11/09/2557

ภูต ผี ปีศาจของไทย┊เสียงคร่ำครวญของสิงโตไร้คู่

เจ้าแม่สิงโตทอง

ตุ๊กตาหินรูปสิงโตหินที่เราเห็นกันตามวัด ตามวัง นั้นเป็น "ตุ๊กตาอับเฉา" (Chinese Ship Ballast) แบบหนึ่งครับ  เป็นเครื่องถ่วงเรือสำเภา กันไม่ให้มันโคลง ช่วยให้เรือแล่นฝ่าคลื่นลมได้ดีขึ้น  เป็นผลพวงมาจากการค้าสำเภากับเมืองจีนที่เฟื่องฟูขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3

ในยุคแรก ๆ เครื่องอับเฉาจะเป็นแท่งหินธรรมดา พอขนออกมาจากเรือสำเภาแล้วก็ถูกนำไปปูทางเดินในวัดหรือในวัง  ต่อมา คงเห็นว่าไหน ๆ ก็จะต้องใช้หินมาถ่วงเรือแล้ว เปลี่ยนเป็นตุ๊กตาหินน่าจะดูดี มีค่ากว่า หรือหมดที่ปูพื้นแล้วก็ไม่รู้ จึงหาของประดับแทน  ตุ๊กตาหินจากเมืองจีนเหล่านี้ มีทั้งที่เป็นของจีนแท้ ๆ และของสั่งทำ ทั้งรูปคน ฝรั่ง จีน เทพเทวดา รูปสัตว์  ใช้ตั้งประดับบริเวณต่าง ๆ ในวัด ส่วนใหญ่มักจะถูกเอามาใช้เป็นทวารบาล เป็นคู่ ๆ เสมอ โดยเฉพาะ รูปสิงโต  เพราะความเชื่อเรื่อง "ทวารบาล" ของจีนกับไทยมีต้นตอมาจากศาสนาพุทธจากอินเดียเหมือน ๆ กัน จึงเข้ากันได้เหมาะเจาะพอดี

แต่ก็ยังมีอยู่ที่หนึ่ง ที่มีสิงโตหินตั้งอยู่เดี่ยว ๆ ตัวเดียว ทั้ง ๆ ที่ตรงนั้นไม่น่าจะมีประตูอะไร? แล้วสิงโตอีกตัวไปไหน? ความน่าฉงนนี้ ทำให้เกิดเรื่องเล่าลี้ลับ สนุก น่าสนใจ มาก นั่นก็คือ ตำนานของเจ้าแม่สิงโตทอง ที่ "ศาลสิงห์โตทอง" ข้างโรงอาหารใต้ตึกคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา

ศาลสิงห์โตทองในปัจจุบัน

ตำนานเจ้าแม่สิงโตทองมี 2 เรื่อง ... 

เรื่องแรก ออกแนวโศกนาฏกรรมความรักหน่อย ๆ เนื้อเรื่องมีอยู่ว่า ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีเรือสำเภาของพ่อค้าชาวจีนแล่นเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา บรรทุกสินค้ามาเต็มลำ พร้อมกับสิงโตหินขนาดใหญ่ สวยงามมากคู่หนึ่ง ติดมาเป็นเครื่องอับเฉา  พอเรือแล่นมาถึงปากคลองบางกอกน้อย ก็เกิดอับปางลงเพราะลมพายุ  ชาวบ้านแถวนั้นช่วยกันงมสินค้าอื่น ๆ ขึ้นมาได้ แต่กู้สิงโตหินขึ้นมาได้แค่ "ตัวเมีย" เพียงตัวเดียว  พอกู้ขึ้นมาได้แล้วก็เอามาตั้งไว้ที่ริมแม่น้ำ โดยหันหน้าเข้าหาฝั่ง  วันดีคืนดีก็พบว่าสิงโตตัวนี้ได้หันหน้าออกไปทางแม่น้ำได้เอง ราวกับว่าเธอกำลังเฝ้ามองคอยสิงโตหินตัวผู้ที่ยังจมอยู่ใต้น้ำ

มีเรื่องเล่าลือกันปากต่อปากมากมาย  บางคืน มักจะได้ยินเสียงคร่ำครวญของสิงโตตัวเมียที่ร้องเรียกหาคู่ของมัน  ถ้าเป็นคืนวันเพ็ญก็จะเห็นลำแสงคู่สีแดง ส่องขึ้นมาจากแม่น้ำ เชื่อกันว่าเป็นแสงจากตาของสิงโตตัวผู้นั่นเองที่เฝ้าคอยมองหาตัวเมียบนฝั่ง

อีกเรือง มีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์อย่างมีหลักฐานน่าเชื่อถือ  อย่างที่รู้กันอยู่แล้วว่าพื้นที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของ "วังหน้า" ซึ่งเป็น พระราชวังที่ประทับของพระมหาอุปราช (กรมพระราชวังบวรสถานมงคล) ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น และเรื่องศาลเจ้าแม่สิงโตทองนี้เกิดขึ้นในสมัยของ "กรมพระราชวังบวรราชเจ้ามหาศักดิ์พลเสพ" วังหน้าในรัชกาลที่ 3

