18/06/2563

ลายแทงสิมอีสาน┊6┊วัดยางทวงวราราม

ฮูปแต้ม วัดยางทวงวราราม (วัดบ้านยาง)

คงเป็นเรื่องแปลก ถ้ามาถึง อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม แล้วไม่แวะนมัสการพระธาตุนาดูน ... ที่แปลกกว่าคือ แทนที่จะมาตอนเช้า แดดอ่อน ๆ หรือบ่ายแก่ ๆ รอให้แดดร่มลมตกก่อน เรากลับกล้าท้าทายพระอาทิตย์ มาซะเที่ยง ... ที่แปลกที่สุดคือ ถึงแม้จะเป็นช่วงพระอาทิตย์ตรงหัว แดดเปรี้ยง ลานรอบเจดีย์ร้อนระอุระดับกระทะเทปัน แต่พุทธศาสนิกชนผู้ไม่กลัวแดดก็ยังหลั่งไหลมานมัสการพระธาตุ มากมาย ไม่ขาดสาย

จากวัดโพธารามผมแวะไหว้พระธาตุนาดูน โดยหวังว่าไหว้เสร็จแล้วอาจเข้าพิพิธภัณฑ์ดูโน่น ดูนี่ ใช้เวลานานสักหน่อย เพราะรอบ ๆ บริเวณพระธาตุมีที่น่าสนใจหลายที่ แต่แดดเที่ยงวันแรงจนท้อ ลูกลิงก็เริ่มป่วยเพราะโดนแดดแรง ๆ สะสมมาตั้งแต่เช้า เลยตัดสินใจรีบไหว้แล้วขึ้นรถ แวะกินอาหารตามสั่ง ง่าย ๆ แต่อร่อยที่ครัวนาดูน หายเหนื่อยแล้วเดินทางต่อเลย

เป้าหมายสุดท้ายของเราคือ ‘สิมวัดยางทวงวราราม’ หรือเรียกง่ายๆ ว่า “วัดบ้านยาง” วัดที่เป็นต้นแบบในการสร้างสิมให้วัดสระบัวแก้ว ที่ผมเอามาเล่าไว้ตอนแรกนั้นแหละครับ

จากอำเภอนาดูนถึงวัดบ้านยาง อำเภอบอรือ จะผ่านสถานที่น่าสนใจ น่าแวะ หลายที่ ... เคยเห็นในรายการโทรทัศน์ว่าที่บ้านหนองโนใต้ มีคณะ ‘หมอลำหุ่น’ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากฮูปแต้มบนสิม เอาวัสดุพื้นบ้านอย่างกระติ๊บไปทำหุ่นให้เด็กนักเรียนเชิด เล่นเรื่องสินไซย (อยากดูมาก) ... แต่ผมคงมาผิดเวลา ขับรถผ่านไม่เห็นป้ายหรืออะไรที่เป็นสัญลักษณ์ว่ามีคณะหมอลำหุ่นอยู่เลย ก็เลยข้ามไป ... อีกที่เป็นปราสาทขอมหลังเล็ก ๆ ชื่อว่า ‘ปรางค์กู่บัวมาศ’ แต่ทริปนี้ไม่ได้เกี่ยวกับปราสาทหิน ก็เลยข้ามไปอีก

สิมวัดหนองขาม
สิมด้านหน้า
สิงห์หน้าประตูทางเข้า หน้าตาเหมือนหมาพันธุ์คอลลี่

ที่ผมแวะคือ วัดหนองขาม เป็นวัดเงียบ ๆ สิมเก่าได้รับการบูรณะแล้วตั้งอยู่โดด ๆ มีป้ายบอกประวัติของกรมศิลป์ฯ รู้สึกเหมือนโบราณสถานมากกว่า ไม่มีฮูปแต้ม มีแค่สีครามทาเน้นตามขอบหน้าต่าง แต่รูปทรงสไตล์โคโลเนียลของสิมสมบูรณ์สวยดี

พอใกล้ถึง วัดบ้านยาง วิวข้างทางก็เปลี่ยนจากทุ่งนาเขียวชอุ่มเป็นป่าใหญ่ต้นไม้ครึ้ม เลยป่ามาก็ถึงวัด เป็นวัดแบบที่ ‘วัด’ ควรจะเป็น คือ เงียบสงบเย็นสบายแต่ไม่เปลี่ยว สิมสวย รู้สึกว่าเป็นสิมเดียวที่ยังถูกใช้งานอย่างสม่ำเสมอ สะอาด เรียบร้อย พระเยอะเณรก็เยอะ

สิมวัดบ้านยาง
ทางเข้าสิม เหมือนวัดสระบัวแก้วเป๊ะ ๆ เพียงแต่สิงห์วัดนี้ไม่มีลูก
ด้านในสิม

ฮูปแต้มใช้สีโทนเดียวหนักไปทางคราม เขียนเรื่อง พุทธประวัติ พระเวสสันดรชาดก นิทานชาดก นิทานพื้นบ้านหลายเรื่องปนๆ กันไป ... ช่างเขียนฝีมือดีมาก ลายเส้นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่โดดเด่นที่สุดน่าจะเป็นรูปสัตว์ เก็บรายละเอียดได้ครบถ้วนรวมถึงสายพันธุ์ เรียกว่าให้นักชีววิทยามาดูก็รู้ว่าเป็นพันธุ์อะไรไม่ผิดเพี้ยน โดยเฉพาะภาพนก

ฮูปแต้มที่ผนังช่องหนึ่ง วางจังหวะสวยดี
วงดนตรีแบบชาวบ้านยาง
ช่างแต้มท่าทางจะชอบสัตว์มาก แทรกรูปสัตว์ต่าง ๆ ไว้เต็มผนัง
รูปนกนานาชนิด
ภาพนี้อยู่เหนือประตูทางเข้าสิม มาจากนิทานเรื่องอะไรไม่แน่ใจ แต่คุ้นมาก
เพิ่งรู้ว่า สมัยก่อนเขาล่าช้างแล้วเอาคานหามกันอย่างนี้ก็ได้ แถมเอาแมวถ่วงไว้อีกด้านก็ได้อีก ... แมวอ้วนแท้ ๆ
ใครเคยอ่าน ‘เจ้าชายน้อย’ คงคุ้นรูปคล้ายหมวกที่เขาอธิบายว่าเป็น รูปงูเหลือมกินช้างเข้าไปทั้งตัว ... แต่นั่นเพราะคนแต่งเป็นชาวฝรั่งเศส ไม่คุ้นกับทั้งงูและช้าง ... ที่จริงต้องประมาณนี้ ฮ่าฮ่า

ดูเสร็จแล้วประมาณบ่าย 3 โมง จากวัดบ้านยางไปออกอำเภอบรบือได้ไม่ยาก แล้วจากบรบือก็ใช้ทางหลวงหมายเลข 23 กลับมหาสารคามได้เลย ไม่ต้องย้อนไปย้อนมา ถึงมหาสารคามแล้วก็ พักผ่อนตามอัธยาศัยตัวใครตัวมัน พรุ่งนี้ค่อยกลับกรุงเทพฯ เป็นอันปิดทริป ลายแทงสิมอีสาน แค่นี้ (´∀`)

เอาจริง ๆ ผมคิดว่า ทริปแบบนี้ 2 วัน 6 วัด นี่แน่นไปนิดรีบไปหน่อย แถมมารู้ตอนหลัง (ตอนเขียน Blog) ว่าพลาดไปอีกหลายสิมเลย ความจริงถ้าจะให้ครบถ้วนกระบวนความของงานจิตรกรรมฝาผนังแบบพื้นบ้านอีสาน ควรเพิ่มสิมในจังหวัดร้อยเอ็ดเข้าไปด้วย แต่ก็ไม่เป็นไร ยกไปไว้คราวหน้าได้ ... เพราะมีคราวหน้าแน่ ๆ

05/06/2563

ลายแทงสิมอีสาน┊5┊วัดโพธาราม

จากวัดป่าเลไลย์ ผมเลี้ยวเข้าซอยเล็ก ๆ ข้างวัด ผ่านด้านหลังชุมชนบ้านดงบัง ไปตามป้ายสถานที่น่าสนใจที่ติดไว้หน้าวัด อยากรู้จัง ว่าไอ้ “ชุมทางกระรอกป่า” นี่มันจะเป็นอย่างไร ตั้งใจว่า ถ้าเจอศาลก็จะจอดรถไหว้ ถ้าเจอต้นไม้ใหญ่ก็จะลงไปถ่ายรูป

ขับลึกเข้ามาเรื่อย ๆ เห็นต้นไม้ครึ้มข้างทาง มีดงไผ่ ดงวัชพืชสลับกับบ้านคน สวนคร้วและก็คอกควาย ... คิดในใจว่าต้องเจอศาล อีกเดี๋ยวต้องเจอกระรอก รก ๆ อย่างนี้น่าจะมีตัวอะไรบ้างล่ะ ... แต่ก็ไม่เจออะไรสักอย่าง ... รู้สึกเหมือนอยู่ในเขาวงกต แต่ไม่กลัว ถ้าหลงก็แค่ขับย้อนกลับ ... ขับต่อตามทางมาเรื่อย ๆ สักพัก ก็มาโผล่ที่หน้าวัดโพธาราม พอดี ... เอ๋!? (゚д゚;)

สิมวัดโพธาราม
ตรงสันหลังคาทำเป็นรูปพญานาค
นาคเฝ้าทางเข้าสิม
ถ่ายให้ดูความสูง

สิมวัดโพธารามรูปทรงคล้ายสิมวัดป่าเลไลย์ แต่ใหญ่กว่า 2 เท่า ตัวสิมตั้งอยู่บนฐาน 2 ชั้น สูงรวมกันท่วมหัวร่วม 2 เมตร หลังคามุงกระเบื่องรองด้วยเมทัลชีทต่อปีกนกกว้างคลุมทั่วบริเวณสิม ตรงทางเข้ามีบันไดสูง ราวบันไดทำเป็นรูปพญานาคตัวใหญ่ 2 ตัวเฝ้าอยู่ น่าเกรงขามมาก สุดบันไดมีป้ายเขียนว่า “ผู้หญิงห้ามขึ้น” ตามธรรมเนียมอีสาน ... สมัยนี้สมัยที่คนเราชอบหาเรื่องกัน อาจมีคนมองเรื่องนี้เป็นการเหยียดเพศ แต่ผมคิดว่ากรณีนี้เหตุผลหลักน่าจะเป็นเรื่องการจัดสรรพื้นที่ใช้สอยมากกว่า

ถ้ามองอีกมุม ธรรมเนียมแบบนี้ก็เป็นเหตุให้เรามีฮูปแต้มที่กำแพงด้านนอกสิม ซึ่งนอกจากจะเป็นเครื่องช่วยอธิบายให้ญาติโยมผู้หญิงเข้าใจหลักธรรมคำสอน แล้วยังเหลือไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่าของชาวอีสานอีกด้วย

ฮูปแต้มวัดโพธาราม มีเนื้อหาหลายเรื่องปนกัน พระเวสสันดร พระพุทธประวัติ พระป่าเลไลยก์ รามสูร-เมขลา และเรื่องสินไชย เป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซของ อาจารย์ซาลาย และนายสิงห์ วงศ์วาด ทั้งคู่เป็นชาวบ้านดงบัง แต่ผมคิดว่า ใครคนใดคนหนึ่งหรืออาจจะทั้งคู่ ต้องเคยเข้าเมืองหลวงแน่ ๆ หรือไม่ก็มีโอกาสได้เรียนรู้ศิลปะจากหลาย ๆ ที่ เห็นได้จากหน้าประตูทางเข้าสิมมีรูป ‘กระซิบรัก’ แบบเดียวกับที่วัดภูมินทร์ที่น่าน และยังมีรูป พระแม่ธรณีบีบมวยผมที่ดูคล้ายศิลปะแบบทางภาคกลางอีกด้วย

ซุ้มหน้าต่างเป็นช่องสี่เหลี่ยมแคบๆ ธรรมดา
ภาพกระซิบ คล้ายภาพที่วัดภูมินทร์ จ. น่าน
ช่างแต้มมีฝีมือขนานไหนดูได้จากรูปช้าง
พระแม่ธรณีในซุ้มลายกนก สัดส่วนสวยเหมือนทางภาคกลาง
ราหู และชูชก
ศาลาการเปรียญฝีมือช่างญวน
สัตว์ประหลาด ... ประหลาดมั้ยล่ะ
หอไตรกลางน้ำหน้าวัด

นอกจากสิมและฮูปแต้มแล้ว วัดโพธารามยังมีสถานที่น่าสนใจอีก 2 ที่ คือศาลาการเปรียญหลังใหญ่ฝีมือช่างญวน ที่อยู่ข้าง ๆ สิม รูปแบบสถาปัตยกรรมสวยงามแปลกตา มีลายปูนปั้นรูปสัตว์ประหลาด (ประหลาดจริงๆ ) อยู่ที่ซุ้มหน้าต่าง  อีกที่คือหอไตรกลางน้ำที่หน้าวัด อันที่จริงหอไตรนี้คือสิมน้ำหลังเก่า บรรยากาศดีถ่ายรูปแล้วเหมือนย้อนเวลาเลย

อิ่มตาอิ่มใจกับศิลปกรรมสวยๆ แล้ว ก็ถึงเวลาเติมอย่างอื่นให้ ‘อิ่ม’ บ้าง ... คิดแล้วก็รีบขึ้นรถ ไปหาอะไรกินในตัวอำเภอนาดูน พออิ่มท้องแล้วจะเข้าไปไหว้พระธาตุนาดูน ให้อิ่มบุญกันไป ... สบายใจสามอิ่ม
(๑˃̵ᴗ˂̵)و