26/07/2561

เส้นสาย, เส้นด้าย และสายใยบัว ที่วัดหนองบัว

เวลาเดินทางออกท่องเที่ยว ผมมักจะวางแผนพร้อมความคาดหวังเสมอ ชอบคิดว่าจะต้องไปทำไอ้นี่ที่นั่น ไปถึงตรงนั้นต้องทำอย่างงี้ ฯลฯ ... บางทีไอ้ที่กะไว้ว่าจะดี ว่าต้องเวิร์ค แต่พอไปจริง ๆ กลับรู้สึกแห้ง ๆ แกน ๆ ... แต่ก็มีอีกหลายครั้งที่รู้สึกดีเกินคาด “วัดหนองบัว” ก็เป็นหนึ่งในนั้นครับ

เหตุที่เอาวัดหนองบัวมาอยู่ในโปรแกรมเที่ยวน่านของบ้านเรา ก็เพราะผมติดใจฝีมือของ หนานบัวผัน คนที่เขียนภาพปู่ม่านย่าม่านที่วัดภูมินทร์นั่นแหละครับ  รู้มาว่า ที่ภาพจิตรกรรมในวิหารวัดหนองบัวนี้ก็เป็นผลงานเขาด้วย ก็เลยจะไปตามดู แค่นั้น  พอไปแล้วถึงได้รู้ว่าวัดหนองบัวยังมีอะไรดี ๆ อีกเยอะ สัมผัสความน่ารักได้หลายอย่าง ทั้งบรรยากาศ ทั้งคน  จากที่ตั้งใจแค่แวะเที่ยวระหว่างทางไปอำเภอปัว ไปไหว้พระ ไปดูรูปแค่สักชั่วโมง  กลายเป็นว่าเวลาครึ่งวันเช้าของเราหมดไปกับความเป็นกันเองและความอบอุ่น ของพ่ออุ๊ย แม่อุ๊ย ที่นั่น จนเกือบลืมข้าวเที่ยงเลยทีเดียว

วิหารวัดหนองบัว บ้านหนองบัว อำเภอท่าวังผา น่าน
วิหารทรงล้านนาของวัดหนองบัว

ข้อมูลคร่าว ๆ ของวัดหนองบัว คือ เป็นวัดประจำชุมชนบัานหนองบัว ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ซ่อนตัวอยู่อย่างสงบริมแม่น้ำน่านในเขตอำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ชาวบ้านส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากชาวไทลื้อที่อพยพหนีภัยสงครามมาจากเมืองหล้าในแคว้นสิบสองปันนา เมื่อประมาณ 200 กว่าปีมาแล้ว  ปัจจุบันได้รับการผลักดันให้เป็นหมู่บ้านโอทอปเพื่อการท่องเที่ยว ... แต่จะมีอะไรเที่ยว เส้นสาย, เส้นด้าย, สายใยบัว แต่ละเส้นคืออะไรไปดูกันครับ

อย่างแรก เส้นสาย ก็คือความสวยงามของรูปแบบสถาปัตยกรรมไทลื้อ และภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือ หนานบัวผัน ที่ตั้งใจว่าจะต้องมาเห็นให้ได้

หนานบัวผัน ('หนาน' เป็นภาษาเหนือแปลว่า 'ทิด') เป็นช่างเขียนเอกที่อยู่ในความอุปถัมภ์ของเจ้าเมืองน่าน มีเชื้อสายไทลื้อ ไม่แน่ใจว่าเป็นเป็นคนบ้านหนองบัวหรือเป็นชาวลื้อที่อพยพมารุ่นแรก ๆ จากเมืองหล้า  แต่ดูจากการเขียนภาพตัวเองไว้ในมุมหนึ่งของวิหาร แสดงให้เห็นว่าต้องมีความผูกพันกันวัดนี้มาก แน่ ๆ

รูปหนานบัวผันนอนทอดหุ่ยอย่างสบายอารมณ์ อยู่มุมวิหารด้านซ้ายมือของพระประธาน

มีคนสันนิษฐานว่า หนานบัวผัน เขียนรูปที่วัดหนองบัวเสร็จก่อน แล้วเดินทางลงมากรุงเทพฯกับ 'เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช' แล้วเอาแรงบันดาลใจจากสิ่งที่เห็นในเมืองหลวง กลับมาผสมผสานจนเกิดเป็นลักษณะเฉพาะตัว (ใหม่) ของจิตรกรรมที่วัดภูมินทร์

เรื่องราวที่เขียนในภาพคือเรื่อง จันทคาธชาดก เป็นนิยายคติธรรมเก่าแก่ของชาวล้านนา พูดถึงตำนานการเกิดคราส แต่ผมดูไป ดูไป ดูยังไงก็ยังไม่รู้ว่าจะเกิดคราสตอนไหน

ด้ยินจากที่พ่ออุ๊ยที่มาคอยอธิบายภาพให้ฟัง ดูเป็นนิยายผจญภัยที่สนุกสนานเสียมากกว่า เรื่องเริ่มมาจาก มีเด็กหนุ่มสองพี่น้อง ชื่อสุริยฆาตกะและจันทฆาตกะ ถูกไล่ออกจากบ้านเพราะยากจน และบังเอิญได้รากไม้วิเศษใช้ชุบชีวิตได้ จากนั้นก็เดินทางผจญภัยผ่านหลายเมืองใช้รากไม้แก้ปัญหาจนประสบความสำเร็จ ร่ำรวย ได้ภรรยา ได้ครองเมือง ฯลฯ ... ภายหลังทั้งสองก็ได้กลับมาทดแทนบุญคุณของพ่อแม่

ที่มาของของวิเศษ คือ งูกับพังพอนกัดกัน พอฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดตาย ก็ไปกินรากไม้วิเศษ กินแล้วก็ฟื้นมากัดกันต่อ  สองพี่น้อง เห็น ก็เลยไปเก็บรากไม้ไว้บ้าง พอได้ของแล้วก็ไปผจญภัยได้ ประมาณนั้น ;)
สาว ๆ ไทลื้อ
ซิ่นลายน้ำไหล อัตลักษณ์ของชาวไทลื้อ
นอกจากภาพจิตรกรรมในวิหารแล้ว สิ่งที่แสดงเอกลักษณ์ของชาวไทลื้อได้ชัดเจนอีกอย่างก็คือ รูปทรงของโบสถ์

ไหว้พระ ชมภาพจิตรกรรฝาผนังเสร็จแล้วอย่าเพิ่งกลับ ด้านหลังวัด มีเฮือนไทลื้อมะเก่า ชื่อ 'มะเก่า' ฟังคล้ายไม่เก่า แต่ที่จริงแปลว่า เก๊า เก่า หรือเท่ากับโบราณ ... เรือนหลังนี้เคยใช้งานจริง แล้วชาวบ้านย้ายมาตั้งในวัด เพื่อเป็นที่แสดงเครื่องมือเครื่องใช้ และวิถีความเป็นอยู่แบบไทลื้อ ... และแน่นอนว่าด้านล่างจะมีแม่อุ๊ยมาสาธิตขั้นตอนการปั่นฝ้ายให้เป็นเส้นด้าย ไปจนถึงการทอ

ตอนแรกผมก็เขิน ๆ เดินด้อม ๆ มอง ๆ จะขึ้นวนไปวนมาอยู่หลายรอบ แต่พอได้ยินเสียงเรียกชักชวนให้เข้าไปดูจากแม่อุ๊ยที่นั่งปั่นฝ้ายอยู่ ก็เลยถือโอกาสดูซะจริงจัง ... ขึ้นบันไดไปข้างบน ก็เจอลานบ้านแบ่งเป็นสองฟาก ด้านขวามือเป็นยุ้งข้าว ส่วนด้านซ้ายเลยระเบียงเข้าไปแบ่งเป็นห้อง ๆ จัดสรรพื้นที่ใช้สอยได้ลงตัว เย็นสบาย น่าอยู่

ส่วนนี้เป็นยุ้งข้าว แยกออกมาจาตัวบ้าน เหมือนเป็นโกดังใช้เก็บของกินและพวกเครื่องมือ
หัวเรือมังกรก็มีให้ดู
ด้านซ้ายมือแบ่งเป็นห้อง ๆ ถัดจากระเบียงเข้าไปเป็นห้องนอน
ห้องนอนแบบไทลื้อ
ตรงข้างฝาจะมีถุงใส่ของกระจุกกระจิกแขวนไว้ ลองอ่านดูเห็นว่าเป็นยา ไม่รู้ว่าเอาไปชุบชีวิตใครได้หรือเปล่า ... เพราะยังไม่มีโอกาสลอง อิอิ

พอลงมาใต้ถุนเรือน เจอกับแม่อุ๊ยที่ปั่นฝ้ายอยู่ ฟังสาธิตเสร็จก็เป็นหน้าที่เด็กในการลองทำ