ปากคลองบางกอกน้อย มองจากศาล

ด้วยเหตุที่สถานที่บริเวณนั้นตั้งอยู่ตรงข้ามกับปากคลองบางกอกน้อยพอดี เป็นทางสามแพร่ง ซึ่งตามหลักฮวงจุ้ยแล้วถือว่าเป็นจุดที่เกิดการปะทะรับพลังไม่ดี เชื่อว่าจะทำให้ผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณนั้นประสบกับเรื่องราววุ่นวาย มีแต่ปัญหา  จะต้องแก้เคล็ดด้วยการนำเอา "สิงห์คาบดาบ" ไปติดแก้การปะทะของพลังร้ายไว้ที่ริมแม่น้ำตรงทางสามแพร่งนั้น

แต่กรมพระราชวังบวรฯทรงดำริว่า "หากจะนำรูปสิงห์คาบดาบไปติดไว้ตรงบริเวณนั้นเห็นจะเป็นการไม่ควรยิ่ง เพราะปลายดาบที่สิงห์คาบนั้น จะหันต้องพุ่งตรงไปยังทิศใต้ แล้วทิศใต้ถ้านับจากบริเวณนั้นไปก็เป็นทิศที่ตั้งของ 'วังหลวง' หรือ 'พระบรมมหาราชวัง' ซึ่งการกระทำเฉกเช่นนี้ก็อาจจะเกิดคำครหาไปในทางที่ไม่ดีว่าพุ่งดาบเข้าหาที่อยู่ของพระมหากษัตริย์ก็ย่อมเป็นได้ อีกทั้งยังทรงเกรงว่าผู้คนนั้นจะหาว่าพระองค์ทรงงมงายไร้สาระ เนื่องด้วยการแก้ฮวงจุ้ยเช่นนี้ไม่เคยมีปรากฏในประเพณีชนชั้นผู้นำของชาวไทยมาก่อน พระองค์จึงทรงมีรับสั่งให้นำสิงโตหินแกะสลักจากเมืองจีนจำนวนสามตัวที่ทำการปลุกเสกตามประเพณีจีนมาแล้วนั้น นำไปตั้งไว้ที่บริเวณท่าน้ำซึ่งตรงข้ามกับปากคลองบางกอกน้อยแทน"

เรื่องติดตั้งสิงโตนี้ มีเล่ากันไปสองเรื่อง  บ้างว่า ถูกนำมาตั้งไว้ริมตลิ่งทั้งสามตัว นานไปก็ถูกกระแสน้ำเซาะจนตลิ่งพัง สิงโตทั้งสามตัวเลยจมลงไปใต้น้ำ ต่อมากู้เอาสิงโตตัวเล็กขึ้นมาได้ตัวเดียว ซึ่งก็คือตัวที่ตั้งประดิษฐานอยู่ในศาลเจ้าแม่สิงโตทองในปัจจุบันนั่นเอง  บ้างก็ว่าเอาไปตั้งไว้ทั้งบนบกและในน้ำเพื่อแก้เคล็ดให้ครบ

ปัจจุบัน อาจเพราะตำนานเรื่องแรกและการที่ที่ตรงนี้ได้กลายเป็นสถานศึกษาไปแล้ว ทำให้เจ้าแม่สิงโตทองมีชื่อเสียงด้านความศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะเรื่องการเรียน และความรัก เพราะสิ่งที่ทำให้คนวัยเรียนคร่ำครวญได้ ก็มีแค่เรื่องนี้แหละครับ

จะว่าไปแล้ว ไม่ใช่แค่คนวัยเรียนหรอกครับ เราทุกคนล้วนเกิดมาและแสวงหาความสมบูรณ์สมดุลในแบบของตัวเองทั้งนั้น และไอ้ความสมบูรณ์สมดุลนั่นจะมีอยู่จริงรึเปล่าก็ไม่รู้ ... บางครั้งผมก็ได้ยินเสียงครวญคราง ในใจเหมือนกัน ... ครับ

ผมรู้สึกว่าตำนานทั้งสองเรื่องนี้มีธีมหลักของเรื่องต่างกัน ตรงที่เรื่องแรกเป็นเรื่องของความทุกข์จากการพลัดพราก ส่วนเรื่องที่สองกลับสะท้อนถึงความขัดแย้งของอะไรที่อยู่เป็นคู่กัน อยู่แล้ว (วังหน้ากับวังหลวง) เพราะการเปลี่ยน สิงห์คาบดาบ เป็น สิงโตหิน ไม่เป็นผล หลังจากสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ไม่ได้ทรงตั้งผู้ใดเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลอีก  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไกรสร กรมหลวงรักษ์รณเรศ (ว่าที่) ก็ถูกถวายฎีกาอยู่เสมอว่ากระทำการกระด้างกระเดื่อง ทุจริตต่อหน้าที่ รับสินบน อีกทั้งยังมีการส้องสุมกำลังผู้คน เมื่อทรงสอบสวนแล้วเป็นจริง จึงทรงให้ถอดพระยศเป็นหม่อมไกรสร แล้วให้นำสำเร็จโทษเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2391

Share: