ในความคิดผม (ผู้ซึ่ง เพิ่งมานอนค้างได้แค่คืนเดียว ^^") มหาสารคามเป็นเมืองขนาดกลาง ๆ ไม่เล็ก ไม่ใหญ่ แต่มีคนอยู่เยอะ เต็มไปด้วยร้านบุฟเฟต์หมูกระทะ จิ้มจุ่ม เหมาะสำหรับคนเพื่อนเยอะ พวกมาก อย่างพวกนักศึกษา ... ขนาดโรงแรมที่ผมพักยังให้ความรู้สึกคล้ายนอนหอพักเลย แต่ก็นอนสบายดี
ตื่นเช้ากินมินิบาร์รองท้องแล้วก็ออกเดินทางได้ วันนี้กะจะเที่ยวให้รอบจังหวัดเลย
(^_^)v
ที่แรกที่แวะเที่ยวคือสะพานไม้แกดำ
คิดว่าเช้า ๆ อากาศดี ฟ้าใส การชมนกดูแมลง แอ็คท่าถ่ายรูปกับสะพานไม้สวยๆ จะช่วยแก้เลี่ยนสิมได้ ... ซึ่งก็จริง เราใช้เวลาเดินไปเดินมาบนสะพานไม้เก่า ๆ ยาว 500 เมตร ชั่วโมงกว่า ... แดดอ่อน ๆ ค่อย ๆ แรงกล้าขึ้น รู้ตัวอีกทีก็ทนเดินไม่ไหวแล้ว ต้องยอมแพ้มุ่งหน้าสู่ บ้านดงบัง อำเภอนาดูน
ที่บ้านดงบังมีวัดที่มีฮูปแต้มอยู่ 2 วัดใกล้กัน ผมเลือกไปวัดป่าเลไลย์ก่อน คิดว่าขากลับสามารถแวะวัดโพธารามได้เลยไม่ต้องวนไปวนมา
ทันทีที่เลี้ยวเข้ามาในวัดป่าเลไลย์ก็เห็นสิมทึบแบบอีสานแท้ ๆ ตั้งอยู่ที่โล่งด้านซ้ายมือ รอบบริเวณมีการจัดภูมิทัศน์ สะอาดเรียบร้อยดี รู้เลยว่ากรมศิลป์ฯมาบูรณะให้ เพราะมันดู 'พิพิธภั้ณฑ์-พิพิธภัณฑ์' ลานรอบสิมปูกระเบื้องดินเผา แถมเว้นช่องว่างก่อนจะถึงตัวสิม ป้องกันไม่ให้โครงสร้างเดิมถูกรบกวน หลังคาทำใหม่แต่มุงด้วยกระเบื้องดินเผาแบบเดียวกับที่ใช้ในอุทยานประวัติศาสตร์ ไม่ใช่สังกะสีหรือแผ่นเมทัลชีทแบบที่ใช้กันทั่วไป ดูดีเข้ากับสิมเก่า ... การบูรณะเป็นระเบียบแบบแผนกว่าสิมที่วัดบ้านลานเมื่อตอนที่แล้วเยอะเลย
สิมวัดป่าเลไลย์ |
ช่องว่างระหว่าตัวสิมกับระเบียงใหม่ |
วงกบไม้แกะสลัก |
ซุ้มหน้าต่างเป็นช่องแคบๆ น่ารักดี |
งูปลอมที่ขื่อเอาไว้ไล่นก แต่ ไม่แน่ใจว่านกกลัวหรือเปล่า? ที่แน่ๆ คนเห็นแล้วสะดุ้ง |
ถ้าถามว่าอย่างไหนดีกว่ากัน ก็ตอบแบบฟันธงไม่ได้หรอก ... ให้กรมศิลป์ฯบูรณะก็ดูเรียบร้อยดี แต่ปล่อยให้ชุมชนบูรณะก็เห็นวิถีชีวิตดูสนุกไปอีกแบบ ... สรุป ผมว่ามีหลาย ๆ แบบไว้ก่อนดีกว่า
สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายก (เพราะอะไรไม่รู้) รัฐบาลมีนโยบายให้วัดทั้งหมดทั่วประเทศ สร้างโบสถ์หรือสิมในรูปแบบเดียวกันให้เลือก 3 แบบ ก, ข และ ค ... หลังจากนั้นก็ไม่มีการสร้างสิมพื้นบ้านอีกเลย ... แห้งแล้งชะมัด
ฮูปแต้มผนังใหญ่เรื่องพระเวสสันดร |
พระประทานในสิม |
เพิ่งรู้ว่าสมัยก่อนเราขี่จระเข้ไปรบก็ได้? |
งูสู้กับพังพอน ดุเดือด |
คนป่า ? ผีป่า ? หรือตัวอะไรก็ไม่รู้ |
กลับมาเรื่องของเราต่อดีกว่า ฮูปแต้มเป็นฝีมือของ นายสิงห์ วงศ์วาด เป็นช่างพื้นบ้านแต่ฝีมือชั้นครู รับเขียนฮูปแต้มให้วัดที่บ้านดงบังทั้ง 2 วัด เริ่มจากวัดโพธารามแล้วมาต่อที่วัดป่าเลไลย์นี้ แต่ยังไม่ทันเขียนเสร็จดีก็มีปัญหากับผู้ว่าจ้างก็เลยเลิกทำ (ผมคิดว่าฮูปแต้มด้านในสิมน่าจะเป็นฝีมือของคนอื่น) ใช้สีครามที่ค่อนไปทางม่วงตัดกับเพื้นสีครีมเปลือกไข่เป็นเอกลักษณ์ ด้านนอกเขียนเรื่อง พระลัก-พระลาม (ฉบับลาว) กับพระเวสสันดรชาดก ส่วนด้านในเขียนเรื่องพุทธประวัติ
ดูเสร็จ ก่อนออกจากวัดเห็นป้ายบอกสถานที่น่าสนใจในชุมชน เช่น ชุมทางกระรอกป่า, ศาลปู่ (จำชื่อไม่ได้) ฯลฯ ... ก็เลยลองขับไปตามป้าย