คืนแรกที่สุโขทัยผ่านไปด้วยดี อาจเป็นเพราะเหนื่อยจากการเดินทาง ผมนอนหลับสนิทและตื่นเช้ามาอย่างสดชื่น มีแรงพร้อมจะเที่ยวต่อ ... เช้านี้ ตามแผน คือ เราจะไปเที่ยวศรีสัชนาลัยกัน
หลังจากจัดการกับบุฟเฟต์เช้าของเกสเฮ้าส์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เราก็มุ่งหน้าสู่อำเภอศรีสัชนาลัย ผมใช้ทางหลวงหมายเลข 1113 ซึ่ง เชื่อว่าเป็นแนวเดียวกับ "ถนนพระร่วง" ในสมัยสุโขทัย ผมไม่แน่ใจว่าเมื่อ 700 ปีที่แล้วทางเส้นนี้จะเป็นอย่างไร แต่เท่าที่ดูทิวทัศน์ข้างทางก็ยังสวยงามไม่ต่างจากสมัยที่ผมมาทัศนศึกษาเมื่อ 20 ปีที่แล้วเท่าไหร่นัก ถนนเส้นนี้ยังเป็นถนนสายรอง เล็ก ๆ ตรง ๆ ข้างทางมีแต่ทุ่งนา ... ตอนนี้ช่วงปลายหน้าฝน ทุ่งนาก็เขียวกว่าเมื่อก่อนหน่อย และที่มีเพิ่มขึ้นมาก็เป็นแปลงผัก
![]() |
ทิวทัศนข้างทางหลวงหมายเลข 1113 |
![]() |
แปลงผัก |
เห็นแปลงผัก ก็นึกถึงเรื่องของ มะกะโท หนุ่มมอญลูกเขยพระร่วง ที่สร้างเนื้อสร้างตัวจากการปลูกผักกาดหนึ่งนึ้วจิ้ม (เอานิ้วจุ่มน้ำลายแล้วเอาไปจิ้มในกระบุงเมล็ดผักกาด จนได้เมล็ดติดมา) เก่งกล้า ขยันขันแข็ง ใช้ความสามารถเขยิบฐานะจนสุดท้ายก็ได้เป็นถึงกษัตริย์มอญ ... สมัยนี้ คนแถวนี้ก็คงเร่งสร้างเนื้อสร้างตัวเหมือนกัน เพราะเห็นแปลงผัก เยอะแยะ กว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา ...
--- ขับรถเกือบชั่วโมงก็มาถึงศรีสัชนาลัย ที่นี่มีเมืองโบราณซ้อนกันอยู่ 2 เมือง เมืองที่เก่ากว่า อยู่ตรงคุ้งน้ำรูปร่างประหลาด แคบๆ ยาวๆ บริเวณ "วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ" คือ "เมืองเชลียง" ต่อมา เนื่องจากความคับแคบและอาจประสบปัญหาน้ำท่วม (บ่อย?) เลยมีการย้ายศูนย์กลางของเมืองกระเถิบมาทางตะวันตก สร้างเป็นเมืองใหม่ชื่อ "ศรีสัชนาลัย" ---

ในความเห็นของผม สถานที่ตั้งเมืองศรีสัชนาลัยเป็น ชัยภูมิในอุดมคติสำหรับตั้งเมืองโบราณเลยแหละครับ มีแม่น้ำใหญ่ (แม่น้ำยม) โอบล้อมเป็นคุ้งหล่อเลี้ยงที่ราบเชิงเขา เหมาะสำหรับทำการเพาะปลูก ด้านหน้าเมืองมีแก่งใหญ่ชื่อว่า "แก่งหลวง" ทำให้บรรดาผู้คนที่สัญจรทางน้ำจำเป็นต้องหยุดพักขึ้นบก ตัวแก่งเองก็เป็นแหล่งอาหารสำคัญ ในฤดูน้ำหลากจะมีปลามาชุมนุมกันที่แก่ง จับได้ง่าย กลางเมืองมีภูเขาขนาดย่อมๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาด้านตะวันตก คือ "เขาพนมเพลิง" กับ "เขาสุวรรณคีรี" เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ประจำเมือง แล้วยังใช้เป็นป้อมปราการรับศึกได้ดี เพราะบนยอดเขาสามารถมองเห็นเมืองได้รอบ
ภายในกำแพงเมืองมีโบราณสถานหลายแห่ง อยู่ไม่ไกลกันนัก สามารถใช้จักรยานหรือจะเดินก็ยังได้ เพราะผมเองก็เดินกับลูกสาวอายุ 8 ขวบได้ ไม่ลำบากอะไร เส้นทางที่อยากแนะนำคือ เริ่มจากตรงกลางเมือง เราจอดรถไว้บริเวณหน้าวัดสวนแก้วอุทยานน้อย แล้วเดินขึ้นเขาพนมเพลิงเดินต่อไปตามสันเขาไปวัดสุวรรณคีรี แล้วก็ลงเขา ผ่านวัดช้างล้อม วัดเจดีย์เจ็ดแถว ... เรื่อยมาจนถึงวัดนางพญา แล้วเดินย้อนกลับมา ผ่านศาลหลักเมือง ผ่านพื้นที่ที่คาดว่าเป็นพระราชวัง แล้วก็มาจบที่วัดสวนแก้วอุทยานน้อย ... ครบเป็นวงกลมพอดี
( ̄~ ̄)
เขาพนมเพลิง มีทางขึ้น 2 ทาง ทางแรกจากตีนเขาด้านแก่งเหลวง ซึ่งไกลหน่อย ไม่ชัน และมีบันไดศิลาแลง หรือจะขึ้นตรงกลางเลยก็ได้ ใกล้แต่ชันพอสมควร บนเขาเป็นวัดพนมเพลิง มีเจดีย์และวิหารอยู่ด้านหน้า ด้านหลังเป็นมณฑป ชาวบ้านเรียกว่า "ศาลเจ้าแม่ละอองสำลี" คาดว่า แต่เดิมคงเป็นศาสนสถานของพราหมณ์ เพราะเคยมีคนพบเทวรูป 4 องค์ แต่สูญหายไปหมดแล้ว
![]() |
ศาลเจ้าแม่ละอองสำลี มีชุดไทยเป็นเครื่องเซ่น น่ากลัวพิลึก |
จากเขาพนมเพลิงมีทางเดินต่อไปยัง เขาสุวรรณคีรี เขานี้สูงกว่านิดหน่อย มีเจดีย์ทรงกลมขนาดใหญ่สภาพสมบูรณ์ ที่ก้านฉัตรมีปูนปั้นรูปพระสาวกเดินทักษิณาวัตรเหมือนกับที่ฐานเจดีย์วัดมหาธาตุ รูปปูนปั้นแบบนี้ พบได้เฉพาะที่นี่กับที่เจดีย์วัดช้างล้อมเท่านั้น (น่าจะสร้างสมัยเดียวกัน)
![]() |
วัดสุวรรณคีรี |
![]() |
ปูนปั้นรูปพระลีลาที่ก้านฉัตรเจดีย์ |
![]() |
ทุ่งเจดีย์ศรีสัชนาลัย มองจากยอดเขาสุวรรณคีรี |
ทางลงเขามี 2 ทาง ถ้าเดินทะลุหลังวัดสุวรรณคีรีไป จะเจอแนวกำแพงเมืองและถนน ด้านนอกคือเทือกเขาด้านทิศตะวันตก เป็นเขตอรัญญิก (วัดป่า) มีวัดตั้งเรียงกันอยู่บนสันเขา น่าสนใจดี แต่ผมไม่เห็นทางเดินไปและค่อนข้างเปลี่ยว จากแผนที่ ถ้าอยากไปจริง ก็คงต้องอ้อมไปใช้ทางหลวงหมายเลข 1201 ... ฉะนั้นทางลงอีกทางง่ายกว่า คือย้อนกลับไปทางเขาพนมเพลิง ตรงกลางระหว่างเขาทั้งสองลูกจะมีทางลงลาดๆ เดินสบาย เดินมาหน่อยก็จะเจอวัดช้างล้อมพอดี
แต่ก่อนถึงวัดช้างล้อม มีโบราณสถานน่าสนใจอยู่อีกแห่งหนึ่ง ไม่มีชื่อเรียกเป็นรหัสว่า "บน.11" คาดว่าเป็นวันแรกเริ่มก่อนจะสร้างวัดช้างล้อม มีภาพปูนปั้นแบบทวาราวดีเป็นเรื่องเป็นราว แต่ก็ไม่มีใครดูออกว่าเป็นเรื่องอะไร แปลกดี
![]() |
ลายปูนปั้นเป็นเรื่องราวที่โบราณสถานร้าง บน. 11 |
วัดช้างล้อมตั้งอยู่กึ่งกลางเมืองศรีสัชนาลัยพอดี ถ้าวัดมหาธาตุเป็นเหมือนหัวใจของสุโขทัย วัดช้างล้อมนี้ก็เป็นหัวใจชองศรีสัชนาลัยเช่นเดียวกัน ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ระบุว่า พ่อขุนรามคำแหงเป็นคนสร้าง แต่จากการสำรวจ พบว่าวัดนี้ได้ระบการบูรณปฏิสังขรณ์ต่อกันมาหลายสมัย พบร่องรอยการปรับแต่งฐานเดิมของเจดีย์ จากฐานปัทม์ (ฐานที่เป็นบัวคว่ำบัวหงาย) เป็นหน้ากระดานเรียบๆ และเพิ่มช้างปูนปั้นตัวใหญ่มายืนล้อมไว้ ที่ฐานรากของเจดีย์ก็พบเครื่องถ้วยกระเบื้องจีน สมัยราชวงศ์หยวน ซึ่งอยู่หลังสมัยพ่อขุนรามคำแหงนับร้อยปี แสดงว่าเจดีย์นี้สร้างหรือ "บูรณะ" สมัยอยุธยาตอนต้น

![]() |
วัดช้างล้อม |
![]() |
ช้างปูนปั้นแบบลอยตัว ที่ล้อมเจดีย์ไว้ ตัวที่อยู่ตรงมุมจะใหญ่กว่าตัวอื่น ขนาดเท่าๆ กับช้างจริง |
![]() |
พระพุทธรูปที่อยู่ในซุ้มรอบเจดีย์ |
![]() |
ตุ๊กตานางรำน่ารักดี |
![]() |
วัดช้างล้อมฝีมือลูกสาว ช้างขึงขังน่าดู อิอิ |
แต่ถึงองค์เจดีย์ที่เห็นจะเป็นของใหม่ (น่าจะเป็นสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) แต่ขุดลึกลงไปอีกก็พบโครงกระดูกพร้อมกับภาชนะดินเผาตามธรรมเนียมการฝังศพสมัยโบราณ (สมัยที่ยังนับถือผี) และบนโครงกระดูกยังพบรอยหลุมเสาขนาดใหญ่ แสดงว่าบริเวณนี้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์มาตั้งแต่โบราณและอาจมีการสร้างอาคารไม้ก่อนจะปรับให้เป็นเจดีย์ในสมัยหลัง (ปัจจุบันโครงกระดูกนี้ จัดแสดงไว้ที่ ศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยวฯ ที่ด้านหลังอุทยานฯ)

ด้านหน้าวัดช้างล้อมเป็นวัดเจดีย์เจ็ดแถว วัดนี้เป็นวัดที่สวยงามวัดหนึ่งในศรีสัชนาลัย นอกจากเจดีย์ประธานทรงดอกบัวตูมแล้วยังมีเจดีย์รายมากมายถึง 33 องค์ แต่เดิมเชื่อว่าเป็นที่เก็บอัฐิของราชวงศ์ คล้ายกับที่วัดมหาธาตุสุโขทัย แต่เนื่องจากแผนผังของวัดเป็นระเบียบแบบแผนสมดุลย์ ทำให้มีคนเชื่อว่าเจดีย์ทั้งหมดน่าจะสร้างพร้อมๆกันในสมัยพระยาลิไท

![]() |
วัดเจดีย์เจ็ดแถว |
สำหรับผม ข้อสันนิษฐานทั้ง 2 ข้อนี้ค่อนข้างสับสน ตัดสินยากว่าอันไหนถูก อันไหนผิด เพราะโดยทั่วไปเจดีย์ในวัดก็มีไว้เก็บอัฐิอยู่แล้ว และเราก็คงไปกำหนดแผนผังของสุสานไม่ได้ ... แต่ถ้าจะประณีประนอม อาจ "จินตนาการ" ได้ว่า "ในโอกาสที่พระยาลิไทจะขึ้นครองราช ดำริจะสร้างวัดนี้เพื่อเป็นพระราชกุศล ประกาศให้ มเหสี สนม และเชื้อพระวงศ์ (ที่มาจากหลายเมือง) มาร่วมกันทำบุญครั้งนี้โดยสร้างเจดีย์ราย (ประจำตระกูล) ทั้ง 33 องค์ และเมื่อถึงยุคพระศรีอารย์จะได้เกิดใหม่พร้อมกัน ... อะไรประมาณนี้" ส่วนในเจดีย์จะมีอัฐินั้น ก็เป็นไปได้ ... สร้างไว้ก่อนแล้วพอตายก็ค่อยเอาอัฐิมาเก็บไว้ตอนหลังก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร
ถึงจะดูสับสนงงๆ แต่วัดนี้ก็น่าสนใจสำหรับคนที่สนใจสถาปัตยกรรมไทยสมัยสุโขทัย เพราะเป็นที่รวบรวมเจดีย์ไว้เยอะที่สุด รูปแบบก็หลากหลายเห็นถึงอิทธิพลจากทั้ง ลังกา, ล้านนา, พม่า, เขมร (ละโว้) ฯลฯ
![]() |
เจดีย์รายรอบๆเจดีย๋ประธานวัดเจดีย์เจ็ดแถว |
![]() |
บางองค์มีร่องรอยของจิตรกรรม |
![]() |
เจดีย์ทรงปราสาทยอดระฆ้ง |
![]() |
หน้าบันลายฝักเพกาที่นิยมในล้านนาและพม่า |
![]() |
เจดีย์ทรงแปลก คล้ายๆ ปราสาทเขมร |
ถัดมาเป็นวัดสวนแก้วอุทยานใหญ่ วัดนี้ไม่ค่อยมีอะไรน่าสนใจ มีเจดีย์ประธานทรงกลมแบบลังกาแต่แปลกหน่อยที่อยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส (ฐานของเจดีย์ทรงดอกบัวตูม) แล้วก็ สมัยที่ผมมาทัศนศึกษา ผมเจอ "งูเห่า" ที่นี่ ... อึ่ย อ๊าค!!...
ヽ(゚Д゚)ノ
![]() |
เจดีย์ทรงประหลาดที่วัดสวนแก้วอุทยานใหญ่ |
ถัดมาเป็นวัดนางพญา วัดนี้เป็นวัดใหม่สุด ดูได้จากรูปแบบศิลปกรรมที่เป็นแบบอยุธยาตอนต้น เจดีย์ประธานคล้ายเจดีย์ที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ที่อยุธยา สิ่งที่น่าสนใจคือที่ผนังที่เหลืออยู่ของวิหารมีลายปูนปั้นลายพันธ์พฤกษาที่สวยงามที่สุดในประเทศไทย
![]() |
ลายปูนปั้นพันธุ์พฤกษา ที่วัดนางพญา |
![]() |
รายละเอียดที่สวยงาม |
![]() |
เจดีย์ประธานกับลายปูนปั้นที่วัดนางพญา ผีมือมะนาว |
พอออกจากวัดนางพญา มีถนนให้เดินย้อนกลับไปตรงกลางอุทยานฯ เดินมาหน่อยด้านขวามือเป็นศาลหลักเมือง เป็นปราสาทแบบเขมร
![]() |
ศาลหลักเมือง |
หลังศาลหลักเมืองเป็นเนินโล่งๆ สันนิษฐานเป็นที่ตั้งของพระราชวัง
![]() |
บริเวณที่สันนิษฐานว่าเป็นพระราชวัง |
ถัดมาเป็นวัดสวนแก้วอุทยานน้อย เป็นวัดขนาดย่อมๆ แต่น่าจะมีความสำคัญ เพราะเจดีย์ประธานมีเจดีย์บริวารถึง 13 องค์ แล้วยังอยู่ติดวัง น่าจะเป็นวัดหลวงเหมือนกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ที่อยุธยา และวัดพระแก้วที่กรุงเทพฯ
![]() |
มณฑปวัดสวนแก้วอุทยานน้อย |
พอหมดวัดสวนแก้วอุทยานน้อย ก็เดินมาถึงรถพอดี ... พระอาทิตย์ก็ตรงหัวพอดี ... หิวพอดี ผมจึงขอจบตอนนี้ไว้แค่นี้ เขาลือกันว่าแถวนี้มีร้านอร่อย ห้ามพลาด ... ขอตัวนะครับ