ผมเคยได้ยินนิทานพื้นบ้านที่เล่าเรื่องการผจญภัยสุดพิสดารของ สินไซ ... เคยเห็นรูปโบสถ์หลังเล็ก ๆ น่ารัก ที่ผนังเต็มไปด้วยภาพวาดสีสันสดใส สีคราม สีเขียวเทอร์ควอยซ์ สีเหลือง สีน้ำตาล ผสมผสานกันเป็นธีมสีเฉพาะตัว น่าสนใจ ... เห็นแล้วก็อยากสัมผัสให้มากขึ้น อยากเห็นของจริง อยากลองตระเวนไปตามสถานที่แปลกใหม่ เหมือนเล่นเกมส์ล่าสมบัติ ...
ปิดเทอมโอกาสเหมาะ (ช่วงเดือนตุลาปี 2562) เลยวางแผนตะลอนทัวร์ชมสิมเก่าและฮูปแต้ม ที่ขอนแก่นและมหาสารคาม กะไปให้ทั่ว แล้วกลับมาเขียนเป็นลายแทงให้ตามรอยกัน
ทริปนี้ผมกระดี๊กระด๊าเป็นพิเศษ ส่วนแม่ลิงกับลูกลิงนั้นเฉย ๆ แต่ก็ต้องเออ ออ ... ใช่สิ คราวที่แล้วพาขึ้นเขาไปแล้วนิ ผลัดกัน (๑˃̵ᴗ˂̵)و
ก่อนเดินทาง สำหรับคนที่ยังมึนๆ กับคำศัพท์บางคำ ก็ขออธิบายไว้ตรงนี้เลย คำแรก ‘สิม’ กร่อนเสียงมาจาก ‘สีมา’ หมายถึงพื้นที่ที่ใช้ทำสังฆกรรม ซึ่งก็คือโบสถ์หรืออุโบสถนั่นเอง ... อีกคำที่อาจจะงงคือ ‘ฮูปแต้ม’ มาจากคำว่า รูปแต้มหรือรูปเขียน เวลาเรียกในสำเนียงอีสานก็จะกลายเป็นฮูปแต้ม ซึ่งหมายถึงจิตรกรรมฝาผนัง ... ส่วนเรื่อง ‘สินไซ’ เป็นนิทานพื้นบ้านที่นิยมกันในประเทศลาวและภาคอีสานของไทย มักถ่ายทอดออกมาในรูปแบบ กลอนหมอลำ เทศน์แหล่และฮูปแต้ม
จากกรุงเทพฯถึงมหาสารคาม คิดว่าไม่ไกลไม่ต้องรีบ ช่วงเช้ามืดเลยมีเวลาดูแลแมว เทน้ำ เทอาหาร ตุนไว้ให้พอ 3-4 วัน ก่อนฝากบ้านไว้กับพวกมันแล้วออกเดินทาง 7 โมงเช้า ...
วันแรกผมแวะดูสิมที่ขอนแก่นก่อน มีที่น่าสนใจอยู่ 3 วัดใกล้ ๆ กัน ดูครบแล้วค่อยไปนอนในตัวเมืองมหาสารคาม รุ่งขึ้นขับรถวนเที่ยวรอบจังหวัด นอนค้างอีกคืน ส่วนวันที่ 3 ละไว้ให้เป็นวันฟรีสไตล์ (ถ้าเป็นบริษัททัวร์จะเรียกว่า พักผ่อนตามอัธยาศัย) จะหาที่เที่ยวแบบอื่น หรือจะกลับกรุงเทพฯเลย ก็ว่ากันไปแล้วแต่สถานการณ์
ขับรถมาเรื่อย ๆ เอื่อย ๆ เหล่รถสวยคันข้าง ๆ บ้าง เข้าปั้มแวะกินข้าวบ้าง ... ประมาณเที่ยงกว่า ๆ ก็มาถึงจุดหมายแรกของเรา วัดสระบัวแก้ว
วัดสระบัวแก้วเป็นวัดเล็ก ๆ ซ่อนตัวอยู่ท้ายหมู่บ้าน ชุมชนบ้านวังคูณ อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น และถือว่าซ่อนตัวได้เก่ง เพราะความรู้สึกแรกของผมเมื่อมาถึงคือ “ที่นี่เงียบดีจัง ... เงียบมาก ...” อาจเพราะตอนนี้เลยเพลไปแล้ว ชาวบ้านเอย พระเอย ต่างคนต่างแยกย้าย ... หรือเพราะผมเพิ่งมาจากที่ที่พลุกพล่านมากๆ อย่างกรุงเทพฯเลยยังไม่ชิน ก็ไม่รู้ แต่บรรยากาศแบบนี้ ถ้าหลงมาตอนกลางคืนเนี่ยะ บรื๊อออ ... ตัวใครตัวมัน (;;;*_*)
สิมอยู่ด้านหลัง ลึกจากศาลาการเปรียญเข้าไปหน่อย เลยสิมไปอีกนิดมีสระน้ำขนาดใหญ่ มีบัวหลวงเต็มสระ (ถ้ามาช่วงที่ดอกบัวบานเต็มสระน่าจะสวย) รูปทรงสิมถอดแบบมาจาก สิมวัดบ้านยาง อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม บ้านเดิมของพระครูวิบูลพัฒนานุยุติ (หลวงพ่อผุย) ผู้สร้าง ด้านในสิมมีฮูปแต้มเรื่องพุทธประวัติ กับสินไซ (บางตอน) ผนังด้านนอกเขียนเรื่อง พระลัก-พระลาม (ฉบับลาว) ที่ดำเนินเรื่องแปลกประหลาด (สำหรับผม) มีภาพนรก แทรกด้วยภาพวิถีชีวิตและภาพสัตว์ ... ผมคิดว่าอาจมีนิทานสั้น ๆ เล่าเป็นภาพชุดเล็ก ๆ ด้วยแต่ไม่รู้เป็นเรื่องอะไร ... ช่างแต้มฝีมือดี ใช้สีเก่ง
|
สิมวัดสระบัวแก้ว |
|
ด้านหน้าสิม จังหวะการใช้สีในฮูปแต้มด้านนี้สวยมาก |
|
สิงห์เฝ้าประตูตัวเมีย มีลูกน้อยด้วย น่ารักแบบหลอนๆ ดี |
|
พระประธานในสิม |
|
ผนังตรงข้ามพระประธานเขียนเรื่องสินไช |
|
ด้านนอก รูปเขียนมีรายละเอียดเยอะกว่า ขบวนสัตว์ป่า มีชีวิตชีวามาก |
|
สระบัวหลังวัด |
|
ตุงขิด ผู้เชี่ยวชาญเรื่องผ้าบอกว่าน่าจะเป็นของเก่า |
แค่วัดแรกก็ตื่นตาตื่นใจแล้ว ...
ที่วัดสระบัวแก้ว ผมมองเห็นความพยายามที่จะอนุรักษ์สมบัติชิ้นงามของท้องถิ่น มองเห็นความพยายามเพิ่มมูลค่าด้วยการท่องเที่ยว ยังอยากเห็นเด็ก ๆ ชาวบ้านวังคูณเที่ยวมาโม้ว่า “น้า ๆ ที่หมู่บ้านผมมีหนังสือนิทานเล่มใหญ่เท่าบ้าน แหนะ” ... และที่อยากเห็นที่สุดตอนนี้ คือ ข้าวเหนียว ส้มตำ ลาบ น้ำตก ... ไก่ย่าง! ใช่ ๆ มาขอนแก่นต้องกินไก่ย่างใช่มั้ย? ... นี่ก็เลยบ่ายแล้ว ไปหาอะไรกินดีกว่า ♨ ('~`;) ♨