28/11/2557

ภูต ผี ปีศาจของไทย┊เจ้าที่ (แรง) ที่บางลำพู

พรายน้ำที่ป้อมพระจันทร์

ในสำนึกของคน (ไทย) โบราณ เชื่อว่าทุกที่บนโลกนี้ล้วนมีเจ้าของ และเจ้าของที่ว่านั้นไม่ใช่มนุษย์  คนเดินดินธรรมดาทั่วไปอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ที่ประเดี๋ยวเกิด อีกประเดี๋ยวก็ตาย  เป็นได้อย่างมากก็แค่ผู้อาศัยหรือผู้เช่า  เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงต้องเป็นอะไรที่มีพลังอำนาจมากกว่า อยู่ดูแลได้นานกว่า อย่างเช่น "ผี"

ในบ้าน (ของเราเองแท้ ๆ ) ก็มี ผีเรือน, พระภูมิ ในเมืองก็มี ผีบ้านผีเมือง, เจ้าพ่อหลักเมือง, ผีเสื้อเมือง  นอกเมืองก็ยังมีเจ้าป่าเจ้าเขา, ผีนา, ผีน้ำ แม้แต่ตามที่รกร้างข้างทาง ผมก็ถูกสอนให้ยกมือไหว้ขออนุญาตก่อนทำธุระส่วนตัว ทุกครั้ง ไม่งั้น 'เจ้าอุปกรณ์ทำธุระ' จะบวม

ผมคิดว่าความเชื่อเรื่องผีเป็นศาสนาแบบโบราณ เอาไว้จัดระเบียบสังคม  ผีก็เป็นเหมือนกับเทพ เทวดา ที่คอยควบคุมดูแลพฤติกรรมของคนในสังคมให้อยู่กันอย่างสงบสุข ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน  ตามชุมทาง ตามโค้งอันตราย ตามปากทางเข้าสถานที่ต่าง ๆ หรือที่ว่าง (พื้นที่ส่วนกลาง) ในชุมชน ก็มักมีศาลตั้งอยู่ เพื่อเตือนสติคนที่ผ่านไปผ่านมา ว่าอย่าประมาท อย่าเผลอไผลหลงทำตัวอุบาทว์ ... โดยไม่แคร์สายตาใคร

ประเทศไทยมีศาลเจ้าที่มากมาย ที่ศักดิ์สิทธิ์โ่ด่งดังเป็นที่นับถือก็มีนับไม่ถ้วน  แต่ก็มีแปลก ๆ อยู่ที่หนึ่ง ผมจำเป็นภาพติดตามาตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ แล้ว 

ตอนนั้น ผมตามพ่อไปงานวันแรงงานที่ท้องสนามหลวง  จำได้ว่า บรรยากาศคึกคัก จอแจ และแดดร้อนมาก  เราก็เลยปล่อยให้สนามหลวงเป็นหน้าที่ของพ่อ ปล่อยให้เขาสานความสัมพันธ์ในสหภาพฯของเขาไป ส่วนผมกับแม่และน้องก็มีหน้าที่เข้าไปหลบแดดในวัดพระแก้วจนจบงาน  ขากลับพ่อผมขับรถอ้อมมาทางบางลำพู และนั่นเป็นครั้งแรกที่ผมเห็น "ศาลกรมหลวงจักรเจษฎา"

ในสายตาเด็กชานเมืองที่เพิ่งเคยเห็นวัดเห็นวังเป็นครั้งแรกอย่างผม ศาลนี้นับเป็นศาลเจ้าที่ที่สะดุดตามาก เพราะมันเหมือนอยู่ผิดที่ผิดทาง รอบข้างเป็นร้านขายของธรรมดาทั่วไปแท้ ๆ จู่ ๆ ก็มีซากซุ้มประตูเก่า ก่อด้วยอิฐแผ่นใหญ่คล้ายโบราณสถานที่อยุธยาโผล่แทรกเข้ามาระหว่างตึกแถว กลางซุ้มเป็นศาลคล้ายศาลพระภูมิตามบ้านทั่วไป ด้านบนมีต้นไทรใหญ่ขึ้นบนซุ้ม ร่มครึ้ม ดูขลังจริง ๆ (คิดว่า สมัยก่อนคงมีคนใจกล้าเดินผ่านแถวนี้ตอนกลางคืน ไม่มากนัก ... บรรยากาศมันน่าขนลุก) พ่อเล่าคร่าว ๆ ให้ฟังว่า เป็นวังเก่าของใครสักคน เขาลือกันว่าผีเจ้าที่ที่นี่เฮี้ยน! ...

ฟังแล้วก็ยิ่งกลัว แล้วก็ยิ่งสงสัย ว่า เป็นวังของใคร? ทำไมถึงร้าง? ทำไมมีศาล? ทำไมเฮี้ยน ยังไงแค่ไหน? ... ผมเก็บความสงสัยไว้จนโต (มีลูกแล้ว) จนคิดจะเขียนเรื่องผี ก็เลยไปหาข้อมูลมาเพิ่ม
ศาลกรมหลวงจักรเจษฎา ในปัจจุบัน ไม่มีต้นไทรแล้ว

ได้ความว่า วังนี้ชื่อ วังริมป้อมพระสุเมรุ แต่เดิมเป็นเขตพระนิเวศน์เดิมของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (บุญมา) เมื่อครั้งทรงปฏิบัติราชการในสมัยกรุงธนบุรี  ต่อมาเมื่อย้ายเมืองหลวง จึงให้ที่ส่วนหนึ่งขุดคลอง สร้างกำแพงเมือง สร้างป้อมพระสุเมรุ  จนเมื่อพระองค์เสด็จมาประทับที่พระราชวังบวรสถานมงคลแล้ว จึงโปรดฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา (พระอนุชาพระองค์เล็ก) มาอยู่ช่วยกำกับดูแลการรักษาพระนครทางด้านนั้น (ให้มาอยู่เฝ้าป้อมฯ) แทน

ต่อมาในปีพ.ศ. 2350 เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎาสิ้นพระชนม์ เจ้าจอมมารดาอยู่ต่อจนสิ้นชีพ แล้ววังก็ถูกปล่อยร้าง ไม่ปรากฏว่าโปรดให้ผู้ใดไปอยู่อีก ว่ากันว่าพระภูมิเจ้าที่ร้ายแรงนัก ไม่มีเจ้านายพระองค์ใดกล้ามาประทับ

ผมคิดว่าข่าวลือเรื่องเจ้าที่ร้ายแรงนี้ น่าจะมาจากเหตุที่ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินธิ์เกิดอหิวาตกโรคระบาดหลายครั้ง ประมาณว่าห่าลงแทบทุกปี  ที่หนัก ๆ มี 2 ครั้ง ครั้งแรกในรัชกาลที่ 2 ปี พ.ศ. 2363 มีคนล้มตายเป็นจำนวนมากจนเผาศพไม่หมด ไม่ทัน เมื่อไม่ทันก็โยนทิ้งน้ำ แม่น้ำลำคลองในพระนครเต็มไปด้วยศพ  อีกครั้งเกิดในสมัยรัชกาลที่ 3 พ.ศ. 2392 ตอนนั้นพระนครก็มีสภาพไม่ต่างจากการระบาดครั้งแรก โชคดีที่ เจ้าฟ้ามงกุฏฯ (ร.4) ซึ่งขณะนั้นดำรงเพศบรรพชิต เป็นพระราชาคณะ ได้ทรงบัญชาให้วัดสามวัด คือ วัดสระเกศ วัดบางลำพู (วัดสังเวชวิศยาราม) และวัดตีนเลน (วัดเชิงเลน หรือวัดบพิตรพิมุข) เป็นสถานที่สำหรับเผาศพ  ให้คนเก็บศพในคลองบางลำพูมารวบรวมเตรียมเผาที่วัดสังเวชฯ ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามวัง เผากันหามรุ่งหามค่ำ นานกว่าโรคอหิวาต์จะหมดไป ...

เกิดเหตุร้ายตลอดในช่วงเวลาสี่สิบกว่าปี คนที่อยู่ในเหตุการณ์ ยังจำภาพอันน่าสลดนั้นได้ คงไม่มีใครอยากมาอยู่ใกล้กับที่เกิดเหตุ หรอกครับ (เหมือนเขาหลักที่พังงา ที่กิจการท่องเที่ยวซบเซาลงหลายปีหลังจาเกิดสึนามิ)

ใกล้กับศาลกรมหลวงจักรเจษฎา เป็นตรอกไก่แจ้ สามารถเดินทะลุไปออกตรอกเขียนนิวาสน์ที่ถนนพระอาทิตย์ได้ ด้านในเป็นชุมชนโบราณเก่ากว่าร้อยปี เรียกรวม ๆ กันว่า ชุมชนตรอกเขียนนิวาสน์-ไก่แจ้ คนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นลูกหลานคนมอญ อพยพมาอยู่กันหลายรุ่นแล้ว ตั้งแต่เชลยที่รัชกาลที่ 1 เกณฑ์มาสร้างป้อม ไปจนถึงชาวมอญจากต่างจังหวัด (ราชบุรี, ปทุมธานี ... ฯลฯ) ที่อพยพตามมาเป็นระลอก มาหาที่อยู่ใกล้ ๆ กับวัดมอญเมืองหลวง (วัดชนะสงคราม)

กลางชุมชนเป็นลานกว้างมีศาลกรมหลวงจักรเจษฎาอีกที่หนึ่ง ชาวบ้านนับถือกันมากเรียกว่า "ศาลเสด็จพ่อ" คงเพราะรู้ว่าเป็นเจ้าของที่ดั้งเดิมก่อนทางการจะรื้อวังและให้ชาวบ้านเข้ามาตั้งบ้านเรือน และเชื่อว่า เสด็จพ่อของเขาคอยปกป้องชุมชนให้รอดพ้นจากเหตุอันตราย เช่นไฟไหม้  มีการจัดพิธีบวงสรวงทุกปี ทำคู่ไปกับงานปีใหม่ และมีกิจกรรมของชุมชนอีกเยอะ

จากหนังสือและข้อมูลที่ค้นเจอ ดูเหมือนว่าชุมชนนี้จะเป็นชุมชนที่เข้มแข็งมาก ๆ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการมี "เจ้าที่แรง ๆ" เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจประจำชุมชนอย่าง ศาลกรมหลวงจักรเจษฎา (ศาลเสด็จพ่อ)

ล่าสุดผมเพิ่งเข้าเมืองไปบางลำพูมา ที่ศาล ต้นไทรถูกตัดจนโล่ง ไม่เหลือภาพความขลังอีกแล้ว แม้แต่สนามหลวงก็ถูกล้อมรั้วเรียบร้อยจนจืดชืด หลายที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย  พื้นที่ส่วนกลางของสังคมไทยก็กำลังเปลี่ยนไป จากที่เคยอยู่ภายใต้การดูแลของผี มาเป็น "พื้นที่สาธารณะ" ซึ้งมันมีความหมายแย่ ๆ 2 ความหมาย คือ "ที่ที่ไม่มีเจ้าของไม่มีใครดูแล ใครจะทำอะไรก็ได้" กับ "ที่หวงห้ามของรัฐ"

เจ้าที่ที่บางลำพูอาจจะยังพอมีแรงอยู่ ... แต่เจ้าที่ที่อื่น ผมไม่แน่ใจ ...
ของฝาก เป็นรูปตลาดนัดสนามหลวงสมัยก่อนครับ อยากดูเพิ่มไปที่ http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2010/09/K9658026/K9658026.html ขอบคุณ คุณมิตรภาพไม่รู้จบ ที่เอามาโพสต์ไว้ในพันทิปด้วยนะครับ

12/11/2557

เส้นจันท์┊ว่าด้วยอาหารเส้นที่จันทบุรี

พูดถึง เส้นจันท์ เราก็มักจะนึกถึงก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กจากจันทบุรี และด้วยคุณภาพความเหนียวนุ่มที่โด่งดัง ทำให้ก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กที่ผลิตจากที่อื่น ๆ มักจะถูกเหมาเรียก ว่า เป็นเส้นจันท์อยู่บ่อย ๆ เพื่อเรียกลูกค้า  ตัวอย่างเช่น ผัดไทย ถ้าจะให้ดูน่ากินก็ต้องขึ้นป้ายว่า เส้นจันท์ผัดไทย + กุ้งสด + ถั่วงอกฟรี + หัวปลีขาว ... อะไรประมาณนั้น (⌒.−)

และเพื่อเรียกคนอ่าน ผมก็ขออ้างเส้นจันท์มาตั้งเป็นชื่อบล็อกตอนนี้นะครับ ถึงจะไม่ได้เกี่ยวกับเส้นจันท์โดยตรงแต่ อาหารเส้น (ก๋วยเตี๋ยว) ที่ผมตระเวนกินที่จันทบุรีก็ใช้เส้นจันท์ทั้งนั้น น่าจะพอกล้อมแกล้มได้ ("⌣̀_⌣́)

ก๋วยเตี๋ยวเนื้อเลียง ร้านป้าติ๊ด ท่าใหม่ จันทบุรี

จังหวัดจันทบุรีเป็นเมืองที่มีก๋วยเตี๋ยวหลายร้านแทบนับไม่ถ้วน แต่เมนูที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะจังหวัดมีอยู่ 2 อย่าง นั่นคือ ก๋วยเตี๋ยวเลียง กับ ก๋วยเตี๋ยวผัดปู

ไปเมืองจันท์คราวนี้ผมโชคร้าย ฝนตกตลอด ไม่มีโอกาสเดินหาก๋วยเตี๋ยวผัดปูเจ้าอร่อยกิน เลยเล่าได้ลำบาก  แต่เท่าที่เคยลองมา ผมว่าก๋วยเตี๋ยวผัดปูที่ผมเคยกินตอนเด็ก ๆ ที่ชุมพร อร่อยกว่ากันเยอะ  ชุมพรกับจันทบุรีเกี่ยวข้องกันยังไงผมก็ไม่แน่ใจ จะถามป้าคนที่ผัดให้กินก็คงไม่ทันแล้ว ... ป่านี้แกคงยุ่งอยู่กับการผัดก๋วยเตี๋ยวเลี้ยงเทวดาแน่ ๆ (ว่ากันว่าก๋วยเตี๋ยวผัดปูเป็นอาหารเลี้ยงในงานบุญของคนญวน) ... เอาเป็นว่าเรื่องนี้พักไว้ก่อน ... อันที่จริง ครั้งนี้ผมตั้งใจไปกินก๋วยเตี๋ยวเลียงโดยเฉพาะ ( ・ㅂ・)و ̑̑

ก๋วยเตี๋ยวเลียง ก๋วยเตี๋ยวหมูเลียง เนื้อเลียง ฟังดูแปลกดี ... ทำไมต้องเลียง? ค้นไปค้นมา ก็เจอหลายตำนาน ... บ้างว่าใส่เครื่องเยอะแบบแกงเลียง ... บ้างก็ว่ามาจากการหั่นเนื้อแล้วเอามาเรียงไว้ในชาม

แต่เรื่องที่ผมเชื่อที่สุดคือ คำว่า "เลียง" ของก๋วยเตี๋ยวเลียงมาจาก "เนื้อเลียงผา" ครับ  เล่ากันว่า สมัยก่อนจันทบุรีเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์พร้อม มีทั้ง แม่น้ำ ทะเลและภูเขา เทือกเขาสระบาปในเขตอำเภอเมือง เคยมีเลียงผาอาศัยอยู่ชุกชุม เนื้อมันอร่อย จึงมักจะถูกล่ามาทำก๋วยเตี๋ยว ถึงจะอร่อยแต่เนื้อเลียงผาก็มีกลิ่นสาบแรง ต้องใส่เครื่องเทศมาก ๆ ในน้ำซุป เพื่อดับกลิ่น ก็เลยกลายเป็นสูตรน้ำซุปก๋วยเตี๋ยวเลียงในปัจจุบัน

เดี๋ยวนี้ที่เขาสระบาปไม่มีเลียงผาเหลืออีกแล้ว ถ้ายังเหลือ ก็คงลักลอบจับมาต้มน้ำซุปลำบาก ปัจจุบันก๋วยเตี๋ยวเลียง นิยมใช้เนื้อวัวหรือเนื้อหมูแทน บางร้านพัฒนาไปจนใส่ ขาหมู หรือไก่ ... ฯลฯ

จุดเด่นของก๋วยเตี๋ยวเลียงอยู่ที่ น้ำซุปสูตรเฉพาะ เข้มข้น สีน้ำตาลคล้ายน้ำพะโล้ แต่หวานกลมกล่อมและหอมเครื่องเทศเป็นเอกลักษณ์ ด้วยเครื่องเทศประจำถิ่น อย่าง เร่ว และ กระวาน อยากให้รสจัดขึ้นไปอีก ในพวงเครื่องปรุงก็จะมีน้ำตาลอ้อย (คนจันท์เรียกน้ำอ้อย) กับพริก (สด) ตำหอมๆ ให้เพิ่มรส (แต่ผมว่าแค่พริกตำช้อนเล็กๆ ก็อยู่แล้ว)

ใครที่อยากกินก๋วยเตี๋ยวเลียงแท้ ๆ ขอให้แค่ไปถึงจันทบุรี ผมรับรองว่าต้องได้กินอยู่แล้ว เพราะ ที่นี่มีร้านก๋วยเตี๋ยวเลียงมากมาย เกือบทั้งจังหวัด  เรียกว่า ร้านก๋วยเตี๋ยวธรรมดาหายากกว่าซะอีก

ร้านก๋วยเตี๋ยวเลียงแบบนี้มีทั่วไปในเมืองจันท์ ร้านนี้อยู่ย่านท่าหลวงข้าง ๆ ศาลเจ้าตั้วเล่าเอี้ย น่าอร่อยเหมือนกัน

แต่ถ้าจะให้แนะนำ ... จากประสบการณ์ส่วนตัวแล้ว ผมว่า ร้านป้าติ๊ด ที่อำเภอท่าใหม่ อร่อยที่สุด ความพิเศษของก๋วยเตี๋ยวป้าติ๊ดคือ ใช้วัตถุดิบดี เครื่องในสะอาด เนื้อน่องลายเป็นชิ้น ๆ และแทนที่จะโรยถั่วงอกอย่างเดียว แกซอยกะหล่ำปลีใส่เพิ่มลงไปด้วย เพิ่มความหวานและให้ความสดชื่น  ที่สำคัญป้าติ๊ดแกก็ ยิ้มแย้มแจ่มใจ รับแขก อัธยาศัยดีกลมกล่อมไม่แพ้น้ำก๋วยเตี๋ยวเลยทีเดียว

ก๋วยเตี๋ยวเนื้อเลียง ป้าติ๊ดท่าใหม่

หรือถ้าใครมาอยู่เมืองจันท์หลายวัน เบื่ออะไรน้ำข้น ๆ เมืองจันท์ก็ยังมีก๋วยเตี๋ยวแบบอื่นที่น่าลองอีกเยอะ เช่น ก๋วยเตี๋ยวต้มยำใส่ไข่ ร้านลุงจู๊บางกะจะ ร้านนี้ถ้าสั่งแบบพิเศษ จะมีไข่ลวกคล้าย ๆ ไข่ดาวน้ำ โปะมาให้ด้วย หรือในตัวเมืองก็มี ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นน้ำใสหน้าไปรษณีย์ มีให้เลือกทั้งหมูและเนื้อ ร้านนี้ลูกชิ้นอร่อยสุด ๆ น่าจะเป็นโรงงานลูกชิ้นขายส่งด้วย เขาขายลูกชิ้นราคาสูงถึง ลูกละ 5 บาท แต่ก็ยังมีคนมาซื้อเรื่อย ๆ รถขนลูกชิ้นเต็มหน้าร้านไปหมด น่าจะพอรับประกันความอร่อยได้

ลูกชิ้นน้ำใสหน้าไปรษณีย์ ชามละ 35 บาท แต่ถ้าซื้อแต่ลูกชิ้น ลูกละ 5 บาท
ยิ่งเขียนก็ยิ่งหิว จบดีกว่า