23/11/2561

หนึ่งโหลเกี่ยวกับ 'ห้อม' ... เอาไว้โม้ เวลาไปเที่ยวแพร่

พาลูกลิงไปเรียนรู้การย้อมผ้าด้วย 'ห้อม' ที่จังหวัดแพร่ มาครับ ... ประทับใจ กลับมาเลยไปค้นเรื่องราวเกี่ยวกับห้อม รวบรวมมาเขียนเก็บไว้ใน blog ตอนนี้ เผื่อใครหลงเข้ามาจะได้ทำความรู้จักห้อมและครามมากขึ้น อาจหลงรัก หรือจะเอาไว้เล่าเล่น ๆ เวลาเที่ยวแพร่ ก็ดีครับ

เพื่อกันความสับสน สีน้ำเงินเข้มที่ได้จากทั้งห้อมและคราม หรือพืชอื่น ๆ ในบทความนี้ผมจะเรียกรวม ๆ ว่า 'คราม' นะครับ

1. 'ห้อม' และ 'คราม' เป็นพืชคนละชนิดกัน 

ถึงจะให้สีน้ำเงินเข้มเหมือนกัน กรรมวิธีย้อมก็เป็นวิธีเดียวกัน แต่ห้อมเป็นพืชล้มลุกในวงศ์เหงือกปลาหมอ (Acanthaceae) วงศ์เดียวกับ 'ต้อยติ่ง' วัชพืชที่เราคุ้นเคย ชอบอากาศเย็น ขึ้นได้ดีตามหุบเขาที่ชุ่มชื้นทางภาคเหนือ ส่วนครามนั้นเป็นพืชล้มลุกเหมือนกัน แต่อยู่ในตระกูลถั่ว (Leguminosae) ปลูกง่าย ชอบแดด ทนร้อน ทนแล้ง ทนดินเค็ม ปลูกได้ทั่วประเทศแต่นิยมปลูกในภาคอีสาน

2. นอกจากจะเป็นพืชที่ให้สีแล้ว ห้อมยังถือเป็นสมุนไพรอีกด้วย

รากและใบ ใช้ต้มน้ำดื่ม แก้ไข้ แก้ปวดศีรษะเนื่องจากหวัด ลดอาการอักเสบ เจ็บคอ หลอดลมอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ ตาอักเสบ  แพทย์จีนทดลองให้คนไข้โรคเอดส์ที่เป็นงูสวัด ดื่มน้ำต้มใบแห้งผสมกับพืชอื่นอีก 3 ชนิด คือ Coptis chinensis, Arnebia euchroma และ Paeonia moutan พบว่า แผลหายภายใน 2 สัปดาห์

3. การสกัดสีครามออกมาใช้ประโยชน์นั้น ไม่ได้มีทำกันเฉพาะภาคเหนือและอีสานของเมืองไทยเท่านั้น

การใช้ครามเป็นวัฒนธรรมร่วมของมนุษยชาติ สืบต่อกันมายาวนาน ตั้งแต่ยุคโบราณ และนิยมไปทั่วโลก จากญี่ปุ่นไปถึงตะวันออกกลาง จากอียิปต์ไปถึงไนจีเรีย ข้ามมหาสมุทรถึงอเมริกากลาง เชื่อกันว่าครามที่ดีที่สุดอยู่ที่อินเดีย พวกฝรั่งยุโรปเลยเรียกครามว่า 'อินดิโก้' (Indigo) ... แล้วก็พัฒนาจากครามสดเป็นครามสังเคราะห์ กลายเป็นสีมาตรฐานในกางเกงยีนส์ทุกวันนี้

4. ครามเป็นสีธรรมชาติสีแรก ๆ ที่มนุษย์เอามาใช้ประโยชน์ 

มีการค้นพบหลักฐานการใช้ครามตามแหล่งอารยธรรมโบราณมากมาย เช่น ที่จีน อายุ 3,000 ปี ... ที่อียิปต์เก่ากว่า 4,500 ปี ... แต่ผ้าย้อมครามที่เก่าแก่ที่สุดบนตัวมัมมี่ที่เปรู อายุเก่ากว่า 6,000 ปี

5. ที่จริงแล้วน้ำหมักใบห้อมมีสีเขียวอมเหลือง ผ้าที่ย้อมด้วยห้อมและครามนั้น จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินก็ต่อเมื่อโดนอากาศ กระบวนการนี้เรียกว่าการ 'ออกซิเดชั่น'

สีครามธรรมชาติจะอยู่ในรูปของสารที่เรียกว่า อินดิแคน (indican) เป็นสารไม่มีสีและไม่ละลายน้ำ วิธีสกัดครามออกมาใช้ ต้องนำใบพืชที่มีสารอินดิแคนมาผ่านกระบวนการ Hydrolysis ซึ่งคือการแช่น้ำทิ้งไว้จนโมเลกุลของอินดิแคนย่อยสลายกลายเป็น อินดอกซิล (Indoxyl) ล่องลอยอยู่ในน้ำ ซึ่งอินดอกซิลนี้ เกิดออกซิเดชั่นได้ง่าย เมื่อสัมผัสกับอากาศก็จะเปลี่ยนสภาพเป็นสีคราม (indigo)

6. การย้อมด้วยสีธรรมชาติส่วนใหญ่จะเป็นการย้อมร้อน แต่การย้อมด้วยห้อมและครามเป็นการย้อมแบบเย็น 

อินดิแคนนอกจากจะไม่ละลายน้ำแล้ว ยังไม่ละลายในความร้อนอีก การนำครามหรือห้อมไปต้มให้สีออกจึงไม่จำเป็น

7. ครามสามารถนำมาย้อมเส้นใยได้หลายชนิด ทั้งเส้นใยธรรมชาติและเส้นใยสังเคราะห์ แต่ฝ้ายเป็นวัสดุที่ย้อมครามติดได้ดีที่สุด

8. เพราะขั้นตอนการสกัดครามออกมาใช้ย้อมผ้านั้น ละเอียดอ่อนมากต้องรักษาค่าความเป็นกรดด่างให้พอเหมาะ ต้องทำให้เกิดการออกซิเดชั่นอย่างสม่ำเสมอ เลยมีความเชื่อกันว่าครามมีชีวิต

ขั้นตอนการทำครามเริ่มจาก นำกิ่งและใบของพืชที่ให้สีครามมาแช่น้ำไว้ข้ามวันให้เปื่อย แล้วเอากากออก เติมปูนขาวแล้วตีจนน้ำในหม้อเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลือง ตีน้ำคราม (กวนคราม) ให้เกิดฟองมาก ๆ 15 - 30 นาที แล้วพักไว้อีกคืน ครามจะตกตะกอนปนกับปูนขาว เทของเหลวใสสีน้ำตาลชั้นบนทิ้ง จะได้เนื้อครามลักษณะเป็นโคลนสีน้ำเงินเข้มตกตะกอนอยู่ก้นหม้อ ... เวลาจะย้อมก็ นำเนื้อครามออกมาผสมกับขี้เถ้า พักน้ำครามไว้ภาชนะที่เย็นและมิดชิด ตักน้ำครามดูทุกวัน วันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น เมื่อน้ำครามให้สีเขียวอมเหลืองจึงจะย้อมได้

9. ครามเป็นสีธรรมชาติที่มีคนนำมาทำลวดลายบนผ้าด้วยเทคนิคและกลวิธีหลากหลายที่สุด

ตั้งแต่การย้อม ไม่ว่าจะเป็น มัดย้อม, มัดหมี่, บาติก, พิมพ์ลายลงบนผ้า ไปจนถึงการเพ้นท์ ระบายลงบนผ้าโดยตรง

10. ไม่ใช่แค่สัญลักษณ์ของชาวไร่ ชาวนา แต่เป็นชุดทำงานกลางแจ้งที่เพอร์เฟค

นอกจากความเรียบง่ายและราคาถูกแล้ว คุณประโยชน์ที่ซ่อนอยู่ คือ ผ้าที่ย้อมด้วยครามมีองค์ประกอบช่วยป้องกันรังสี UV และไม่มีกลิ่นอับชื้น ยิ่งโดนแดดยิ่งหอม จึงเหมาะสมมากสำหรับเอามาทำชุดทำงานกลางแจ้ง ทั้งเสื้อหม้อห้อม ชุดชาวประมงที่เจนัว รวมไปถึงผ้ายีนส์ของคนงานเหมืองที่อเมริกา ก็ใช้ครามย้อม (2 อันหลังเป็นครามสังเคราะห์)

11. หม้อห้อมที่ทุ่งโฮ้ง

เสื้อหม้อห้อมเกิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเริ่มที่จังหวัดแพร่ เนื่องจากพวกลาวพวนที่อพยพเข้าไปอยู่ที่ทุ่งโฮ้งเมืองแพร่ได้เย็บเสื้อผ้าฝ้ายย้อมสีครามดำออกจำหน่ายแก่คนงานและลูกจ้างทำป่าไม้ขึ้นก่อน จึงได้รับความนิยมซื้อสวมใส่กันแพร่หลาย ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2496 นายไกรศรี นิมมานเหมินท์ ได้จัดงานเลี้ยงอาหารแบบขันโตกเพื่อเป็นเกียรติแก่ ฯพณฯ นายสัญญา ธรรมศักดิ์และกงสุลอเมริกัน ขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และได้กำหนดให้ผู้มาร่วมงานสวมเสื้อผ้าฝ้ายคอกลม ย้อมสีคราม คาดผ้าขาวม้า หลังจากงานนี้จึงมีผู้นิยมใช้เสื้อหม้อห้อมกันแพร่หลายยิ่งขึ้น คนทั่วไปจึงคิดว่าเป็นเสื้อประเพณีนิยมสำหรับชายชาวล้านนา

12. ม่อฮ่อม หรือ หม้อห้อม

ม่อฮ่อม เป็นคำ 2 คำมารวมกัน 'ม่อ' เป็นการออกเสียงแบบคนเหนือมาจากคำว่า  'มอ' ที่หมายถึง สีมืด สีทึม สีมอ ๆ ... ส่วน 'ฮ่อม' ก็เป็นชื่อพืชที่นำมาย้อม ... เสื้อม่อฮ่อมก็คือ เสื้อสีมอ ๆ ที่ย้อมด้วยฮ่อม ส่วนที่เขียนว่า 'หม้อห้อม' นั้นเป็นการปรับวรรณยุคให้ตรงกับเสียงตามหลักภาษาศาสตร์ และเพื่อกันความสับสนกับหม้อที่หมายถึงภาชนะ ราชบัณฑิตยสถานจึงให้อธิบายต่อท้ายคำนิยามเดิมของคำ ม่อฮ่อม (ซึ่งแก้ไขการเขียนคำตั้งใหม่เป็น หม้อห้อม) ว่า “เขียนเป็น ม่อห้อม หรือม่อฮ่อม ก็มี” ... (อันนี้เขียนไปเขียนมาจะเข้าใจหรืองงกว่าเก่า ก็คงเป็นเรื่องของ ราชบัณฑิตยสถาน เขาหละครับ)

จบแล้วครับ ^^" ... ถ้าใครอ่านแล้วอยากจะลองย้อมผ้าด้วยห้อม อยากเห็นต้นห้อมตัวเป็น ๆ หรืออยากเห็นตอนห้อมมันเปลี่ยนสี ... หรือแค่อยากมีเสื้อมัดย้อมลายสวย ๆ ก็เชิญที่บ้านป้าเหงี่ยมที่ทุ่งโฮ้งได้เลยครับ

ขั้นตอนการทำก็ไม่มีอะไรยาก เริ่มจากเลือกผ้า ได้ผ้าแล้วก็ไปเลือกลาย ได้ลายแล้วจะมีพี่ ๆ มาสอนมัด มัดเสร็จก็จุ่มลงหม้อย้อมได้เลย อยากได้อ่อนก็จุ่มน้อย ๆ อยากได้เข้ม ๆ จุ่มไป ๆ จนกว่าจะพอใจ เสร็จแล้วก็เอามาซักน้ำเปล่า ล้าง ๆ แล้วก็เอาไปตาก ถ้าแดดแรงก็ประมาณ 2-3 ชั่วโมงก็เก็บได้แล้ว แต่ยิ่งตากก็ยิ่งดี ถ้าใครอยากมาทำบ้าง ผมแนะนำว่า ให้มาตอนเช้าทำเสร็จสาย ๆ ก็ไปหาที่เที่ยว หาอะไรกินก่อน ตอนบ่ายแก่ ๆ ค่อยกลับมาเอา