08/05/2557

สุโขไกด์ ┊6┊เมืองเชลียง ศรีสัชนาลัยเก่ากับความหลัง

ออกจากเมืองศรีสัชนาลัยก็ได้เวลากินมื้อเที่ยงพอดี ... แถวนี้ไม่ค่อยมีร้านอาหารใหญ่ๆ ดังๆ สักเท่าไหร่ ในหนังสือนายรอยรู้ (ฉบับสุโขทัย) บอกว่า มีอยู่ร้านเดียว อยู่ตรงกลางระหว่างทางไปวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ตรงข้ามวัดโคกสิงคาราม ชื่อร้าน "แก่งสัก"

ภายในร้านก็ร่มรื่นแบบสวนอาหาร ส่วนที่นั่งกินเป็นเรือนไม้ริมแม่น้ำยม มีลมพัดเอื่อยๆ เรียกว่า บรรยากาศดีน่านอนกันเลยทีเดียว อาหารขึ้นชื่อเป็นเมนูแนะนำของที่นี่ส่วนใหญ่เป็นพวกปลาแม่น้ำ เราก็เน้นไปที่ปลา ที่สั่งมี ต้มยำปลาเค้า ปลาเนื้ออ่อนทอดกระเทียม แล้วก็ยำไข่ดาว ... ถึงปลาเค้าจะต้องเปลี่ยนเป็นปลากระพง (ซึ่งทางร้านก็ยืนยันว่าเป็นกระพงแม่น้ำ) แต่ทุกจานก็อร่อยเกินคาด โดยเฉพาะ ยำไข่ดาว นับเป็นมื้อเที่ยงที่ฟินดีจริงๆ

แม่น้ำยมมองจากร้านแก่งสัก
ต้มยำปลากระพง (แม่น้ำ ทางร้านเขาว่างั้น)
ยำไข่ดาว (แบบแยกพริก) อร่อยสุดๆ

อิ่มหนำสำราญกันแล้วเราก็ไปเที่ยวต่อที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ  สมัยที่มาทัศนศึกษาจำได้คับคล้ายคับคลาว่า ได้นอนค้างคืนที่ศาลาการเปรียญ แต่ ศาลาไหน? นอนข้างใคร? จำรายละเอียดอะไรไม่ได้เลย ... ตกลงได้นอนในวัดจริงๆรึปล่าวก็ไม่แน่ใจ เหมือนความจำช่วงนั้นมันจะหายไปซะงั้น ลองทบทวนดู เหมือนในหัวจะมีแต่ พื้นไม้กระดานแผ่นใหญ่ๆ ... ปลาส้ม ... พระปรางค์ และสะพานแขวน
(゜-゜)

สะพานแขวนที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
สะพานแขวนที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
บาร์รำวง ถ้ามาตอนเย็นๆ คงคึกคักน่าดู

มาคราวนี้บรรยากาศภายในวัดดูคึกคักเป็นพิเศษ กำลังมีงานออกร้านของเทศบาลเมืองศรีสัชนาลัย มีซุ้มขายอาหารและของฝากขึ้นชื่อประจำอำเภอตั้งเรียงรายรอบๆ องค์พระปรางค์  มีร้านผ้าทอผ้าซิ่นของบ้านหาดเสี้ยว มีการสาธิตการทอผ้าฝ้าย ผ้าหมักโคลน มีผ้าขายด้วยซึ่งราคาก็สมกับความสวยงาม  พวกร้านอาหารก็เหมือนกัยร้านตามตลาดนัดทั่วไป มี ทอดมัน ลูกชิ้นทอด ข้าวหลาม ... ฯลฯ ที่น่าสนใจคือ "ข้าวเปิ๊บ" ของบ้านนาต้นจั่น ลักษณะคล้ายๆข้าวเกรียบปากหม้อไส้ผักตัวใหญ่ (เต็มชาม) มาในน้ำซุปก๋วยเตี๋ยวแล้วก็โปะด้วยไข่ดาวนึ่ง ... เห็นแล้วอยากลองชะมัด เสียดายที่ท้องเต็มแล้ว แต่ผมก็อดซื้อขนมมากินเล่นไม่ได้ เป็นน้ำตาลอ้อยกวนกับถั่วลิสงและงา ไม่รู้ว่าเรียกว่าอะไร รสคล้ายกระยาสารทผสมกับขนมตุ้บตั้บ ... อร่อยดี

แผนที่เมืองเชลียง

--- วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ตั้งอยู่บนติ่งแผ่นดินกลางคุ้งน้ำแคบๆ ยาวๆ เขื่อกันว่าวัดนี้เป็นศูนย์กลางของเมืองเก่าก่อนจะมาเป็นศรีสัชนาลัย ชื่อว่า "เมืองเชลียง" ทำให้นิยมเรียกว่าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง  จากการขุดค้นทางโบราณคดี พบเศษภาชนะดินเผาแบบทวาราวดีทำให้เชื่อว่าบริเวณนี้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว (พุทธศัตวรรษ 16-17) ตัวโบราณสถานเองก็มีร่องรอยของการบูรณะสืบต่อกันมาหลายสมัย เฉพาะตัวพระปรางค์เองก็มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอย่างน้อย 3 สมัย ---

แผนผังวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
พระพุทธรูปปางลีลาที่งามที่สุดในประเทศไทย
พระพุทธรูปปางลีลาที่งามที่สุดองค์หนึ่งในไทย

ที่เห็นในปัจจุบันเป็นพระปรางค์แบบอยุธยาตอนต้น น่าจะถูกบูรณะขึ้นใหม่ในสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ครั้งที่พระองค์ยึดเมืองนี้คืนได้จากล้านนา มีการปรับพื้นของวิหารให้สูง ขึ้นเห็นได้จากที่ฐานวิหารด้านหน้าองค์พระมีพระพุทธรูปยืนแบบสุโขทัยจมอยู่ในฐานลึกถึงเข่า

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง
พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ในปัจจุบัน

เดิมในสมัยสุโขทัย พระปรางค์องค์นี้น่าจะเป็นเจดีย์ทรงดอกบัวตูม เพราะพบเจดีย์ทรงเดียวกันองค์เล็ก (หรืออาจเป็นส่วนยอดของเจดีย์องค์เดิม?) อยู่ภายในเรือนธาตุ (ห้องตรงกลางของพระปรางค์) ซึ่งตามรูปแบบศิลปกรรมแล้วน่าจะเป็นสมัยพระยาลิไท

เจดีย์ทรงดอกบัวตูมในเรือนธาตุของพระปรางค์

และก่อนหน้าที่องค์พระธาตุนี้จะเป็นเจดีย์ทรงดอกบัวตูมแบบสุโขทัย อาจจะเคยเป็นปราสาทแบบเขมรมาก่อน เพราะที่ยอดซุ้มประตูทางเข้าด้านหน้า มีปราสาทจำลอง ยอดของปราสาทเป็นปูนปั้นรูปหน้าคนอยู่ทั้งสี่ด้าน คล้ายกับปราสาทบายนที่เมืองนครธมในเขมร และคงสร้างหลังสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ไม่นานนัก

ศรีสัชนาลัย
ปราสาทจำลองที่ซุ้มทางเข้าด้านหน้า เชื่อกันว่า แต่เดิมองค์พระปรางค์น่าจะมีรูปแบบเหมือนกัน

นอกจากองค์พระธาตุแล้ว ที่วัดนี้ยังสามารถพบเห็นศิลปกรรมรูปแบบอื่นได้อีก  ที่หน้าวิหารหลัก มีวิหารเล็กๆ 2 หลัง ตั้งอยู่คู่กัน คาดว่าเป็น "กู่" สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป แบบที่นิยมกันในล้านนา หลังด้านซ้ายมือขององค์พระมีพระพุทธรูปปางนาคปรกงดงามมาก

พระพุทธรูปปางนาคปรกที่วิหารเล็กๆ ด้านหน้าองค์พระปรางค์

หลังพระธาตุเป็นเจดีย์แบบมอญ ชื่อ "เจดีย์มุเตา"  ตำนานเล่าว่าเป็นเจดีย์ที่พระเจ้าฟ้ารั่ว (มะกะโท) กษัตริย์มอญ สร้างขึ้นและตั้งชื่อตามพระธาตุมุเตาที่หงสาวดี

เจดีย์มุเตา

ด้านหลังพระเจดีย์มุเตาเป็น มณฑปพระอัฐารถ และวิหารพระสองพี่น้อง มีพระประธาน 2 องค์ ชาวบ้านเรียกว่าพระร่วงพระลือ ตามตำนานพระร่วงอีกแบบหนึ่ง

พอออกจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ความพลุกพล่านคึกคักก็ค่อยๆจางลง ยิ่งเมื่อเรามาถึงวัดต่อมา บรรยากาศเงียบเชียบจนเกือบจะวังเวงเสียด้วยซ้ำ ทั้งๆที่วัดนี้ก็อยู่ข้างวัดพระศรีมหาธาตุนั่นแหละ แต่คงจะเป็นวัดนอกเส้นทางท่องเที่ยวหลัก ผมไม่เห็นนักท่องเที่ยวคนอื่นเลยสักคนเดียว ... วัดนี้คือ "วัดชมชื่น"

วัดชมชื่นเป็นวัดเล็กๆ อยู่ริมน้ำยมถัดจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุมาทางตะวันตก  มีวิหาร มณฑปและเจดีย์ สร้างต่อกันเป็นแถว ซึ่งเป็นรูปแบบธรรมดาที่พบเห็นได้ทั่วไปในศรีสัชนาลัย แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ หลุมขุดค้น ที่ทางอุทยานฯสร้างอาคารคลุมไว้ และจัดแสดงได้น่าสนใจ (จำได้ว่าสมัยที่มาทัศนศึกษาหลุมขุดค้นนี้ยังขุดอยู่เลย)

หลุมขุดค้นที่วัดชมชื่น

ในหลุมขุดมีโครงกระดูกหลายสิบโครง แต่ละโครงพบอยูคนละชั้นดิน ชั้นล่างสุดเก่าถึงก่อนยุคทวาราวดี (พุทธศตวรรษที่ 9) แสดงว่าพื่นที่นี้ถูกใช้เป็นสุสานสืบต่อมาจนถึงสมัยสุโขทัย

ถัดจากวัดชมชื่นไปทางตะวันตกอีกหน่อยเป็น วัดเจ้าจันทร์ วัดนี้ก็เก่ามีปรางค์เขมรสมัยบายน มีการพบลูกปัด เครื่องปั้นดินเผาและโครงกระดูก แบบเดียวกับที่วัดชมชื่น  คาดว่าคงเป็นเทวสถานหรือศาสนสถานในนิกายมหายานมาก่อน จะถูกปรับให้เป็นวัดเถรวาท

วัดเจ้าจันทร์
การที่พบศิลปกรรมแบบบายน (ทั้ง 3 วัด) ในเมืองเชลียงนี้ ทำให้มีนักวิชาการส่วนหนึ่งคิดว่า สุโขทัยเคยเป็นอาณานิคมของเขมรมาก่อน แต่ผมไม่ค่อยเชื่อทฤษฎีดังกล่าว เพราะการเป็นเมืองประเทศราชในสมัยโบราณนั้น เป็นรูปแบบของความสัมพันธ์ระหว่าง รัฐเล็กกับรัฐใหญ่ ทำนองเดียวกับบ้านพี่เมืองน้อง รัฐเล็กๆ คงมีอิสระในการปกครองตนเองพอสมควร และเป็นไปได้ที่รัฐเล็กๆ จะเป็นเมืองประเทศราชของรัฐใหญ่ๆ พร้อมกันหลายรัฐ ต่างจากการตกเป็นเมืองขึ้นของมหาอำนาจในยุคล่าอาณานิคม

บางทีสิ่งก่อสร้างที่เหลืออยู่อาจสะท้อนถึงรูปแบบทางความเชื่อ หรือลัทธิศาสนาที่ผู้นำใช้ปกครองชุมชน มากกว่าร่องรอยของ "อำนาจ"

เดินชมเมืองเชลียงมาจนครบแล้ว แต่ยังเหลืออีกที่ ที่ถ้ามาศรีสัชนาลัยแล้วไม่ควรพลาด นั่นก็คือ "แหล่งเตาเผาเมืองศรีสัชนาลัย" ยิ่งสำหรับผมด้วยแล้ว ที่นี่ห้ามพลาดเพราะมันมีความหลัง คือ เป็นที่ที่ผมซื้อของฝากชิ้นแรกให้แฟน (เดี๋ยวนี้เป็นภรรยา)  สมัยที่มาทัศนศึกษา

ของที่ว่าเป็นตุ๊กตากบน่ารักสองตัว ผมตั้งชื่อให้ว่า "รัก" กับ "ยม" ผมไม่แน่ใจว่าตอนนั้นเธอจะประทับใจรึปล่าว? แค่ไหน? แต่นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นให้เรามีโอกาสคุยกันมากขึ้น ... เวลาผ่านมานานมากแล้ว เรียนจบแล้ว แต่งงาน ย้ายบ้านแล้ว ... ลูกก็มีแล้ว รักกับยมก็ไม่รู้ไปอยู่ในกล่องไหนในห้องเก็บของ ... คิดแล้วก็อยากพาลูกไปซื้อตุ๊กตาสังคโลก ซักตัว

แหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาของเมืองศรีสัชนาลัย อยู่นอกกกำแพงเมืองไปทางทิศเหนือไม่ไกล นับเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในลุ่มน้ำยม โดยเฉพาะที่ "บ้านเกาะน้อย" ซึ่งเป็นชุมชนช่างปั้นขนาดใหญ่  ที่นี่พบเตาสังคโลกมากกว่า 200 เตา  คาดว่าน่าจะเริ่มผลิตในสมัยของสมเด็จพระนครินทราธิราช กษัตริย์อยุธยาราชวงศ์สุพรรณภูมิ ที่มีเชื้อสายจากราชวงศ์พระร่วง (เป็นหลานลุงของพระยาลิไท) หลายคนเชื่อว่าเพราะรายได้จากการผลิตเครื่องสังคโลกส่งออก (ไปจีน) นี่แหละ ทำให้พระองค์มีขุมกำลังที่เข้มแข็ง และมีบารมีพอที่จะชิงราชบัลลังก์อยุธยาจากราชชวงศ์อู่ทอง

เรื่องอายุของแหล่งสังคโลกนี้ มีเรื่องประหลาดหน่อย เพราะ เมื่อไม่นานมานี้มีนักวิชาการชาวออสเตรเลียมาสำรวจ หลังจากวิเคราะห์รูปแบบและไช้กรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์กำหนดอายุ ปรากฏว่าอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 16 ซึ่งอยู่ก่อนหน้าจะมีเมืองสุโขทัยซะอีก ... แต่แนวความคิดนี้ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับกัน เพราะมันขัดแย้งกับความเชื่อเดิมเกินไป ต้องพิสูจน์กันอีกเยอะ

แต่ก็นั่นแหละ เท่าที่ผมอ่านเรื่องสุโขทัยมา (เพื่อจะมาเขียน) ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีหลายคนอยากให้สุโขทัยเก่าแก่ และในทางกลับกัน อีกหลายคนก็อยากให้มันใหม่ขึ้นมาหน่อย ... ผมก็ไม่แน่ใจว่าทั้งสองฝ่ายคิดอะไรกันอยู่ จะเชื่อแนวไหนดี ... หรือ ... บางทีมันอาจจะเป็นเรื่องธรรมดาของ "อดีต" ที่เรามักจะเลือกจำเอาแต่สิ่งที่อยากจำ ... เหมือนกับความทรงจำของผมเกี่ยวกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุที่ หายไป ไม่ปะติดปะต่อ จำอะไรเป็นเรื่องไม่ได้เลย ... แหะๆ
เตาสังคโลกในหลุมขุดค้น
ไหปากแตรที่พบอยู่ในเตา เขาเอาเศษๆ มาประกอบขึ้นมาใหม่ พยายามดีแท้

ปัจจุบันกรมศิลปากรได้สร้างอาคารจัดแสดงสภาพของเตา เครื่องปั้นดินเผาแบบต่างๆ ที่พบ รวมทั้งมีการจัดแสดงเรื่องราวความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับเครื่องสังโลก อีกด้วย  ด้านหน้าอาคารมีร้านผลิตเครื่องสังคโลกของชาวบ้านเกาะน้อย มีหลายแบบ ตั้งแต่พวกตุ๊กตา ถ้วยชามที่เลียนแบบของเก่า ไปจนถึงแก้วกาแฟแบบสมัยใหม่ ... แต่ดูเหมือนเวลาผ่านไปนานเกิน ที่นี่ก็คงจะไม่ค่อยคึกคักเท่าเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ของก็เลยน้อย ตุ๊กตากบแบบเดียวกับเจ้ารักยมก็ไม่มี มีแต่แบบที่น่าจะขายได้ซ้ำๆ กันจนเกือบจะน่าเบื่อ

ผมได้มีโอกาสคุยกับเจ้าของร้าน (น่าจะเป็นร้านเดิมที่เคยซื้อตุ๊กตาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว) เขาก็ว่าเงียบเหงา เมื่อก่อนมีการเอาแท่นหมุนมาปั้นถ้วยโชว์ที่หน้าร้าน แต่คนน้อยก็เลยเลิกไปไม่มีคนมาดู  ขนาดฤดูท่องเที่ยวอย่างตอนที่ผมไป ยังนานๆมาที ช่างเองส่วนใหญ่ก็ย้ายไปใกล้วัด หรือไม่ก็ไปสุโขทัยเลย เพราะมีลูกค้ามากกว่า ... ผมได้แต่ยิ้มรับ คิดว่า ถ้ามีคนมากันมากหน่อย เขาน่าจะสู้ต่อไหว ... เพราะลุงแกหัวเราะร่วนก่อนตอบผมทุกครั้งเลย
(꒪⌓꒪)ノ...ヾ(◜▿‾ 三 ‾▿◝)ノ

เครื่องสังคโลก ฝีมือลูกสาวครับ

ช็อปปิ้งเสร็จเราก็กลับสุโขทัยกัน ได้ของฝากถูกใจบ้างไม่ถูกใจบ้างก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยผมก็ได้มารำลึกความหลัง ... พรุ่งนี้ค่อยว่ากัน

Share: