04/06/2557

สุโขไกด์ ┊7┊สุขอมไท?

คืนที่สองที่สุโขทัย ก็ผ่านไปได้ด้วยดี  เช้านี้ผมตั้งใจว่า จะเที่ยวชมวัดอื่นๆในเมืองสุโขทัยให้ครบ ... ระหว่างอ่านไกด์บุคไปพร้อมกับกินมื้อเช้า พบว่า ยังมีโบราณสถานที่น่าสนใจอีกเยอะ ทั้งใน และนอกกำแพงเมือง   คงต้องใช้เวลาทั้งวัน ไม่เหลือแรงขับรถกลับกรุงเทพฯแน่ๆ เลยตัดสินใจนอนต่ออีกสักคืน จะได้เที่ยวได้อย่างสบายใจ

ออกจากที่พัก ผมวนไปวัดนอกกำแพงเมืองทางทิศใต้ก่อน เพราะอยู่ใกล้ เส้นทางก็สะดวกดี จะได้ไม่ต้องย้อนไปย้อนมา และตรงนี้มีวัดสำคัญ  แต่ผมจะกั๊กเอาไว้ก่อนไม่เล่าตอนนี้ เพราะมีเรื่องอื่นที่อยากจะเล่ามากกว่า มันติดพันมาจากตอนที่แล้ว ... ตอนที่พาไปเที่ยวเมืองเชลียงที่ศรีสัชนาลัย นั่นก็คือเรื่องของ "ขอม"

ปูนปั้นที่วัดศรีสวาย
ปูนปั้นที่วัดศรีสวาย

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า "ขอม" เสียก่อน ว่าขอมไม่ใช่เชื้อชาติและไม่ได้หมายถึงชนชาติใดชาติหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง ขอมเป็นชื่อทางวัฒธรรม ที่คนทั่วไปในสมัยนั้นใช้เรียกคนกลุ่มหนึ่งที่ยึดถือวัฒนธรรมเขมร นับถือพราหมณ์กับพุทธมหายาน และที่สำคัญคือ รู้ภาษาเขมรและใช้อักษรเขมรโบราณในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ เช่น ทำศิลาจารึก

กลุ่มคนดังกล่าวน่าจะหมายถึงพวก "ละโว้" เนื่องจากกษัตริย์ละโว้มักมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับทางเขมรอย่างแน่นแฟ้น

และนอกจากนั้น ในพุทธศตวรรษที่ 17 วัฒนธรรมเขมรได้กลายเป็นวัฒนธรรมกระแสหลักของภูมิภาคนี้ และเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญ  พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (ผู้สร้างเมืองนครธม) นับเป็นเซเลบแห่งยุค เพราะนอกจากจะเป็นผู้นำอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่แล้ว พระองค์ยังเป็นผู้นำทางความคิดและจิตวิญญาณอีกด้วย คติ "พระพุทธเจ้าที่ยังมีชีวิต" หรือกษัตริย์ที่เป็นเหมือนพระโพธิสัตว์ ของพระองค์ เป็นที่นิยมของบ้านเมืองทั่วไปในภูมิภาค

แน่นอนว่าคติความเชื่อและศิลปะวิทยาการต่างๆ ที่สืบทอดมาจากสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จะต้องถูกถ่ายทอดเป็นภาษาเขมร  เมืองละโว้ในยุคนั้นเต็มไปด้วยนักปราชญ์ราชครูจากเขมร จึงเป็นเหมือน "ตักสิลา" เห็นได้จากบรรดาเจ้าชายในนิทานหรือตำนานต่างๆ มักจะต้องไปเรียนวิชากับพระเจ้าตา (ฤาษี) ที่ละโว้ และมีคำเรียกคนที่รู้ภาษาเขมรว่า "ครูขอม"

--- เมืองสุโขทัยที่เกิดจากแรงสนับสนุนของละโว้ ในยุคแรกเริ่มจึงเป็นเมืองแบบขอม ศิลปกรรมแบบเขมรหรือดัดแปลงมาจากเขมรพบเห็นได้ทั่วไป ทั้งที่เมืองเชลียง (เมืองเก่าของศรีสัชนาลัย) และในเมืองสุโขทัย ส่วนใหญ่ถูกปรับให้เป็นศาสนสถานแบบเถรวาท เช่นเดียวกับกลุ่มเจดีย์ประธานที่วัดมหาธาตุ แต่ก็ยังพอเห็นร่องรอยของวัฒนธรรมขอมได้อยู่ ในเขตกำแพงเมืองสุโขทัย มีโบราณสถานแบบขอม (ที่เห็นได้ชัดๆ) อยู่ 2 ที่ ---

ที่แรก อยู่ด้านทิศใต้ของเมือง คือ "วัดศรีสวาย" วัดนี้อยู่ใกล้กับวัดมหาธาตุ  ชื่อศรีสวายมาจาก "ศรีวิวายะ"  ศิลปะวัตถุส่วนใหญ่ที่พบบ่งบอกว่าที่นี่เป็นศาสนสถานของพราหมณ์ มีการค้นพบทับหลังหินทรายรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ เทวรูปพระนารายณ์ และศิวลึงค์ แต่ประธานของวัดเป็นพระปรางค์ 3 องค์ ซึ่งเป็นรูปแบบเฉพาะสำหรับพุทธศาสนาแบบมหายาน และรูปทรงแปลกๆของพระปรางค์ ที่เหมือนจะเป็นส่วนผสมระหว่าง ปรางค์เขมรกับปรางค์อยุธยา ทำให้ผมเชื่อว่า คติความเชื่อของชาวสุโขทัยสมัยที่เริ่มตั้งเมือง น่าจะเป็นแบบผสม และผสานวัฒนธรรมจากหลายแหล่งเข้าไว้ด้วยกัน

แผนผังวัดศรีสวาย
พระปรางค์วัดศรีสวาย
ร่องรองของภาพจิตรกรรมในคูหาปราสาทด้านซ้าย (ขององค์พระ)
ฐานโยนี ที่วัดศรีสวาย

อีกที่คือ "ศาลตาผาแดง" ศาลนี้อยู่ทางตอนเหนือของเมือง มีลักษณะเป็นปราสาทแบบเขมรแท้ๆ ก่อด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่ มีการค้นพบเทวรูป (สตรี) แกะด้วยหินทราย รูปแบบและลวดลายเครื่งประดับของเทวรูป คล้ายกับรูปนางอัปสราที่นครวัดมาก

รูปเทวนารีที่พบที่ศาลตาผาแดง

ชื่อตาผาแดงฟังแล้ว เหมือนจะเป็นศาลของคุณตาที่นุ่งผ้าแดงๆ อะไรทำนองนั้น แต่นักวิชาการเชื่อว่า คำนี้น่าจะเพี้ยนมาจากภาษาเขมรโบราณว่า "กมรเตง" แปลว่า "เจ้าโลก เจ้า พระเจ้า" เป็นคำนำหน้าพระนามของกษัตริย์และเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ คาดว่าเป็นศาลของเทพารักษ์ประจำเมือง เพราะเป็นอาคารที่ตั้งอยู่โดดๆ ไม่มีกำแพงล้อมรอบแบบที่ปราสราทเขมรควรมี

ศาลตาผาแดง
ศาลตาผาแดง
ภายในศาล
ผมไม่แน่ใจว่าที่เขมรเขานิยมสร้างศาลให้ "ผี" หรือ "เทพารักษ์" บ้างรึปล่าว? ... บางทีศาลนี้อาจเป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ของการผสมผสานวัฒนธรรมในสมัยสุโขทัย

โบราณสถานแบบขอมสองแห่งนี้ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมืองสุโขทัยก็จริง แต่ถ้าย้อนเวลาไปสมัยที่สุโขทัยเริ่มก่อร่างสร้างเมืองกันจริงๆแล้ว ทั้งสองแห่งต้องถือว่าอยู่นอกเมือง เพราะศูนย์กลางของเมืองสุโขทัยยุคแรก (ยุคที่เห็นอิทธิพลของขอมได้อย่างชัดเจน) ตั้งอยู่ที่ "วัดพระพายหลวง" ที่นอกกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ

--- วัดพระพายหลวงเป็นโบราณสถานที่น่าจะเก่าแก่ที่สุดในสุโขทัย สร้างราวพุทธศตวรรษที่ 18 มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีคูน้ำขนาดใหญ่ (กว้าง 20 เมตร) ล้อมรอบ ตามแบบศาสนสถานขอม ตรงกลางเป็นปราสาทแบบเขมร 3 องค์ สร้างตามคติมหายานแบบพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งหมายถึงพระรัตนตรัยแบบมหายาน ที่ประกอบด้วย องค์กลางคือ "พระอมิตาภะ" (โมกษะ) และขนาบข้างด้วย "พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร" (เมตตา) กับ "พระนางปรัชญาปารมิตา" (ปัญญา) ---

แผนผังวัดพระพายหลวง

ลวดลายปูนปั้นที่ประดับอยู่ที่องค์พระปรางค์ เป็นแบบละโว้ และอาจจะถ่ายแบบมาจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุที่ลพบุรี เพราะเหมือนกันมาก

หน้าบันที่วัดพระพายหลวง
ลายปูนปั้นหน้าบันแบบละโว้

ที่แปลกคือ รอบวิหารมีเจดีย์รายทรงกลมแบบลังกา บางคนเชื่อว่าได้อิทธิพลมาจากเจดีย์ทิศที่พระบรมธาตุไชยา บางคนก็เชื่อว่าอาจมีต้นตอมาจากศิลปะพุกาม ... แต่ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุผลใด ก็แสดงให้เห็นว่าสุโขทัยรับคติความเชื่อมาจากที่อื่นด้วย เช่น นครศรีธรรมราช หรือ พม่า

เจดีย์รายทรงลังกา

ด้านหน้าวิหารมีเจดีย์ใหญ่องค์หนึ่ง มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจึงเรียกว่า "เจดีย์สี่เหลี่ยม" จากแผนผังแสดงให้เห็นว่าเป็นเจดีย์ทรงดอกบัวตูม แต่ก็อยู่ในสภาพพังทะลายลงมา ทำให้เห็นองค์เดิม มีลักษณะเป็นซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปซ้อนกันเป็นชั้นๆ ขึ้นไป คล้ายกับเจดีย์กู่กุดที่ลำพูน ร่องรอยการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของเจดีย์นี้ แสดงว่าสุโขทัยมีการปฏิรูปความเชื่อครั้งใหญ่ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 19

เจดีย์สี่เหลี่ยมที่วัดพระพายหลวง
เจดีย์สี่เหลี่ยม
ร่องรอยของเจดีย์องค์เดิมที่ซ่อนอยู่ภายใน

นอกจากโบราณสถานทั้งสาม ที่เราสามารถมองเห็นความเป็นขอมได้ชัดเจนแล้ว ยังมีอีกวัด ที่ผมคิดว่าควรจะเอามารวมไว้ในตอน "สุขอมไท?" นี้เลย เพราะถึงจะมองไม่เห็นอิทธิพลของขอมในรูปแบบศิลปกรรม แต่เรื่องราวที่ซ่อนตัวอยู่ในวัดนี้ น่าสนใจและสะท้อนช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านจากมหายาน (แบบขอม) มาเป็นเถรวาท ของสุโขทัยได้เป็นอย่างดี ... วัดที่ว่าก็คือ "วัดศรีชุม"

--- วัดศรีชุมอยู่ด้านหลังวัดพระพายหลวงไม่ไกลนัก สิ่งก่อสร้างที่สำคัญที่สุดในวัดคือ "มณฑป" ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ชื่อ "พระอจนะ" ปรากฏอยู่ในตำนานพระนเรศวร ว่า พระองค์มาประชุมทัพกันที่วัดนี้ ก่อนเข้าตีศรีสัชนาลัย และให้นายทหารคนหนึ่งแอบเข้าไปในอุโมงค์ด้านหลังองค์พระ แล้วพูดปลุกขวัญทหารในขณะที่พระองค์ทำพิธีตั้งสัตยธิษฐาน ---

พระอจนะ
พระอจนะ ถ้ามองดีๆ จะเห็นหน้าต่างอุโมงค์ด้านซ้ายมือ

องค์พระอจนะที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นของที่บูรณะขึ้นมาใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2496 - 2499 โดย อ. เขียน ยิ้มศิริ เป็นคนออกแบบ และให้นาย บุญธรรม พูลสวัสดิ์ เป็นคนปั้น ด้านในใช้ปูนซิเมนต์เป็นโครง ด้านนอกเป็นปูนผสมแบบโบราณ ... ด้วยทั้งตำนานและฝีมือช่างชั้นครู ทำให้วัดศรีชุมมีชื่อเสียงโด่งดัง เรียกได้ว่าใครที่มาสุโขทัยแล้วไม่ได้ไปไหว้พระอจนะ ถือว่ายังมาไม่ถึง

ส่วนยอดของมณฑปวัดศรีชุม โดยสันนิษฐาน

แต่สำหรับผมแล้ว เรื่องที่น่าสนใจกว่าตำนานและพระอจนะ คือ ภายในกำแพงมณฑปหลังนี้มีอุโมงค์ ภายในอุโมงค์ประดับด้วยภาพสลักหินเรื่องพระเจ้า 500 ชาติ และที่นี่เป้นที่ค้นพบศิลาจารึกหลักที่ 2 (วัดศรีชุม) ทั้งอย่างเกี่ยวพันกับพระเถระผู้ใหญ่รูปหนึ่งในสุโขทัย คือ "สมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีศรีรัตนลงกาทีปมหาสามี"

ทางเขาอุโมงค์วัดศรีชุม ปัจจุบันถูกปิด
ตัวอย่างภาพชาดกในอุโมงค์ (แอบถ่ายมาจากพิพิธภัณฑ์)

พระเถระรูปนี้มีประวัติหน้าสนใจมาก เดิมเป็นเจ้าชายสายราชวงศ์ศรีนาวนำถุม (เป็นหลานปู่ของพ่อขุนผาเมือง) ประสูติที่เมืองสรลวงสองแคว (พิษณุโลก)  ตอนเป็นเจ้าชายมีฝีมือในการรบมาก ขนาดทำยุทธหัตถีก็เคยชนะมาแล้ว ต่อมาเมื่ออายุได้ 31 ชันษา ก็เกิดเบื่อหน่ายทางโลก (ซะงั้น?) เลยออกบวชและเริ่มเดินทางจาริกแสวงบุญ ช่วยบูรณะศาสนสถานตามที่ต่างๆไปจนถึงอินเดียและลังกา แล้วก็กลับมาเขียนจารึกที่สุโขทัย ในสมัยของพระยาลิไท

ผมว่า ถ้าเอาประวัติของท่านในจารึกวัดศรีชุมมาแต่งต่อ คงเป็น "ไซอิ๋ว" ฉบับไทยๆ ได้สบายสบาย

ท่านศรีศรัทธาฯ เป็นคนที่มีลักษณะความเชื่อแปลกๆ คือ เป็นพระที่มีวัตรปฏิบัติแบบลังกาวงศ์แท้ๆ อยากบรรลุธรรม แต่ก็เชื่อในพราหมณ์ (ในจารึกบอกว่า ท่านเชื่อว่าตนเองเป็นพระกฤษณะมาจุติ) ทั้งในศิลาจารึกและภาพชาดกที่มาจากท่าน (?) ต่างก็เน้นเรื่องของการสั่งสมบุญบารมีของพระโพธิสัตว์ แบบมหายาน ... ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะ ท่านมาจากตระกูลที่มีความเกี่ยวพันกับขอม และอาจเป็นขอมคนสุดท้ายในหน้าประวัติศาสตร์สุโขทัย

วัดศรีชุม ฝีมือลูกสาวครับ
ผมเชื่อว่าแต่เดิม ทั้งภาพชาดกและศิลาจารึกหลักที่ 2 ไม่น่าจะอยู่ในที่ลึกลับ อย่างในอุโมงค์วัดศรีชุม  น่าจะถูกย้ายเข้ามา (ซ่อน) หลังจากที่ท่านศรีศรัทธาฯสิ้นแล้ว เพราะในสมัยนั้นสุโขทัยอยู่ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน พระยาลิไทมีความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปบ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่น ทั้งทางอำนาจและความเชื่อ ... ประสบการณ์และความรู้ของท่านศรีศรัทธาฯ ก็คงเป็นเหมือนของเก่า ที่ต้องถูกเก็บรักษา มากกว่าจะเอาออกมาใช้ ...

ถ้าใครอยากดู ทับหลังรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่พบที่วัดศรีสวาย รูปสลักเทวนารีที่พบที่ศาลตาผาแดง เศษชิ้นส่วนปูนปั้นมากมายที่พบที่วัดพระพายหลวง รวามถึงภาพชาดกที่วัดศรีชุม ไปดูได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง ที่อยู่ข้างหน้าอุทยานฯ นะครับ มีอะไรให้ดูเยอะ จัดแสดงได้ดี แต่เสียดายที่ห้องจัดแสดงเขาห้ามถ่ายรูป (ห้ามทำไมก็ไม่รู้) แต่ถึงจะถ่ายรูปไม่ได้ก็ควรจะไปดูนะครับ ... บอกได้คำเดียวว่า ... "สวย"

บ้านพักของข้าราชการพิพิธภัณฑ์ สวยดี
Share: