28/11/2557

ภูต ผี ปีศาจของไทย┊เจ้าที่ (แรง) ที่บางลำพู

พรายน้ำที่ป้อมพระจันทร์

ในสำนึกของคน (ไทย) โบราณ เชื่อว่าทุกที่บนโลกนี้ล้วนมีเจ้าของ และเจ้าของที่ว่านั้นไม่ใช่มนุษย์  คนเดินดินธรรมดาทั่วไปอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ที่ประเดี๋ยวเกิด อีกประเดี๋ยวก็ตาย  เป็นได้อย่างมากก็แค่ผู้อาศัยหรือผู้เช่า  เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงต้องเป็นอะไรที่มีพลังอำนาจมากกว่า อยู่ดูแลได้นานกว่า อย่างเช่น "ผี"

ในบ้าน (ของเราเองแท้ ๆ ) ก็มี ผีเรือน, พระภูมิ ในเมืองก็มี ผีบ้านผีเมือง, เจ้าพ่อหลักเมือง, ผีเสื้อเมือง  นอกเมืองก็ยังมีเจ้าป่าเจ้าเขา, ผีนา, ผีน้ำ แม้แต่ตามที่รกร้างข้างทาง ผมก็ถูกสอนให้ยกมือไหว้ขออนุญาตก่อนทำธุระส่วนตัว ทุกครั้ง ไม่งั้น 'เจ้าอุปกรณ์ทำธุระ' จะบวม

ผมคิดว่าความเชื่อเรื่องผีเป็นศาสนาแบบโบราณ เอาไว้จัดระเบียบสังคม  ผีก็เป็นเหมือนกับเทพ เทวดา ที่คอยควบคุมดูแลพฤติกรรมของคนในสังคมให้อยู่กันอย่างสงบสุข ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน  ตามชุมทาง ตามโค้งอันตราย ตามปากทางเข้าสถานที่ต่าง ๆ หรือที่ว่าง (พื้นที่ส่วนกลาง) ในชุมชน ก็มักมีศาลตั้งอยู่ เพื่อเตือนสติคนที่ผ่านไปผ่านมา ว่าอย่าประมาท อย่าเผลอไผลหลงทำตัวอุบาทว์ ... โดยไม่แคร์สายตาใคร

ประเทศไทยมีศาลเจ้าที่มากมาย ที่ศักดิ์สิทธิ์โ่ด่งดังเป็นที่นับถือก็มีนับไม่ถ้วน  แต่ก็มีแปลก ๆ อยู่ที่หนึ่ง ผมจำเป็นภาพติดตามาตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ แล้ว 

ตอนนั้น ผมตามพ่อไปงานวันแรงงานที่ท้องสนามหลวง  จำได้ว่า บรรยากาศคึกคัก จอแจ และแดดร้อนมาก  เราก็เลยปล่อยให้สนามหลวงเป็นหน้าที่ของพ่อ ปล่อยให้เขาสานความสัมพันธ์ในสหภาพฯของเขาไป ส่วนผมกับแม่และน้องก็มีหน้าที่เข้าไปหลบแดดในวัดพระแก้วจนจบงาน  ขากลับพ่อผมขับรถอ้อมมาทางบางลำพู และนั่นเป็นครั้งแรกที่ผมเห็น "ศาลกรมหลวงจักรเจษฎา"

ในสายตาเด็กชานเมืองที่เพิ่งเคยเห็นวัดเห็นวังเป็นครั้งแรกอย่างผม ศาลนี้นับเป็นศาลเจ้าที่ที่สะดุดตามาก เพราะมันเหมือนอยู่ผิดที่ผิดทาง รอบข้างเป็นร้านขายของธรรมดาทั่วไปแท้ ๆ จู่ ๆ ก็มีซากซุ้มประตูเก่า ก่อด้วยอิฐแผ่นใหญ่คล้ายโบราณสถานที่อยุธยาโผล่แทรกเข้ามาระหว่างตึกแถว กลางซุ้มเป็นศาลคล้ายศาลพระภูมิตามบ้านทั่วไป ด้านบนมีต้นไทรใหญ่ขึ้นบนซุ้ม ร่มครึ้ม ดูขลังจริง ๆ (คิดว่า สมัยก่อนคงมีคนใจกล้าเดินผ่านแถวนี้ตอนกลางคืน ไม่มากนัก ... บรรยากาศมันน่าขนลุก) พ่อเล่าคร่าว ๆ ให้ฟังว่า เป็นวังเก่าของใครสักคน เขาลือกันว่าผีเจ้าที่ที่นี่เฮี้ยน! ...

ฟังแล้วก็ยิ่งกลัว แล้วก็ยิ่งสงสัย ว่า เป็นวังของใคร? ทำไมถึงร้าง? ทำไมมีศาล? ทำไมเฮี้ยน ยังไงแค่ไหน? ... ผมเก็บความสงสัยไว้จนโต (มีลูกแล้ว) จนคิดจะเขียนเรื่องผี ก็เลยไปหาข้อมูลมาเพิ่ม
ศาลกรมหลวงจักรเจษฎา ในปัจจุบัน ไม่มีต้นไทรแล้ว

ได้ความว่า วังนี้ชื่อ วังริมป้อมพระสุเมรุ แต่เดิมเป็นเขตพระนิเวศน์เดิมของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (บุญมา) เมื่อครั้งทรงปฏิบัติราชการในสมัยกรุงธนบุรี  ต่อมาเมื่อย้ายเมืองหลวง จึงให้ที่ส่วนหนึ่งขุดคลอง สร้างกำแพงเมือง สร้างป้อมพระสุเมรุ  จนเมื่อพระองค์เสด็จมาประทับที่พระราชวังบวรสถานมงคลแล้ว จึงโปรดฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา (พระอนุชาพระองค์เล็ก) มาอยู่ช่วยกำกับดูแลการรักษาพระนครทางด้านนั้น (ให้มาอยู่เฝ้าป้อมฯ) แทน

ต่อมาในปีพ.ศ. 2350 เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎาสิ้นพระชนม์ เจ้าจอมมารดาอยู่ต่อจนสิ้นชีพ แล้ววังก็ถูกปล่อยร้าง ไม่ปรากฏว่าโปรดให้ผู้ใดไปอยู่อีก ว่ากันว่าพระภูมิเจ้าที่ร้ายแรงนัก ไม่มีเจ้านายพระองค์ใดกล้ามาประทับ

ผมคิดว่าข่าวลือเรื่องเจ้าที่ร้ายแรงนี้ น่าจะมาจากเหตุที่ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินธิ์เกิดอหิวาตกโรคระบาดหลายครั้ง ประมาณว่าห่าลงแทบทุกปี  ที่หนัก ๆ มี 2 ครั้ง ครั้งแรกในรัชกาลที่ 2 ปี พ.ศ. 2363 มีคนล้มตายเป็นจำนวนมากจนเผาศพไม่หมด ไม่ทัน เมื่อไม่ทันก็โยนทิ้งน้ำ แม่น้ำลำคลองในพระนครเต็มไปด้วยศพ  อีกครั้งเกิดในสมัยรัชกาลที่ 3 พ.ศ. 2392 ตอนนั้นพระนครก็มีสภาพไม่ต่างจากการระบาดครั้งแรก โชคดีที่ เจ้าฟ้ามงกุฏฯ (ร.4) ซึ่งขณะนั้นดำรงเพศบรรพชิต เป็นพระราชาคณะ ได้ทรงบัญชาให้วัดสามวัด คือ วัดสระเกศ วัดบางลำพู (วัดสังเวชวิศยาราม) และวัดตีนเลน (วัดเชิงเลน หรือวัดบพิตรพิมุข) เป็นสถานที่สำหรับเผาศพ  ให้คนเก็บศพในคลองบางลำพูมารวบรวมเตรียมเผาที่วัดสังเวชฯ ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามวัง เผากันหามรุ่งหามค่ำ นานกว่าโรคอหิวาต์จะหมดไป ...

เกิดเหตุร้ายตลอดในช่วงเวลาสี่สิบกว่าปี คนที่อยู่ในเหตุการณ์ ยังจำภาพอันน่าสลดนั้นได้ คงไม่มีใครอยากมาอยู่ใกล้กับที่เกิดเหตุ หรอกครับ (เหมือนเขาหลักที่พังงา ที่กิจการท่องเที่ยวซบเซาลงหลายปีหลังจาเกิดสึนามิ)

ใกล้กับศาลกรมหลวงจักรเจษฎา เป็นตรอกไก่แจ้ สามารถเดินทะลุไปออกตรอกเขียนนิวาสน์ที่ถนนพระอาทิตย์ได้ ด้านในเป็นชุมชนโบราณเก่ากว่าร้อยปี เรียกรวม ๆ กันว่า ชุมชนตรอกเขียนนิวาสน์-ไก่แจ้ คนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นลูกหลานคนมอญ อพยพมาอยู่กันหลายรุ่นแล้ว ตั้งแต่เชลยที่รัชกาลที่ 1 เกณฑ์มาสร้างป้อม ไปจนถึงชาวมอญจากต่างจังหวัด (ราชบุรี, ปทุมธานี ... ฯลฯ) ที่อพยพตามมาเป็นระลอก มาหาที่อยู่ใกล้ ๆ กับวัดมอญเมืองหลวง (วัดชนะสงคราม)

กลางชุมชนเป็นลานกว้างมีศาลกรมหลวงจักรเจษฎาอีกที่หนึ่ง ชาวบ้านนับถือกันมากเรียกว่า "ศาลเสด็จพ่อ" คงเพราะรู้ว่าเป็นเจ้าของที่ดั้งเดิมก่อนทางการจะรื้อวังและให้ชาวบ้านเข้ามาตั้งบ้านเรือน และเชื่อว่า เสด็จพ่อของเขาคอยปกป้องชุมชนให้รอดพ้นจากเหตุอันตราย เช่นไฟไหม้  มีการจัดพิธีบวงสรวงทุกปี ทำคู่ไปกับงานปีใหม่ และมีกิจกรรมของชุมชนอีกเยอะ

จากหนังสือและข้อมูลที่ค้นเจอ ดูเหมือนว่าชุมชนนี้จะเป็นชุมชนที่เข้มแข็งมาก ๆ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการมี "เจ้าที่แรง ๆ" เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจประจำชุมชนอย่าง ศาลกรมหลวงจักรเจษฎา (ศาลเสด็จพ่อ)

ล่าสุดผมเพิ่งเข้าเมืองไปบางลำพูมา ที่ศาล ต้นไทรถูกตัดจนโล่ง ไม่เหลือภาพความขลังอีกแล้ว แม้แต่สนามหลวงก็ถูกล้อมรั้วเรียบร้อยจนจืดชืด หลายที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย  พื้นที่ส่วนกลางของสังคมไทยก็กำลังเปลี่ยนไป จากที่เคยอยู่ภายใต้การดูแลของผี มาเป็น "พื้นที่สาธารณะ" ซึ้งมันมีความหมายแย่ ๆ 2 ความหมาย คือ "ที่ที่ไม่มีเจ้าของไม่มีใครดูแล ใครจะทำอะไรก็ได้" กับ "ที่หวงห้ามของรัฐ"

เจ้าที่ที่บางลำพูอาจจะยังพอมีแรงอยู่ ... แต่เจ้าที่ที่อื่น ผมไม่แน่ใจ ...
ของฝาก เป็นรูปตลาดนัดสนามหลวงสมัยก่อนครับ อยากดูเพิ่มไปที่ http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2010/09/K9658026/K9658026.html ขอบคุณ คุณมิตรภาพไม่รู้จบ ที่เอามาโพสต์ไว้ในพันทิปด้วยนะครับ
Share: