฮ |
เนื่องจากเป็นพระธาตุประจำปีขาล ก็เลยมีรูปเสืออยู่เต็มวัด เจ้าตัวนี้น่ารักดีรู้สึกเหมือนไจแอนท์ในร่างเสือเลย |
พระธาตุจอมแจ้ง |
วิหารด้านหน้าพระธาตุ ประดับด้วยงานปูนปั้นฝีมือช่างพื้นบ้าน ไม่สวยเนี้ยบแต่น่ารักดี |
ด้านในวิหารมีภาพนูนสูงเล่าเรื่องพระเวสสันดรชาดก |
ด้านหน้าวัด มีพระนอนองค์ใหญ่อยู่ในสวนที่เล่าเรื่องพุทธประวัติ เหมาะสำหรับนั่งเล่นเย็นสบาย |
ถึงผมจะไม่สามารถคาดเดาได้ว่า คำอธิษฐานจะเป็นไปตามที่ขอรึเปล่า (เพราะเป็นเรื่องระยะยาว) แต่การได้มีโอกาสไปที่ที่มีความงดงามแตกต่างกันไป อย่าง พระธาตุดอยเล็งที่เปิดโอกาสให้สัมผ้สธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ของเมืองแพร่, ได้เห็นความอลังการงานศิลป์แบบช่างหลวงชาวล้านนาที่วัดพระธาตุช่อแฮ, รวมทั้งได้สัมผัสความน่ารักของชาวแพร่ผ่านงานปูนปั้นที่วัดพระธาตุจอมแจ้ง ... ได้สัมผัสครบทั้ง 3 ที่ภายในเวลาไม่เกินครึ่งวัน ... ก็นับว่าได้รับพรจากเมืองแพร่แล้วหละครับ
รูปหน้าปกตั้งใจวาดพระธาตุทั้ง 3 องค์ ให้อยู่ในรูปเดียวกัน ถึงแม้ความจริงจากพระธาตุดอยเล็งมองไม่เห็นพระธาตุจอมแจ้ง เพราะมีเขาลูกหนึ่งบังอยู่ ... โดรนที่จะทำให้สามารถมองเห็นมุมที่สูงขึ้นก็ไม่มี ก็เลยต้องใช้ โดระจิต(การเดาผสมจินตนาการเอา) แทน ...
ก่อนจบคิดว่าจะทำให้ blog มีสาระขึ้นมาหน่อย ก็เลยนั่งรื้อหนังสือ ค้นข้อมูล มาเล่าสู่กันฟังเล่น ๆ นะครับ เพื่ออธิบายว่าทำไมถึงมีพระธาตุบนเขาและศักดิ์สิทธิ์ยังไง
ปกติใครที่ไปภาคเหนือ (ตั้งแต่สุโขทัยขึ้นไป) บ่อย หรือคุ้นเคย ก็จะเห็นว่าตรงส่วนที่เป็นเมืองเก่า ไม่ว่าที่ไหนก็มักจะมีองค์ประกอบคล้าย ๆ กัน เช่น อยู่ที่ราบเชิงเขา อยู่ใกล้แม่น้ำใหญ่ ตรงช่วงที่มีลำน้ำสาขาไหลผ่าน ... ที่ราบเชิงเขานี้เหมาะสำหรับทำการเพาะปลูก เนื่องจากเวลาเกิดน้ำหลาก น้ำจะหอบเอาความอุดมสมบูรณ์มาจากป่า พอน้ำลดก็จะทิ้งธาตุอาหารสำหรับพืชสะสมไว้ในดิน การมีลำธารที่ไหลมาจากภูเขาทำให้การผันน้ำเข้าไปใช้ในไร่นา และในเมืองทำได้สะดวก ส่วนตรงบริเวณที่ลำธารไหลไปรวมกับแม่น้ำใหญ่ก็มักจะมีสัตว์น้ำชุกชุม เรียกว่าเป็นทำเลที่ในน้ำมีปลา ในนาก็มีข้าว
และเพื่อให้เมืองสามารถรองรับการอยู่อาศัยได้นาน ๆ ก็ต้องรักษาสภาพแวดล้อมให้ดีดังเดิม ทั้งขุนเขา ลำธารและแม่น้ำ ก็เลยต้องผ่านกระบวนการทำให้ศักดิ์สิทธิ์ (ตอนแรกก็คงเป็น 'ผี' หรือเจ้าป่าเจ้าเขา พอรับพุทธศาสนาเข้ามาแล้วก็เลยเปลี่ยนเป็นพระธาตุ) เพื่อจะได้ไม่มีใครกล้าทำอะไรอุบาทว์ ๆ เช่น โค่นป่าบนเขาจนไม่มีน้ำในลำธาร ทำน้ำเสียจนปลาตายหมด หรือเปลี่ยนทางไหลของน้ำจนเกิดน้ำท่วมหรือน้ำแล้งผิดฤดู ... เป็นความศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นรูปธรรม สามารถสัมผัสได้จริง