23/10/2563

สัตว์ประหลาด ... สุดประหลาด ที่วัดโพธาราม

ที่วัดโพธาราม จังหวัดมหาสารคาม มีศาลาการเปรียญใหญ่หลังหนึ่ง รูปแบบ รูปทรงและการตกแต่งแปลกตา เพราะเป็นฝีมือช่างญวน (เวียดนาม) รอบศาลามีปูนปั้นรูปสัตว์ประหลาด พิสดารแบบที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อนประดับไว้ 

มีราว 20 ตัว บางตัวคล้ายสิงโตจีนที่มีแข้งสิงห์แบบไทย บางตัวเหมือนมังกรแต่ก็มีเครา มีหงอน คล้ายพญานาค สภาพไม่ค่อยสมบูรณ์ ถูกทาสีทับหลายชั้น ร่องรอยรายละเอียดลบเลือน บางที่ดูไม่ออกว่าเป็นส่วนไหนของตัวอะไรกันแน่ มีที่ว่างให้ใช้จินตนาการตีความเยอะ และคงถูกตีความใหม่ (ซ่อม) มาแล้วหลายครั้ง ... หลายรูปตรงส่วนที่น่าจะเป็นหางกลับเป็นส่วนหัวของสัตว์อื่น ... เห็นแล้วสนุกดี ผมอยากลองตีความบ้าง ก็เลยออกมาเป็นเลขชุดนี้ เอ๊ย!! ... รูปชุดนี้ครับ

สำหรับคนที่อยากตามไปดูของจริง ผมเคยเขียนถึงวัดโพธารามไว้แล้ว ในตอน ลายแทงสิมอีสาน┊5┊วัดโพธาราม มีปักหมุด Location ไว้ให้ด้วยเผื่อใครกลัวหลง 
ᕕ( ᐛ )ᕗ

18/06/2563

ลายแทงสิมอีสาน┊6┊วัดยางทวงวราราม

ฮูปแต้ม วัดยางทวงวราราม (วัดบ้านยาง)

คงเป็นเรื่องแปลก ถ้ามาถึง อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม แล้วไม่แวะนมัสการพระธาตุนาดูน ... ที่แปลกกว่าคือ แทนที่จะมาตอนเช้า แดดอ่อน ๆ หรือบ่ายแก่ ๆ รอให้แดดร่มลมตกก่อน เรากลับกล้าท้าทายพระอาทิตย์ มาซะเที่ยง ... ที่แปลกที่สุดคือ ถึงแม้จะเป็นช่วงพระอาทิตย์ตรงหัว แดดเปรี้ยง ลานรอบเจดีย์ร้อนระอุระดับกระทะเทปัน แต่พุทธศาสนิกชนผู้ไม่กลัวแดดก็ยังหลั่งไหลมานมัสการพระธาตุ มากมาย ไม่ขาดสาย

จากวัดโพธารามผมแวะไหว้พระธาตุนาดูน โดยหวังว่าไหว้เสร็จแล้วอาจเข้าพิพิธภัณฑ์ดูโน่น ดูนี่ ใช้เวลานานสักหน่อย เพราะรอบ ๆ บริเวณพระธาตุมีที่น่าสนใจหลายที่ แต่แดดเที่ยงวันแรงจนท้อ ลูกลิงก็เริ่มป่วยเพราะโดนแดดแรง ๆ สะสมมาตั้งแต่เช้า เลยตัดสินใจรีบไหว้แล้วขึ้นรถ แวะกินอาหารตามสั่ง ง่าย ๆ แต่อร่อยที่ครัวนาดูน หายเหนื่อยแล้วเดินทางต่อเลย

เป้าหมายสุดท้ายของเราคือ ‘สิมวัดยางทวงวราราม’ หรือเรียกง่ายๆ ว่า “วัดบ้านยาง” วัดที่เป็นต้นแบบในการสร้างสิมให้วัดสระบัวแก้ว ที่ผมเอามาเล่าไว้ตอนแรกนั้นแหละครับ

จากอำเภอนาดูนถึงวัดบ้านยาง อำเภอบอรือ จะผ่านสถานที่น่าสนใจ น่าแวะ หลายที่ ... เคยเห็นในรายการโทรทัศน์ว่าที่บ้านหนองโนใต้ มีคณะ ‘หมอลำหุ่น’ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากฮูปแต้มบนสิม เอาวัสดุพื้นบ้านอย่างกระติ๊บไปทำหุ่นให้เด็กนักเรียนเชิด เล่นเรื่องสินไซย (อยากดูมาก) ... แต่ผมคงมาผิดเวลา ขับรถผ่านไม่เห็นป้ายหรืออะไรที่เป็นสัญลักษณ์ว่ามีคณะหมอลำหุ่นอยู่เลย ก็เลยข้ามไป ... อีกที่เป็นปราสาทขอมหลังเล็ก ๆ ชื่อว่า ‘ปรางค์กู่บัวมาศ’ แต่ทริปนี้ไม่ได้เกี่ยวกับปราสาทหิน ก็เลยข้ามไปอีก

สิมวัดหนองขาม
สิมด้านหน้า
สิงห์หน้าประตูทางเข้า หน้าตาเหมือนหมาพันธุ์คอลลี่

ที่ผมแวะคือ วัดหนองขาม เป็นวัดเงียบ ๆ สิมเก่าได้รับการบูรณะแล้วตั้งอยู่โดด ๆ มีป้ายบอกประวัติของกรมศิลป์ฯ รู้สึกเหมือนโบราณสถานมากกว่า ไม่มีฮูปแต้ม มีแค่สีครามทาเน้นตามขอบหน้าต่าง แต่รูปทรงสไตล์โคโลเนียลของสิมสมบูรณ์สวยดี

พอใกล้ถึง วัดบ้านยาง วิวข้างทางก็เปลี่ยนจากทุ่งนาเขียวชอุ่มเป็นป่าใหญ่ต้นไม้ครึ้ม เลยป่ามาก็ถึงวัด เป็นวัดแบบที่ ‘วัด’ ควรจะเป็น คือ เงียบสงบเย็นสบายแต่ไม่เปลี่ยว สิมสวย รู้สึกว่าเป็นสิมเดียวที่ยังถูกใช้งานอย่างสม่ำเสมอ สะอาด เรียบร้อย พระเยอะเณรก็เยอะ

สิมวัดบ้านยาง
ทางเข้าสิม เหมือนวัดสระบัวแก้วเป๊ะ ๆ เพียงแต่สิงห์วัดนี้ไม่มีลูก
ด้านในสิม

ฮูปแต้มใช้สีโทนเดียวหนักไปทางคราม เขียนเรื่อง พุทธประวัติ พระเวสสันดรชาดก นิทานชาดก นิทานพื้นบ้านหลายเรื่องปนๆ กันไป ... ช่างเขียนฝีมือดีมาก ลายเส้นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่โดดเด่นที่สุดน่าจะเป็นรูปสัตว์ เก็บรายละเอียดได้ครบถ้วนรวมถึงสายพันธุ์ เรียกว่าให้นักชีววิทยามาดูก็รู้ว่าเป็นพันธุ์อะไรไม่ผิดเพี้ยน โดยเฉพาะภาพนก

ฮูปแต้มที่ผนังช่องหนึ่ง วางจังหวะสวยดี
วงดนตรีแบบชาวบ้านยาง
ช่างแต้มท่าทางจะชอบสัตว์มาก แทรกรูปสัตว์ต่าง ๆ ไว้เต็มผนัง
รูปนกนานาชนิด
ภาพนี้อยู่เหนือประตูทางเข้าสิม มาจากนิทานเรื่องอะไรไม่แน่ใจ แต่คุ้นมาก
เพิ่งรู้ว่า สมัยก่อนเขาล่าช้างแล้วเอาคานหามกันอย่างนี้ก็ได้ แถมเอาแมวถ่วงไว้อีกด้านก็ได้อีก ... แมวอ้วนแท้ ๆ
ใครเคยอ่าน ‘เจ้าชายน้อย’ คงคุ้นรูปคล้ายหมวกที่เขาอธิบายว่าเป็น รูปงูเหลือมกินช้างเข้าไปทั้งตัว ... แต่นั่นเพราะคนแต่งเป็นชาวฝรั่งเศส ไม่คุ้นกับทั้งงูและช้าง ... ที่จริงต้องประมาณนี้ ฮ่าฮ่า

ดูเสร็จแล้วประมาณบ่าย 3 โมง จากวัดบ้านยางไปออกอำเภอบรบือได้ไม่ยาก แล้วจากบรบือก็ใช้ทางหลวงหมายเลข 23 กลับมหาสารคามได้เลย ไม่ต้องย้อนไปย้อนมา ถึงมหาสารคามแล้วก็ พักผ่อนตามอัธยาศัยตัวใครตัวมัน พรุ่งนี้ค่อยกลับกรุงเทพฯ เป็นอันปิดทริป ลายแทงสิมอีสาน แค่นี้ (´∀`)

เอาจริง ๆ ผมคิดว่า ทริปแบบนี้ 2 วัน 6 วัด นี่แน่นไปนิดรีบไปหน่อย แถมมารู้ตอนหลัง (ตอนเขียน Blog) ว่าพลาดไปอีกหลายสิมเลย ความจริงถ้าจะให้ครบถ้วนกระบวนความของงานจิตรกรรมฝาผนังแบบพื้นบ้านอีสาน ควรเพิ่มสิมในจังหวัดร้อยเอ็ดเข้าไปด้วย แต่ก็ไม่เป็นไร ยกไปไว้คราวหน้าได้ ... เพราะมีคราวหน้าแน่ ๆ

05/06/2563

ลายแทงสิมอีสาน┊5┊วัดโพธาราม

จากวัดป่าเลไลย์ ผมเลี้ยวเข้าซอยเล็ก ๆ ข้างวัด ผ่านด้านหลังชุมชนบ้านดงบัง ไปตามป้ายสถานที่น่าสนใจที่ติดไว้หน้าวัด อยากรู้จัง ว่าไอ้ “ชุมทางกระรอกป่า” นี่มันจะเป็นอย่างไร ตั้งใจว่า ถ้าเจอศาลก็จะจอดรถไหว้ ถ้าเจอต้นไม้ใหญ่ก็จะลงไปถ่ายรูป

ขับลึกเข้ามาเรื่อย ๆ เห็นต้นไม้ครึ้มข้างทาง มีดงไผ่ ดงวัชพืชสลับกับบ้านคน สวนคร้วและก็คอกควาย ... คิดในใจว่าต้องเจอศาล อีกเดี๋ยวต้องเจอกระรอก รก ๆ อย่างนี้น่าจะมีตัวอะไรบ้างล่ะ ... แต่ก็ไม่เจออะไรสักอย่าง ... รู้สึกเหมือนอยู่ในเขาวงกต แต่ไม่กลัว ถ้าหลงก็แค่ขับย้อนกลับ ... ขับต่อตามทางมาเรื่อย ๆ สักพัก ก็มาโผล่ที่หน้าวัดโพธาราม พอดี ... เอ๋!? (゚д゚;)

สิมวัดโพธาราม
ตรงสันหลังคาทำเป็นรูปพญานาค
นาคเฝ้าทางเข้าสิม
ถ่ายให้ดูความสูง

สิมวัดโพธารามรูปทรงคล้ายสิมวัดป่าเลไลย์ แต่ใหญ่กว่า 2 เท่า ตัวสิมตั้งอยู่บนฐาน 2 ชั้น สูงรวมกันท่วมหัวร่วม 2 เมตร หลังคามุงกระเบื่องรองด้วยเมทัลชีทต่อปีกนกกว้างคลุมทั่วบริเวณสิม ตรงทางเข้ามีบันไดสูง ราวบันไดทำเป็นรูปพญานาคตัวใหญ่ 2 ตัวเฝ้าอยู่ น่าเกรงขามมาก สุดบันไดมีป้ายเขียนว่า “ผู้หญิงห้ามขึ้น” ตามธรรมเนียมอีสาน ... สมัยนี้สมัยที่คนเราชอบหาเรื่องกัน อาจมีคนมองเรื่องนี้เป็นการเหยียดเพศ แต่ผมคิดว่ากรณีนี้เหตุผลหลักน่าจะเป็นเรื่องการจัดสรรพื้นที่ใช้สอยมากกว่า

ถ้ามองอีกมุม ธรรมเนียมแบบนี้ก็เป็นเหตุให้เรามีฮูปแต้มที่กำแพงด้านนอกสิม ซึ่งนอกจากจะเป็นเครื่องช่วยอธิบายให้ญาติโยมผู้หญิงเข้าใจหลักธรรมคำสอน แล้วยังเหลือไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่าของชาวอีสานอีกด้วย

ฮูปแต้มวัดโพธาราม มีเนื้อหาหลายเรื่องปนกัน พระเวสสันดร พระพุทธประวัติ พระป่าเลไลยก์ รามสูร-เมขลา และเรื่องสินไชย เป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซของ อาจารย์ซาลาย และนายสิงห์ วงศ์วาด ทั้งคู่เป็นชาวบ้านดงบัง แต่ผมคิดว่า ใครคนใดคนหนึ่งหรืออาจจะทั้งคู่ ต้องเคยเข้าเมืองหลวงแน่ ๆ หรือไม่ก็มีโอกาสได้เรียนรู้ศิลปะจากหลาย ๆ ที่ เห็นได้จากหน้าประตูทางเข้าสิมมีรูป ‘กระซิบรัก’ แบบเดียวกับที่วัดภูมินทร์ที่น่าน และยังมีรูป พระแม่ธรณีบีบมวยผมที่ดูคล้ายศิลปะแบบทางภาคกลางอีกด้วย

ซุ้มหน้าต่างเป็นช่องสี่เหลี่ยมแคบๆ ธรรมดา
ภาพกระซิบ คล้ายภาพที่วัดภูมินทร์ จ. น่าน
ช่างแต้มมีฝีมือขนานไหนดูได้จากรูปช้าง
พระแม่ธรณีในซุ้มลายกนก สัดส่วนสวยเหมือนทางภาคกลาง
ราหู และชูชก
ศาลาการเปรียญฝีมือช่างญวน
สัตว์ประหลาด ... ประหลาดมั้ยล่ะ
หอไตรกลางน้ำหน้าวัด

นอกจากสิมและฮูปแต้มแล้ว วัดโพธารามยังมีสถานที่น่าสนใจอีก 2 ที่ คือศาลาการเปรียญหลังใหญ่ฝีมือช่างญวน ที่อยู่ข้าง ๆ สิม รูปแบบสถาปัตยกรรมสวยงามแปลกตา มีลายปูนปั้นรูปสัตว์ประหลาด (ประหลาดจริงๆ ) อยู่ที่ซุ้มหน้าต่าง  อีกที่คือหอไตรกลางน้ำที่หน้าวัด อันที่จริงหอไตรนี้คือสิมน้ำหลังเก่า บรรยากาศดีถ่ายรูปแล้วเหมือนย้อนเวลาเลย

อิ่มตาอิ่มใจกับศิลปกรรมสวยๆ แล้ว ก็ถึงเวลาเติมอย่างอื่นให้ ‘อิ่ม’ บ้าง ... คิดแล้วก็รีบขึ้นรถ ไปหาอะไรกินในตัวอำเภอนาดูน พออิ่มท้องแล้วจะเข้าไปไหว้พระธาตุนาดูน ให้อิ่มบุญกันไป ... สบายใจสามอิ่ม
(๑˃̵ᴗ˂̵)و

29/05/2563

ลายแทงสิมอีสาน┊4┊วัดป่าเลไลย์

ฮูปแต้ม วัดป่าเลไลย์ และสะพานไม้แกดำ

ในความคิดผม (ผู้ซึ่ง เพิ่งมานอนค้างได้แค่คืนเดียว ^^") มหาสารคามเป็นเมืองขนาดกลาง ๆ ไม่เล็ก ไม่ใหญ่ แต่มีคนอยู่เยอะ เต็มไปด้วยร้านบุฟเฟต์หมูกระทะ จิ้มจุ่ม เหมาะสำหรับคนเพื่อนเยอะ พวกมาก อย่างพวกนักศึกษา ... ขนาดโรงแรมที่ผมพักยังให้ความรู้สึกคล้ายนอนหอพักเลย แต่ก็นอนสบายดี

ตื่นเช้ากินมินิบาร์รองท้องแล้วก็ออกเดินทางได้ วันนี้กะจะเที่ยวให้รอบจังหวัดเลย 
(^_^)v

ที่แรกที่แวะเที่ยวคือสะพานไม้แกดำ

คิดว่าเช้า ๆ อากาศดี ฟ้าใส การชมนกดูแมลง แอ็คท่าถ่ายรูปกับสะพานไม้สวยๆ จะช่วยแก้เลี่ยนสิมได้ ... ซึ่งก็จริง เราใช้เวลาเดินไปเดินมาบนสะพานไม้เก่า ๆ ยาว 500 เมตร ชั่วโมงกว่า ... แดดอ่อน ๆ ค่อย ๆ แรงกล้าขึ้น รู้ตัวอีกทีก็ทนเดินไม่ไหวแล้ว ต้องยอมแพ้มุ่งหน้าสู่ บ้านดงบัง อำเภอนาดูน

ที่บ้านดงบังมีวัดที่มีฮูปแต้มอยู่ 2 วัดใกล้กัน ผมเลือกไปวัดป่าเลไลย์ก่อน คิดว่าขากลับสามารถแวะวัดโพธารามได้เลยไม่ต้องวนไปวนมา

ทันทีที่เลี้ยวเข้ามาในวัดป่าเลไลย์ก็เห็นสิมทึบแบบอีสานแท้ ๆ ตั้งอยู่ที่โล่งด้านซ้ายมือ รอบบริเวณมีการจัดภูมิทัศน์ สะอาดเรียบร้อยดี รู้เลยว่ากรมศิลป์ฯมาบูรณะให้ เพราะมันดู 'พิพิธภั้ณฑ์-พิพิธภัณฑ์' ลานรอบสิมปูกระเบื้องดินเผา แถมเว้นช่องว่างก่อนจะถึงตัวสิม ป้องกันไม่ให้โครงสร้างเดิมถูกรบกวน หลังคาทำใหม่แต่มุงด้วยกระเบื้องดินเผาแบบเดียวกับที่ใช้ในอุทยานประวัติศาสตร์ ไม่ใช่สังกะสีหรือแผ่นเมทัลชีทแบบที่ใช้กันทั่วไป ดูดีเข้ากับสิมเก่า ... การบูรณะเป็นระเบียบแบบแผนกว่าสิมที่วัดบ้านลานเมื่อตอนที่แล้วเยอะเลย

สิมวัดป่าเลไลย์
ช่องว่างระหว่าตัวสิมกับระเบียงใหม่
วงกบไม้แกะสลัก
ซุ้มหน้าต่างเป็นช่องแคบๆ น่ารักดี
งูปลอมที่ขื่อเอาไว้ไล่นก แต่ ไม่แน่ใจว่านกกลัวหรือเปล่า? ที่แน่ๆ คนเห็นแล้วสะดุ้ง

ถ้าถามว่าอย่างไหนดีกว่ากัน ก็ตอบแบบฟันธงไม่ได้หรอก ... ให้กรมศิลป์ฯบูรณะก็ดูเรียบร้อยดี แต่ปล่อยให้ชุมชนบูรณะก็เห็นวิถีชีวิตดูสนุกไปอีกแบบ ... สรุป ผมว่ามีหลาย ๆ แบบไว้ก่อนดีกว่า

สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายก (เพราะอะไรไม่รู้) รัฐบาลมีนโยบายให้วัดทั้งหมดทั่วประเทศ สร้างโบสถ์หรือสิมในรูปแบบเดียวกันให้เลือก 3 แบบ ก, ข และ ค ... หลังจากนั้นก็ไม่มีการสร้างสิมพื้นบ้านอีกเลย ... แห้งแล้งชะมัด

ฮูปแต้มผนังใหญ่เรื่องพระเวสสันดร
พระประทานในสิม
เพิ่งรู้ว่าสมัยก่อนเราขี่จระเข้ไปรบก็ได้?
งูสู้กับพังพอน ดุเดือด
คนป่า ? ผีป่า ? หรือตัวอะไรก็ไม่รู้

กลับมาเรื่องของเราต่อดีกว่า ฮูปแต้มเป็นฝีมือของ นายสิงห์ วงศ์วาด เป็นช่างพื้นบ้านแต่ฝีมือชั้นครู รับเขียนฮูปแต้มให้วัดที่บ้านดงบังทั้ง 2 วัด เริ่มจากวัดโพธารามแล้วมาต่อที่วัดป่าเลไลย์นี้ แต่ยังไม่ทันเขียนเสร็จดีก็มีปัญหากับผู้ว่าจ้างก็เลยเลิกทำ (ผมคิดว่าฮูปแต้มด้านในสิมน่าจะเป็นฝีมือของคนอื่น) ใช้สีครามที่ค่อนไปทางม่วงตัดกับเพื้นสีครีมเปลือกไข่เป็นเอกลักษณ์ ด้านนอกเขียนเรื่อง พระลัก-พระลาม (ฉบับลาว) กับพระเวสสันดรชาดก ส่วนด้านในเขียนเรื่องพุทธประวัติ

ดูเสร็จ ก่อนออกจากวัดเห็นป้ายบอกสถานที่น่าสนใจในชุมชน เช่น ชุมทางกระรอกป่า, ศาลปู่ (จำชื่อไม่ได้) ฯลฯ ... ก็เลยลองขับไปตามป้าย