16/08/2562

มองภาพสะท้อน "สยามใหม่" ผ่านศิลปกรรมที่วัดสามแก้ว

อุโบสถวัดเขาสามแก้ว

ผมคุ้นชื่อวัดสามแก้วจากหนังสือเกี่ยวกับศิลปะวัฒนธรรมหลายเล่ม และมักจะเห็นรูปวาดฝีมือ พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) พร้อมกับคำบรรยายใต้ภาพบอกสถานที่ว่า เป็นที่อุโบสถวัดสามแก้ว เห็นแล้วก็เริ่มสนใจ ยิ่งมารู้ว่าอุโบสถวัดสามแก้วเป็นโบสถ์ทรงแปลก ไม่มีช่อฟ้า ไม่มีใบระกา หลังคาแบน ๆ แล้วยังอยู่ในจังหวัดที่คุ้นเคยอย่างชุมพรอีก ไม่น่าพลาด เลยต้องหาโอกาสลงไปชมให้เห็นกับตา

วัดสามแก้วอยู่บนเนินเขาสามแก้ว ริมทางรถไฟ ก่อนถึงสถานนีชุมพรนิดหน่อย (ในระยะที่เดินถึง แต่เหนื่อยหน่อย) เป็นวัดบรรยากาศดี สงบ ร่มรื่นอารมณ์คล้าย ๆ โรงเรียนหรือสถานที่ราชการ ตามแบบวัดธรรมยุตินิกายทั่วไป ... ในประวัติบอกว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2468 โดยพระธรรมโกษาจารย์ (เซุ่ง อุตตโม) กับหลวงศรีสุพรรณดิฐ (เผียน ชุมวรฐายี) นายอำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร พร้อมด้วยชาวบ้าน ได้เริ่มถางป่าอันรกร้างและได้สร้างที่อยู่ชั่วคราวสำหรับพระสงฆ์และสามเณร จัดให้พระสงฆ์ได้อยู่จำพรรษาหลังจากนั้นมีการสร้างอุโบสถ เสนาสนะ และสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ตามมา

ก่อนจะไปดูโบสถ์ ดูจิตรกรรมฝาผนัง ก็ต้องทำความเข้าใจกับคำว่า "สยามไหม่" เสียก่อน จะได้เข้าใจที่มาที่ไป

"สยามใหม่" ที่ว่าก็คือค่านิยมที่ชนชั้นนำไทยใช้ผลักดันสังคม ในช่วงปลายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ... แนวคิดหลักคือ ฟื้นฟูและนำ "ความเป็นไทย" เข้าสู่ความศิวิไลซ์ให้ไม่น้อยหน้าชาติตะวันตก ความเชื่อจากอดีตตามจารีต เรื่องชาติ ภพ บุญบารมี นรก สวรรค์ ในแบบไตรภูมิถูกมองว่าเป็นเรื่องงมงายล้าสมัย และหันมาให้ความสำคัญกับความเป็นเหตุเป็นผล ตามแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์ ... สิ่งเหล่านี้มักสะท้อนให้เห็นได้ ผ่านศิลปะและสถาปัตยกรรมในยุคนั้น

อุโบสถวัดสามแก้วเป็นแบบผสมผสาน รูปทรงคล้ายศาลาการเปรียญที่วัดราชาธิวาสย่อส่วน โครงสร้างทั้งเสาและคาน รวมถึงหลังคาเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคาแบนราบ ไม่มีหน้าบัน ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา เป็นแผ่นคอนกรีตแบน ๆ แล้วก็มีส่วนที่ยื่นออกมาเป็นกันสาด รองรับด้วยคันทวยที่หลังคากันสาดทั้ง 2 ชั้น

ตัวอาคารมีการประดับลวดลายไทย (แบบลดทอนรายละเอียด) ที่กรอบประตูและหน้าต่าง ไม่ใช่ปูนปั้นที่ทำทีละชิ้น แต่เป็นการทำพิมพ์แล้วหล่อชิ้นงานทั้งหมดเหมือน ๆ กัน แล้วเอามาแปะติดที่ตัวอาคาร

บริเวณรอบนอกตัวอาคารสร้างเป็นกำแพงแก้วเตี้ย ๆ ล้อมรอบเป็นรั้ว โดยมีหลักเสมาหิน (ก้อนหินจริง ๆ ไม่มีการแกะสลัก) ล้อมรอบทั้ง 8 ทิศ

อุโบสถวัดเขาสามแก้วด้านหน้า
อุโบสถด้านหน้า
อุโบสถวัดเขาสามแก้วด้านหลัง
ด้านหลัง
ยกใต้ถุนสูงขึ้นมาจากพื้นประมาณ 50 เซนติเมตร
ลวดลายประดับแบบเรียบง่าย และคันทวยรูปหงส์ที่รองรับหลังคา
เสมาที่เป็นก้อนหินแท้ ๆ ฝังไว้บอกเขตสังฆกรรม

เห็นได้ว่ารูปแบบของอุโบสถวัดสามแก้ว เป็นแนวคิดของอาคารสมัยใหม่ที่ลดทอนรายละเอียดและการประดับประดาลง ให้เรียบง่าย มีเท่าที่จำเป็น นอกจากนั้นยังมีการปรับให้เข้ากับภูมิอากาศในประเทศไทยอีก เห็นได้จาก มีกันสาดไว้กันฝน มีใต้ถุน มีช่องลม ไว้กันแมลงรบกวนและระบายความร้อน แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้อาจจะมองได้ว่า เพราะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกฝืดเคือง (ช่วงคาบเกี่ยวระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2) เลยต้องสร้างแบบประหยัดและรอบคอบ

สิ่งที่ทำให้แน่ใจว่า พระธรรมโกษาจารย์ (เซ่ง อุตตโม) ต้องการให้อุโบสถนี้เป็นศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมที่สะท้อนความเป็นไทยสมัยใหม่อย่างแน่นอน คือ  ท่านได้ชักชวน พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) ซึ่งถนัดการใช้เทคนิคสีน้ำมันแนวเหมือนจริงแบบตะวันตก มาวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ ... สิ่งที่เกิดขึ้นคือ จากพระพูทธเจ้าที่เป็นรูปสมมุติแสดงความเป็นพุทธะในอุดมคติ ก็กลายเป็นพระพุทธเจ้าในฐานะบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ เป็นมนุษย์ธรรมดา มีเลือด มีเนื้อหนังเหมือนเราท่านทั่วไป ซึ่งเป็นเรื่องใหม่

แต่อย่างไรก็ตามการจัดองค์ประกอบและลำดับของภาพก็ยังแบ่งเป็น 3 ชั้น ตามแบบประเพณีนิยม  ด้านบนสุดเป็นท้องฟ้า เทวดาและนางฟ้า  ถัดลงมาเป็นเทพชุมนุม มีเทพแปลก ๆ ที่ไม่ค่อยเห็นที่อื่น ซึ่งผมเข้าใจว่ามาจากพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6  ทั้งนั้น เช่น ปรศุราม, นรสิงห์ ฯลฯ  ด้านล่างระหว่างช่องหน้าต่างและบานประตูวาดเนื้อเรื่องเกี่ยวกับพุทธประวัติซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเนื้อเรื่องที่มาจากบทพาหุง (พุทธชัยมงคล 8) พื้นที่บนเพดาน ถูกวาดด้วยลวดลายดาวเพดานตามคติประเพณี ส่วนพื้นที่บริเวณโครงสร้างเสาและคานตกแต่งด้วยลายไทย

พระพุทธเจ้า แบบมีเนื้อมีหนัง
ภานในอุโบสถ เห็นได้ว่า แบ่งภาพเขียนเป็น 3 ชั้น
ภาพเทพชุมนุม เป็นเทพในพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 แทบทั้งนั้น

บทพาหุง หรือ พระพุทธชัยมงคลคาถา เรียกอีกอย่างว่า "คำถวายพรพระ" นอกจากจะใช้สวดสรรเสริญชัยชนะของพระพุทธเจ้าที่มีต่อหมู่มาร แล้วยังเป็นบทสวดเกี่ยวกับชัยชนะเพื่อถวายพระพรแด่พระเจ้าอยู่หัวให้ทรงชนะศึกอีกด้วย

จากบันทึกที่เขียนไว้บนผนังหลังพระประธานกล่าวว่าภาพจิตรกรรมที่วาดขึ้นโดยพระยาอนุศาสน์จิตรกรนี้ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ภายหลังจากพระองค์ได้ทรงเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.2468 ความว่า

“มหาเสวกตรี พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) รับช่วยพระวโรดม แต่เมื่อยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระธรรมโกษา จารย์ เขียนภาพนี้ขึ้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2471 ลงมือร่างและเขียนด้วยความพยายาม มิได้คิดถึงความยากลำบาก เมื่อ มีธุระจำเป็นก็กลับกรุงเทพฯ ครั้นยามว่างจึงออกมาเขียน ถึงเดือนสิงหาคม 2473 การเขียนภาพจึงแล้วบริบูรณ์ และมิได้ คิดมูลค่า เพราะศรัทธาในพระพุทธศาสนา อุทิศถวายแด่สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว”

ภาพจิตรกรรมที่แสดงเนื้อเรื่องบทพาหุงในอุโบสถวัดสามแก้วส่วนหนึ่ง (ที่เหลือให้ไปตามดูเอาเอง เอ้ย!... จริง ๆ แล้วถ่ายมาไม่ครบหนะครับ เพราะตอนที่ไปยังไม่แน่ใจเรื่องคาถาพาหุง แหะ ๆ ^^")

ภาพพระแม่ธรณี ฝีมือพระยาอนุศาสน์จิตรกร
ตอน พระแม่ธรณีขับไล่พญามาร
ตอน พระพุทธเจ้าโปรดอาฬวกยักษ์
ตอน โปรดช้างนาฬาคีรี
ตอน ชนะนางจิญจมาณวิกา
ตอน พระพุทธเจ้าทรงชนะสัจจกนิครนถ์
ภาพพระโมคัลลานะปราบนันโทปนันทนาคราช ผีมือพระยาอนุศาสน์จิตรกร
ตอน พระโมคัลลานะปราบนันโทปนันทนาคราช
ตอน โปรดท้าวพกาพรหม

ที่เหลือคือภาพพุทธประวัติตอนอื่น ๆ เช่น ตอนบำเพ็ญทุกข์กิริยา, ตอนรับข้าวมธุปายาสของนางสุชาดา,  ตอนแสดงธรรมแก่ปัจจวัคคีย์, ตอนทรงชนะธิดาพญามาร เป็นต้น นอกจากพุทธประวัติแล้วก็มีนิทานอีสปแทรกอยู่ตามช่องเล็ก ๆ (เอามาให้ดูพอเป็นน้ำจิ้มนะครับ)

ตอนแสดงธรรมแก่ปัจจวัคคีย์
ภาพพระพระพุทธเจ้าผจญธิดาพญามาร
ตอนทรงชนะธิดาพญามาร
ธิดาพญามาร ขาวอวบน่าหลงไหลไม่ใช่น้อย อิอิ
ท้าวพกาพรหมยามหมดอาลัยตายอยาก (ถ้าไม่เชี่ยวชาญเรื่อง Anatomy ก็คงวาดคนนั่งท่านี้ลำบาก)
ผมชอบความสงบร่มรื่นของวัดสามแก้วนี้ ชอบความผสมผสานของศิลปกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ชอบที่มันยังไม่กลมกลืนกันดี มองเห็นที่มาของแนวคิดได้ชัดเจน เหมือนกับข้าวยำที่ยังไม่ได้คลุก หน้าตาดีดูสนุกกว่าอันที่คลุกแล้วเป็นไหน ๆ ; )

02/05/2562

บันทึกอาหารเจ 2018

รูปวาดอาหารเจ ของคาว รูปวาดอาหารเจ ของหวาน

ต้องออกตัวก่อนนะครับ ว่า ผมไม่ใช่ "สายบุญ" และก็ไม่ได้เป็น "สายสุขภาพ" ด้วย ถ้าจะจัดให้เป็นสายอะไรสักสายในเรื่องเกี่ยวกับอาหารละก็ คงต้องเป็น "สายกิน" ... ที่สนใจอาหารเจ, เทศกาลกินเจ ก็เริ่มต้นมาจากการเป็นคนชอบกินนั่นแหละครับ

สมัยเด็กผมใช้ชีวิตสลับกันไปมาระหว่างกรุงเทพฯกับชุมพร เวลาโรงเรียนเปิด จะเป็นเด็กกรุงเทพฯอยู่หมู่บ้านจัดสรรชานเมืองธรรมดา ๆ ... ส่วนช่วงปิดเทอม (ช่วงเทศกาลกินเจพอดี) ก็ลงใต้ไปอยู่บ้านยายที่ปากน้ำชุมพร แม้จะมีเชื้อจีน บ้านอยู่ในตลาด ใกล้ศาลเจ้า ใกล้โรงเจ แต่ด้วยความที่บ้านเป็นร้านโจ๊ก บวกกับยังเป็นเด็กเลยรู้สึกว่าการกินเจเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่เขาทำกัน ... ทำให้ช่วงนั้นไม่ค่อยอินกับการกินเจสักเท่าไหร่

04/03/2562

วัน by One ┊ภูหินร่องกล้า และพื้นที่ใกล้เคียง (วันที่ 4 สุดท้ายแล้ว)

ลองเรือแม่น้ำสะแกกรัง ปลากรอบป้าแต๋ว บะหมี่ไข่เจ้เน้ย อุทัยธานี

เนื่องจากเมื่อวานเดินทางมาก เหนื่อย วันนี้ก็เลยเริ่มต้นอย่างเนือย ๆ ... ตื่นเกือบ 8 โมงเช้า โชคดีที่ตลาดเช้ายังไม่วายแต่ก็โหรงเหรงเต็มที ... เดินหาของกินได้ปลาแรดทอดมาหนึ่งตัว กินสลับกับปาท่องโก๋แกล้มกับกาแฟสด ก็อร่อยดี ... กินเสร็จก็ข้ามฝั่งไปไหว้พระที่วัดโบสถ์

ที่วัดเจอหลวงพี่รูปหนึ่ง เห็นแกยืนเล่าเรื่องภาพจิตรกรรมฝาผนังให้นักท่องเที่ยวฟังอยู่ เราก็แอบเข้าไปฟังบ้าง หลวงพี่เลยชวนให้ไปลองนั่งเรือล่องแม่น้ำสะแกกรังดู ค่าเรือก็ไม่แพงและไหนไหนเราก็ไม่มีอะไรทำอยู่แล้วก็เลยลอง

บนเรือ นอกจากจะได้เห็นวิถีชีวิตของชาวแพแล้ว พี่คนขับเรือก็บรรยายเรื่องราวของเมืองอุทัยฯไปด้วย ปล่อยมุกไป ด้วยสนุกดี ระยะทางก็ไม่ใกล้ไม่ไกลนั่งได้เพลิน ๆ  ก่อนจบเรือไปแวะแพปลากรอบของป้าแต๋ว แต่เมื่อเช้าเราซื้อน้ำพริกกับปลาป่นของป้าเขามาแล้วบนตลาดก็เลยไม่รู้จะขึ้นแพไปซื้ออะไร เลยให้เรือวนกลับ ถึงไม่ขึ้น ป้า ๆ เขาก็ยังยิ้มและโบกมือให้อย่างจริงใจ น่ารักจริง ๆ

ล่องเรือเสร็จยังไม่ทันจะเที่ยงดี ก็หิวซะแล้ว ข้ามมาฝั่งตลาด เจอร้านบะหมี่ร้านหนึ่งตรงตีนสะพานชื่อร้าน 'เจ้เน้ย' เห็นแว็บ ๆ ว่าแม่ค้าลวกเส้นน่ารักดี หันไปจะชวนแม่ลิงก็เห็นยืนจ้องเส้นบะหมี่หน้าตู้ ลูกลิงก็กำลังจะเดินเข้าไปเล่นกับลูกแมวข้างใต้ตู้ลวกบะหมี่ ก็เลยรวม ๆ กันเข้าร้านแบบงง ๆ

สรุป บะหมี่อร่อยดี เส้นนุ่มหอม น่าจะมีส่วนผสมของไข่เยอะ ปรุงรสแบบบะหมี่ไทยโบราณ สำหรับผมรสชาติแปลกแต่อร่อยดี กินเสร็จก็กลับไปเก็บของที่โรงแรมแล้วก็กลับกรุงเทพฯ

ถึงจะไม่เป็นไปตามแผนทั้งหมดมีเรื่องผิดพลาดหลายอย่าง แต่ทริปขึ้นเขาคราวนี้ก็สนุกดี ได้เพื่อนใหม่ ได้ประสบการณ์ใหม่ ได้เรียนรู้ว่าจังหวะและเวลาเป็นเรื่องสำคัญ แต่ถ้าเรายืดหยุ่นหน่อยก็จะหาโอกาสและจังหวะใหม่ได้เสมอ ... แล้วจะกลับไปอีก

01/03/2562

วัน by One ┊ภูหินร่องกล้า และพื้นที่ใกล้เคียง (วันที่ 3)

วันสุดท้ายที่ภูหินร่องกล้า เริ่มต้นด้วยการเคลียร์เสบียง อะไรเหลือ ๆ ก็เอามากินให้หมด คนอิ่มแล้วก็ประเคนให้เจ้าชิบะกิน เป็นการสั่งลา ... เก็บของเสร็จ ถ่ายรูปหมู่เป็นที่ระลึก แล้วก็ออกเดินทางมุ่งหน้าไป 'โรงเรียนการเมืองการทหาร' ไปตามหาใบเมเปิ้ลแดง

ถ้าใครเคยเห็นรูปใบไม้สีแดงร่วงบนหลังคาบ้านไม้หลังเล็ก ๆ ที่มีมอสขึ้นเขียวครึ้มสวยใสตัดกัน ก็ให้รู้ไว้ว่าเขาถ่ายกันที่โรงเรียนการเมืองการทหารนี่แหละครับ ชื่อว่าโรงเรียนแต่จริง ๆ แล้วเป็นเหมือนที่ทำการของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) มากกว่า เพราะเป็นทั้งโรงเรียน ทั้งโรงพยาบาล เป็นบ้านของผู้นำ ผ่ายสื่อสารและคนสำคัญในพรรคฯ ฯลฯ ... ถ้าใครอยากรู้มากกว่านี้ก็คงหาข้อมูลได้เอง ไม่ยาก ซึ่งผมจะข้ามไปเพราะถ้าเล่าก็คง เล่ามั่ว แหะๆ ... ╮(╯_╰)╭

พวกเราก้มหาใบไม้แดงอยู่นาน เจอแค่ใบเล็ก ๆ ใบเดียว คงยังไม่ถึงฤดูของมัน ... ได้แต่คิดในแง่บวกว่า นี่อาจจะเป็นใบแรกของปีก็ได้นะ 

จากโรงเรียนการเมืองการทหาร ตรงข้ามมีทางเดินเล็ก ๆ ลงไปข้างล่างมีลำธาร น้ำตกแล้วก็มีกังหันน้ำ เขาว่าเป็นกังหันที่เด็กวิศวะจุฬามาสร้างให้ตอนที่หนีเข้าป่าหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ใช้พลังน้ำหมุนกระเดื่องครกตำข้าว อะไรประมาณนั้น ... บรรยากาศร่มรื่นดี แต่ที่ชอบที่สุดก็คือ ขณะที่กำลังเพลินกับน้ำตกอยู่นั้น จู่ ๆ ก็มีนกตัวเล็ก ๆ พวกนกกระจิบ กระจิ๊ด ฯลฯ บินมากลุ่มใหญ่หลายสิบตัว (ที่คนดูนกเขาเรียกกันว่า bird wave) เสียดาย ไม่ได้พกกล้องสองตาไปด้วย

ใกล้เที่ยงแล้วก็ลงเขา แวะกินข้าวที่แถว ๆ ลำน้ำเช็ก ขามาเห็นร้านเยอะดี แล้วก็อยากกินอะไรเป็นเนื้อเป็นหนังบ้าง เพราะกินพวกขนมปัง มาม่า มาหลายมื้อแล้ว ... อิ่มแล้วก็มุ่งหน้าสู่พิจิตร

ถึงพิจิตรตอนบ่าย ขับรถวนในเมือง ไม่เจอที่พักถูกใจเลยแวะวางแผนกันที่บึงสีไฟ แดตก็ร้อน หมาจรก็เยอะ สมงสมองไม่ทำงาน ถามเจ้าของร้านโอท็อปหน้าบึง พี่เขาก็ยิ้มแย้ม ยินดีช่วยเหลือ ให้คำแนะนำแต่นอกจากโรงแรมที่เราหามาแล้วพี่เขาก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะให้เราไปนอนที่ไหน จะเที่ยวยังไงดี ... ก็เลยตกลงใจว่า งั้นไปไหว้หลวงพ่อเพชรกันก่อนแล้วค่อยไปพักที่คุ้น ๆ อย่างอุทัยฯ ก็แล้วกัน

มาถึงอุทัยฯตอนเย็น โชคดีมีงานถนนคนเดินที่ตรอกโรงยาพอดี ได้เดินตลาดนัดสมใจ
 ( ・・)つ-●●●

27/02/2562

วัน by One ┊ภูหินร่องกล้า และพื้นที่ใกล้เคียง (วันที่ 2)

ทางเดินศึกษาธรรมชาติ ลานหินปุ่ม ผาชูธง

ตื่นมาตอนเช้าอากาศเย็นกำลังดี เลยชวนแม่ลิง ลูกลิง ไปเดินเล่นรับความสดชื่นที่ลานจอด ฮ. หน้าที่กางเต้นท์ เดินไปยังไม่ทันจะถึงดีก็มีหมาไม่ได้รับเชิญตามมาด้วย ที่แท้เจ้าชิบะนั่นเอง ทำเนียนเหมือนกับว่าจะกลายเป็นหมาของบ้านเราไปแล้ว 

คนเดินชมดอกไม้ใบหญ้าไป หมาก็เดินดมนู่นดมนี่ ไล่นก ไล่กระรอก ไปตามเรื่อง พอเริ่มได้เหงื่อก็กลับที่พัก มากินเสบียงกัน หาอะไรแบ่งให้เจ้าชิบะมันบ้าง เป็นการตอบแทนอัธยาศัยอันดีงาม (แต่กั้กพวกแฮมไว้กินต่ออีกวัน อิอิ) อาบน้ำอาบท่า เตรียมตัวไปลานหินปุ่มผาชูธง ... ᕕ( ᐛ )ᕗ

ที่ลานหินปุ่มรู้สึกคึกคักกว่าที่ลานหินแตกเมื่อวานหน่อย มีนั้กท่องเที่ยวมากันหลายคณะ แต่เดินไปไม่นานก็เหลือแต่พวกเรากับครอบครัวม้งเดินกันอยู่ 2 กลุ่ม เป็นหนุ่มสาว 2 คู่ แม่เฒ่ากับเด็กเล็กอีกอย่างละคน (เงียบ ๆ ยิ้มยากแต่เป็นมิตรดี เดินด้วยแล้วสบายใจ) น่าจะมาจาก 'บ้านร่องกล้า' หมู่บ้านม้งตรงทางไปภูลมโลใกล้ ๆ นี้

จะว่าไปก็นึกอิจฉาคนที่มีบ้านแถวนี้จริง ๆ อากาศก็ดี ซ้ำยังมีที่สวย ๆ ให้เดินเล่นอีก

กลับมากินข้าวเที่ยงที่ร้านข้างที่ทำการ อช.  ... กินไปก็นึกถึงเจ้าชิบะไป คิดว่าเมื่อเช้าให้ค่าจ้างเดินเล่นมันน้อยไปหน่อย เลยสั่งไก่ทอดมากินเหลือ ๆ ถ้าเจอจะเอาไปฝากมัน

ออกจากร้านยังไม่ทันจะไปตามหาที่ไหน เจ้าชิบะก็มุดออกมาจากใต้ท้องรถ (เราเอง) เดินกระดิกหางมาให้เราป้อนไก่ทอดอย่างสบายใจ ᵔᴥᵔ

ตอนบ่ายแก่ ๆ ขับรถไปดูภูทับเบิก เพราะเจ้าหน้าที่บอกว่ามีบางช่วงถนนเสียหายเพราะดินถล่ม คนไม่ชำนาญทางไม่ควรผ่าน เลยไปดูให้เห็นกับตา เพราะถ้าจริง จะได้เลิกล้มแผนที่จะลงเขาทางด้านนี้ไปเที่ยวหล่มเก่า แล้วเปลี่ยนไปหาที่เที่ยวอื่นที่ง่าย ๆ แทน

ถึงภูทับเบิก มองจากจุดชมวิวเห็นทางลงเขาคดเคี้ยวอย่างกับลำไส้เล็ก แล้วก็ถอดใจ ต่อให้ทางไม่เสีย ผมก็ไม่คิดจะนั่งขับรถตัวเกร็งลงทางแบบนี้หรอกครับ มีกี่โค้งก็ไม่รู้ แต่มองจนสุดสายตาก็ยังหักศอกอยู่เลย ... ว่าแล้วก็ได้แต่แอ็คท่าถ่ายรูปแล้วก็ซื้อผัก ซื้อมัน กลับไปกินที่บ้านพัก ... ดีกว่า

25/02/2562

วัน by One ┊ภูหินร่องกล้า และพื้นที่ใกล้เคียง (วันที่ 1)

ดูดอกไม้ป่าที่ลานหินแตก

ทริปนี้เป็นการพาลูกเที่ยวส่งท้ายปิดเทอมครับ ต้นเดือนตุลาคมช่วงปลายฝนต้นหนาวพอดี  ตอนแรกตัวผมเองตั้งใจว่าจะลองนั่งรถไฟไปกินหมูย่างที่ตรัง หรือไม่ก็ขับรถตระเวนดูฮูปแต้มตามสิมเก่า ๆ แกล้มไก่ย่างที่อีสาน ... แต่บังเอิญ 'โรคคิดถึงภูเขา' ของแม่ลิงกำเริบ หวยก็เลยไปออกที่ การไปดูดอกไม้ดอกหญ้าและสัมผัสอากาศเย็น ๆ ที่ ภูหินร่องกล้าแทน ... ( ᐛ )و

วางแผนคร่าว ๆ ไว้ว่าจะขึ้นภูไปนอนค้างในบ้านพักสักสองคืน พอวันที่สามก็ลงมาหาที่พักในเมืองเล็ก ๆ อย่าง 'หล่มเก่า' หรือ 'พิจิตร' สุ่มหาตลาดนัดตลาดเก่าเดินเล่น หาของอร่อยกิน แล้วค่อยกลับกรุงเทพฯอย่างเอื่อย ๆ ... เมื่อสรุปแผนตกลงกันเรียบร้อยแล้วก็ออกเดินทางได้

วันเดินทางทดลองเส้นทางใหม่ (สำหรับผม) ซึ่งคือ ทางหลวงหมายเลข 11 ปรากฏว่าถนนโล่งดี วิวทุ่งนาสวยแต่ถนนช่วงนครสวรรค์ถึงพิจิตรแคบไปหน่อย มีแค่สองเลนสวนกัน (แต่ถึงอย่างไรก็จะจำไว้เป็นทางเลี่ยง ก็แล้วกัน) ถึงพิษณุโลกตอนใกล้เที่ยง แวะใหว้พระพุทธชินราชเอาฤกษ์เอาชัยก่อนเข้าป่า หาข้าวกิน แล้วก็เตรียมขึ้นภู ... ถึง อช. ตอนบ่าย จัดของเข้าที่พัก พอแดดร่มลมตกก็ไปเดินเล่น ดูดอกไม้ป่าที่ 'ลานหินแตก' กัน ดอกไม้สวยมาก เดินไปเดินมาเหลือเราอยู่คณะเดียวสามคนพ่อแม่ลูก รู้สึกส่วนตัวเหมือนอยู่ในสวนหลังบ้านเลย

ถึงจะเป็นที่ที่บ้านเราไม่คุ้น แต่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าก็สร้างความประทับใจได้ตั้งแต่แรกพบเจอ เจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำอย่างน่ารัก อากาศเย็นกำลังดี ดอกไม้ดอกหญ้าก็กำลังบานสวย โชคดีที่จังหวะดีไปวันธรรมดาช่วงคนน้อย ... เลยซึมซับบรรยากาศได้เต็มที่ ... ฟินตรงนี้แหละ