ขั้นตอนแรก คือ การอิ้วฝ้าย ซึ่งคือการแยกเมล็ดฝ้ายออกจากปุย เพื่อจะได้เอาปุยฝ้ายไปใช้ในขั้นตอนต่อไป
พอได้แต่ฝ้ายเป็นปุย ๆ ล้วน ๆ แล้วก็เอามาดีด ให้ใยมันฟู ๆ เบา ๆ
พอใยฝ้ายฟูได้ที่ จนไม่มีส่วนไหนเป็นกระจุกเป็นก้อน แล้วก็เอามาม้วนเป็นหลอด ๆ เพื่อเตรียมเข้าหลา (เครื่องปั่นด้าย)
แล้วก็มาถึงขั้นตอนที่ยากที่สุด คือการปั่นด้าย ต้องอาศัยความชำนาญแล้วความสัมพันธ์กันของทั้งสองมือ ขวาหมุน ซ้ายค่อย ๆ ดีง ถ้าไม่ถูกจังหวะด้ายจะขาด ทั้งลูก ทั้งเมียผม ผลัดกันทำตั้งนานสองนาน ไม่มีใครทำให้เป็นเส้นได้เลยสักคน ขาดมั่ง เกลียวสลับซ้ายขวามั่ง ด้ายเป็นปมมั่ง ... น่าสงสาร ฮ่าฮ่า
สุดท้ายแม่อุ๊ยต้องมาแก้ให้
ส่วนคนทำเสียก็ต้องกลับไปทำอะไรง่าย ๆ อย่าง การอิ้วฝ้าย ต่อปาย ... ท่าทางจะเขิน อิอิ
เส้นด้ายที่ได้จาการสาธิต จะถูกเอามาทอ (ส่วนมากเป็นผ้าพื้นไม่มีลายอะไร) แล้วเอาไปขายที่ร้าน OTOP ข้างหลังวัด

ไม่รู้ว่าเป็นเพราะความเป็นกันเองของบรรดาอุ๊ย ๆ ที่นี่ หรือเพราะความกระตือรือร้น อยากลอง อยากเรียนรู้จริงจังของพวกเรา ทำให้เราใช้เวลาอยู่ใต้ถุนเรือนนี่นานที่สุด จากที่เริ่มคุยกันภาษานักท่องเที่ยว ก็กลายเป็นการถามสารทุกข์สุกดิบ สัพเพเหระ แบบคุยกับญาติผู้ใหญ่ ... เหลือบดูเวลาอีกทีก็จะเลยเที่ยงแล้ว ผมจึงต้องขอตัวลา

ก่อนกลับแม่อุ๊ยบอกว่าถ้าอยากได้ผ้า ให้แวะที่ศูนย์ OTOP หลังวัด ได้ผ้าฝ้ายทอมือมา 2 ผืน ผ้าอะไรก็ไม่รู้เล็ก ๆ น้อย ๆ อีกนิดหน่อย สิริรวมได้ก็พันกว่าบาท (ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยประจำบ้านเราบอกว่า "ของดี หาที่อื่นไม่ได้นะเนี่ยะ") ... ส่วนตัวผมเองซึ่งสนใจแต่ของกิน ก็ได้น้ำพริกข่ากับไกป่นมาอย่างละกระปุก หมี่กรอบอัดแท่ง 1 แพ็ค กับไกแผ่นทรงเครื่อง ตรา 'สายใยบัว' มา 3 ซอง หน้าตาแพ็คเกจดูดีไม่เหมือนของที่ผลิตโดยชุมชน ... รสนวล ๆ นัว ๆ กรอบ แห้ง ไม่อมน้ำมัน เป็นสาหร่ายแผ่นที่อร่อยที่สุดเท่าที่เคยกินมา

ของแถมเป็นบันทึกของลูกสาวครับ
สิ่งที่ชอบที่ไปปั่นฝ้าย คือ มันมี 3 ขั้นตอน แต่ขั้นตอนที่ชอบที่สุดคือเอาเมล็ดฝ้ายออก มันง่ายดี ทำแล้วเพลิน นั่งทำนาน ๆ ได้เลย ส่วนขั้นตอนอื่นมันยากไปหน่อย อย่างตอนต่อฝ้ายให้เป็นเส้น ทำยังไงฝ้ายก็ขาด (⌯˃̶᷄ ﹏ ˂̶᷄⌯)

สิ่งที่ชอบอีกอย่างของวัดนี้คือ ใกล้ ๆ กับที่เขามีทำฝ้าย มันจะมีร้านขายของ OTOP อยู่ ตอนแรกเห็นเป็นสาหร่ายก็อยากกิน แต่คิดว่าพ่อกับแม่คงไม่ซื้อให้ หนูเลยไม่ขอ  แต่พอพ่อถามว่าจะเอาอะไรมั้ย? ก็อยากกินมาก ... สุดท้ายมันอร่อยมาก กรอบ แล้วก็โรยงา กินเสร็จนี่อยากกินอีกเลย (ˆ ڡ ˆ)
Share: