ผมคุ้นชื่อวัดสามแก้วจากหนังสือเกี่ยวกับศิลปะวัฒนธรรมหลายเล่ม และมักจะเห็นรูปวาดฝีมือ พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) พร้อมกับคำบรรยายใต้ภาพบอกสถานที่ว่า เป็นที่อุโบสถวัดสามแก้ว เห็นแล้วก็เริ่มสนใจ ยิ่งมารู้ว่าอุโบสถวัดสามแก้วเป็นโบสถ์ทรงแปลก ไม่มีช่อฟ้า ไม่มีใบระกา หลังคาแบน ๆ แล้วยังอยู่ในจังหวัดที่คุ้นเคยอย่างชุมพรอีก ไม่น่าพลาด เลยต้องหาโอกาสลงไปชมให้เห็นกับตา
วัดสามแก้วอยู่บนเนินเขาสามแก้ว ริมทางรถไฟ ก่อนถึงสถานนีชุมพรนิดหน่อย (ในระยะที่เดินถึง แต่เหนื่อยหน่อย) เป็นวัดบรรยากาศดี สงบ ร่มรื่นอารมณ์คล้าย ๆ โรงเรียนหรือสถานที่ราชการ ตามแบบวัดธรรมยุตินิกายทั่วไป ... ในประวัติบอกว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2468 โดยพระธรรมโกษาจารย์ (เซุ่ง อุตตโม) กับหลวงศรีสุพรรณดิฐ (เผียน ชุมวรฐายี) นายอำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร พร้อมด้วยชาวบ้าน ได้เริ่มถางป่าอันรกร้างและได้สร้างที่อยู่ชั่วคราวสำหรับพระสงฆ์และสามเณร จัดให้พระสงฆ์ได้อยู่จำพรรษาหลังจากนั้นมีการสร้างอุโบสถ เสนาสนะ และสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ตามมา
ก่อนจะไปดูโบสถ์ ดูจิตรกรรมฝาผนัง ก็ต้องทำความเข้าใจกับคำว่า "สยามไหม่" เสียก่อน จะได้เข้าใจที่มาที่ไป
"สยามใหม่" ที่ว่าก็คือค่านิยมที่ชนชั้นนำไทยใช้ผลักดันสังคม ในช่วงปลายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ... แนวคิดหลักคือ ฟื้นฟูและนำ "ความเป็นไทย" เข้าสู่ความศิวิไลซ์ให้ไม่น้อยหน้าชาติตะวันตก ความเชื่อจากอดีตตามจารีต เรื่องชาติ ภพ บุญบารมี นรก สวรรค์ ในแบบไตรภูมิถูกมองว่าเป็นเรื่องงมงายล้าสมัย และหันมาให้ความสำคัญกับความเป็นเหตุเป็นผล ตามแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์ ... สิ่งเหล่านี้มักสะท้อนให้เห็นได้ ผ่านศิลปะและสถาปัตยกรรมในยุคนั้น
อุโบสถวัดสามแก้วเป็นแบบผสมผสาน รูปทรงคล้ายศาลาการเปรียญที่วัดราชาธิวาสย่อส่วน โครงสร้างทั้งเสาและคาน รวมถึงหลังคาเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคาแบนราบ ไม่มีหน้าบัน ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา เป็นแผ่นคอนกรีตแบน ๆ แล้วก็มีส่วนที่ยื่นออกมาเป็นกันสาด รองรับด้วยคันทวยที่หลังคากันสาดทั้ง 2 ชั้น
ตัวอาคารมีการประดับลวดลายไทย (แบบลดทอนรายละเอียด) ที่กรอบประตูและหน้าต่าง ไม่ใช่ปูนปั้นที่ทำทีละชิ้น แต่เป็นการทำพิมพ์แล้วหล่อชิ้นงานทั้งหมดเหมือน ๆ กัน แล้วเอามาแปะติดที่ตัวอาคาร
บริเวณรอบนอกตัวอาคารสร้างเป็นกำแพงแก้วเตี้ย ๆ ล้อมรอบเป็นรั้ว โดยมีหลักเสมาหิน (ก้อนหินจริง ๆ ไม่มีการแกะสลัก) ล้อมรอบทั้ง 8 ทิศ
อุโบสถด้านหน้า |
ด้านหลัง |
ยกใต้ถุนสูงขึ้นมาจากพื้นประมาณ 50 เซนติเมตร |
ลวดลายประดับแบบเรียบง่าย และคันทวยรูปหงส์ที่รองรับหลังคา |
เสมาที่เป็นก้อนหินแท้ ๆ ฝังไว้บอกเขตสังฆกรรม |
เห็นได้ว่ารูปแบบของอุโบสถวัดสามแก้ว เป็นแนวคิดของอาคารสมัยใหม่ที่ลดทอนรายละเอียดและการประดับประดาลง ให้เรียบง่าย มีเท่าที่จำเป็น นอกจากนั้นยังมีการปรับให้เข้ากับภูมิอากาศในประเทศไทยอีก เห็นได้จาก มีกันสาดไว้กันฝน มีใต้ถุน มีช่องลม ไว้กันแมลงรบกวนและระบายความร้อน แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้อาจจะมองได้ว่า เพราะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกฝืดเคือง (ช่วงคาบเกี่ยวระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2) เลยต้องสร้างแบบประหยัดและรอบคอบ
สิ่งที่ทำให้แน่ใจว่า พระธรรมโกษาจารย์ (เซ่ง อุตตโม) ต้องการให้อุโบสถนี้เป็นศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมที่สะท้อนความเป็นไทยสมัยใหม่อย่างแน่นอน คือ ท่านได้ชักชวน พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) ซึ่งถนัดการใช้เทคนิคสีน้ำมันแนวเหมือนจริงแบบตะวันตก มาวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ ... สิ่งที่เกิดขึ้นคือ จากพระพูทธเจ้าที่เป็นรูปสมมุติแสดงความเป็นพุทธะในอุดมคติ ก็กลายเป็นพระพุทธเจ้าในฐานะบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ เป็นมนุษย์ธรรมดา มีเลือด มีเนื้อหนังเหมือนเราท่านทั่วไป ซึ่งเป็นเรื่องใหม่
แต่อย่างไรก็ตามการจัดองค์ประกอบและลำดับของภาพก็ยังแบ่งเป็น 3 ชั้น ตามแบบประเพณีนิยม ด้านบนสุดเป็นท้องฟ้า เทวดาและนางฟ้า ถัดลงมาเป็นเทพชุมนุม มีเทพแปลก ๆ ที่ไม่ค่อยเห็นที่อื่น ซึ่งผมเข้าใจว่ามาจากพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 ทั้งนั้น เช่น ปรศุราม, นรสิงห์ ฯลฯ ด้านล่างระหว่างช่องหน้าต่างและบานประตูวาดเนื้อเรื่องเกี่ยวกับพุทธประวัติซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเนื้อเรื่องที่มาจากบทพาหุง (พุทธชัยมงคล 8) พื้นที่บนเพดาน ถูกวาดด้วยลวดลายดาวเพดานตามคติประเพณี ส่วนพื้นที่บริเวณโครงสร้างเสาและคานตกแต่งด้วยลายไทย
พระพุทธเจ้า แบบมีเนื้อมีหนัง |
ภานในอุโบสถ เห็นได้ว่า แบ่งภาพเขียนเป็น 3 ชั้น |
ภาพเทพชุมนุม เป็นเทพในพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 แทบทั้งนั้น |
บทพาหุง หรือ พระพุทธชัยมงคลคาถา เรียกอีกอย่างว่า "คำถวายพรพระ" นอกจากจะใช้สวดสรรเสริญชัยชนะของพระพุทธเจ้าที่มีต่อหมู่มาร แล้วยังเป็นบทสวดเกี่ยวกับชัยชนะเพื่อถวายพระพรแด่พระเจ้าอยู่หัวให้ทรงชนะศึกอีกด้วย
จากบันทึกที่เขียนไว้บนผนังหลังพระประธานกล่าวว่าภาพจิตรกรรมที่วาดขึ้นโดยพระยาอนุศาสน์จิตรกรนี้ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ภายหลังจากพระองค์ได้ทรงเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.2468 ความว่า
“มหาเสวกตรี พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) รับช่วยพระวโรดม แต่เมื่อยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระธรรมโกษา จารย์ เขียนภาพนี้ขึ้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2471 ลงมือร่างและเขียนด้วยความพยายาม มิได้คิดถึงความยากลำบาก เมื่อ มีธุระจำเป็นก็กลับกรุงเทพฯ ครั้นยามว่างจึงออกมาเขียน ถึงเดือนสิงหาคม 2473 การเขียนภาพจึงแล้วบริบูรณ์ และมิได้ คิดมูลค่า เพราะศรัทธาในพระพุทธศาสนา อุทิศถวายแด่สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว”
ภาพจิตรกรรมที่แสดงเนื้อเรื่องบทพาหุงในอุโบสถวัดสามแก้วส่วนหนึ่ง (ที่เหลือให้ไปตามดูเอาเอง เอ้ย!... จริง ๆ แล้วถ่ายมาไม่ครบหนะครับ เพราะตอนที่ไปยังไม่แน่ใจเรื่องคาถาพาหุง แหะ ๆ ^^")
ตอน พระแม่ธรณีขับไล่พญามาร |
ตอน พระพุทธเจ้าโปรดอาฬวกยักษ์ |
ตอน โปรดช้างนาฬาคีรี |
ตอน ชนะนางจิญจมาณวิกา |
ตอน พระพุทธเจ้าทรงชนะสัจจกนิครนถ์ |
ตอน พระโมคัลลานะปราบนันโทปนันทนาคราช |
ตอน โปรดท้าวพกาพรหม |
ที่เหลือคือภาพพุทธประวัติตอนอื่น ๆ เช่น ตอนบำเพ็ญทุกข์กิริยา, ตอนรับข้าวมธุปายาสของนางสุชาดา, ตอนแสดงธรรมแก่ปัจจวัคคีย์, ตอนทรงชนะธิดาพญามาร เป็นต้น นอกจากพุทธประวัติแล้วก็มีนิทานอีสปแทรกอยู่ตามช่องเล็ก ๆ (เอามาให้ดูพอเป็นน้ำจิ้มนะครับ)
ตอนแสดงธรรมแก่ปัจจวัคคีย์ |
ตอนทรงชนะธิดาพญามาร |
ธิดาพญามาร ขาวอวบน่าหลงไหลไม่ใช่น้อย อิอิ |
ท้าวพกาพรหมยามหมดอาลัยตายอยาก (ถ้าไม่เชี่ยวชาญเรื่อง Anatomy ก็คงวาดคนนั่งท่านี้ลำบาก) |
ผมชอบความสงบร่มรื่นของวัดสามแก้วนี้ ชอบความผสมผสานของศิลปกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ชอบที่มันยังไม่กลมกลืนกันดี มองเห็นที่มาของแนวคิดได้ชัดเจน เหมือนกับข้าวยำที่ยังไม่ได้คลุก หน้าตาดีดูสนุกกว่าอันที่คลุกแล้วเป็นไหน ๆ ; )