11/04/2557

สุโขไกด์ ┊4┊วัดมหาธาตุหัวใจที่ยังคงเต้นอยู่ ... แม้จะเป็นคนละจังหวะก็ตาม

จากเขตอรัญญิกของกำแพงเพชร ผมกลับมาใช้ทางหลวงหมายเลข 101 มุ่งหน้าสู่สุโขทัย ... ถ้าผมมาที่นี่เมื่อ 700 ปีที่แล้ว และกำลังจะไปสุโขทัยก็คงต้องใช้เส้นทางนี้เหมือนกัน เพราะทางหลวงหมายเลข 101 นี้เป็นแนวเดียวกับ "ถนนพระร่วง" ในสมัยสุโขทัย

แนวถนนพระร่วงเที่ยบทางหลวงในปัจจุบัน
แนวถนนพระร่วงเที่ยบกับทางหลวงในปัจจุบัน

ถนนพระร่วง คือ คันดินยาวที่เชื่อมต่อระหว่างเมือง จากกำแพงเพชร สุโขทัย ไปจนถึงศรีสัชนาลัย บางคนเชื่อว่าคันดินนี้เป็นถนนโบราณ  แต่จากการสำรวจพบว่า คันดินไม่ได้ต่อเนื่องตลอดทาง ขาดเป็นช่วงๆ และที่สันก็เป็นยอดสามเหลี่ยม อีกหลายคนจึงเชื่อว่าไม่น่าจะเป็นถนน แต่น่าจะเป็นคันกั้นนำ้ขนาดใหญ่ ที่ใช้ป้องกันน้ำหลากจากเทือกเขาด้านทิศตะวันตก  แต่ผมคิดว่าถนนพระร่วงนี้น่าจะถูกใช้ประโยชน์ทั้งสองกรณี เพราะถึงสันคันกันน้ำจะไม่กว้างพอสำหรับคาราวานเกวียน แต่บริเวนที่น้ำท่วมขังก็น่าจะมีเฉพาะฝั่งตะวันตก อีกด้านคงพอใช้ได้ และด้วยความที่เป็นแนวยาวเชื่อมเมืองทั้งสามเข้าไว้ด้วยกัน การเดินทางตามแนวจึงเป็นเรื่องสะดวก (ไม่ต้องกลัวหลง) และมีเมืองเล็กๆ ย่อยๆ เป็นจุดพักเกิดขึ้นตลอดแนวนี้มากมาย

แนวถนนพระร่วงถ้าเทียบกับทางในปัจจุบัน เป็นถนนหลายเส้น คือ จากกำแพงเพชรจะเป็นทางหลวงหมายเลข 101 พอถึงอำเภอคีรีมาส ก็วกเข้าเลียบเขาหลวง เส้น 1319 ซึ่งตัดผ่าหน้าเมืองสุโขทัยเก่าพอดีตรงเส้น 1272 และจากเมืองสุโขทัยไปศรีสัชนาลัยคือ ทางหลาวงหมายเลข 1113

ผมวิ่งรถมาตามถนนพระร่วงในจินตนาการ ไม่นานก็มาถึงสุโขทัย ถึงแล้วก็จัดการเรื่องที่พักที่จองไว้ ... อาบน้ำอาบท่า พักพ่อนพอสมควร แล้วก็ออกมาเดินเล่นที่วัดมหาธาตุ ไปไหว้อนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหง และก็ไปดูพระอาทิตย์ตกที่เขาล่ำลือกัน ... เสร็จแล้วก็จะได้ไปหามื้อเย็นกินกันในตัวเมือง 

ความจริงแล้ว วันแรกนี่ผมมาแค่ซึมซับบรรยากาศเฉยๆ ไม่ค่อยได้ดูอะไรจริงจัง  แต่ตลอดเวลาที่อยู่สุโขทัย ผมก็เข้าๆ ออกๆ มาเดินเล่นวัดนี้เกือบทุกวัน เลยจะยกรายละเอียดมาเล่ารวมๆ กันไปเลย ... นะครับ

--- กลางเมืองสุโขทัย มี "วัดมหาธาตุ" ซึ่งถือเป็นวัดสำคัญที่สุดและเป็นศูนย์กลางของเมือง ตามคติการตั้งเมืองในพุทธศาสนาแบบเถรวาท ที่มักจะนิยมสร้างเจดีย์ไว้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ (วัดมหาธาตุ) ไว้กลางเมือง ---

แผนผังวัดมหาธาตุสุโขทัย

ที่ด้านหน้าของวัด มีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์มากอยู่ที่หนึ่ง แต่ไม่ค่อยมีคนสนใจเพราะไม่ค่อยเหลืออะไรให้ดูแล้ว นั่นคือ "เนินปราสาท" ปัจจุบันมีแต่ฐานอาคารก่ออิฐขนาดใหญ่ คาดว่าแต่เดิมที่บนฐานนั้นน่าจะเป็นอาคารเครื่องไม้ เดิมเชื่อว่าเป็นพระราชวัง แต่จากหลักฐานที่พบทำให้เชื่อว่าบริเวณนี้น่าจะส่วนหนึ่งของวัดมหาธาตุ และอาจจะเป็นศาลาปรุงยาตาแบบวัดในลังกา หรืออาจะเป็นศาลาการเปรียญของวัดก็เป็นได้  ที่ว่าสำคัญเพราะมีบันทึกว่าพระยาลิไททรงผนวชที่นี่ และต่อมารัชกาลที่ 4 ก็ทรงพบศิลาจารึกหลักที่ 1 (พ่อขุนรามคำแหง) สมัยที่พระองค์ยังเป็นพระภิกษุและเสด็จธุดงค์มายังสุโขทัย ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นให้มีคนสนใจศึกษาประวัติศาสตร์สุโขทัย

เนินปราสาท
เนินปราสาท

เข้ามาในวัดจะเจอ "วิหารสูง" เป็นศิลปะอยุธยาแบบที่พบได้ทั่วในกำแพงเพชร คาดว่าสร้างภายหลังสมัยที่อยุธยามีอำนาจเหนือสุโขทัย

พระประธานบนวิหารสูง
พระประธานบนวิหารสูง

หลังวิหารสูงเป็น "วิหารหลวง" เป็นอาคารโถงขนาดใหญ่ ไม่มีผนัง หลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ชายคาลาดลงมาเกือบถึงพื้น คล้ายกับวิหารของพวกล้านนาหรือลาวล้านช้างทางเหนือ แต่เดิมเป็นที่ประดิษฐาน "พระศรีศากยมุนี" พระสำริดปางมารวิชัยขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ในสมัยรัชกาลที่ 1 คราวสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ได้ถูกอัญเชิญมาเป็นพระประธานในพระวิหารที่วัดสุทัศน์ฯ เพื่อเป็นศูนย์กลางของเมือง

>
วิหารหลวงวัดมหาธาตุสุโขทัย
วิหารหลวงวัดมหาธาตุ

เจดีย์ประธานเป็นทรงดอกบัวตูม สัญลักษณ์ของสุโขทัย (ที่ผมยิ่งดู ก็ยิ่งคล้ายกับรูปทรงของพระธาตุแบบอีสาน) มีหมู่เจดีย์บริวารร้อมรอบอยู่ 8 องค์ตามทิศ เชื่อว่ากลุ่มเจดีย์นี้มีการสร้างต่อเติมกันมาหลายสมัย

เจดีย์วัดมหาธาตุ
กลุ่มเจดีย์ประธานวัดมหาธาตุ

เริ่มแรกคงเป็นกลุ่มปราสาท 5 ยอดเรียงกันเป็นแนวกากบาทแบบปราสาทเขมร

กลุ่มเจดีย์วัดมหาธาตุสุโขทัย ยุคแรก โดยสันนิษฐาน

ต่อมามีการปรับเปลี่ยนส่วนยอดให้เป็นทรงระฆังแบบลังกา ในสมัยที่สุโขทัยหันมานับถือศาสนาพุทธเถรวาทแบบลังกา

กลุ่มเจดีย์วัดมหาธาตุสุโขทัย ยุคที่ 2 โดยสันนิษฐาน

ต่อมาในสมัยพระยาลิไท ก็มีการปรับองค์ประธานให้เป็นทรงดอกบัวตูมและเพิ่มเจดีย์ทรงประสาท 5 ยอดไว้ที่มุมทั้ง 4

กลุ่มเจดีย์วัดมหาธาตุสุโขทัยในปัจจุบัน

ท้ายสุดก็มรการก่อฐานไพทีประดับปูนปันรูปพระสาวกกำลังเดินทักษิณาวัตร (เวียนเทียน) ทำให้เจดีย์ทั้งหมดอยู่บนฐานเดียวกัน

ลายปูนปั้นพุทธประวัติ
ปูนปั้นภาพพุทธประวัติ ในหน้าบันแบบลังกา
ปูนปั้นรูปพระสาวกที่ฐานของเจดีย์

รอบๆ วิหารหลวงมีเจดีย์องค์เล็กๆ ย่อยๆ เรียงรายมากมาย คงเป็นที่เก็บอัฐิของเชื้อพระวงศ์ ส่วนใหญ่เป็นเจดีย์ทรงกลมเหรือไม่ก็เป็นทรงดอกบัวตูม แต่มีอยู่ 2 องค์ที่แปลกไป องค์หนึ่งเป็นเจดีย์ 4 เหลี่ยมคล้ายกับเจดีย์กู่กุตที่ลำพูน อีกองค์ก่อด้วยศิลาแลงและไม่น่าจะเป็นเจดีย์ เหมือนปราสาทขอมมากกว่า

เจดีย์ 4 เหลี่ยมแบบกู่กุตที่ลำพูน
ปราสาทขอมที่ปะปนอยู่ในกลุ่มเจดีย์

ด้านทิศใต้ของวิหารหลวง มีเจดีย์องค์ใหญ่อีกองค์ ชาวบ้านเรียกว่า "เจดีย์ 5 ยอด" เป็นทรงดอกบัวตูม ที่ฐานมีลายปูนปั้นประดับ และมีซุ้มมณฑปอยู่ตามทิศ ข้างในมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ เป็นปางมารวิชัย 3 ด้าน ส่วนด้านหน้าเป็นปางไสยาสน์  ด้วยรูปแบบและที่ตั้ง ทำให้เชื่อว่า เจดีย์นี้เป็นที่เก็บอัฐิของพระยาลิไท

เจดีย์ 5 ยอด ที่บรรจุพระอัฐิพระยาลิไท
ลายปูนปั้นที่ฐานเจดีย์ คล้าย ลายปูนปั้นแบบทวาราวดี
แต่มองอีกที ก็เหมือนลายจีน

มีการค้นพบกรุในเจดีย์องค์ย่อมๆ ที่ด้านหน้าเจดีย์ 5 ยอด ภายในมีจารึกที่กล่าวถึงการทำสัตย์สาบานของกษัตร์สุโขทัยพระองค์หนึ่ง ว่า "น้าพระยา" จะไม่ทำร้าย "สมเด็จเจ้าพระยา" (น่าจะเหมายถึงสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) ในยามที่เดินทางมาไหว้พระอัฐิของพระมหาธรรมราชา (พระยาลิไทย ซึ่งเป็นพระเจ้าตา) มีการฝังพระพุทธรูปแบบอยุธยากับพระพุทธรูปสุโขทัยหันหน้าเข้าหากัน เหมือนเป็นหลักฐานการทำสนธิสัญญาระหว่างสุโขทัยกับอยุธยา อีกด้วย (ปัจจุบันของในกรุจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง)

ต้นไทรสวยดี

--- วัดมหาธาตุนี้นอกจากจะเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวเมืองสุโขทัยแล้ว ยังถูกใช้เป็นศูนย์กลางทางกายภาพอีกด้วย คือเป็นบริเวณที่ใช้ประกอบพระราชพิธีสำคัญต่างๆของแคว้น คล้ายกับจตุรัสกลางเมือง ของเมืองสมัยใหม่ทั่วไป  ในศิลาจารึกหลักที่ 1 บรรยายถึงสภาพบ้านเมืองในสุโขทัยและกล่าวถึงพระวิหารขนาดใหญ่ ว่า ในยามที่มีงานนักขัตฤกษ์ จะมีผู้คนพากันเบียดเสียดเข้ามาในเมือง เข้ามาจุดเทียนเผาไฟไหว้พระกัน ซึ่งน่าจะหมายถึงวัดมาหาธาตุนี่แหละครับ (ตรงนี้น่าจะเป็นเหตุให้เข้าใจผิดว่าสุโขทัยมีประเพณีลอยกระทง จน ททท. จัดงานแสดงแสง สี เสียง ขึ้นที่นี่ในช่วงวันลอยกระทง)

ในอดีต บรรดาประชากรชาวสุโขทัยที่มาชุมนุมกันตอนนั้น ถ้าดูตามรูปแบบศิลปกรรมในวัดมหาธาตุเอง ก็น่าจะประกอบไปด้วยคนหลากหลายเชื้อชาติ ... คนไทยและไทใหญ่จากทางเหนือ ... พวกลาวจากหลวงพระบางและเวียงจันท์ ... คนมอญ คนจีน และพระจากลังกา ... พวกคนสุพรรณที่พูดสำเนียงเหน่อๆ และก็พวกลูกครึ่งเขมรจากลพบุรี (ละโว้)  สมัยนั้น ... ทุกคนคงมาทำบุญกัน ด้วยหวังจะได้มีโอกาสเกิดใหม่ในยุคพระศรีอารย์

ส่วนในปัจจุบัน แม้ว่าวันที่ผมไปจะไม่ใช่วันนักขัตฤกษ์ หรือมีการจัดงานอะไร แต่ ผู้คนต่างเชื้อชาติก็ยังพากันเบียดเสียดเข้ามาชุมนุมกันที่นี่เหมือนเมื่อ 700 ปีที่แล้ว คนพวกเดิมน่าจะหลอมรวมกันเป็นคนไทยหมดแล้ว และก็มีพวกฝรั่งยุโรปกับญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นมาหน่อย  สมัยนี้ ... ไม่มีใครมาไหว้พระหรือทำบุญกันแล้ว พระศรีอารย์ก็ไม่รู้จะมีจริงรึปล่าว? ทุกคนเขามาเพื่อชมพระอาทิตย์ตกกันต่างหาก

พระอาทิตย์ตกที่วัดมหาธาตุ
พื้นที่จัดงานลอยกระทง (ทั้งๆ ที่ สุโขทัยไม่เคยมีประเพณีนี้มาก่อน)
วัดมหาธาตุจากมุมมองของ นักถ้ำมอง อิอิ

ที่วัดมหาธาตุนี้กลายเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามได้อย่างประหลาด ทั้งๆ ที่ไม่ได้อยู่บนที่สูงเห็นทิวทัศน์ได้กว้าง แต่ด้วยวิหารที่ไม่มีหลังคา (เหลือแต่เสา) ทำเห็นมองเห็นรูปทรงที่สวยงามขององค์พระธาตุได้ชัดเจน บวกกับสระน้ำรอบๆวัด ที่คอยสะท้อนสีสันของท้องฟ้ายามเย็น ทำให้ที่นี่เหมาะที่จะถ่ายภาพพระอาทิตย์ตกเอามากๆ จะเก็บภาพ อัพเฟส เช็คอิน ที่นี่ก็เหมาะสำหรับเรียกไลค์ ... หรือไม่ แค่นั่งชมเฉยๆ ก็ทำให้เกิดความรู้สึกอิ่มใจอย่างประหลาด

ใจอิ่มแต่ท้องหิว เมื่อพระอาทิตย์ตกสนิทแล้ว ผมก็เลยพาครอบครัวไปหาอะไรกินในตัวเมือง ไปเจอบะหมี่ร้านอร่อยร้านหนึ่ง เป็นแผงข้างทางแถวๆ หน้าธนาคารออมสิน ถนนจรดวิถีว่อง ชื่อร้าน "บะหมี่เส้นสด" เส้นเขาสดอร่อยจริงๆ นะครับ (ไม่ใช่เพราะหิว) ใครไม่เชื่อ ... ไปลองดูได้ครับ ;) 
Share: