04/03/2557

สุโขไกด์ ┊1┊หนึ่งโหลเกี่ยวกับสุโขทัย ... เอาไว้โม้

เมื่อปลายปีที่แล้ว (2556)  ผมพาครอบครัวไปเที่ยวสุโขทัยมาครับ แต่กว่าจะกล่อมแม่ลิง ลูกลิง สำเร็จ ก็ต้องขุดเอาความประทับใจสมัยที่ไปทัศนศึกษากับเพื่อนที่มหาวิทยาลัย โฆษณา โน้มน้าวเข้าไปทุกวัน ว่าสวยอย่างนั้น อากาศดีอย่างนี้ ... สุดท้ายก็ใจอ่อน ... รอดตัวไปทีที่ทริปนี้ไม่ทำให้พวกเธอผิดหวัง

สุโขทัยเป็นเมืองสงบน่ารัก มีอุทยานประวัติศาสตร์ที่สวยงามเรียบร้อยจนได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็น "มรดกโลกทางวัฒนธรรม" แต่การเที่ยวชมให้สนุกซึ้งใจนั้น ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจ ทั้งด้าน ประวัติศาสตร์, โบราณคดีและศิลปะไทย บ้าง ... ผมจึงตั้งใจเขียน Blog ตอนนี้ให้เป็น Guidebook ว่าจะไปดูอะไรแปลก ๆ สวย ๆ ได้ที่ไหน เวลาตามรอยจะได้ร้อง "ว้าว!" ... บ้าง เหมือนกันกับผม 
(^▽^)

ก่อนจะเล่าเรื่องการเดินทาง เพื่อความเข้าใจ ผมเลยหาเรื่องราวเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยว "สุโขทัย" มาฝาก ... เอาสักหนึ่งโหลนะครับ
แผนที่สุโขทัย
แผนที่แสดงเมืองโบราณร่วมสมัยกับสุโขทัยและเส้นทางการค้าในสมัยนั้น

1. ชื่อสุโขทัย

สุโขทัยเป็นแคว้นโบราณตั้งอยู่บริเวณ 3 ลุ่มน้ำ คือ ยม ปิง น่าน ทางตอนล่าง บริเวณรอยต่อระหว่างภาคเหนือกับภาคกลางของไทยในปัจจุบัน เป็นครือข่ายของเมืองหลายเมือง โดยมีเมืองสุโขทัยเป็นศูนย์กลาง มีอาณาเขต โดยประมาณ คือ ทางเหนือสุดที่เมืองแพร่  ทางใต้มีเมืองพระบาง (นครสวรรค์)  ทางตะวันตกที่เมืองฉอด (แม่สอด) และทางตะวันออกที่เมืองสะค้าใกล้แม่น้ำโขงในเขตอีสานเหนือ

คำว่า "สุโขทัย" มาจาก "สุข" บวก "อุทัย" รวมกันแปลว่า "รุ่งอรุณแห่งความสุข" แต่ถ้าจะยึดตามคำเดิมที่อยู่ในศิลาจารึกแล้ว จะต้องเขียนว่า "สุโขไท" ซึ่ง "ไท" ในที่นี้หมายถึง คน หรือ อิสระชน รวม ๆ แล้วคำนี้อาจแปลได้ว่า "คนที่มีความสุข" หรือ "ความสุขจากอิสระ" ... หรือ "สบายใจไทยแลนด์"
ヽ(^Д^)ノ

ชื่อสุโขทัยในศิลาจารึก

2. เมืองสถานีการค้า

บริเวณที่ทั้งของแคว้นสุโขทัย เป็นชุมทางการค้า (ทางบก) ที่สำคัญของภูมิภาคนี้  มีเส้นทางโบราณหลักๆ 2 แนว ผ่านเมือง ... แนวแรกคือ "ตะวันออก-ตะวันตก" จากเวียดนามเหนือ ผ่านลาว ผ่านสุโขทัย แล้วไปออกทะเลที่อ่าวเมาะตะมะในพม่า ... อีกแนวคือ "เหนือ-ใต้" จากเมืองในแถบอ่าวไทยหรือเมืองพระนครในเขมร ผ่านลพบุรี ผ่านนครสวรรค์ ผ่านสุโขทัย ไปจนถึงล้านนาและน่านเจ้าทางตอนใต้ของจีน

ด้วยความที่เป็นชุมทางการค้าที่คึกคัก และได้รับการสนับสนุนจากอาณาจักรใหญ่รอบข้าง ทำให้ชุมชนบริเวณนี้พัฒนาตัวเองจนเป็นเมืองสถานีการค้า ... ผมเข้าใจว่า คงคล้ายๆ กับ "จุดพักรถบนทางมอเตอร์เวย์" นั่นแหละครับ  สปอนเซอร์หลักอย่างเป็นทางการในการตั้งเมืองก็คือ ละโว้ (ลพบุรี)

สุโขทัยเมืองสถานีการค้า

3. ชะลอมพระร่วง

ถึงสุโขทัยจะตั้งอยู่ในทำเลการค้าที่ดี แต่บริเวณนี้ก็มีปัญหาสำคัญเรื่อง "น้ำ"  ในหน้าแล้งก็แล้งจริง แหล่งน้ำใต้ดินก็ไม่มี ส่วนหน้าฝนก็มักจะมีน้ำป่าจากภูเขาทางทิศตะวันตกหลากเข้าท่วมเสมอ การที่จะตั้งเมืองให้อยู่ได้นั้นต้องอาศัยระบบจัดการน้ำที่ดี ทำให้มีน้ำใช้ตลอดปี และรอดพ้นจากอุทกภัย มีการก่อคันดินแบบต่างๆ จำนวนมาก หลายแนว เพื่อใช้เป็น Floodway ชะลอน้ำป่า แล้วยังสามารถผันน้ำให้ไหลเข้าไปเก็บไว้ในคูเมืองและตระพังจำนวนมาก (มีการขุดพบท่อน้ำดินเผา ทำหน้าที่กระจายน้ำไปจุดต่างๆ ในตัวเมือง)

เรื่องการจัดการน้ำนี้ ทำให้ผมนึกถึงนิทานเรื่อง "พระร่วง" ที่ใช้ชะลอมตักน้ำส่งส่วยให้ขอม  ชะลอมที่มีรูพรุนกลับเก็บกักน้ำได้ด้วยอิทธิฤทธิ์ของพระองค์ ... บางทีนิทานเรื่องนี้อาจเป็นการเปรียบเปรย ชะลอมที่ว่าอาจจะหมายถึงเมืองสุโขทัยทั้งเมือง เลยก็เป็นได้ใครจะไปรู้ ...

การจัดการน้ำในเมืองสุโขทัย

4. พระร่วง

พระร่วงเป็นชื่อกษัตริย์ในตำนาน เป็นลูกครึ่งพญานาค มีอิทธิฤทธิ์ (วาจาสิทธิ์)  ชาวสุโขทัยมักเอาตำนานพระร่วงไปผูกเป็นเรื่อง เพื่อใช้อธิบายที่มาของสิ่งของหรือสถานที่ เช่น ข้าวตอกพระร่วง ปลาก้างพระร่วง โซกพระร่วงลองพระขรรค์ ... ฯลฯ

เมื่อก่อนผมเข้าใจว่า พระร่วงมีตัวตนจริงและหมายถึง "พ่อขุนรามคำแหง" แต่ที่จริงแล้วพระร่วงเป็นชื่อเรียกกษัตริย์ทุกพระองค์ใน "ราชวงศ์พระร่วง" ของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์  รวมถึงกษัตริย์บางพระองค์ในราชวงศ์สุพรรณภูมิของอยุธยาด้วย เพราะทั้งสองราชวงศ์มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกันอย่างแน่นแฟ้น

พระร่วง

5. ความสัมพันธ์เครือญาติ

การเมืองในสุโขทัยถูกแบ่งเป็น 2 ขั่วอำนาจ มี 2 ราชสกุล ราชวงศ์แรกคือ "ราชวงศ์ศรีนาวนำถุม" ของพ่อขุนผาเมือง มีอิทธิพลอยู่ในแถบลุ่มน้ำน่าน (แถวๆ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร)  อีกราชวงศ์ก็คือ "ราชวงศ์พระร่วง" ซึ่งครองเมืองในลุ่มน้ำยม (สุโขทัย ศรีสัชนาลัย รวมถึงกำแพงเพชร) 

วิธีบริหารความเสี่ยงในการแย่งชิงอำนาจกันเอง ของกษัตริย์โบราณ ทำโดยการเกี่ยวดองเป็นญาติกันเสีย (พ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นพี่เขยพ่อขุนผาเมือง)  เมื่อเป็นทองแผ่นเดียวกันแล้วก็กระจายบรรดาลูกๆ ญาติๆ ให้ไปครองหัวเมืองต่างๆ อย่างอิสระ รวมกันเป็นแคว้นอย่างหลวมๆ

เป็นธรรมดาที่ไม่มีความสัมพันธ์ไหนที่เที่ยงแท้ หลังจากสิ้นกษัตริย์ที่เข้มแข็งอย่างพ่อขุนรามคำแหง  การเมืองในสุโขทัยก็เริ่มไม่มีเสถียรภาพ จนมาถึงสมัยพระยาลิไท ซึ่งแม้พระองค์จะพยายามอย่างเต็มที่ ทั้งบู๊ ทั้งบุ๋น แต่ก็ไม่สามารถรวมสุโขทัยให้กลับมาเป็นปึกแผ่นได้อีกเลย สุดท้าย ปลายรัชสมัยของพระองค์ สุโขทัยก็ถูกแทรกแซงทางการเมืองและถูกผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของ "ราชอาณาจักรอยุธยา" ในที่สุด

6. ศิลาจารึก

สำหรับสุโขทัยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุด และทำให้เรารู้เรื่องราวในอดีตมากที่สุด ก็คือ "ศิลาจารึก" จารึกที่พบมีหลายหลัก นับร้อย แต่ที่สำคัญคือ หลักที่ 1 (พ่อขุนรามคำแหง) หลักที่ 2 (วัดศรีชุม) และหลักที่ 3 (นครชุม) เป็นต้น ส่วนใหญ่สร้างในสมัยพระยาลิไท

ในจารึกมีเนื้อหาเกี่ยวกับการสรรเสริญบุญบารมีของกษัตริย์หรือเชื้อพระวงศ์ ประวัติความเป็นมา การประกาศการทำกุศล รวมถึงสภาพบ้านเมืองในช่วงเวลานั้นๆ  เพื่อแสดงความชอบธรรม ให้ชนชั้นนำที่อ่านหนังสือออก เช่น พระ ได้นำไปเผยแพร่ต่อสาธารณะ คล้ายๆ กับการมี ช่องเคเบิลทีวีส่วนตัวนั้นแหละครับ แต่คิดว่าคงไม่รุนแรงดุดันเท่าสื่อสมัยนี้แน่ๆ
(ゝ。∂)

ศิลาจารึก

7. พระมหาธรรมราชาที่ 1 พระยาลิไท

ไหนไหนก็เอ่ยถึงพระยาลิไทมาหลายครั้งแล้ว เล่าเรื่องของพระองค์เลยแล้วกัน  ปกติเมื่อพูดถึงกษัตริย์สุโขทัยแล้ว หลายคนมักจะนึกถึงพ่อขุนรามคำแหง แต่มีกษัตริย์อีกพระองค์ที่มีความสำคัญกับสุโขทัยมาก เพราะถ้าไม่มีพระองค์แล้ว เราคงรู้จักสุโขทัยน้อยลงกว่านี้เยอะเลยหละครับ ซึ่งก็คือ พระยาลิไท

เนื่องจากสมัยของพระองค์ สุโขทัยมีปัญหาทางการเมือง พระองค์จึงจำเป็นต้องทำหลายอย่างเพื่อสร้างความชอบธรรม เช่น  สร้างศิลาจารึกหลายหลัก  สร้างพระพุทธรูปสำคัญมากมาย  คิดสร้างสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่เพื่อเป็นเอกลักษณ์ของแคว้น (เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์)  ผลักดันสุโขทัยให้เป็นศูนย์กลางทางศาสนาโดยเชิญพระเถระผู้ใหญ่จากลังกา ทำให้มีการแต่ง "ไตรภูมิพระร่วง"  สุดท้ายก็ผูกสัมพันธ์กับราชวงศ์สุพรรณภูมิของอยุธยา ทำให้ถึงแม้สุโขทัยจะถูกกลืน แต่ลูกหลานราชวงศ์พระร่วงก็มีบทบาทสำคัญในการปกครอง อาณาจักรอยุธยา ในเวลาต่อมา

8. วัดบ้าน, วัดป่า

ถ้าใครได้ไปเที่ยวชมอุทยานประวัติศาสตร์ทั้ง 3 ที่ (สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร) จะเห็นว่ามีการแยกเขตวัดบ้าน (คามวาสี) กับวัดป่า (อรัญวาสี) ออกจากกันอย่างชัดเจน  ธรรมเนียมการแบ่งสงฆ์ออกเป็น 2 ฝ่านนี้มาจากลังกา ครับ

แต่เดิมสมัยพุทธกาลนั้นไม่มีวัด (ที่ใช้ทำพิธีกรรมทางศาสนา) จะมีก็แต่ "สำนักสงฆ์" ที่พระเจ้าแผ่นดิน หรือเศรษฐี สร้างถวาย ให้เป็นที่พักชั่วคราว ในยามที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาที่นั้นๆ  ทั้งนี้เพราะพระพุทธองค์ไม่ประสงค์จะให้พระสงฆ์ยึดติดในทรัพย์สินธ์ทางโลก กำหนดวัตรปฏิบัติให้ออกธุดงค์ (ซึ่งเป็นวัตรปฏิบัติของพระสายวัดป่า)

ต่อมา หลังสมัยพุทธกาล มีการสร้างเจดีย์ให้เป็นที่เคารพ มีคนมาแสวงบุญที่สังเวชนียสถานเหล่านั้นมากมายทั้งพระและชาวบ้าน มีการสร้างที่พัก แล้วก็เกิดเป็นชุมชนรอบๆ จึงมีพระจำนวนหนึ่งตัดสินใจอยู่ในที่พักนั้นเพื่อบำรุงสถานที่ดังกล่าว และให้การศึกษาพระธรรมแก่ชาวบ้าน จึงเกิดเป็น "วัด" ที่สมบูรณ์แบบขึ้น

ฐานส้วมแบบลังกา

9. เจดีย์, พระปรางค์ จุดบรรจบของวิวัฒนาการ

สิ่งก่อสร้างที่สำคัญที่สุดในวัดไทย โดยเฉพาะสมัยสุโขทัย ก็คือ เจดีย์ หรือไม่ก็พระปรางค์  ทั้งสองอย่างนี้ทำหน้าที่คล้ายกันคือเป็นประธานของวัด ภายในมักจะบรรจุด้วยพระบรมสารีริกธาตุ แสดงการมีอยู่จริงของพระพุทธเจ้า  รูปร่างก็เป็นทรงกรวยคล้ายๆ กัน เป็นสัญลักษณ์ของจักรวาลเหมือนกัน ใช้แทนกันได้ แต่ที่จริงแล้ว ทั้งสองสิ่งนี้มีที่มาแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน เลยทีเดียวหละครับ

เจดีย์เป็นสิ่งก่อสร้างเฉพาะสำหรับพุทธศาสนา อันเก่าที่สุดและเป็นต้นแบบของเจดีย์ทั่วไป คือ "สถูปสาญจี" ที่อินเดีย ส่วนประกอบมาตรฐานคือ โดมกลมวางบนฐา มีบัลลังก์ทรงสี่เหลี่ยมข้างบน แล้วก็มีฉัตรปักอยู่เป็นยอดแสดงความสำคัญ ... แต่ถ้าย้อนไปก่อนพระเจ้าอโศก สมัยที่ยังไม่มีศาสนาพุทธ ไม่มีศาสนาพราหมณ์ จะเห็นว่าเจดีย์ก็คือ "เนินดินฝังศพ" ในวัฒนธรรมดั้งเดิมของอินเดีย ที่ผู้คนยังนับถือผีบรรพบุรุษและเจ้าแม่ (ดิน)

ในขณะที่เจดีย์เป็น เนินหลุมศพที่ถูกขยายให้ใหญ่ขึ้น แต่พระปรางค์กลับเป็นแบบจำลองของภูเขา (เขาพระสุเมรุ หรือเขาไกรลาส ที่หิมาลัย) ตามคติพราหมณ์ ที่นับถือเจ้าพ่อ (ภูเขาหรือฟ้า)

วิวัฒนาการของเจดียืกับพระปางค์

10. ศิลาแลง

ศิลาแลงคือวัสดุทางธรรมชาติ กึ่งหินกึ่งอิฐ พบในบริเวณมรสุมเขตร้อน ที่มีฝนตกชุก (น้ำท่วม) สลับกับช่วงฤดูแล้งที่ยาวนาน พบมากที่อินเดียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เกิดจากการสะสมตะกอนของเศษกรวด ทราย บนชั้นดินเหนียว มีส่วนผสมของแร่โลหะ เช่น เหล็ก, อลูมิเนียม และแมงกานีส  มี 2 ชนิด ถ้าเป็นชั้นแผ่นแข็งเรียกว่า "แม่รัง" แต่ถ้ามีลักษณะเป็นเม็ดๆ เรียกว่า "ลูกรัง"

ศิลาแลงเป็นวัสดุก่อสร้างที่นิยมใช้ทั้งในอินเดียใต้และภูมิภาคอุษาคเนย์ ... สำหรับที่สุโขทัย โบราณสถานที่ก่อด้วยศิลาแลงมักจะเก่ากว่าที่ก่อด้วยอิฐ

11. ธรรมเนียมในการบูรณะปฏิสังขรณ์แบบโบราณ

สมัยก่อนถ้าจะต้องซ่อมแซมพระพุทธรูป ปรับปรุง หรือจะเปลี่ยนรูปแบบของศาสนสถาน พวกช่างโบราณเขาจะมีธรรมเนียมปฏิบัติ ที่เก็บรักษาของเดิมไว้อย่างทะนุถนอม ไม่ให้มีแม้แต่รอยขีดข่วน  ทั้งๆที่ ถ้ายอมให้เป็นรอยบ้างหรือรื้อแล้วสร้างใหม่เลย น่าจะทำงานได้สะดวกกว่าแท้ๆ แต่กลับเลือกวิธียากๆ เช่น  ถ้าเป็นการซ่อมพระปูน ก็จะพอกปูนหุ้มไว้เลยโดยไม่ได้ทำร่องรอย (เพื่อให้ปูนเกาะ) อะไรเลย  หรือถ้าเป็นเจดีย์ ก็มักจะก่ออิฐหุ้มเจดีย์องค์เดิมไว้  ซึ่งวิธีนี้เป็นประโยชน์ต่อนักโบราณคดีมากในการกำหนดอายุ ว่าศิลปะรูปแบบไหนเก่ากว่ากัน

ส่วนตัวแล้ว ... ผมคิดว่า การสร้างสรรค์สิ่งใหม่โดยที่ไม่ทำลายสิ่งดีงามเก่าๆ ตามแบบช่างสมัยนั้น เป็นเรื่องน่าชื่นชมและน่าศึกษามาก เหมาะสำครับคนยุคนี้ ยุคที่ เรามุ่งมั่นสร้างอนาคตด้วยการลบล้างอดีต

12. พระพุทธรูปสุโขทัยในกรุงเทพฯ 

สุดท้าย ผมเอารายชื่อพระพุทธรูปสุโขทัยที่ถูกอัญเชิญมาเป็นพระประธานในโบสถ์วิหารตามวัดต่างๆในกรุงเทพฯ มาฝาก ครับ สำหรับคนที่ยังไม่ว่างไปสุโขทัย แต่อยากไหว้พระสุโขทัยแท้ๆในกทม.

  1. พระประธานในพระวิหาร วัดสุทัศน์ฯ (พระศรีศากยมุนี / พระพุทธนาคใหญ่)
  2. พระประธานในพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศฯ (พระพุทธชินสีห์)
  3. พระประธานในพระวิหาร วัดบวรนิเวศฯ (พระศรีศาสดา)
  4. พระประธานในพระอุโบสถ วัดสระเกศฯ
  5. พระประธานในพระวิหารทิศตะวันออก วัดพระเชตุพนฯ
  6. พระประธานในพระวิหารทิศตะวันตก วัดพระเชตุพนฯ
  7. พระประธานในพระวิหารทิศใต้ วัดพระเชตุพนฯ
  8. พระประธานในพระวิหาร วัดไตรมิตรวิทยาราม (พระสุโขทัยไตรมิตร)
  9. พระประธานในพระวิหาร วัดประยุรวงศาวาส (พระพุทธนาคน้อย)
  10. พระประธานในพระวิหาร วัดอนงคาราม (พระพุทธจุลนาค?)
  11. พระประธานในพระอุโบสถ วัดปรินายก (พระสุรภีพุทธพิมพ์)
  12. พระประธานในพระอุโบสถ วัดสุวรรณาราม
  13. พระประธานในพระอุโบสถ วัดทองนพคุณ
  14. พระประธานในพระวิหาร วัดหงส์รัตนาราม
  15. พระประธานในพระวิหาร วัดเศวตฉัตร
  16. พระประธานในพระวิหาร วัดเบญจมบพิตรฯ (พระพุทธชินราชจำลอง)
Share: