26/07/2561

เส้นสาย, เส้นด้าย และสายใยบัว ที่วัดหนองบัว

เวลาเดินทางออกท่องเที่ยว ผมมักจะวางแผนพร้อมความคาดหวังเสมอ ชอบคิดว่าจะต้องไปทำไอ้นี่ที่นั่น ไปถึงตรงนั้นต้องทำอย่างงี้ ฯลฯ ... บางทีไอ้ที่กะไว้ว่าจะดี ว่าต้องเวิร์ค แต่พอไปจริง ๆ กลับรู้สึกแห้ง ๆ แกน ๆ ... แต่ก็มีอีกหลายครั้งที่รู้สึกดีเกินคาด “วัดหนองบัว” ก็เป็นหนึ่งในนั้นครับ

เหตุที่เอาวัดหนองบัวมาอยู่ในโปรแกรมเที่ยวน่านของบ้านเรา ก็เพราะผมติดใจฝีมือของ หนานบัวผัน คนที่เขียนภาพปู่ม่านย่าม่านที่วัดภูมินทร์นั่นแหละครับ  รู้มาว่า ที่ภาพจิตรกรรมในวิหารวัดหนองบัวนี้ก็เป็นผลงานเขาด้วย ก็เลยจะไปตามดู แค่นั้น  พอไปแล้วถึงได้รู้ว่าวัดหนองบัวยังมีอะไรดี ๆ อีกเยอะ สัมผัสความน่ารักได้หลายอย่าง ทั้งบรรยากาศ ทั้งคน  จากที่ตั้งใจแค่แวะเที่ยวระหว่างทางไปอำเภอปัว ไปไหว้พระ ไปดูรูปแค่สักชั่วโมง  กลายเป็นว่าเวลาครึ่งวันเช้าของเราหมดไปกับความเป็นกันเองและความอบอุ่น ของพ่ออุ๊ย แม่อุ๊ย ที่นั่น จนเกือบลืมข้าวเที่ยงเลยทีเดียว

วิหารวัดหนองบัว บ้านหนองบัว อำเภอท่าวังผา น่าน
วิหารทรงล้านนาของวัดหนองบัว

ข้อมูลคร่าว ๆ ของวัดหนองบัว คือ เป็นวัดประจำชุมชนบัานหนองบัว ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ซ่อนตัวอยู่อย่างสงบริมแม่น้ำน่านในเขตอำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ชาวบ้านส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากชาวไทลื้อที่อพยพหนีภัยสงครามมาจากเมืองหล้าในแคว้นสิบสองปันนา เมื่อประมาณ 200 กว่าปีมาแล้ว  ปัจจุบันได้รับการผลักดันให้เป็นหมู่บ้านโอทอปเพื่อการท่องเที่ยว ... แต่จะมีอะไรเที่ยว เส้นสาย, เส้นด้าย, สายใยบัว แต่ละเส้นคืออะไรไปดูกันครับ

03/07/2561

ชวนลูกแอ่วเหนือไปกิน (ให้มัน) คลีน ที่ แพร่-น่าน

สมัยเด็ก ๆ ผมมักจะถูกสอนให้รู้ถึงคุณค่าของอาหารเสมอ มีอะไรก็กินอย่างนั้น กินให้หมดอย่าเหลือทิ้งเหลือขว้าง บางทีก็หลอกว่าถ้ากินไม่เกลี้ยงจาน จะได้แฟนหน้าสิว  โตมาก็ทำตามได้แทบทุกข้อ ยกเว้นเรื่องความสะอาดของจานนี่แหละ ที่ทำไม่ได้สักที มักจะเหลือเศษนู่นเศษนี่ มีเม็ดข้าวไม่เม็ดก็สองเม็ดติดจานประจำ

ตอนจัดกระเป๋าก่อนเริ่มทริป ได้ดูรายการ พื้นที่ชีวิต ตอน "โคโนฮานะ...ฟาร์มแห่งความยั่งยืน" ที่พูดถึงชุมชนโคโนฮานะ เชิงเขาภูเขาไฟฟูจิ ประเทศญี่ปุ่น  เป็นชุมชนทางเลือกสำหรับคนที่ต้องการใช้ชีวิตที่กลมกลืนกับธรรมชาติและสร้างผลกระทบให้น้อยที่สุด ... ผมชอบวิถีปฏิบัติของที่นั่นหลายอย่าง แต่ที่ประทับใจที่สุดคือการที่ทุกคนในชุมชนตั้งใจกินข้าวให้เกลี้ยงจาน เพื่อลดขยะ ลดการใช้สารเคมีในการล้าง ... เป็นวิธีแสดงความเคารพต่อธรรมชาติที่ดูง่าย น่าเอามาทำต่อมาก ๆ

เมื่อได้แรงบันดาลใจแล้วก็ควรจะทำเลย คิดเป็นชาเลนจ์แล้วชวนลูกทำด้วยจะได้มีเพื่อน ทำมันในทริป แพร่-น่าน นี่แหละ

กติกาคือ ในทุก ๆ มื้อ ตลอดทริป แพร่-น่าน 5 วัน 4 คืนนี้ ไม่ว่าจะกินอะไรขอให้กินให้เกลี้ยงที่สุดเท่าที่จะทำได้ กินเสร็จแล้วถ่ายรูปจานไว้เป็นหลักฐานด้วย ... เสร็จแล้วเอามาทำรีวิวลงเพจ โรงเรียนลูกลิงกับพันทิป ส่วนบล็อกนี้จะใช้เก็บบรรยากาศ เบื้องหลัง รวมถึงแนะนำที่กินแบบรวม ๆ

ที่กินสุดประทับใจ ที่น่าน

ถนนคนเดินกาดข่วงเมืองน่าน

ทุก ๆ วันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ ช่วงเย็น ๆ บริเวณถนนผากองด้านข้างวัดภูมินทร์จะมีตลาดนัดชื่อว่า “ถนนคนเดินกาดข่วงเมืองน่าน” ขายทั้งเสื้อผ้า ของที่ระลึกและของกินพื้นเมือง มีขันโตกปูเสื่อให้นั่งกินตรงลานหน้าวัดด้วย อาหารก็น่ากิน บรรยากาศก็น่านั่งบวกกับเวลาตรงกันพอดี พวกเราเลยตัดสินใจว่าตลอดเวลาที่อยู่น่าน มื้อเย็นจะขอฝากท้องไว้กับตลาดนี้แหละ สะดวกดี ... ปกติตลาดนัดที่ขายของกินหรือถนนคนเดินแบบนี้ มักจะมีปัญหาเรื่องขยะ  ไหน ๆ ก็มาแนวรักษ์โลกแล้ว ผมเลยได้โอกาสพกกล่องข้าวไปหัดใช้ด้วย เผื่อจะได้ช่วยลดภาระเขาบ้าง

มื้อเย็นมื้อแรกที่น่าน ของผมเป็นข้าวราดแกงฮังเล ส่วนของลูกเป็นข้าวหนียวกับไส้อั่ว อันที่อยูในห่อคือหมกเห็ด
มื้อที่ 2 ของผมเป็นยำขนมจีน ปลาทู หมูยอ ... กะว่าจะไม่กินปลาร้าเพราะกลัวกลิ่น ... แต่ทันทีที่บอกแม่ค้าเสร็จ แกก็จ้วงตักน้ำปลาร้าลงผสม 2 ทัพพีด้วยความเคยชิน พอทักปุ๊บ มองหน้ากัน แล้วก็ฮากันทั้งคนซื้อคนขาย แต่ก็ดีแล้วเพราะกลายเป็นมื้ออร่อยที่สุดมื้อหนึ่งในทริปนี้เลยแหละครับ ... ส่วนลูกหนีไปกินอะไรกับแม่ก็ไม่รู้
ที่ว่าตามตลาดนัดหรือถนนคนเดินมักมีปัญหาเรื่องขยะนั้น ที่นี่ถือเป็นข้อยกเว้น มีการจัดการที่ดีและทุกคนร่วมไม้ร่วมมือกัน น่าจะเอาไปทำโมเดลตัวอย่างเลยด้วยซ้ำ ... อันนี้ชื่นชมจริง ๆ

ฟาร์มเห็ดบ้านหัวน้ำ

ฟาร์มนี้ซ่อนตัวอยู่ในหุบเขาที่อำเภอปัว เป็นทั้ง ฟาร์มเห็ด, โฮมสเตย์, และร้านอาหาร นอกจากมีวิวทุ่งนาแบบพาโนรามาแสนสดชื่นบวกอาหารอร่อยสุด ๆ แล้ว ยังอยู่ใกล้ ๆ กับ วังศิลาแลง หรือที่เขาเรียกกันว่าเป็น “แกรนด์แคนยอนเมืองปัว” อีก  ใครกินเสร็จแล้วจะไปเดินย่อย หรือไปลุยเล่นแก่งก่อนแล้วค่อยกลับมาหาอะไรกินก็เป็นความคิดที่ดีทั้งนั้น  สำหรับพวกเราแล้ว มื้อที่ฟาร์มเห็ดบ้านหัวน้ำ ถือเป็นมื้อที่อร่อยที่สุดในน่านเลยหละครับ

เห็ดชุบแป้งทอด
เห็ดนึ่งกับน้ำพริกข่า
ที่เด็ดสุดคืออันนี้ พิซซ่าเห็ด

ที่กินสุดประทับใจ ที่แพร่

ของกินตามตลาดเช้า

ตามตลาด ไม่ว่าจะเช้าหรือเย็น ทุกที่ ทุกจังหวัด มักจะเต็มไปด้วยสีสันและของกินอร่อย ๆ เสมอ ที่แพร่ก็เหมือนกัน ตลาดที่เราแวะหาอะไรกินก่อนขึ้นไปไหว้พระธาตุช่อแฮ เป็นตลาดเล็ก ๆ แต่คึกคัก ชื่อ ตลาดป่าแดง-ช่อแฮ มีขายตั้งแต่ผักยันเสื้อผ้า  ของกินก็เป็นของพื้นเมืองบ้าง ของกินง่าย ๆ อย่างพวกปิ้ง ๆ ทอด ๆ กับข้าวเหนียวบ้าง ที่เด็ดสุดคือหมูนึ้งกับน้ำพริกข่า ... เสน่ห์อีกอย่างของตลาดนี้คือ ที่นี่เป็น “ตลาดสายหยุด” คือเริ่มขายเช้ามืดพอสายก็หยุด หยุด ก็คือหยุดจริง ๆ  ... ขากลับจากไหว้พระ ผ่านตลาดนี้อีกที เห็นทุกแผง ทุกร้าน หายเรียบเหลือแต่โต๊ะ บรรยากาศเงียบเชียบราวกับ เมื่อตะกี้ที่เรานั่งกิน นั่งเม้าท์กัน ที่ร้านกาแฟประจำตลาดเป็นเพียงแค่ความฝัน

แอ็บสมองหมู ตอนแรกอยากลอง แต่แตะดูแล้วมันเย็น ๆ ก็เลย ...
โฉมหน้า พ่อลูกผู้ปฏิบัติภารกิจ ที่เห็นปากมัน ๆ เพราะหมูนึ่งกับน้ำพริกข่าที่กินเพลินจนลืมถ่ายรูป

ตลาดโต้รุ่งประตูชัย

ถ้าที่น่านมีถนนคนเดินกาดข่วงเมืองน่าน ที่แพร่ก็มีตลาดโต้รุ่งประตูชัยนี่แหละ ที่เป็นย่านของกินตอนเย็น ๆ ค่ำ ๆ ที่ฝากท้องได้  ที่นี่มีร้านอร่อยมีชื่อเสียงหลายร้าน ไม่ว่าจะเป็น เย็นตาโฟ, ขนมจีนน้ำใส, ข้าวเหนียวมะม่วง นมสดและน้ำแข็งใส  แต่ที่ผมกินแล้วประทับใจที่สุดคือโจ๊กครับ เป็นร้านเล็ก ๆ ไม่น่าจะมีชื่อเสียงอะไรแต่คึกคัก เห็นคนแพร่มาแวะซื้อกลับบ้าง เข้ามาทั้งนั่งกินบ้าง มีมาไม่ขาดสายคนขายไม่ได้พักกันเลยทีเดียว ... เราสั่งโจ๊ก กวยจั๊บ และข้าวต้มปลามาลองดู ทั้งหมดรสชาติอ่อนโยน กินแล้วสบายใจ เหมาะสำหรับคนที่ต้องการพักปาก พักท้อง อย่างเรามากครับ

แปะรูปหน้าร้านไว้ เผื่อใครอยากจะตามรอยไปกิน ร้านนี้อยู่ตรงกันข้ามกับตลาดสดเทศบาล
ข้าวต้มปลาน่ากินมาก

สรุปผล สำหรับตัวเอง

ชอบความรู้สึกตอนนั่งกวาดเม็ดข้าวกินให้เกลี้ยงจาน เวลาคนอื่นมองจานเกลี้ยง ๆ ของเราแล้วรู้สึกกระหยิ่มใจเล็ก ๆ ประมาณว่า "เป็นไง? ... เกลี้ยงป๊ะหละ" อะไรทำนองนั้น  แต่ที่ดีที่สุดคือรู้สึกว่ามีสมาธิกับการกิน สามารถแสดงความเคารพต่ออาหารและสิ่งที่อยู่เบื้องหลังได้อย่างเต็มที่ ... ที่ไม่ค่อยดีคือ จบทริปแล้วน้ำหนักขึ้นนิดหน่อย (-_-")

ส่วนเรื่องการพกกล่องข้าวนั้น คิดว่าถ้าใช้ในชีวิตประจำวัน หรือเป็นที่ที่คุ้นเคย อย่างร้านข้าวร้านประจำก็พอเป็นไปได้  แต่ถ้าจะใช้ตอนเดินทางก็ต้องมีการเตรียมตัวที่ดี เพราะมันมีข้อจำกัดและติดขัดในหลาย ๆ เรื่อง

  • ตามตลาดนัดแม่ค้ามักจะเตรียมของใส่ภาชนะของเขาไว้แล้วเพื่อความสะดวก 
  • กล่องข้าวแต่ละชนิดก็เหมาะกับอาหารคนละแบบไม่เหมือนกัน เช่น แกงถุง ซื้อร้านเดียว ใช้ปิ่นโตเหมาะสุด  แต่ถ้าเป็นตลาดนัดเดินกิน ใช้กล่องช่องเดียวแบบไม่มีชั้น ไม่มีช่อง ไม่ซ้อนกันให้ยุ่งยาก จะดีกว่า

สรุปผล สำหรับลูก

ระหว่างทริปกระตือรือร้นและให้ความร่วมมือดี น่าจะเพราะมีการชาเลนจ์เป็นตัวกระตุ้น กลับมาแล้วก็มีเผลอไปบ้าง แต่เตือนแล้วก็เชื่อดี  ตอนนี้ให้รับหน้าที่เป็นเด็กล้างจานของบ้าน จะได้รู้ซึ้งถึงประโยชน์ของการกินให้จานมันเกลี้ยง ๆ  (พ่อจะได้พัก อิอิ)

แต่สิ่งที่อยากให้ลูก (รวมถึงตัวเองด้วย) เรียนรู้จริง ๆ ก็คือ ให้มองชีวิตเป็นเหมือนจานข้าวของเรา ที่บางครั้งก็ไม่สามารถเลือกเอาแต่สิ่งที่ตัวเองชอบได้ทั้งหมด หน้าที่ของเราคือยอมรับ และกินมันซะให้เกลี้ยง ... ด้วยความเคารพ