21/03/2557

สุโขไกด์ ┊3┊กำแพงเพชรเขตวัดป่า หรือจะเป็นเมืองแห่งการศึกษา?

จากเขตเมืองเก่ากำแพงเพชร ผมใช้ทางหลวงหมายเลข 101 มาประมาณ 200 เมตร ก็พบป้ายทางเข้าเขตอรัญญิก (เขตวัดป่า)  แต่ผมสองจิตสองใจ ลังเล ใจหนึ่งอยากรีบไปให้ถึงสุโขทัยก่อนค่ำ อีกใจก็อยากจะแวะดูเพราะตรงนี้ยังไม่เคยมา ... โชคดีที่ขับรถเลยมาเกือบ 2  กิโล เจอทางเข้าอีกทางด้านหลัง เหมือนจะบอกว่า ... "แวะเถอะยังมีโอกาส นะ"

แผนที่เขตอรัญญิกของกำแพงเพชร

เขตอรัญญิกของกำแพงเพชรตั้งอยู่บนเนินขนาดใหญ่กินพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ ใต้เนินดินเป็นแหล่งศิลาแลง ที่ประตูทางเข้าด้านหลัง (ด้านที่ผมหลงมาเข้า) มีวัดชื่อ "วัดอาวาสใหญ่" ... ซึ่ง ใหญ่จริงๆ  ความใหญ่โตของซากวัดที่อยู่ท่ามกลางสวนป่า ให้ความรู้สึกน่าค้นหาอย่างประหลาด ... ภาพที่เห็นเชิญชวนให้ผมคิดว่า เอาหละไหนไหนก็มาแล้ว ตระเวนชมวัดเก่าเมืองกำแพงอีกสักหน่อยจะเป็นไรไป

วัดอาวาสใหญ่ มีบ่อน้ำใหญ่อยู่หน้าวัด ชาวบ้านเรียกว่า "บ่อสามแสน" มีเจดีย์ประธานฐานย่อมุม (สูงมาก) ปัจจุบันเหลือแต่ฐาน หน้าเจดีย์เป็นวิหารขนาดใหญ่ ข้างวิหารทั้งซ้ายขวา มีเจดีย์รายขนาดค่อนข้างใหญ่ วัดนี้อะไรๆก็ใหญ่ไปหมด

แผนผังวัดอาวาสใหญ่
เจดีย์รายวัดอาวาสใหญ่
เจดีย์รายที่วัดอาวาสใหญ่ 
บ่อสามแสน
บ่อสามแสน หน้าวัดอาวาสใหญ่ เดิมเป็นบ่อศิลาแลงที่น่าจะใหญ่และลึกที่สุดในประเทศไทย เชื่อว่า หลังจากขุดศิลาแลงมาใช้ก่อสร้างแล้ว ก็ใช้เป็นบ่อเก็บน้ำไว้ใช้ในเมือง

จากวัดอาวาสใหญ่ ผมขับรถมาเรื่อยๆ ตามถนนเล็กๆ ในอุทยานฯ  ไม่นานก็มาถึงบริเวณที่น่าจะเป็นศูนย์กลางของเขตอรัญญิกนี้  มีวัดขนาดใหญ่ตั้งเรียงขนานกัน 4-5 วัด ที่สำคัญคือ วัดสิงห์, วัดพระสี่อิริยาบถ และวัดพระนอน ทุกวัดมีสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่โตไม่แพ้วัดในวัง (หรือ บางทีอาจจะใหญ่กว่า) 

วัดสิงห์ มีสิ่งที่น่าสนใจคือ อุโบสถขนาดใหญ่ อยู่บนฐานสูงแบบอยุธยาตอนต้น มีร่องรอยของสิงห์ปูนปั้นที่ประดับบันไดทางขึ้น ก็เลยชื่อวัดสิงห์  การมีอุโบสถขนาดใหญ่และตั้งเป็นประธานของวัด แสดงว่าที่นี่มีคนบวชเป็นพระจำพรรษาเยอะ จำเป็นต้องมีอุโบสถ (หอประชุม) เพื่อใช้เป็นที่ "สังฆกรรม" ระหว่างพระด้วยกันเอง และถ้าจะให้ทำสังฆกรรมได้ทุกประเภทแล้ว อุโบสถจะต้องมีขนาดใหญ่พอ จุพระได้ไม่น้อยกว่า 20 รูป

วัดสิงห์
อุโบสถวัดสิงห์
ร่องรอยของสิงห์ที่เฝ้าหน้าโบสถ์

ถัดจากวัดสิงห์ลงมาทางใต้คือ วัดพระสี่อิริยาบถ สิ่งก่อสร้างที่เป็นประธานของวัดนี้ คือ มณฑปพระสี่อิริยาบถ ในมณฑปมีพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ 4 องค์ 4 ปาง (ท่า) หันหลังชนกันและหันหน้าไปตามทิศทั้งสี่  ทางตะวันออกเป็นปางลีลา (พระเดิน) ด้านใต้เป็นพระนั่งปางมารวิชัย ด้านตะวันตกสมบูรณ์ที่สุดเป็นปางประธานอภัย ส่วนด้านทิศเหนือเป็นพระนอนหรือปางไสยาสน์  พระสี่อิริยาบถนี้ เข้าใจว่าได้แบบอย่างมาจากลังกา หรืออาจมาจากศิลปะพุกามในพม่า  เป็นที่นิยมสร้างกันมากในสมัยสุโขทัย และถือเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของแคว้น

วัดพระสี่อิริยาบท
คููหาด้านตะวันออก (หน้าวัด) เป็นปางลีลา
ด้านทิศใต้เป็นปางมารวิชัย
ด้านตะวันตกปางประธานอภัย
ตอนแรกดูเหมือนว่าองค์พระจะดูไหล่กว้างแปลกๆ แต่ถ้าดูในมุมจริงๆ สมัยที่มณฑปนี้ยังมีหลังคา ดูแล้วสมส่วนสวยงาม
ทิศเหนือเป็นพระนอน

รอบๆวัดมีบ่อน้ำเก่าอยู่หลายบ่อ บางบ่อเป็นบ่อศิลาแลงเก่าเหมือนบ่อสามแสนที่วัดอาวาสใหญ่ บางบ่อมีขอบบ่อ อาจจะเป็นที่สรงน้ำของพระเณร ส่วนบางบ่อไม่มีขอบ เขาว่ากันว่าเป็นบ่อส้วมครับ

ฐานกุฎิ? หลังวัด
บ่อน้ำรอบๆวัด อันนี้อาจเป็นบ่อส้วม
บ่อนี้อาจเป็นบ่อศิลาแลงเก่า
เนื่องจากเป็นบ่อ มีจอมปลวก และอยู่ในแคว้นสุโขทัย
จะมีใครนึกถึงพญานาคก็คงไม่แปลกอะไร ;)

กระทงหรือบายศรี รูปพญานาคสีเจ็บ

ถัดจากวัดพระสี่อิริยาบถก็เป็น วัดพระนอน วัดนี้ก็มีอุโบสถขนาดใหญ่และอยู่ในแกนประธานของวัดเช่นเดียวกับที่วัดสิงห์ หลังอุโบสถเป็นวิหารพระนอน ปัจจุบันไม่เหลือร่องรอยขององค์พระแล้ว แต่สิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจก็คือ เสาขนาดใหญ่ของวิหารนี้ แต่ละต้นเป็นศิลาแลงทั้งก้อน และเป็นก้อนมโหฬารที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมาเลยทีเดียว ด้านหลังสุดเป็นเจดีย์ทรงกลมองค์ใหญ่ สัดส่วนสวยงามตามแบบช่างเมืองกำแพงเพชร

เสาศิลาแลงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
เสาศิลาแลงขนาดมหึมา
เจดีย์ประธานวัดพระนอน กำแพงเพชร
เจดีย์ประธาน สวยเพรียวแบบกำแพงเพชร

จากความใหญ่โตโอ่อ่าของบรรดาวัดในบริเวณนี้ ทำให้นักวิชาการด้านโบราณคดีหลายท่าน เชื่อว่า บริเวณนี้ไม่น่าจะเป็นเขตวัดป่าที่เน้นด้านวิปัสสนาธุระ อย่างที่สุโขทัยหรือศรีสัชนาลัย  แต่อาจจะเป็นชุมชนที่ขยายออกมาจากตัวเมืองที่คับแคบ หรือเป็นที่พำนักของพระเถระผู้ใหญ่ที่ อิมพอร์ต มาจากลังกาและเมืองพันของมอญ มากกว่า

ถ้าจะอธิบายให้เห็นภาพ ผมว่า ... เขตอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชรนี้ น่าจะเป็นสถานที่ที่สำนักสงฆ์จากลังกาและเมืองมอญ เข้ามาเปิดวิทยาเขตกัน และคงมีหลายสำนักด้วย ... นอกจากด้านพุทธศาสนาแล้ว เมืองนี่น่าจะมีความเจริญด้านวิชาการอื่น เช่น วิศวกรรม สถาปัตยกรรม และศิลปกรรมอีกด้วย หรือจะเรียกว่าเป็นเมืองแห่งการศึกษาของแคว้นสุโขทัย ก็คงได้ 

ถัดจากวัดพระนอน เป็นวัดนาคเจ็ดเศียร แต่เหลือบดูเวลาก็ปาเข้าไป 4 โมงกว่าแล้ว นอกจากวัดนาคเจ็ดเศียรแล้วยังเหลือวัดสำคัญที่ไม่ควรพลาดอีก คือ วัดช้างรอบ แต่เวลาที่เหลืออยู่คงไม่พอให้เดินเที่ยวต่อ ถ้ามัวโอ้เอ้ คงไปถึงสุโขทัยค่ำมืดเกินไปแน่ๆ ต้องออกเดินทางได้แล้ว วัดที่เหลือก็ใช้วิธีขับรถโฉบไปดูแทนก็แล้วกัน

ระหว่างเดินกลับมาที่รถ ผมก็เจอเด็กสาว ม.ปลายจับกลุ่มกันอยู่สามสี่คน  จริงๆแล้วไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะตลอดทางที่เดินชมโบราณสถานมา ก็รู้สึกเหมือนเดินอยู่ในสวนสาธารณะข้างสถานศึกษา  ผมเจอเด็กวัยรุ่นหลายกลุ่ม บางกลุ่มก็มาซ้อมเต้น บางกลุ่มก็มาซ้อมละคร บางกลุ่มก็มาติวหนังสือ

แต่สาวๆ กลุ่มที่ผมเพิ่งเจอนี่ พวกเธอทำอะไรที่แปลกไป คือ พวกเธอมาพร้อมกล้องวิดีโอ มาดักรอสัมภาษณ์นักท่องเที่ยวและก็ได้เหยื่อพอดีตอนผมเดินมา เสียงสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ ฉะฉาน มั่นใจ เห็นแล้วอดชื่นชมไม่ได้ ... กระชุ่มกระชวยดีแท้

ผมเชื่อว่า สถานที่ต่างๆ จะเก็บสะสมพลังงานของคนที่เคยใช้มันไว้ ถึงแม้เวลาจะผ่านไป พลังงานดังกล่าวก็ยังอยู่ และจะถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังรับรู้ หรือถูกชักนำไปตามรูปแบบของพลังนั้นๆ ... ในที่นี้ พลังงานที่ว่านั่นน่าจะเป็น พลังงานแห่งการเรียนรู้ หรืออาจจะเป็นไฟของวัยหนุ่มสาว ... อิอิ

กลับมาถึงรถ ขึ้นรถแล้วก็ขับวนหาวัดช้างรอบ วนได้สองรอบก็ถอดใจ  วัดช้างรอบอยู่ห่างออกไปนิดหน่อย และก็ไม่มีป้ายบอกทาง เวลาก็บีบ อารมณ์ลูกสาวก็เริ่มบูด (คงจะเหนื่อย) ก็เลยต้องปล่อยผ่านไปอย่างน่าเสียดาย ... ยิ่งมารู้ตอนหลังว่า เจดีย์วัดช้างรอบนี้ถือเป็นเจดีย์ช้างล้อมที่ใหญ่ที่สุดในแคว้นสุโขทัย ยิ่งเสียดายกันเข้าไปใหญ่ ... "ถ้าใครที่อ่าน blog นี้แล้วมีโอกาสไปกำแพงเพชร ... ฝากเที่ยวต่อให้ด้วยนะครับ"

พระสี่อิริยาบท
รูปพระสี่อิริยาบถ ฝีมือลูกสาวผมเองครับ
คนวาดภาพสุดท้าย เริ่มเบื่อมาตั้งแต่วัดพระนอนแล้วหละ ถ้ายังขืนเดินต่อคงเรื่องใหญ่ ^^"
มุ่งหน้าสู่สุโขทัย ยัย ยัย ยัย....

12/03/2557

สุโขไกด์ ┊2┊กำแพงเพชร รอยต่อระหว่างสุโขทัยกับอยุธยา

และแล้ว ก็ได้ฤกษ์ออกเดินทางกันเสียที ... เส้นทางมาตรฐาน สำหรับการเยี่ยมชมอุทยานประวัติศาสตร์ทั้ง 3 ให้ครบถ้วน (จากกรุงเทพฯ) คือ ... เริ่มต้นที่กำแพงเพชรเป็นออร์เดิร์ฟ ให้สุโขทัยกับศรีสัชนาลัยเป็นเมนคอร์ส และตบท้ายด้วยของหวาน คือไปกราบพระพุทธชินราชที่พิษณุโลก  เพราะฉะนั้น จุดหมายแรกของเรา ก็คือ กำแพงเพชร

ผมออกจากบ้านตอนเช้า ประมาณ 8 โมงกว่าๆ มีแค่กาแฟกับซาลาเปารองท้อง กะว่าจะไปแวะซื้อกล้วยไข่ไว้เป็นเสบียง และหามื้อเช้ากินแบบเหมารวม (เพล) ที่ตัวเมืองกำแพงเพชร  ได้ยินเขาลือกันว่าบะหมี่ที่นั่นอร่อยมาก ห้ามพลาดกันเลยทีเดียว ไปกันเลย...

แปลกใจจริงแขกชอบอะไร ลูกหยี เม็ดก๋วยจี๊ แตงไทย แขกชอบกล้วยไข่ ... แล้วยังได้กินบะหมี่ ... ลั้ลลัลลา ♫

ที่ว่ามานั่นเป็นแค่ความคิด ... ความจริงคือ พอเริ่มเข้าเขตกำแพงเพชร ผมก็ต้องตั้งใจเต็มที่ มีสมาธิจริงจังกับการขับรถ  ไหนจะต้องหนีรถกระบะคันใหญ่ๆที่ไล่จี้ตูด  ไหนจะต้องเร่งแซงรถพ่วงบรรทุกอ้อย  ทั้งยังต้องระวังมอเตอร์ไซต์หวานเย็นข้างทาง ... รู้ตัวอีกทีก็เลยแผงขายกล้วยไข่มาแล้ว ร้านบะหมี่ที่อยากกินก็หาไม่เจอ สุดท้ายเลยต้องไปฝากท้องกับร้านก๋วยเตี๋ยวไก่ต้มยำ (ซึ่งไม่ว่าจะสั่งอะไร ยังไง สิ่งที่จะได้ก็คือ "ก๋วยเตี๋ยวต้มยำ") ข้างกำแพงเมืองเก่า และก็ได้หนังไก่ทอดไปเป็นเสบียงแทน  อิ่มหนำกันแล้วก็ไปเที่ยวเลยดีกว่า

--- ตัวเมืองกำแพงเพชรในปัจจุบัน ตั้งอยู่บนเมืองโบราณ 2 เมือง  เมืองแรกคือ "เมืองนครชุม" ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง ปัจจุบันเป็นย่านตลาดเก่าตรงที่ผมหาทางเข้าไปกินบะหมี่ไม่เจอนั่นแหละครับ  ศูนย์กลางของเมืองนี้อยู่ที่ "พระธาตุนครชุม" ---

เมืองนครชุมนี้ เป็นเมืองที่พระยาลิไทสถาปนาให้เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรม และเป็นหัวเมืองสำคัญเทียบเท่า ศรีสัชนาลัยหรือเมืองพิษณุโลก (สองแคว)  ทั้งนี้เห็นได้จาก การสร้างพระธาตุและศิลาจารึก (หลักที่ 3 นครชุม)  แสดงถึงการพยายามแผ่อิทธิพลมาควบคุมบ้านเมืองในลุ่มน้ำปิง

ต่อมาเมื่อพระองค์ (พระยาลิไท) เริ่มมีปัญหากับอยุธยา พระเจ้าอู่ทองจึงส่ง "ขุนหลวงพะงั่ว" เจ้าเมืองสุพรรณบุรีและเป็นต้นราชวงศ์สุพรรณภูมิ ขึ้นมาเจรจาต่อรองแกมบังคับ  ทำให้พระยาลิไทจำเป็นต้องจำกัดพระราชอำนาจของพระองค์เองเพื่อแลกกับเมืองพิษณุโลก และมีการสร้าง "เมืองกำแพงเพชร" ที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิงตรงข้ามกับเมืองนครชุม เพื่อเป็นจุดยุทธศาสตร์ใช้ควบคุมเฝ้าดูสุโขทัย  ต่อมาเมืองนี้ก็กลายเป็นฐานกำลังของเจ้าชายเลือดผสมระหว่างพระร่วงกับสุพรรณภูมิ ในการชิงอำนาจจากราชวงศ์อู่ทองที่อยุธยา ... และเมืองกำแพงเพชรก็กลายเป็นหัวเมืองสำคัญ (เมืองหน้าด่าน) ของอยุธยามาตลอดจนกระทั่งเสียกรุงครั้งที่ 2

--- เนื่องจากได้รับอิทธิพลทั้งจากสุโขทัยและอยุธยา (โดยเฉพาะสุพรรณภูมิ)  รูปแบบศิลปกรรมในกำแพงเพชรจึงเป็นแบบผสม ผสมกันจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่น่าศึกษา เรียกว่า "สกุลช่างกำแพงเพชร" ---

เมืองกำแพงเพชร มีคูเมือง มีกำแพงศิลาแลงสูงใหญ่แข็งแรงสมชื่อ บนกำแพงมีป้อมปืนแบบฝรั่ง ตามอุดมคติของเมืองหน้าด่านที่ใช้รับศึก  ภายในกำแพงเมืองมี พระอารามหลวง (เขตพุทธาวาสของวัง) ขนาดใหญ่ มีสิ่งก่อสร้างเรียงตัวกันเป็นแนวยาวตามแกนตะวันออก-ตะวันตก ในแผ่นพับของทางอุทยานฯ บอกว่ามี 2 วัด คือ "วัดพระแก้ว" กับ "วัดพระธาตุ"  แต่ถ้าจะแยกตามรูปแบบศิลปกรรมแล้ว จะเห็นว่าอารามหลวงนี้มีการบูรณะเพิ่มเติมสืบต่อกันมาหลายสมัย ส่วนที่เป็นวัดพระแก้วอาจแยกได้ 3 วัด

แผนผังวัดพระแก้วกำแพงเพชร

เริ่มจากอันที่เก่าที่สุดคือ "วัดช้างเผือก" (เรียกตาม อ.ศรีศักร วัลลิโภดม) ด้านตะวันตก ติดกับศาลหลักเมือง วัดนี้มีสถูปทรงกลม ที่ฐานมีช้างล้อมตามแบบสุโขทัย

เจดีย์ช้างล้อมที่วัดช้างเผือก กำแพงเพชร
#1 เจดีย์ช้างล้อม ของวัดช้างเผือก ส่วนยอดหักเสียแล้ว
ช้างปูนปั้นที่ฐานเจดีย์วัดช้างเผือก กำแพงเพชร
#2 ช้างที่ล้อมรอบฐานเจดีย์ ส่วนใหญ่ปั้นขึ้นมาใหม่
หลักฐานว่าเป็นศิลปะสมัยสุโขทัย เอ๊ย! ปั้นใหม่ครับ ^^
#3 กลุ่มเจดีย์บริวารของเจดีย์ช้างล้อม

ถัดมาเป็น "วัดสองพี่น้อง" มีวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ 3 องค์ ศิลปะอู่ทองตอนต้น รอบๆวิหารเคยมีภาพปูนปั้นเรื่องรามเกียรติ์ประดับอยู่ แต่ไม่มีเหลือให้ดูแล้ว

พระประธาน 3 องค์ที่วิหารวัดสองพี่น้อง กำแพงเพชร
#4 พระประธาน 3 องค์ในวิหารวัดสองพี่น้อง
ผมคิดเล่นๆว่า ถ้าในอดีต กษัตริย์เปรียบเสมือนพระโพธิสัตว์ผู้ที่ไม่ยอมไปนิพพาน จะอยู่ช่วยเหลือปุถุชนด้วยความเมตตา พระพุทธรูปนอกจากจะเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าแล้ว อีกนัยหนึ่งก็อาจจะหมายถึงกษัตริย์ได้อย่างไม่ขัดเขิน  พระปางไสยาสน์ข้างหน้าอาจจะหมายถึง พระยาลิไท ส่วนพระปางมารวิชัยอีก 2 องค์ด้านหลัง อาจจะเป็น พระเจ้าอู่ทองกับขุนหลวงพะงั่ว ที่คอยเฝ้าคุมอยู่ และคล้ายกับจะพูดว่า "นิมนต์ให้นอนเสียเถิดนะ พระคุณท่าน ..."

ถัดจากวัดสองพี่น้องก็เป็น "วัดพระแก้ว" ที่ชื่อวัดพระแก้วเพราะเชื่อกันว่า วัดนี้เคยเป็นที่ประดิษฐาน พระแก้วมรกตและพระพุทธสิหิงค์  ด้านหน้าเป็นวิหารฐานสูง เจดีย์ประธานเป็นทรงกลม มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปรอบๆ 16 ซุ้ม  ที่ฐานมีร่องรอยสิงห์ล้อมรอบอยู่ แบบเดียวกับวัดธรรมิกราชที่อยุธยา

วัดพระแก้ว กำแพงเพชร
วัดพระแก้ว
เจดีย์สิงห์ล้อมวัดพระแก้ว กำแพงเพชร
#5 ซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปรอบเจดีย์ มี 16 ซุ้ม
#6 สิงห์ที่ล้อมเจดีย์ เหลือแต่ขา บางตัวก็มีแต่ตัว
ลวดลายประดับบนตัวสิงห์ (เขาว่าเป็นแบบเขมร)

เข้าใจว่าสิงห์ที่ล้อมเจดีย์อยู่นี่ดัดแปลงมาจากเจดีย์ช้างล้อมแบบสุโขทัย และได้รับอิทธิพลมาจากเขมรก็เลยเป็นสิงห์ (แบบเขมร) แทน  แต่ผมดูแล้วกลับไปนึกถึง สิงห์บนเสาอโศกของพระเจ้าอโศกฯ ให้บังเอิญเพราะ ราชวงศ์สุพรรณภูมิผู้สร้างเมืองนี้ ก็ยึดถือคติ "จักรพรรดิราช" ตามแบบพระเจ้าอโศกฯตลอดมา

ด้านหน้าสุดเป็น "วัดพระธาตุ" คาดว่าสร้างหลังสุด และเป็นแบบอยุธยาล้วนๆ แต่คงสร้างตามแบบสกุลช่างกำแพงเพชร สังเกตได้จากองค์ระฆังของเจดีย์ มีขนาดเล็กและเรียวตามความนิยมของสกุลช่างนี้

แผนผังวัดพระธาตุ กำแพงเพชร
#1 ลายปูนปั้นบัวคว่ำบัวหงายที่องค์ระฆังของเจดีย์ประธานวัดพระธาตุ
#2 ฐานเสาข้างวิหาร (ผมเดาว่าอาจจะเป็นเสาหงส์ เพราะกำแพงเพชรใกล้เมืองมอญมาก)

จริงๆแล้วในเขตกำแพงเมืองยังมีที่น่าสนใจอีกหลายที่ เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร และศาลพระอิศวร  แต่เนื่องจากบรรยากาศร่มรื่น เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ ที่วัดพระแก้ว ทำให้ผมเผลอเดินลอยชายจนลืมเวลา รู้ตัวอีกทีก็เกือบบ่ายสามโมงแล้ว ยังเหลือเขตวัดป่าอีกที่อยากไปดู  ผมเลยต้องหยุดการชมเมืองกำแพงในกำแพงเมืองไว้แค่นี้

นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่
กลับมาที่รถ บนเบาะคนขับมีถุงหนังไก่ทอดจากร้านก๋วยเตี๋ยว ข้างในยังเหลืออยู่สองสามชิ้น ... กร่วม ๆ ... อร่อยจริง ๆ แฮะ ... ยังกรอบอยู่เลย

04/03/2557

สุโขไกด์ ┊1┊หนึ่งโหลเกี่ยวกับสุโขทัย ... เอาไว้โม้

เมื่อปลายปีที่แล้ว (2556)  ผมพาครอบครัวไปเที่ยวสุโขทัยมาครับ แต่กว่าจะกล่อมแม่ลิง ลูกลิง สำเร็จ ก็ต้องขุดเอาความประทับใจสมัยที่ไปทัศนศึกษากับเพื่อนที่มหาวิทยาลัย โฆษณา โน้มน้าวเข้าไปทุกวัน ว่าสวยอย่างนั้น อากาศดีอย่างนี้ ... สุดท้ายก็ใจอ่อน ... รอดตัวไปทีที่ทริปนี้ไม่ทำให้พวกเธอผิดหวัง

สุโขทัยเป็นเมืองสงบน่ารัก มีอุทยานประวัติศาสตร์ที่สวยงามเรียบร้อยจนได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็น "มรดกโลกทางวัฒนธรรม" แต่การเที่ยวชมให้สนุกซึ้งใจนั้น ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจ ทั้งด้าน ประวัติศาสตร์, โบราณคดีและศิลปะไทย บ้าง ... ผมจึงตั้งใจเขียน Blog ตอนนี้ให้เป็น Guidebook ว่าจะไปดูอะไรแปลก ๆ สวย ๆ ได้ที่ไหน เวลาตามรอยจะได้ร้อง "ว้าว!" ... บ้าง เหมือนกันกับผม 
(^▽^)

ก่อนจะเล่าเรื่องการเดินทาง เพื่อความเข้าใจ ผมเลยหาเรื่องราวเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยว "สุโขทัย" มาฝาก ... เอาสักหนึ่งโหลนะครับ
แผนที่สุโขทัย
แผนที่แสดงเมืองโบราณร่วมสมัยกับสุโขทัยและเส้นทางการค้าในสมัยนั้น

1. ชื่อสุโขทัย

สุโขทัยเป็นแคว้นโบราณตั้งอยู่บริเวณ 3 ลุ่มน้ำ คือ ยม ปิง น่าน ทางตอนล่าง บริเวณรอยต่อระหว่างภาคเหนือกับภาคกลางของไทยในปัจจุบัน เป็นครือข่ายของเมืองหลายเมือง โดยมีเมืองสุโขทัยเป็นศูนย์กลาง มีอาณาเขต โดยประมาณ คือ ทางเหนือสุดที่เมืองแพร่  ทางใต้มีเมืองพระบาง (นครสวรรค์)  ทางตะวันตกที่เมืองฉอด (แม่สอด) และทางตะวันออกที่เมืองสะค้าใกล้แม่น้ำโขงในเขตอีสานเหนือ

คำว่า "สุโขทัย" มาจาก "สุข" บวก "อุทัย" รวมกันแปลว่า "รุ่งอรุณแห่งความสุข" แต่ถ้าจะยึดตามคำเดิมที่อยู่ในศิลาจารึกแล้ว จะต้องเขียนว่า "สุโขไท" ซึ่ง "ไท" ในที่นี้หมายถึง คน หรือ อิสระชน รวม ๆ แล้วคำนี้อาจแปลได้ว่า "คนที่มีความสุข" หรือ "ความสุขจากอิสระ" ... หรือ "สบายใจไทยแลนด์"
ヽ(^Д^)ノ

ชื่อสุโขทัยในศิลาจารึก

2. เมืองสถานีการค้า

บริเวณที่ทั้งของแคว้นสุโขทัย เป็นชุมทางการค้า (ทางบก) ที่สำคัญของภูมิภาคนี้  มีเส้นทางโบราณหลักๆ 2 แนว ผ่านเมือง ... แนวแรกคือ "ตะวันออก-ตะวันตก" จากเวียดนามเหนือ ผ่านลาว ผ่านสุโขทัย แล้วไปออกทะเลที่อ่าวเมาะตะมะในพม่า ... อีกแนวคือ "เหนือ-ใต้" จากเมืองในแถบอ่าวไทยหรือเมืองพระนครในเขมร ผ่านลพบุรี ผ่านนครสวรรค์ ผ่านสุโขทัย ไปจนถึงล้านนาและน่านเจ้าทางตอนใต้ของจีน

ด้วยความที่เป็นชุมทางการค้าที่คึกคัก และได้รับการสนับสนุนจากอาณาจักรใหญ่รอบข้าง ทำให้ชุมชนบริเวณนี้พัฒนาตัวเองจนเป็นเมืองสถานีการค้า ... ผมเข้าใจว่า คงคล้ายๆ กับ "จุดพักรถบนทางมอเตอร์เวย์" นั่นแหละครับ  สปอนเซอร์หลักอย่างเป็นทางการในการตั้งเมืองก็คือ ละโว้ (ลพบุรี)

สุโขทัยเมืองสถานีการค้า

3. ชะลอมพระร่วง

ถึงสุโขทัยจะตั้งอยู่ในทำเลการค้าที่ดี แต่บริเวณนี้ก็มีปัญหาสำคัญเรื่อง "น้ำ"  ในหน้าแล้งก็แล้งจริง แหล่งน้ำใต้ดินก็ไม่มี ส่วนหน้าฝนก็มักจะมีน้ำป่าจากภูเขาทางทิศตะวันตกหลากเข้าท่วมเสมอ การที่จะตั้งเมืองให้อยู่ได้นั้นต้องอาศัยระบบจัดการน้ำที่ดี ทำให้มีน้ำใช้ตลอดปี และรอดพ้นจากอุทกภัย มีการก่อคันดินแบบต่างๆ จำนวนมาก หลายแนว เพื่อใช้เป็น Floodway ชะลอน้ำป่า แล้วยังสามารถผันน้ำให้ไหลเข้าไปเก็บไว้ในคูเมืองและตระพังจำนวนมาก (มีการขุดพบท่อน้ำดินเผา ทำหน้าที่กระจายน้ำไปจุดต่างๆ ในตัวเมือง)

เรื่องการจัดการน้ำนี้ ทำให้ผมนึกถึงนิทานเรื่อง "พระร่วง" ที่ใช้ชะลอมตักน้ำส่งส่วยให้ขอม  ชะลอมที่มีรูพรุนกลับเก็บกักน้ำได้ด้วยอิทธิฤทธิ์ของพระองค์ ... บางทีนิทานเรื่องนี้อาจเป็นการเปรียบเปรย ชะลอมที่ว่าอาจจะหมายถึงเมืองสุโขทัยทั้งเมือง เลยก็เป็นได้ใครจะไปรู้ ...

การจัดการน้ำในเมืองสุโขทัย

4. พระร่วง

พระร่วงเป็นชื่อกษัตริย์ในตำนาน เป็นลูกครึ่งพญานาค มีอิทธิฤทธิ์ (วาจาสิทธิ์)  ชาวสุโขทัยมักเอาตำนานพระร่วงไปผูกเป็นเรื่อง เพื่อใช้อธิบายที่มาของสิ่งของหรือสถานที่ เช่น ข้าวตอกพระร่วง ปลาก้างพระร่วง โซกพระร่วงลองพระขรรค์ ... ฯลฯ

เมื่อก่อนผมเข้าใจว่า พระร่วงมีตัวตนจริงและหมายถึง "พ่อขุนรามคำแหง" แต่ที่จริงแล้วพระร่วงเป็นชื่อเรียกกษัตริย์ทุกพระองค์ใน "ราชวงศ์พระร่วง" ของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์  รวมถึงกษัตริย์บางพระองค์ในราชวงศ์สุพรรณภูมิของอยุธยาด้วย เพราะทั้งสองราชวงศ์มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกันอย่างแน่นแฟ้น

พระร่วง

5. ความสัมพันธ์เครือญาติ

การเมืองในสุโขทัยถูกแบ่งเป็น 2 ขั่วอำนาจ มี 2 ราชสกุล ราชวงศ์แรกคือ "ราชวงศ์ศรีนาวนำถุม" ของพ่อขุนผาเมือง มีอิทธิพลอยู่ในแถบลุ่มน้ำน่าน (แถวๆ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร)  อีกราชวงศ์ก็คือ "ราชวงศ์พระร่วง" ซึ่งครองเมืองในลุ่มน้ำยม (สุโขทัย ศรีสัชนาลัย รวมถึงกำแพงเพชร) 

วิธีบริหารความเสี่ยงในการแย่งชิงอำนาจกันเอง ของกษัตริย์โบราณ ทำโดยการเกี่ยวดองเป็นญาติกันเสีย (พ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นพี่เขยพ่อขุนผาเมือง)  เมื่อเป็นทองแผ่นเดียวกันแล้วก็กระจายบรรดาลูกๆ ญาติๆ ให้ไปครองหัวเมืองต่างๆ อย่างอิสระ รวมกันเป็นแคว้นอย่างหลวมๆ

เป็นธรรมดาที่ไม่มีความสัมพันธ์ไหนที่เที่ยงแท้ หลังจากสิ้นกษัตริย์ที่เข้มแข็งอย่างพ่อขุนรามคำแหง  การเมืองในสุโขทัยก็เริ่มไม่มีเสถียรภาพ จนมาถึงสมัยพระยาลิไท ซึ่งแม้พระองค์จะพยายามอย่างเต็มที่ ทั้งบู๊ ทั้งบุ๋น แต่ก็ไม่สามารถรวมสุโขทัยให้กลับมาเป็นปึกแผ่นได้อีกเลย สุดท้าย ปลายรัชสมัยของพระองค์ สุโขทัยก็ถูกแทรกแซงทางการเมืองและถูกผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของ "ราชอาณาจักรอยุธยา" ในที่สุด

6. ศิลาจารึก

สำหรับสุโขทัยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุด และทำให้เรารู้เรื่องราวในอดีตมากที่สุด ก็คือ "ศิลาจารึก" จารึกที่พบมีหลายหลัก นับร้อย แต่ที่สำคัญคือ หลักที่ 1 (พ่อขุนรามคำแหง) หลักที่ 2 (วัดศรีชุม) และหลักที่ 3 (นครชุม) เป็นต้น ส่วนใหญ่สร้างในสมัยพระยาลิไท

ในจารึกมีเนื้อหาเกี่ยวกับการสรรเสริญบุญบารมีของกษัตริย์หรือเชื้อพระวงศ์ ประวัติความเป็นมา การประกาศการทำกุศล รวมถึงสภาพบ้านเมืองในช่วงเวลานั้นๆ  เพื่อแสดงความชอบธรรม ให้ชนชั้นนำที่อ่านหนังสือออก เช่น พระ ได้นำไปเผยแพร่ต่อสาธารณะ คล้ายๆ กับการมี ช่องเคเบิลทีวีส่วนตัวนั้นแหละครับ แต่คิดว่าคงไม่รุนแรงดุดันเท่าสื่อสมัยนี้แน่ๆ
(ゝ。∂)

ศิลาจารึก

7. พระมหาธรรมราชาที่ 1 พระยาลิไท

ไหนไหนก็เอ่ยถึงพระยาลิไทมาหลายครั้งแล้ว เล่าเรื่องของพระองค์เลยแล้วกัน  ปกติเมื่อพูดถึงกษัตริย์สุโขทัยแล้ว หลายคนมักจะนึกถึงพ่อขุนรามคำแหง แต่มีกษัตริย์อีกพระองค์ที่มีความสำคัญกับสุโขทัยมาก เพราะถ้าไม่มีพระองค์แล้ว เราคงรู้จักสุโขทัยน้อยลงกว่านี้เยอะเลยหละครับ ซึ่งก็คือ พระยาลิไท

เนื่องจากสมัยของพระองค์ สุโขทัยมีปัญหาทางการเมือง พระองค์จึงจำเป็นต้องทำหลายอย่างเพื่อสร้างความชอบธรรม เช่น  สร้างศิลาจารึกหลายหลัก  สร้างพระพุทธรูปสำคัญมากมาย  คิดสร้างสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่เพื่อเป็นเอกลักษณ์ของแคว้น (เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์)  ผลักดันสุโขทัยให้เป็นศูนย์กลางทางศาสนาโดยเชิญพระเถระผู้ใหญ่จากลังกา ทำให้มีการแต่ง "ไตรภูมิพระร่วง"  สุดท้ายก็ผูกสัมพันธ์กับราชวงศ์สุพรรณภูมิของอยุธยา ทำให้ถึงแม้สุโขทัยจะถูกกลืน แต่ลูกหลานราชวงศ์พระร่วงก็มีบทบาทสำคัญในการปกครอง อาณาจักรอยุธยา ในเวลาต่อมา

8. วัดบ้าน, วัดป่า

ถ้าใครได้ไปเที่ยวชมอุทยานประวัติศาสตร์ทั้ง 3 ที่ (สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร) จะเห็นว่ามีการแยกเขตวัดบ้าน (คามวาสี) กับวัดป่า (อรัญวาสี) ออกจากกันอย่างชัดเจน  ธรรมเนียมการแบ่งสงฆ์ออกเป็น 2 ฝ่านนี้มาจากลังกา ครับ

แต่เดิมสมัยพุทธกาลนั้นไม่มีวัด (ที่ใช้ทำพิธีกรรมทางศาสนา) จะมีก็แต่ "สำนักสงฆ์" ที่พระเจ้าแผ่นดิน หรือเศรษฐี สร้างถวาย ให้เป็นที่พักชั่วคราว ในยามที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาที่นั้นๆ  ทั้งนี้เพราะพระพุทธองค์ไม่ประสงค์จะให้พระสงฆ์ยึดติดในทรัพย์สินธ์ทางโลก กำหนดวัตรปฏิบัติให้ออกธุดงค์ (ซึ่งเป็นวัตรปฏิบัติของพระสายวัดป่า)

ต่อมา หลังสมัยพุทธกาล มีการสร้างเจดีย์ให้เป็นที่เคารพ มีคนมาแสวงบุญที่สังเวชนียสถานเหล่านั้นมากมายทั้งพระและชาวบ้าน มีการสร้างที่พัก แล้วก็เกิดเป็นชุมชนรอบๆ จึงมีพระจำนวนหนึ่งตัดสินใจอยู่ในที่พักนั้นเพื่อบำรุงสถานที่ดังกล่าว และให้การศึกษาพระธรรมแก่ชาวบ้าน จึงเกิดเป็น "วัด" ที่สมบูรณ์แบบขึ้น

ฐานส้วมแบบลังกา

9. เจดีย์, พระปรางค์ จุดบรรจบของวิวัฒนาการ

สิ่งก่อสร้างที่สำคัญที่สุดในวัดไทย โดยเฉพาะสมัยสุโขทัย ก็คือ เจดีย์ หรือไม่ก็พระปรางค์  ทั้งสองอย่างนี้ทำหน้าที่คล้ายกันคือเป็นประธานของวัด ภายในมักจะบรรจุด้วยพระบรมสารีริกธาตุ แสดงการมีอยู่จริงของพระพุทธเจ้า  รูปร่างก็เป็นทรงกรวยคล้ายๆ กัน เป็นสัญลักษณ์ของจักรวาลเหมือนกัน ใช้แทนกันได้ แต่ที่จริงแล้ว ทั้งสองสิ่งนี้มีที่มาแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน เลยทีเดียวหละครับ

เจดีย์เป็นสิ่งก่อสร้างเฉพาะสำหรับพุทธศาสนา อันเก่าที่สุดและเป็นต้นแบบของเจดีย์ทั่วไป คือ "สถูปสาญจี" ที่อินเดีย ส่วนประกอบมาตรฐานคือ โดมกลมวางบนฐา มีบัลลังก์ทรงสี่เหลี่ยมข้างบน แล้วก็มีฉัตรปักอยู่เป็นยอดแสดงความสำคัญ ... แต่ถ้าย้อนไปก่อนพระเจ้าอโศก สมัยที่ยังไม่มีศาสนาพุทธ ไม่มีศาสนาพราหมณ์ จะเห็นว่าเจดีย์ก็คือ "เนินดินฝังศพ" ในวัฒนธรรมดั้งเดิมของอินเดีย ที่ผู้คนยังนับถือผีบรรพบุรุษและเจ้าแม่ (ดิน)

ในขณะที่เจดีย์เป็น เนินหลุมศพที่ถูกขยายให้ใหญ่ขึ้น แต่พระปรางค์กลับเป็นแบบจำลองของภูเขา (เขาพระสุเมรุ หรือเขาไกรลาส ที่หิมาลัย) ตามคติพราหมณ์ ที่นับถือเจ้าพ่อ (ภูเขาหรือฟ้า)

วิวัฒนาการของเจดียืกับพระปางค์

10. ศิลาแลง

ศิลาแลงคือวัสดุทางธรรมชาติ กึ่งหินกึ่งอิฐ พบในบริเวณมรสุมเขตร้อน ที่มีฝนตกชุก (น้ำท่วม) สลับกับช่วงฤดูแล้งที่ยาวนาน พบมากที่อินเดียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เกิดจากการสะสมตะกอนของเศษกรวด ทราย บนชั้นดินเหนียว มีส่วนผสมของแร่โลหะ เช่น เหล็ก, อลูมิเนียม และแมงกานีส  มี 2 ชนิด ถ้าเป็นชั้นแผ่นแข็งเรียกว่า "แม่รัง" แต่ถ้ามีลักษณะเป็นเม็ดๆ เรียกว่า "ลูกรัง"

ศิลาแลงเป็นวัสดุก่อสร้างที่นิยมใช้ทั้งในอินเดียใต้และภูมิภาคอุษาคเนย์ ... สำหรับที่สุโขทัย โบราณสถานที่ก่อด้วยศิลาแลงมักจะเก่ากว่าที่ก่อด้วยอิฐ

11. ธรรมเนียมในการบูรณะปฏิสังขรณ์แบบโบราณ

สมัยก่อนถ้าจะต้องซ่อมแซมพระพุทธรูป ปรับปรุง หรือจะเปลี่ยนรูปแบบของศาสนสถาน พวกช่างโบราณเขาจะมีธรรมเนียมปฏิบัติ ที่เก็บรักษาของเดิมไว้อย่างทะนุถนอม ไม่ให้มีแม้แต่รอยขีดข่วน  ทั้งๆที่ ถ้ายอมให้เป็นรอยบ้างหรือรื้อแล้วสร้างใหม่เลย น่าจะทำงานได้สะดวกกว่าแท้ๆ แต่กลับเลือกวิธียากๆ เช่น  ถ้าเป็นการซ่อมพระปูน ก็จะพอกปูนหุ้มไว้เลยโดยไม่ได้ทำร่องรอย (เพื่อให้ปูนเกาะ) อะไรเลย  หรือถ้าเป็นเจดีย์ ก็มักจะก่ออิฐหุ้มเจดีย์องค์เดิมไว้  ซึ่งวิธีนี้เป็นประโยชน์ต่อนักโบราณคดีมากในการกำหนดอายุ ว่าศิลปะรูปแบบไหนเก่ากว่ากัน

ส่วนตัวแล้ว ... ผมคิดว่า การสร้างสรรค์สิ่งใหม่โดยที่ไม่ทำลายสิ่งดีงามเก่าๆ ตามแบบช่างสมัยนั้น เป็นเรื่องน่าชื่นชมและน่าศึกษามาก เหมาะสำครับคนยุคนี้ ยุคที่ เรามุ่งมั่นสร้างอนาคตด้วยการลบล้างอดีต

12. พระพุทธรูปสุโขทัยในกรุงเทพฯ 

สุดท้าย ผมเอารายชื่อพระพุทธรูปสุโขทัยที่ถูกอัญเชิญมาเป็นพระประธานในโบสถ์วิหารตามวัดต่างๆในกรุงเทพฯ มาฝาก ครับ สำหรับคนที่ยังไม่ว่างไปสุโขทัย แต่อยากไหว้พระสุโขทัยแท้ๆในกทม.

  1. พระประธานในพระวิหาร วัดสุทัศน์ฯ (พระศรีศากยมุนี / พระพุทธนาคใหญ่)
  2. พระประธานในพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศฯ (พระพุทธชินสีห์)
  3. พระประธานในพระวิหาร วัดบวรนิเวศฯ (พระศรีศาสดา)
  4. พระประธานในพระอุโบสถ วัดสระเกศฯ
  5. พระประธานในพระวิหารทิศตะวันออก วัดพระเชตุพนฯ
  6. พระประธานในพระวิหารทิศตะวันตก วัดพระเชตุพนฯ
  7. พระประธานในพระวิหารทิศใต้ วัดพระเชตุพนฯ
  8. พระประธานในพระวิหาร วัดไตรมิตรวิทยาราม (พระสุโขทัยไตรมิตร)
  9. พระประธานในพระวิหาร วัดประยุรวงศาวาส (พระพุทธนาคน้อย)
  10. พระประธานในพระวิหาร วัดอนงคาราม (พระพุทธจุลนาค?)
  11. พระประธานในพระอุโบสถ วัดปรินายก (พระสุรภีพุทธพิมพ์)
  12. พระประธานในพระอุโบสถ วัดสุวรรณาราม
  13. พระประธานในพระอุโบสถ วัดทองนพคุณ
  14. พระประธานในพระวิหาร วัดหงส์รัตนาราม
  15. พระประธานในพระวิหาร วัดเศวตฉัตร
  16. พระประธานในพระวิหาร วัดเบญจมบพิตรฯ (พระพุทธชินราชจำลอง)