วันนี้เป็นวันสุดท้ายของผมแล้วที่สุโขทัย เลยตั้งใจว่าจะตระเวนเก็บวัดรอบๆกำแพงเมืองเก่าให้ครบ จะได้ไม่มีอะไรค้างคาใจ ... แต่เท่าที่ไปมา ผมแปลกใจที่ไม่ค่อยมีใครสนใจวัดบริเวณนี้เลย จะมีก็แต่ พวกแบ็คแพ็กเกอร์หลงๆมา กับพวกทัวร์รถตู้อีกนิดหน่อย มาเป็นระลอกๆ แต่ถ้าเทียบกับที่ไฮไลท์อย่าง วัดมหาธาตุ กับวัดศรีชุม แล้วนับว่าเงียบเหงามาก
คงเพราะ ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน? แต่ละวัดมีอะไร? สำคัญแค่ไหน? ไปแล้วจะยังไง? ทำอะไรได้บ้าง?
![]() |
รวงข้าวใหม่ ๆ ยามเช้า ที่หน้าวัดเจดีย์สี่ห้อง |
จะเริ่มอย่างไร? ... ผมก็อยากจะแนะนำว่าให้แบ่งวัดออกเป็นกลุ่มๆ ตามทิศกำแพงเมือง ด้านทิศใต้จะเป็นกลุ่มวัดของพระสังฆราช และพระเถระจากกำแพงเพชร ด้านทิศเหนือที่วัดพระพายหลวงเป็นเขตเมืองสุโขทัยในยุคแรกเริ่ม ด้านตะวันตกเป็นเขตอรัญญิก (วัดป่า) ส่วนทางตะวันออกเป็นวัดใหม่ที่สร้างขึ้นในสมัยที่สุโขทัยตกอยู่ในอำนาจของอยุธยาแล้ว แต่ละกลุ่มไม่ไกลกันเท่าไหร่ สามารถขับรถวนเที่ยวให้จบภายในวันเดียวได้ (แต่ถ้าอยากมีประสบการณ์แอดเวนเจอร์หน่อยๆ คิดจะเดินชมกลุ่มวัดป่าบนเขาอาจต้องใช้เวลามากกว่านั้นหน่อย)
ตัวอย่างเส้นทางที่ผมลองทำมาแล้ว สะดวกดี คือ เริ่มจากวัดนอกกำแพงเมืองทางทิศใต้ก่อน เพราะอยู่ใกล้ที่พัก ... จากนั้นก็ผ่านเข้าเมืองทางประตูนะโมทางทิศใต้ ไปดูโบราณสถานแบบขอมในเมือง ซึ่งก็คือ วัดศรีสวาย ศาลตาผาแดง ... แล้วเลยไปวัดพระพายหลวงแล้วก็วัดศรีชุมทางเหนือ เป็นอันหมดรอบเช้า ... หลังจากหาก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยอร่อยๆในตัวจังหวัดกิน ไหว้ศาลแม่ย่า และกลับมาเข้าไปหลบแดดที่พิพิธภัณฑ์สถานฯ รามคำแหง ... ช่วงบ่ายก็เขตวัดป่าด้านทิศตะวันตก และสรีดพงส์ (หรือเขื่อนพระร่วง) ... ส่วนวัดด้านตะวันออกนั้นผมเก็บไว้แวะก่อนกลับกรุงเทพฯ วันรุ่งขึ้น
--- กลุ่มแรกคือวัดนอกกำแพงทางทิศใต้ เข้าทางถนนหลวงหมายเลข 1272 จะมีซอยแยกเข้าไป (ด้านเดียวกับตัวเมือง) ทางนี้จะผ่านโบราณสถานเล็กๆ หลายแห่งสลับกับทุ่งนา (ยิ่งถ้าเป็นตอนเช้า อากาศดีๆ ทางเส้นนี้น่าปั่นจักรยานเที่ยวมากเลยแหละครับ) ขับตามถนนไปเรื่อยๆ จนสุดถนนจะเป็นสามแยก ตรงแยกมีวัดใหญ่ที่สำคัญอยู่ 2 วัด คือ วัดเชตุพน กับ วัดเจดีย์สี่ห้อง ตั้งอยู่ตรงข้ามกัน ---

วัดเชตุพนเป็นวัดใหญ่ มีคูน้ำล้อมรอบ วัดนี้เชื่อกันว่าเป็นวัดของพระสังฆราชประจำกรุงสุโขทัย สิ่งก่อสร้างที่เป็นประธานของวัดคือ มณฑปพระสี่อิริยาบถ พระปางลีลาด้านทิศตะวันออกสัดส่วนสวยงามมาก ถ้ายังสมบูรณ์น่าจะเป็นพระงามที่สุดองค์หนึ่งในสุโขทัย มีการนำเอาแผ่นหินชนวนขนาดใหญ่มาก่อสร้างเป็น ผนังวิหาร กำแพงแก้ว ประตู และเจดีย์ทิศ มีศิลาจารึกบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการสร้างวัด ปัจจุบันอยู่ที่หน้าอุโบสถ วัดอินทาราม ที่กรุงเทพฯ
![]() |
พระปางลีลา ที่วัดเชตุพน |
![]() |
แนวกำแพงวิหาร ที่ทำด้วยหินชนวน |
![]() |
การทำงานของช่างภาพ ^_^ |
ตรงข้ามกับวัดเชตุพนเป็นวัดเจดีย์สี่ห้อง มีขนาดเล็กกว่าหน่อย แต่มีคูน้ำล้อมรอบเหมือนกัน ประธานของวัดเป็นเจดีย์ทรงกลมแบบลังกา ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม ที่ฐานมีปูนปั้นรูป มนุษย์นาค สลับกับสิงห์ขี่ช้างหมอบ ประดับโดยรอบ คาดว่าสร้างให้เป็นผู้พิทักษ์เจดีย์ตามคติลังกา เจดีย์องค์นี้ได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่ แต่เดิมเมื่อแรกพบอยู่ในสภาพพังทะลายเหลือแต่ฐาน พบกรุภายใน อ.เขียน ยิ้มศิริ เคยมุดเข้าไปดูภายใน พบภาพจิตรกรรม เป็นภาพลวดลายใบไม้ดอกไม้เลียนแบบธรรมชาติ เชื่อกันว่าสร้างเพื่ออุทิศบุญกุศลให้กับช้างทรงของพ่อขุนรามคำแหง ที่ทรงขับเข้าทำยุทธหัตถีกับขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด
![]() |
เจดีย์ประทาน วัดเจดีย์สี่ห้อง |
![]() |
ลายปูนปั้น ที่ฐานเจดีย์ |
กลุ่มทางทิศเหนือนั้นผมเล่าไปแล้วในตอน สุขอมไท? ก็เลยจะขอพูดถึงเขตอรัญญิกทางทิศตะวันตกเลยก็แล้วกัน
--- เขตอรัญญิกของเมืองสุโขทัยมีวัดอยู่ 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่เป็นวัดป่าแท้ๆบนเขา กับกลุ่มที่อยู่ในพื้นราบใกล้เมืองหน่อย ซึ่งเป็นวัดที่มีพระเถระผู้ใหญ่จากเมืองมอญและนครศรีธรรมราชมาจำพรรษา ---

ถ้าเข้าจากทางหลวงหมายเลข 12 (เหมือนผม) วัดแรกที่จะเจอคือวัดสะพานหิน ตั้งอยู่บนยอดเขาเตี้ยๆ สูงประมาณ 200 เมตร ชื่อวัดมาจากทางเดินขึ้นด้านหน้าที่ปูด้วยหินชนวน จากเชิงเขาไปจนถึงวัดบนยอดเขา ข้างบนมีพระพุทธรูปยืนปางประทานพรขนาดใหญ่ นักวิชาการเชื่อว่าพระองค์นี้คือ "พระอัฎฐารศ" ที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 2 (วัดศรีชุม) และที่นี่น่าจะเป็นที่ที่พ่อขุนรามคำแหงทรงขับช้างขึ้นมาทำบุญทุกๆวันพระใหญ่ (ขึ้นและแรม 15 ค่ำ) ในศิลาจารึกหลักที่ 1
![]() |
ทางขึ้น วัดสะพานหิน |
![]() |
ทิวทัศน์จากบนวัดสะพานหิน |
![]() |
ทางเดินเท้าเชื่อมวัดต่างๆ บนสันเขา |
นอกจากนี้ บนยอดเขายังพบพระพุทธรูปหินทราย สมัยทวาราวดี มีอายุเก่าแก่ก่อนสร้างเมืองสุโขทัย เชื่อกันว่าเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปหลายองค์ที่ท่านศรีศรัทธาฯ (แห่งวัดศรีชุม) นำกลับมา จากการธุดงค์ไปลังกา ด้านหลังองค์พระอัฎฐารศมีทางเดินเล็กๆ คิดว่าน่าจะเป็นทางเดินเชื่อมต่อไปยังวัดอื่นๆ ที่อยู่บนเขา
ถัดจากวัดสะพานหินเป็นวัดอรัญญิก และวัดเขาพระบาทน้อยที่พบรอยพระพุทธบาท ตามคติที่สุโขทัยรับมาจากลังกา เพื่อทำให้ภูเขาเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ตามแบบพุทธ แล้วยังพบอาคารขนาดเล็ก (พอดีสำหรับคนคนเดียว) ทำด้วยหินชนวนอยู่หลายแห่ง เชื่อว่าเป็นกุฏิสำหรับทำวิปัสสนาตามแนวปฏิบัติของพระสายวัดป่า
กุฏิแบบนี้พบได้ทั่วไปในกลุ่มวัดที่อยู่บนเขา ทั้งที่ วัดอรัญญิก วัดเขาพระบาทน้อย ... วัดเจดีย์งาม วัดหีบบน ไปจนถึงวัดหีบล่าง
![]() |
เจดีย์ช้างล้อมวัดป่าแดง |
![]() |
เจดีย์สุดสวย ที่ วัดเจดีย์งาม |
น่าเสียดายที่ผมและคณะ (ลูกสาวและเมีย) ใช้แรงในการขึ้นเขาหมดไปแล้ว ตั้งแต่ที่วัดสะพานหิน จะชวนชาวคณะเดินตามทางบนสันเขาก็ไม่มีใครอนุมัติ เลยได้แต่เก็บภาพจากระยะไกลๆ มาฝากเท่านั้น แล้วสัญญากับตัวเองว่าถ้ามีครั้งหน้าจะไม่ยอมพลาด แน่ๆ
จากวัดสุดท้ายมีทางแยก ทางซ้ายมือจะไปกลุ่มวัดป่าที่อยู่บนพื้นราบและเข้าตัวเมืองเก่า ถ้าตรงไปเป็นทางไป สรีดภงส์ หรือ เขื่อนพระร่วง
ผมเลือกไปสรีดภงส์ก่อน เพราะเคยไปเมื่อสมัยมาทัศนศึกษา จำได้ว่าวิวที่นี่สวยดี ก็เลยอยากพาลูกไปเห็น วิ่งรถไปสักพัก จะเห็นทางขึ้นด้านขวา เป็นสันเขื่อนเล็กๆ อยู่ก่อนถึงสถานีควบคุมไฟป่าจังหวัดสุโขทัย
สรีดภงส์ แปลว่า "ทำนบ" เป็นส่วนหนึ่งของระบบจัดการน้ำของสุโขทัย มีลักษณะเป็นคันดินขนาดใหญ่อยู่ระหว่างเขา 2 ลูก ทำหน้าที่ชะลอน้ำป่าที่หลากมาจาก โซกพระร่วงด้านใน มากักใว้ก่อน คล้ายๆ กับพื้นที่แก้มลิง แล้วค่อยๆ ระบายลงคลองเสาหอที่ไหลไปต่อเข้าคูเมือง
![]() |
ทิวทัศน์ที่สรีดภงส์ |
![]() |
สรีดภงส์ ยามเย็น |
ปัจจุบันกรมชลประทานได้ปรับปรุงจนเป็นเขื่อนขนาดย่อมๆ บรรยากาศดีน่าเอาข้าวเหนียวไก่ย่างไปนั่งกินพลาง ตกปลาไปพลาง มากๆ
จากสรีดภงส์ ผมย้อนกลับมาทางเดิม เพื่อไปดูวัดอรัญญิกที่อยู่บนพื้นราบ และกลับเข้าเมืองทางประตูเมืองด้านทิศตะวันตก (ประตูต้นอ้อ)
โบราณสถานกลุ่มนี้ประกอบไปด้วยวัดหลายวัด ตั้งอยู่ใกล้ๆกัน แต่ละวัดก็มีสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่และน่าสนใจ เช่น ที่วัดมังกร มีระเบียงแก้วที่ทำด้วยเครื่องสังคโลก วัดตึกมีมณฑทปประดับด้วยปูนปั้นเรื่องพุทธประวัติ วัดที่ใหญ่และสำคัญที่สุดน่าจะเป็น วัดป่ามะม่วง
![]() |
วัดมังกร |
![]() |
เทวาลัยเกษตรพิมาน |
ในสมัยที่สุโขทัยมีปัญหากับอยุธยา พระเจ้าอู่ทองขึ้นมายึดเมืองพิษณุโลก ทำให้พระยาลิไทจำต้องสละราชบัลลังก์สุโขทัย ออกผนวชที่วัดป่ามะม่วง โดยอัญเชิญ พระมหาสามีสังฆราช จากเมืองพัน (เมืองมอญ) มาเป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากนั้นก็คงจะเสด็จมาจำพรรษาที่วัดนี้ระยะหนึ่ง ก่อนจะดำเนินการเจรจาต่อรองขอบิณฑบาตเมืองพิษณุโลกคืน โดยจะยกเมืองสุโขทัยให้พระขนิษฐาของพระองค์ ซึ่งเป็นมเหสีของขุนหลวงพะงั่ว (อุปราชอยุธยาสมัยนั้น) เป็นการแลกเปลี่ยน
ส่วนพระมหาสามีสังฆราช ซึ่งน่าจะเป็นพระสายวัดป่า ก็ให้จำพรรษาอยู่ที่วัดศรีโทล ใกล้ๆ ข้างๆ วัดป่ามะม่วงเพื่อเผยแพร่ศาสนาพุทธเถรวาทต่อไป
นอกจากนี้ภายในวัดป่ามะม่วงยังมีหอเทวาลัยอยู่แห่งหนึ่ง ชื่อ "เทวาลัยเกษตรพิมาน" ภายในเคยประดิษฐานเทวรูปสำริด รูปพระอิศวรและพระนารายณ์ ขนาดใหญ่และงดงามมาก ตามแบบศิลปะสุโขทัยแท้ๆ ปัจจุบันเทวรูปดังกล่าวเก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานฯ พระนคร
ผมคิดว่าประติมากรรมสำริดของสุโขทัย เป็นลักษณะที่โดดเด่น และสำคัญที่สุดในศิลปะสุโขทัย ความงดงามของทั้งพระพุทธรูปและเทวรูปสมัยสุโขทัยนี่แหละ ที่ทำให้หลายคนยกย่องให้ศิลปะสุโขทัยเป็นยุคทองของศิลปะไทย
ถ้าใครอยากดื่มด่ำกับศิลปะสุโขทัยอีกสักนิด ผมแนะนำให้ไปดูเพิ่ม ที่วัดตระพังทองหลาง ที่อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเมือง
--- ส่วนใหญ่กลุ่มวัดด้านตะวันออกนี้ เป็นวัดยุคหลังๆ สมัยที่สุโขทัยโดนครอบงำจากอยุธยาแล้ว แต่ก็มีวัดที่สวยงามและน่าสนใจหลายวัด เช่น วัดช้างล้อม วัดเจดีย์สูง และวัดตระพังทองหลาง แต่เนื่องจากบริเวณนี้มีถนนเชื่อมไปยังตัวจังหวัด มีร้านค้า ร้านกาแฟและโรงแรมเกิดขึ้นเยอะ ทำให้หาทางเขาโบราณสถานค่อนข้างยาก ... ทางเข้าวัดช้างล้อมไม่มีป้าย ... วัดเจดีย์สูงก็อยู่ข้างหลังสถานีอนามัย ... ส่วนทางเข้าวัดตระพังทองหลาง เป็นซอยเล็กๆ ปากซอยเป็นร้านขายของเก่า (วงศ์พาณิชย์) ---
สิ่งที่ไม่ควรพลาดคือ มณฑปที่วัดตระพังทองหลาง รอบๆ มณฑป ประดับด้วยปูนปั้นพุทธประวัติ 4 ตอน ใน "อัษฏมหาปาฏิหาริย์" หรือเหตุการณ์สำคัญในพุทธประวัติแปดประการ ด้านตะวันออกคือด้านหน้าของมณฑปที่มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ซึ่งหมายถึงตอนตรัสรู้ ด้านทิศใต้เป็นตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากที่ทรงขึ้นไปโปรดมารดาบนสวรรค์ ด้านทิศตะวันตกเป็นตอนแสดง "ยมกปาฏิหาริย์" (เนรมิตกายให้เป็นหลายองค์) เพื่อลดทิฐิของคนกลุ่มหนึ่งที่เมืองสาวัตถี ส่วนด้านเหนือเป็นตอนปราบช้างธนาปาลหัตถีนาฬาคีรีที่เมืองราชคฤห์
![]() |
มณฑปวัดตระพังทองหลาง |
![]() |
ภาพปูนปั้นในคูหาด้านทิศใต้ ปัจจุบันเสียหายมากแล้ว |
ปัจจุบันภาพปูนปั้นเสียหายไปเยอะแล้ว แต่ก็ยังพอเห็นเค้าโครงความงาม ได้บ้าง ... สมัยก่อนคงงดงามมาก อ. ศิลป์ พีระศรี เคยกล่าวไว้ในบทความของท่านว่า
--- ศิลปะชิ้นเอก ซึ่งประทับใจเรายิ่งกว่า ก็คือ พระพุทธรูปนูนสูงปางลีลา ในคูหาของมณฑป ณ วัดตระพังทองหลาง เมืองสุโขทัย ตามความจริง เฉพาะแต่ศิลปกรรมชิ้นนี้ชิ้นเดียวเท่านั้น ก็เพียงพอที่จะจารึกคุณค่าของศิลปของอาณาจักรสุโขทัยลงไว้ด้วยอักษรทอง ---
![]() |
วัดเจดีย์สูง ฝีมือลูกสาว ครับ |
เป็นอันว่าครบถ้วนตามที่ตั้งใจไว้แล้ว (เท่าที่เวลาจะอำนวย) หวังว่าบทความเรื่อง "สุโขไกด์" นี้จะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่กำลังวางแผนจะไปเที่ยวสุโขทัย บ้าง หรือเชิญชวนให้ใครที่ยังไม่มีแผน ได้นึกอยากไปบ้าง เท่านี้ ผมก็พอใจแล้ว
ผมเองก็หวังว่า จะมีโอกาสไปอีกสักหลายๆ ครั้ง ยังมีอีกหลายที่ ที่พลาดไป ไม่ว่าจะเป็น เจดีย์ชางรอบที่กำแพงเพชร เขตวัดป่าที่ศรีสัชนาลัย จนถึงทางเดินบนเขาในเขตวัดอรัญญิกที่สุโขทัย ... ฯลฯ แต่ครั้งหน้า ผมคงจะไม่หาข้อมูลเจาะลึกมาเขียนเป็น blog แบบนี้อีกแล้ว จะค่อยๆ เที่ยว ค่อยๆ ซึมซับบรรยากาศของเมืองเก่าให้เต็มที่เลยหละครับ
....
...