18/12/2557

ภูต ผี ปีศาจของไทย┊ผีเสื้อ

ฝูงผีเสื้อ

หลายคนเห็นหัวเรื่องแล้วอาจจะคิดในใจ ว่า "ตลกละ ตลกแล้ว! ขึ้นต้นเป็นภูตผีปีศาจ จะมาพูดเรื่องผีเสื้อเนี่ยะนะ" ผมก็จะตอบในใจ ว่า "ใช่แล้วล่ะครับ ;)"  แมลงที่สวยงาม ไร้พิษสง บินช้า ๆ น่าจับมาเด็ดปีกเล่นอย่างผีเสื้อ ทำไมเราถึงเรียกมันให้น่ากลัว ด้วยคำว่า "ผี" ... ผมว่าเรื่องนี้น่าสนใจ

ส. พลายน้อย เล่าไว้ใน "ตำนานผีไทย" ว่า ผีเสื้อเป็นอย่างเดียวกันกับ ผีเชื้อหรือผีเซื่อ เป็นคำเพี้ยนเสียงตามสำเนียงของคนทางภาคเหนือและอีสาน เป็นผีบรรพบุรุษ  เชื่อกันว่า วิญญาณของคนที่ตายต่างถิ่น จะกลายเป็นผีเสื้อบินกลับมาหาญาติตัวเอง  บ้างก็เชื่อว่า ถ้าเห็นผีเสื้อบินมาเป็นกลุ่มใหญ่ๆ มากผิดปกติ แสดงว่าเป็นลางร้าย จะเกิดเหตุเภทภัยต่าง ๆ เช่น โรคระบาด

นอกนั้น ข้อมูลอื่น ๆ ที่ผมค้นมาค่อนข้างสับสน รวม ๆ ว่าผีเสื้อเป็นอมนุษย์หลากหลายชนิด บ้างก็เป็นยักษ์อย่าง นางผีเสื้อสมุทร เมียหลวงของพระอภัยมณี หรือบางทีก็เป็นเทวดาอย่าง พระเสื้อเมือง พระทรงเมืองบางทีก็เป็นผี อย่างผีเสื้อบ้าน ผีเสื้อวัด ผีเสื้อห้วย ผีเสื้อ ... ทั้งหมดมีหน้าที่คล้ายกัน คือคอยพิทักษ์รักษาสถานที่ต่าง ๆ ... บางทีก็ไม่ได้คุ้มครองอะไร แค่อาศัยอยู่ในอาณาเขตนั้นเฉย ๆ

ดูผิวเผินเหมือน ผีเสื้อ (ส่วนใหญ่) จะไม่เกี่ยวข้องกับผีบรรพบุรุษซักเท่าไหร่ (ใครหละ! จะมีบรรพบุรุษเป็นยักษ์)

ลองเปิดพจนานุกรม ดูก็เจอว่า เสื้อ นอกจากจะแปลว่า สิ่งสวมใส่ หรือ สถิต หรือ สิง แล้วยังแปลว่า เชื้อสาย ก็ได้ด้วยเหมือนกัน

ผมเดาว่า แต่เดิมผีที่ทำหน้าที่ดูแลสถานที่ต่าง ๆ นี้คือผีบรรพบุรุษ (ผีเชื้อ) ต่อมาเมื่อบ้านรวมกันเป็นเมือง มีคนมากขึ้น มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับต่างถิ่นมากขึ้น ก็เลยจำเป็นต้องหาอะไรที่เป็นสากลมาทำหน้าที่ 'เสื้อ' แทนผีเชื้อ หรือไม่ถ้าเป็นสถานที่ใหญ่หน่อย สำคัญมากหน่อย ก็ร่วมด้วยช่วยกันรักษา ทั้งยักษ์ ทั้งเทพ ทั้งผี ...

เป็นว่าเรื่องผีเสื้อกับผีเชี้อเป็นผีชนิดเดียวกันพอเป็นไปได้ แต่ก็ยังไม่ค่อยเกี่ยวกับชนิดของแมลง ... อยู่ดี

ลองค้น ผีเสื้อ ในภาษาถิ่นดู ทุกภาคเรียกคล้าย ๆ กัน แมงกำเบ้อ, แมงกะเบื้อ, แมงกะเบี้ย, แมงบี้, แมงกะบี้ มีสระอี เหมือนกับคำว่า ผี ... แต่ก็คงบอกได้ไม่เต็มปากเท่าไหร่ ว่าหมายถึง แมลงผี

ถึงจะฟันธงไม่ได้ว่า ผีเสื้อ (ผี) กับ ผีเสื้อ (แมลง) เกี่ยวข้องกันจริงแท้แค่ไหน  แต่ผมก็ชอบมุมมองของคนโบราณที่เห็นว่า การบินที่เดี๋ยวเร็ว เดี๋ยวช้า โผไปมาดูไร้ทิศทางของผีเสื้อ คล้ายดวงวิญญาณลองลอย เป็นการเปรียบเทียบที่ทำให้เห็นภาพพจน์ของจิตใจและวิญญาณของคนเราได้ชัดเจนที่สุด  ความคิดแบบนี้ไม่ได้มีเฉพาะในไทย  คนพม่า, ไทใหญ่ และคนจีน ก็เห็นเหมือนกัน (มีเรื่องเล่า ว่า ชวงจื๊อศิษย์ของเล่าจื๊อ เป็นคนชอบนอน ตกกลางคืนเวลาหลับลึก ๆ แล้ว ก็จะกลายร่างเป็นผีเสื้อบินไปเที่ยว ตื่นขึ้นมาก็ได้แต่ปวดหัวไหล่ จำไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง) ใครที่ชอบการ์ตูนญี่ปุ่นคงรู้ว่า คนญี่ปุ่นเชื้อว่าวิญญาณของคนตายจะกลับมาในรูปแบบของแมลง เพียงแต่ของญี่ปุ่นเป็นหิ่งห้อย ไม่ใช่ผีเสื้อ

คิดไปคิดมา บางทีเรื่องผีเสื้อ (แมลง) ที่เป็นวิญญาณ เป็นผีบรรพบุรุษ นี้ อาจมีไว้ให้ผู้ใหญ่ใจบุญเอาไปขู่เด็กซน ไม่ให้จับผีเสื้อสวย ๆ มาเด็ดปีกเล่น ...

หรือ บางทีคนโบราณอาจเข้าใจทฤษฎีผีเสื้อขยับปีก (The Butterfly Effect) อยู่ก่อนแล้วก็ได้ ... เพราะจะว่าไป ทั้ง คน สัตว์ พืช ... ทุกชีวิตบนโลก ก็มีต้นกำเนิดเดียวกันทั้งนั้น ... ผีเชื้อสมัยนี้ อาจมีชื่อเรียกเป็นภาษาฝรั่งเก๋ไก๋ว่า DNA
ของแถม เป็นรูปนางผีเสื้อ ที่ไม่ได้ตั้งใจจะล้อเลียนใครเลย จริง จริ๊ง! สาบาน

28/11/2557

ภูต ผี ปีศาจของไทย┊เจ้าที่ (แรง) ที่บางลำพู

พรายน้ำที่ป้อมพระจันทร์

ในสำนึกของคน (ไทย) โบราณ เชื่อว่าทุกที่บนโลกนี้ล้วนมีเจ้าของ และเจ้าของที่ว่านั้นไม่ใช่มนุษย์  คนเดินดินธรรมดาทั่วไปอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ที่ประเดี๋ยวเกิด อีกประเดี๋ยวก็ตาย  เป็นได้อย่างมากก็แค่ผู้อาศัยหรือผู้เช่า  เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงต้องเป็นอะไรที่มีพลังอำนาจมากกว่า อยู่ดูแลได้นานกว่า อย่างเช่น "ผี"

ในบ้าน (ของเราเองแท้ ๆ ) ก็มี ผีเรือน, พระภูมิ ในเมืองก็มี ผีบ้านผีเมือง, เจ้าพ่อหลักเมือง, ผีเสื้อเมือง  นอกเมืองก็ยังมีเจ้าป่าเจ้าเขา, ผีนา, ผีน้ำ แม้แต่ตามที่รกร้างข้างทาง ผมก็ถูกสอนให้ยกมือไหว้ขออนุญาตก่อนทำธุระส่วนตัว ทุกครั้ง ไม่งั้น 'เจ้าอุปกรณ์ทำธุระ' จะบวม

ผมคิดว่าความเชื่อเรื่องผีเป็นศาสนาแบบโบราณ เอาไว้จัดระเบียบสังคม  ผีก็เป็นเหมือนกับเทพ เทวดา ที่คอยควบคุมดูแลพฤติกรรมของคนในสังคมให้อยู่กันอย่างสงบสุข ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน  ตามชุมทาง ตามโค้งอันตราย ตามปากทางเข้าสถานที่ต่าง ๆ หรือที่ว่าง (พื้นที่ส่วนกลาง) ในชุมชน ก็มักมีศาลตั้งอยู่ เพื่อเตือนสติคนที่ผ่านไปผ่านมา ว่าอย่าประมาท อย่าเผลอไผลหลงทำตัวอุบาทว์ ... โดยไม่แคร์สายตาใคร

ประเทศไทยมีศาลเจ้าที่มากมาย ที่ศักดิ์สิทธิ์โ่ด่งดังเป็นที่นับถือก็มีนับไม่ถ้วน  แต่ก็มีแปลก ๆ อยู่ที่หนึ่ง ผมจำเป็นภาพติดตามาตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ แล้ว 

ตอนนั้น ผมตามพ่อไปงานวันแรงงานที่ท้องสนามหลวง  จำได้ว่า บรรยากาศคึกคัก จอแจ และแดดร้อนมาก  เราก็เลยปล่อยให้สนามหลวงเป็นหน้าที่ของพ่อ ปล่อยให้เขาสานความสัมพันธ์ในสหภาพฯของเขาไป ส่วนผมกับแม่และน้องก็มีหน้าที่เข้าไปหลบแดดในวัดพระแก้วจนจบงาน  ขากลับพ่อผมขับรถอ้อมมาทางบางลำพู และนั่นเป็นครั้งแรกที่ผมเห็น "ศาลกรมหลวงจักรเจษฎา"

ในสายตาเด็กชานเมืองที่เพิ่งเคยเห็นวัดเห็นวังเป็นครั้งแรกอย่างผม ศาลนี้นับเป็นศาลเจ้าที่ที่สะดุดตามาก เพราะมันเหมือนอยู่ผิดที่ผิดทาง รอบข้างเป็นร้านขายของธรรมดาทั่วไปแท้ ๆ จู่ ๆ ก็มีซากซุ้มประตูเก่า ก่อด้วยอิฐแผ่นใหญ่คล้ายโบราณสถานที่อยุธยาโผล่แทรกเข้ามาระหว่างตึกแถว กลางซุ้มเป็นศาลคล้ายศาลพระภูมิตามบ้านทั่วไป ด้านบนมีต้นไทรใหญ่ขึ้นบนซุ้ม ร่มครึ้ม ดูขลังจริง ๆ (คิดว่า สมัยก่อนคงมีคนใจกล้าเดินผ่านแถวนี้ตอนกลางคืน ไม่มากนัก ... บรรยากาศมันน่าขนลุก) พ่อเล่าคร่าว ๆ ให้ฟังว่า เป็นวังเก่าของใครสักคน เขาลือกันว่าผีเจ้าที่ที่นี่เฮี้ยน! ...

ฟังแล้วก็ยิ่งกลัว แล้วก็ยิ่งสงสัย ว่า เป็นวังของใคร? ทำไมถึงร้าง? ทำไมมีศาล? ทำไมเฮี้ยน ยังไงแค่ไหน? ... ผมเก็บความสงสัยไว้จนโต (มีลูกแล้ว) จนคิดจะเขียนเรื่องผี ก็เลยไปหาข้อมูลมาเพิ่ม
ศาลกรมหลวงจักรเจษฎา ในปัจจุบัน ไม่มีต้นไทรแล้ว

ได้ความว่า วังนี้ชื่อ วังริมป้อมพระสุเมรุ แต่เดิมเป็นเขตพระนิเวศน์เดิมของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (บุญมา) เมื่อครั้งทรงปฏิบัติราชการในสมัยกรุงธนบุรี  ต่อมาเมื่อย้ายเมืองหลวง จึงให้ที่ส่วนหนึ่งขุดคลอง สร้างกำแพงเมือง สร้างป้อมพระสุเมรุ  จนเมื่อพระองค์เสด็จมาประทับที่พระราชวังบวรสถานมงคลแล้ว จึงโปรดฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา (พระอนุชาพระองค์เล็ก) มาอยู่ช่วยกำกับดูแลการรักษาพระนครทางด้านนั้น (ให้มาอยู่เฝ้าป้อมฯ) แทน

ต่อมาในปีพ.ศ. 2350 เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎาสิ้นพระชนม์ เจ้าจอมมารดาอยู่ต่อจนสิ้นชีพ แล้ววังก็ถูกปล่อยร้าง ไม่ปรากฏว่าโปรดให้ผู้ใดไปอยู่อีก ว่ากันว่าพระภูมิเจ้าที่ร้ายแรงนัก ไม่มีเจ้านายพระองค์ใดกล้ามาประทับ

ผมคิดว่าข่าวลือเรื่องเจ้าที่ร้ายแรงนี้ น่าจะมาจากเหตุที่ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินธิ์เกิดอหิวาตกโรคระบาดหลายครั้ง ประมาณว่าห่าลงแทบทุกปี  ที่หนัก ๆ มี 2 ครั้ง ครั้งแรกในรัชกาลที่ 2 ปี พ.ศ. 2363 มีคนล้มตายเป็นจำนวนมากจนเผาศพไม่หมด ไม่ทัน เมื่อไม่ทันก็โยนทิ้งน้ำ แม่น้ำลำคลองในพระนครเต็มไปด้วยศพ  อีกครั้งเกิดในสมัยรัชกาลที่ 3 พ.ศ. 2392 ตอนนั้นพระนครก็มีสภาพไม่ต่างจากการระบาดครั้งแรก โชคดีที่ เจ้าฟ้ามงกุฏฯ (ร.4) ซึ่งขณะนั้นดำรงเพศบรรพชิต เป็นพระราชาคณะ ได้ทรงบัญชาให้วัดสามวัด คือ วัดสระเกศ วัดบางลำพู (วัดสังเวชวิศยาราม) และวัดตีนเลน (วัดเชิงเลน หรือวัดบพิตรพิมุข) เป็นสถานที่สำหรับเผาศพ  ให้คนเก็บศพในคลองบางลำพูมารวบรวมเตรียมเผาที่วัดสังเวชฯ ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามวัง เผากันหามรุ่งหามค่ำ นานกว่าโรคอหิวาต์จะหมดไป ...

เกิดเหตุร้ายตลอดในช่วงเวลาสี่สิบกว่าปี คนที่อยู่ในเหตุการณ์ ยังจำภาพอันน่าสลดนั้นได้ คงไม่มีใครอยากมาอยู่ใกล้กับที่เกิดเหตุ หรอกครับ (เหมือนเขาหลักที่พังงา ที่กิจการท่องเที่ยวซบเซาลงหลายปีหลังจาเกิดสึนามิ)

ใกล้กับศาลกรมหลวงจักรเจษฎา เป็นตรอกไก่แจ้ สามารถเดินทะลุไปออกตรอกเขียนนิวาสน์ที่ถนนพระอาทิตย์ได้ ด้านในเป็นชุมชนโบราณเก่ากว่าร้อยปี เรียกรวม ๆ กันว่า ชุมชนตรอกเขียนนิวาสน์-ไก่แจ้ คนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นลูกหลานคนมอญ อพยพมาอยู่กันหลายรุ่นแล้ว ตั้งแต่เชลยที่รัชกาลที่ 1 เกณฑ์มาสร้างป้อม ไปจนถึงชาวมอญจากต่างจังหวัด (ราชบุรี, ปทุมธานี ... ฯลฯ) ที่อพยพตามมาเป็นระลอก มาหาที่อยู่ใกล้ ๆ กับวัดมอญเมืองหลวง (วัดชนะสงคราม)

กลางชุมชนเป็นลานกว้างมีศาลกรมหลวงจักรเจษฎาอีกที่หนึ่ง ชาวบ้านนับถือกันมากเรียกว่า "ศาลเสด็จพ่อ" คงเพราะรู้ว่าเป็นเจ้าของที่ดั้งเดิมก่อนทางการจะรื้อวังและให้ชาวบ้านเข้ามาตั้งบ้านเรือน และเชื่อว่า เสด็จพ่อของเขาคอยปกป้องชุมชนให้รอดพ้นจากเหตุอันตราย เช่นไฟไหม้  มีการจัดพิธีบวงสรวงทุกปี ทำคู่ไปกับงานปีใหม่ และมีกิจกรรมของชุมชนอีกเยอะ

จากหนังสือและข้อมูลที่ค้นเจอ ดูเหมือนว่าชุมชนนี้จะเป็นชุมชนที่เข้มแข็งมาก ๆ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการมี "เจ้าที่แรง ๆ" เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจประจำชุมชนอย่าง ศาลกรมหลวงจักรเจษฎา (ศาลเสด็จพ่อ)

ล่าสุดผมเพิ่งเข้าเมืองไปบางลำพูมา ที่ศาล ต้นไทรถูกตัดจนโล่ง ไม่เหลือภาพความขลังอีกแล้ว แม้แต่สนามหลวงก็ถูกล้อมรั้วเรียบร้อยจนจืดชืด หลายที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย  พื้นที่ส่วนกลางของสังคมไทยก็กำลังเปลี่ยนไป จากที่เคยอยู่ภายใต้การดูแลของผี มาเป็น "พื้นที่สาธารณะ" ซึ้งมันมีความหมายแย่ ๆ 2 ความหมาย คือ "ที่ที่ไม่มีเจ้าของไม่มีใครดูแล ใครจะทำอะไรก็ได้" กับ "ที่หวงห้ามของรัฐ"

เจ้าที่ที่บางลำพูอาจจะยังพอมีแรงอยู่ ... แต่เจ้าที่ที่อื่น ผมไม่แน่ใจ ...
ของฝาก เป็นรูปตลาดนัดสนามหลวงสมัยก่อนครับ อยากดูเพิ่มไปที่ http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2010/09/K9658026/K9658026.html ขอบคุณ คุณมิตรภาพไม่รู้จบ ที่เอามาโพสต์ไว้ในพันทิปด้วยนะครับ

12/11/2557

เส้นจันท์┊ว่าด้วยอาหารเส้นที่จันทบุรี

พูดถึง เส้นจันท์ เราก็มักจะนึกถึงก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กจากจันทบุรี และด้วยคุณภาพความเหนียวนุ่มที่โด่งดัง ทำให้ก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กที่ผลิตจากที่อื่น ๆ มักจะถูกเหมาเรียก ว่า เป็นเส้นจันท์อยู่บ่อย ๆ เพื่อเรียกลูกค้า  ตัวอย่างเช่น ผัดไทย ถ้าจะให้ดูน่ากินก็ต้องขึ้นป้ายว่า เส้นจันท์ผัดไทย + กุ้งสด + ถั่วงอกฟรี + หัวปลีขาว ... อะไรประมาณนั้น (⌒.−)

และเพื่อเรียกคนอ่าน ผมก็ขออ้างเส้นจันท์มาตั้งเป็นชื่อบล็อกตอนนี้นะครับ ถึงจะไม่ได้เกี่ยวกับเส้นจันท์โดยตรงแต่ อาหารเส้น (ก๋วยเตี๋ยว) ที่ผมตระเวนกินที่จันทบุรีก็ใช้เส้นจันท์ทั้งนั้น น่าจะพอกล้อมแกล้มได้ ("⌣̀_⌣́)

ก๋วยเตี๋ยวเนื้อเลียง ร้านป้าติ๊ด ท่าใหม่ จันทบุรี

จังหวัดจันทบุรีเป็นเมืองที่มีก๋วยเตี๋ยวหลายร้านแทบนับไม่ถ้วน แต่เมนูที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะจังหวัดมีอยู่ 2 อย่าง นั่นคือ ก๋วยเตี๋ยวเลียง กับ ก๋วยเตี๋ยวผัดปู

ไปเมืองจันท์คราวนี้ผมโชคร้าย ฝนตกตลอด ไม่มีโอกาสเดินหาก๋วยเตี๋ยวผัดปูเจ้าอร่อยกิน เลยเล่าได้ลำบาก  แต่เท่าที่เคยลองมา ผมว่าก๋วยเตี๋ยวผัดปูที่ผมเคยกินตอนเด็ก ๆ ที่ชุมพร อร่อยกว่ากันเยอะ  ชุมพรกับจันทบุรีเกี่ยวข้องกันยังไงผมก็ไม่แน่ใจ จะถามป้าคนที่ผัดให้กินก็คงไม่ทันแล้ว ... ป่านี้แกคงยุ่งอยู่กับการผัดก๋วยเตี๋ยวเลี้ยงเทวดาแน่ ๆ (ว่ากันว่าก๋วยเตี๋ยวผัดปูเป็นอาหารเลี้ยงในงานบุญของคนญวน) ... เอาเป็นว่าเรื่องนี้พักไว้ก่อน ... อันที่จริง ครั้งนี้ผมตั้งใจไปกินก๋วยเตี๋ยวเลียงโดยเฉพาะ ( ・ㅂ・)و ̑̑

ก๋วยเตี๋ยวเลียง ก๋วยเตี๋ยวหมูเลียง เนื้อเลียง ฟังดูแปลกดี ... ทำไมต้องเลียง? ค้นไปค้นมา ก็เจอหลายตำนาน ... บ้างว่าใส่เครื่องเยอะแบบแกงเลียง ... บ้างก็ว่ามาจากการหั่นเนื้อแล้วเอามาเรียงไว้ในชาม

แต่เรื่องที่ผมเชื่อที่สุดคือ คำว่า "เลียง" ของก๋วยเตี๋ยวเลียงมาจาก "เนื้อเลียงผา" ครับ  เล่ากันว่า สมัยก่อนจันทบุรีเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์พร้อม มีทั้ง แม่น้ำ ทะเลและภูเขา เทือกเขาสระบาปในเขตอำเภอเมือง เคยมีเลียงผาอาศัยอยู่ชุกชุม เนื้อมันอร่อย จึงมักจะถูกล่ามาทำก๋วยเตี๋ยว ถึงจะอร่อยแต่เนื้อเลียงผาก็มีกลิ่นสาบแรง ต้องใส่เครื่องเทศมาก ๆ ในน้ำซุป เพื่อดับกลิ่น ก็เลยกลายเป็นสูตรน้ำซุปก๋วยเตี๋ยวเลียงในปัจจุบัน

เดี๋ยวนี้ที่เขาสระบาปไม่มีเลียงผาเหลืออีกแล้ว ถ้ายังเหลือ ก็คงลักลอบจับมาต้มน้ำซุปลำบาก ปัจจุบันก๋วยเตี๋ยวเลียง นิยมใช้เนื้อวัวหรือเนื้อหมูแทน บางร้านพัฒนาไปจนใส่ ขาหมู หรือไก่ ... ฯลฯ

จุดเด่นของก๋วยเตี๋ยวเลียงอยู่ที่ น้ำซุปสูตรเฉพาะ เข้มข้น สีน้ำตาลคล้ายน้ำพะโล้ แต่หวานกลมกล่อมและหอมเครื่องเทศเป็นเอกลักษณ์ ด้วยเครื่องเทศประจำถิ่น อย่าง เร่ว และ กระวาน อยากให้รสจัดขึ้นไปอีก ในพวงเครื่องปรุงก็จะมีน้ำตาลอ้อย (คนจันท์เรียกน้ำอ้อย) กับพริก (สด) ตำหอมๆ ให้เพิ่มรส (แต่ผมว่าแค่พริกตำช้อนเล็กๆ ก็อยู่แล้ว)

ใครที่อยากกินก๋วยเตี๋ยวเลียงแท้ ๆ ขอให้แค่ไปถึงจันทบุรี ผมรับรองว่าต้องได้กินอยู่แล้ว เพราะ ที่นี่มีร้านก๋วยเตี๋ยวเลียงมากมาย เกือบทั้งจังหวัด  เรียกว่า ร้านก๋วยเตี๋ยวธรรมดาหายากกว่าซะอีก

ร้านก๋วยเตี๋ยวเลียงแบบนี้มีทั่วไปในเมืองจันท์ ร้านนี้อยู่ย่านท่าหลวงข้าง ๆ ศาลเจ้าตั้วเล่าเอี้ย น่าอร่อยเหมือนกัน

แต่ถ้าจะให้แนะนำ ... จากประสบการณ์ส่วนตัวแล้ว ผมว่า ร้านป้าติ๊ด ที่อำเภอท่าใหม่ อร่อยที่สุด ความพิเศษของก๋วยเตี๋ยวป้าติ๊ดคือ ใช้วัตถุดิบดี เครื่องในสะอาด เนื้อน่องลายเป็นชิ้น ๆ และแทนที่จะโรยถั่วงอกอย่างเดียว แกซอยกะหล่ำปลีใส่เพิ่มลงไปด้วย เพิ่มความหวานและให้ความสดชื่น  ที่สำคัญป้าติ๊ดแกก็ ยิ้มแย้มแจ่มใจ รับแขก อัธยาศัยดีกลมกล่อมไม่แพ้น้ำก๋วยเตี๋ยวเลยทีเดียว

ก๋วยเตี๋ยวเนื้อเลียง ป้าติ๊ดท่าใหม่

หรือถ้าใครมาอยู่เมืองจันท์หลายวัน เบื่ออะไรน้ำข้น ๆ เมืองจันท์ก็ยังมีก๋วยเตี๋ยวแบบอื่นที่น่าลองอีกเยอะ เช่น ก๋วยเตี๋ยวต้มยำใส่ไข่ ร้านลุงจู๊บางกะจะ ร้านนี้ถ้าสั่งแบบพิเศษ จะมีไข่ลวกคล้าย ๆ ไข่ดาวน้ำ โปะมาให้ด้วย หรือในตัวเมืองก็มี ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นน้ำใสหน้าไปรษณีย์ มีให้เลือกทั้งหมูและเนื้อ ร้านนี้ลูกชิ้นอร่อยสุด ๆ น่าจะเป็นโรงงานลูกชิ้นขายส่งด้วย เขาขายลูกชิ้นราคาสูงถึง ลูกละ 5 บาท แต่ก็ยังมีคนมาซื้อเรื่อย ๆ รถขนลูกชิ้นเต็มหน้าร้านไปหมด น่าจะพอรับประกันความอร่อยได้

ลูกชิ้นน้ำใสหน้าไปรษณีย์ ชามละ 35 บาท แต่ถ้าซื้อแต่ลูกชิ้น ลูกละ 5 บาท
ยิ่งเขียนก็ยิ่งหิว จบดีกว่า 

29/10/2557

ภูต ผี ปีศาจของไทย┊พรายน้ำที่ป้อมพระจันทร์

พรายน้ำที่ป้อมพระจันทร์

เมื่อพูดถึง "พราย" เราก็มักจะนึกถึง ผี วิญญาณร้ายที่อยู่ในน้ำ ที่คอยทำให้คน (โดยเฉพาะเด็ก ๆ ) จมน้ำหรือลักพาตัวไปกับสายน้ำ  ตรงไหนน้ำลึก เป็นวังน้ำวน กระแสน้ำแปรปรวนรุนแรง มีคนจมน้ำบ่อย ก็มักจะมีเรื่องเล่าลือเกี่ยวกับพรายน้ำเสมอ

แต่ก็น่าแปลก เพราะพรายน่าจะเป็นผีโบราณ  มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพรายน้ำมากมาย แต่ก็ไม่มีใครบอกได้ว่าพรายน้ำนี่มันหน้าตายังไงกันแน่  ไม่เหมือน ผีกระสือ, กระหัง, นางตานี ... หรือผีในความเชื่อโบราณอีกหลายตัว ที่เอ่ยแค่ชื่อ ทุกคนก็บรรยายให้เห็นภาพเดียวกันได้เป๊ะ ๆ

ที่อธิบายลักษณะของพรายน้ำไว้มากที่สุดน่าจะเป็นเรื่องราวทางเหนือ  ชาวล้านนาเรียกพรายหรือผีน้ำ ว่า เงือก, ผีเงือก มีลักษณะเป็นงูใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นงูน้ำ  แต่ก็มีบางตำนานที่แปลกออกไป คือแทนที่เงือกจะหมายถึงงู แต่กลับกลายเป็น "จระเข้" ไปซะงั้น  ซึ่งน่าจะมาจากอิทธิพลของพวกไทใหญ่  (พระยาอนุมานราชธน เขียนถึงเงือกและนาคในเรื่อง "เมืองสวรรค์ ผีสาง เทวดา" ว่าในภาษาไทใหญ่ เงือกหมายถึงจระเข้)

ส่วนตัวแล้วผมเชื่อว่า 'เงือก' ในวรรณกรรมล้านนาก็คือ 'นาค' ... แต่จะว่าไป "เหมือนจระเข้" ก็เป็นการอธิบายลักษณะของพรายน้ำได้ดีเหมือนกัน เห็นภาพพจน์ชัดเจนเลยทีเดียว

ในกรุงเทพฯก็มีเรื่องราวเกี่ยวกับจระเข้ที่กลายเป็นพรายน้ำอยู่เรื่องหนึ่ง เรื่องนี้เกิดในสมัยรัชกาลที่ 5 ช่วงกลางๆ ในปีพ.ศ. 2442 (รศ.118) และก็เกิดขึ้นกลางพระนครนี่แหละครับ ที่ป้อมพระจันทร์ (ปัจจุบันป้อมถูกรื้อไปแล้ว กลายเป็นท่าพระจันทร์แทน)

ท่าพระจันทร์ในปัจจุบัน

เรื่องเริ่มจากมีคนหายในละแวกป้อมพระจันทร์ คนแรกคือ เจ๊กซ้ง พ่อค้าของชำบริเวณนั้น หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ระหว่างจัดเตรียมขนของจากเรือสินค้าขึ้นมาไว้ที่แพของแก ตอนช่วงค่ำ ๆ ครอบครัวและเจ้าหน้าที่พยายามค้นหาอย่างไรก็ไม่พบ พบแต่เสื้อผ้าที่ขาดวิ่นของแกลอยไปติดโป๊ะที่ท่าเตียน

ยังไม่ทันที่เรื่องของเจ๊กซ้งจะคลี่คลาย ก็เกิดขึ้นอีกคดี คราวนี้เป็นสาวสวยชื่อ อำแดงสอน หายตัวไปที่ท่าน้ำช่วงเวลาเดียวกันกับเจ๊กซ้ง และที่คล้ายกันอีกคือไม่พบร่องรอยอะไร ไม่มีเสียงร้อง, ไม่พบผู้ต้องสงสัย (ว่าลักพาตัว), ไม่พบศพ ... พบแต่ผ้าถุงขาดวิ่นลอยมาติดกอสวะเท่านั้น

พอเกิดเรื่องติดๆ กัน หนังสือพิมพ์ในสมัยนั้น (บางกอกรีดเดอร์ และอีกสองสามฉบับ) ก็ยิ่งเล่นข่าว ประโคมข่าวประมาณเรื่องเล่าเช้านี้ อยู่นานหลายวัน ... ตัวอย่าง เช่น

... วานนี้ ข่าวลือที่คนหลังป้อมพระจันทร์ ต่างถกเถียงกันหนาหู ถึงเรื่องผีพรายที่เป็นข่าวใหญ่โต โด่งดังไปทั่ว ผู้คนละแวกป้อมพระจันทร์เรื่อยไปจนจรดวังริมป้อมพระสุเมรุ ต่างก็หวาดหวั่นกันไปหมด...

แม่ค้าขายเร่ร้านรวง ปิดร้านเสียแต่ย่ำค่ำ หามีคนเดินไปไหนมาไหนไม่ เพราะผู้คนต่างก็ลือกันถึงเรื่องผีพราย จะออกมาลักตัวไป ...ฯลฯ

จากข่าวในหนังสือพิมพ์ก็เลยกลายเป็นข่าวลือ ... ยิ่งลือก็ยิ่งดัง ... ข่าวยิ่งดัง คนก็ยิ่งลือ ... บ้างว่า มีดวงตาสีแดงลอยอยู่เหนือน้ำ คอยจ้องจับคนข้ามฝากที่เคราะห์ร้ายไป ... บ้างว่า ได้ยินเสียงเหมือนตัวอะไรใหญ่ ๆ กระโจนลงน้ำไป ... บ้างก็ว่า เห็นซากหมาแมวที่หายไป ลอยมาติดใต้สะพานริมท่าน้ำหลายครั้งแล้ว ... ยิ่งลือ ก็ยิ่งกลัว ไม่เป็นอันทำมาหากิน  สุดท้ายถึงกับมีคนเอาเครื่องเซ่นไหว้ มาวางไว้ริมตลิ่งท่าน้ำกันเลยทีเดียว

บรรยากาศอึมครึมนี้คลี่คลายลงได้เพราะ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ อธิบดีกรมพระนครบาล (ประมาณ รมว.มหาดไทยสมัยนี้) ท่านทรงให้พลลาดตระเวนมาซุ่มจับผี (?) ที่บริเวณที่วางเครื่องเซ่นริมน้ำ ... พอถึงเวลาค่ำก็ปรากฏว่า ที่จริงแล้วเจ้าผีพรายที่ชาวบ้านกลัวกันนักกันหนาก็คือ จระเข้ใหญ่ตัวหนึ่งขึ้นมากินเครื่องเซ่นนั่นเอง ไม่ใช่ผีร้ายอะไรที่ไหน  เมื่อจับได้แล้วก็เอามาล่ามโซ่ไว้ให้ประชาชนดู เพื่อเป็นการสยบข่าวลือ ... เป็นอันจบ

ผมว่าเรื่องนี้น่าตื่นเต้นดี ... ตื่นเต้นตรงที่ได้รู้ว่าเมื่อก่อน เคยมีจระเข้อาศัยอยู่กลางกรุง ในแม่น้ำเจ้าพระยา ... ไม่น่าเชื่อว่าเวลาผ่านไปแค่ 3-4 ชั่วคน ท่าพระจันทร์เปลี่ยนไปมาก สมัยนี้ อย่าว่าแต่จะหาพรายน้ำฤทธิ์มากอย่างจระเข้เลย แค่พรายน้ำกระจิ๊บกระจ้อยอย่างปลาสวาย ... ผมยังเห็นอ้าปากหอบพะงาบ ๆ อยู่เลย
ป้อมพระสุเมรุ ตรงปากคลองบางลำพู ผมเอามาเป็นแบบวาดรูปแทนป้อมพระจันทร์ (ในสมัยรัชการที่ 2 แถวนี้ก็เคยมีจระเข้เหมือนกัน)

11/09/2557

ภูต ผี ปีศาจของไทย┊เสียงคร่ำครวญของสิงโตไร้คู่

เจ้าแม่สิงโตทอง

ตุ๊กตาหินรูปสิงโตหินที่เราเห็นกันตามวัด ตามวัง นั้นเป็น "ตุ๊กตาอับเฉา" (Chinese Ship Ballast) แบบหนึ่งครับ  เป็นเครื่องถ่วงเรือสำเภา กันไม่ให้มันโคลง ช่วยให้เรือแล่นฝ่าคลื่นลมได้ดีขึ้น  เป็นผลพวงมาจากการค้าสำเภากับเมืองจีนที่เฟื่องฟูขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3

ในยุคแรก ๆ เครื่องอับเฉาจะเป็นแท่งหินธรรมดา พอขนออกมาจากเรือสำเภาแล้วก็ถูกนำไปปูทางเดินในวัดหรือในวัง  ต่อมา คงเห็นว่าไหน ๆ ก็จะต้องใช้หินมาถ่วงเรือแล้ว เปลี่ยนเป็นตุ๊กตาหินน่าจะดูดี มีค่ากว่า หรือหมดที่ปูพื้นแล้วก็ไม่รู้ จึงหาของประดับแทน  ตุ๊กตาหินจากเมืองจีนเหล่านี้ มีทั้งที่เป็นของจีนแท้ ๆ และของสั่งทำ ทั้งรูปคน ฝรั่ง จีน เทพเทวดา รูปสัตว์  ใช้ตั้งประดับบริเวณต่าง ๆ ในวัด ส่วนใหญ่มักจะถูกเอามาใช้เป็นทวารบาล เป็นคู่ ๆ เสมอ โดยเฉพาะ รูปสิงโต  เพราะความเชื่อเรื่อง "ทวารบาล" ของจีนกับไทยมีต้นตอมาจากศาสนาพุทธจากอินเดียเหมือน ๆ กัน จึงเข้ากันได้เหมาะเจาะพอดี

แต่ก็ยังมีอยู่ที่หนึ่ง ที่มีสิงโตหินตั้งอยู่เดี่ยว ๆ ตัวเดียว ทั้ง ๆ ที่ตรงนั้นไม่น่าจะมีประตูอะไร? แล้วสิงโตอีกตัวไปไหน? ความน่าฉงนนี้ ทำให้เกิดเรื่องเล่าลี้ลับ สนุก น่าสนใจ มาก นั่นก็คือ ตำนานของเจ้าแม่สิงโตทอง ที่ "ศาลสิงห์โตทอง" ข้างโรงอาหารใต้ตึกคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา

ศาลสิงห์โตทองในปัจจุบัน

ตำนานเจ้าแม่สิงโตทองมี 2 เรื่อง ... 

เรื่องแรก ออกแนวโศกนาฏกรรมความรักหน่อย ๆ เนื้อเรื่องมีอยู่ว่า ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีเรือสำเภาของพ่อค้าชาวจีนแล่นเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา บรรทุกสินค้ามาเต็มลำ พร้อมกับสิงโตหินขนาดใหญ่ สวยงามมากคู่หนึ่ง ติดมาเป็นเครื่องอับเฉา  พอเรือแล่นมาถึงปากคลองบางกอกน้อย ก็เกิดอับปางลงเพราะลมพายุ  ชาวบ้านแถวนั้นช่วยกันงมสินค้าอื่น ๆ ขึ้นมาได้ แต่กู้สิงโตหินขึ้นมาได้แค่ "ตัวเมีย" เพียงตัวเดียว  พอกู้ขึ้นมาได้แล้วก็เอามาตั้งไว้ที่ริมแม่น้ำ โดยหันหน้าเข้าหาฝั่ง  วันดีคืนดีก็พบว่าสิงโตตัวนี้ได้หันหน้าออกไปทางแม่น้ำได้เอง ราวกับว่าเธอกำลังเฝ้ามองคอยสิงโตหินตัวผู้ที่ยังจมอยู่ใต้น้ำ

มีเรื่องเล่าลือกันปากต่อปากมากมาย  บางคืน มักจะได้ยินเสียงคร่ำครวญของสิงโตตัวเมียที่ร้องเรียกหาคู่ของมัน  ถ้าเป็นคืนวันเพ็ญก็จะเห็นลำแสงคู่สีแดง ส่องขึ้นมาจากแม่น้ำ เชื่อกันว่าเป็นแสงจากตาของสิงโตตัวผู้นั่นเองที่เฝ้าคอยมองหาตัวเมียบนฝั่ง

อีกเรือง มีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์อย่างมีหลักฐานน่าเชื่อถือ  อย่างที่รู้กันอยู่แล้วว่าพื้นที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของ "วังหน้า" ซึ่งเป็น พระราชวังที่ประทับของพระมหาอุปราช (กรมพระราชวังบวรสถานมงคล) ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น และเรื่องศาลเจ้าแม่สิงโตทองนี้เกิดขึ้นในสมัยของ "กรมพระราชวังบวรราชเจ้ามหาศักดิ์พลเสพ" วังหน้าในรัชกาลที่ 3

ปากคลองบางกอกน้อย มองจากศาล

ด้วยเหตุที่สถานที่บริเวณนั้นตั้งอยู่ตรงข้ามกับปากคลองบางกอกน้อยพอดี เป็นทางสามแพร่ง ซึ่งตามหลักฮวงจุ้ยแล้วถือว่าเป็นจุดที่เกิดการปะทะรับพลังไม่ดี เชื่อว่าจะทำให้ผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณนั้นประสบกับเรื่องราววุ่นวาย มีแต่ปัญหา  จะต้องแก้เคล็ดด้วยการนำเอา "สิงห์คาบดาบ" ไปติดแก้การปะทะของพลังร้ายไว้ที่ริมแม่น้ำตรงทางสามแพร่งนั้น

แต่กรมพระราชวังบวรฯทรงดำริว่า "หากจะนำรูปสิงห์คาบดาบไปติดไว้ตรงบริเวณนั้นเห็นจะเป็นการไม่ควรยิ่ง เพราะปลายดาบที่สิงห์คาบนั้น จะหันต้องพุ่งตรงไปยังทิศใต้ แล้วทิศใต้ถ้านับจากบริเวณนั้นไปก็เป็นทิศที่ตั้งของ 'วังหลวง' หรือ 'พระบรมมหาราชวัง' ซึ่งการกระทำเฉกเช่นนี้ก็อาจจะเกิดคำครหาไปในทางที่ไม่ดีว่าพุ่งดาบเข้าหาที่อยู่ของพระมหากษัตริย์ก็ย่อมเป็นได้ อีกทั้งยังทรงเกรงว่าผู้คนนั้นจะหาว่าพระองค์ทรงงมงายไร้สาระ เนื่องด้วยการแก้ฮวงจุ้ยเช่นนี้ไม่เคยมีปรากฏในประเพณีชนชั้นผู้นำของชาวไทยมาก่อน พระองค์จึงทรงมีรับสั่งให้นำสิงโตหินแกะสลักจากเมืองจีนจำนวนสามตัวที่ทำการปลุกเสกตามประเพณีจีนมาแล้วนั้น นำไปตั้งไว้ที่บริเวณท่าน้ำซึ่งตรงข้ามกับปากคลองบางกอกน้อยแทน"

เรื่องติดตั้งสิงโตนี้ มีเล่ากันไปสองเรื่อง  บ้างว่า ถูกนำมาตั้งไว้ริมตลิ่งทั้งสามตัว นานไปก็ถูกกระแสน้ำเซาะจนตลิ่งพัง สิงโตทั้งสามตัวเลยจมลงไปใต้น้ำ ต่อมากู้เอาสิงโตตัวเล็กขึ้นมาได้ตัวเดียว ซึ่งก็คือตัวที่ตั้งประดิษฐานอยู่ในศาลเจ้าแม่สิงโตทองในปัจจุบันนั่นเอง  บ้างก็ว่าเอาไปตั้งไว้ทั้งบนบกและในน้ำเพื่อแก้เคล็ดให้ครบ

ปัจจุบัน อาจเพราะตำนานเรื่องแรกและการที่ที่ตรงนี้ได้กลายเป็นสถานศึกษาไปแล้ว ทำให้เจ้าแม่สิงโตทองมีชื่อเสียงด้านความศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะเรื่องการเรียน และความรัก เพราะสิ่งที่ทำให้คนวัยเรียนคร่ำครวญได้ ก็มีแค่เรื่องนี้แหละครับ

จะว่าไปแล้ว ไม่ใช่แค่คนวัยเรียนหรอกครับ เราทุกคนล้วนเกิดมาและแสวงหาความสมบูรณ์สมดุลในแบบของตัวเองทั้งนั้น และไอ้ความสมบูรณ์สมดุลนั่นจะมีอยู่จริงรึเปล่าก็ไม่รู้ ... บางครั้งผมก็ได้ยินเสียงครวญคราง ในใจเหมือนกัน ... ครับ

ผมรู้สึกว่าตำนานทั้งสองเรื่องนี้มีธีมหลักของเรื่องต่างกัน ตรงที่เรื่องแรกเป็นเรื่องของความทุกข์จากการพลัดพราก ส่วนเรื่องที่สองกลับสะท้อนถึงความขัดแย้งของอะไรที่อยู่เป็นคู่กัน อยู่แล้ว (วังหน้ากับวังหลวง) เพราะการเปลี่ยน สิงห์คาบดาบ เป็น สิงโตหิน ไม่เป็นผล หลังจากสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ไม่ได้ทรงตั้งผู้ใดเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลอีก  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไกรสร กรมหลวงรักษ์รณเรศ (ว่าที่) ก็ถูกถวายฎีกาอยู่เสมอว่ากระทำการกระด้างกระเดื่อง ทุจริตต่อหน้าที่ รับสินบน อีกทั้งยังมีการส้องสุมกำลังผู้คน เมื่อทรงสอบสวนแล้วเป็นจริง จึงทรงให้ถอดพระยศเป็นหม่อมไกรสร แล้วให้นำสำเร็จโทษเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2391

02/09/2557

เบอร์เกอร์ในตำนาน

เมื่อพูดถึงอาหารฟาสต์ฟู้ด หลายคนก็มักจะนึกถึงอารหารฝรั่ง ทอด ๆ ย่าง ๆ กินง่าย อุดมไปด้วยไขมันและสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (ในระยะยาว) แต่ก็ถูกปากถูกใจเด็ก ๆ และวัยรุ่น และเมนูที่เป็นตัวแทนของอาหารฟาสต์ฟู้ดได้ดีที่สุดก็คือ แฮมเบอร์เกอร์  

เมนูขึ้นชื่อ (Signature) ของสยามสเต็ก  มีไข่ดาว ชีส แฮม และก็โปะด้วยสับปะรดกระป๋อง 40 บาท

ถ้าถามว่า คุณชอบเบอร์เกอร์ยี่ห้อไหน?  ส่วนใหญ่มักจะตอบว่า McDonald's เพราะเป็นเบอร์เกอร์มหาชน  บางคนที่เคยไปเรียนที่อเมริกามาก็อาจจะฝังใจกับ Berger King  บางคนไม่อยากซ้ำใคร ก็อาจจะหันไปหา Mos Burger เบอร์เกอร์แนวๆ สัญชาติญี่ปุ่น  หรือ A&W, Dairy Queen, KFC ... ไปจนถึงยี่ห้อที่ผมไม่รู้จักอีกหลายยี่ห้อ  หรือบางคนที่เป็นคนชาตินิยมจ๋า ก็อาจจะบอกว่า "ไม่อ่ะ ลุงขอกินข้าวกล่องในเซเว่นฯ ดีกว่า" ... เรียกว่ามีคำตอบหลากหลายให้เลือกสรรกันเลยทีเดียว เดี๋ยวนี้แฮมเบอร์เกอร์หาซื้อง่ายเป็นของพื้น ๆ แม้แต่ร้านสะดวกซื้ออย่างในเซเว่นฯก็ยังมีขาย (วางอยู่ข้าง ๆ ข้าวกล่องของลุงคนสุดท้ายนั่นแหละครับ)

แต่เมื่อก่อนร้านฟาสต์ฟู้ดยังมีไม่เยอะเท่านี้ สมัยที่ผมยังเป็นนักเรียนมัธยม มีแฮมเบอร์เกอร์สัญชาติไทยยี่ห้อหนึ่ง หากินได้ง่าย อยู่เป็นซุ้ม ๆ อยู่ข้าง ๆ ซุ้มขายน้ำตามโรงเรียนมัธยมหรือในมหาวิทยาลัย นั่นก็คือ "สยามสเต็ก" นั่นเอง

ผมกินแฮมเบอร์เกอร์ของสยามสเต็กครั้งแรกเมื่อตอน ม.3 จำได้ว่าเป็นงานกีฬาสี มีค่าขนมเยอะหน่อย และกินเบอร์เกอร์มันเท่ฮ์กว่ากินลูกชิ้นหรือไส้กรอกเป็นไหน ๆ

ตอนนั้นผมสั่งชีสเบอร์เกอร์ธรรมดา แต่สาวคนข้าง ๆ สั่งเมนูอลังการงานสร้างมาก ๆ โปะทั้งไข่ดาว ทั้งสับปะรดกระป๋อง ... คนขายทอดไข่ ทอดสับปะรดส่งกลิ่นหอมฉุย คนสั่งก็น่ารัก เห็นแล้วก็อยากลองชิมอย่างเขาบ้าง ... หลังจากนั้น พอมีเวลาว่าง ช่วงพักกลางวันหรือหลังเลิกเรียน ผมก็มักจะมาซุ่มเหล่สาวที่ซุ้มสยามสเต็กประจำ เหล่สาวไป ดมสับปะรดทอดไป ฟินสุด ๆ  แต่สุดท้ายแล้วก็ใจไม่ถึง (เงินก็ไม่ถึง) ไม่กล้าสั่งเมนูสุดอลังการนั้นซักที ... กินแต่ไส้กรอก :P

พอจบ ม.3 ผมก็ไปเรียน ปวช. ที่โรงเรียนชายขอบพระนคร (ลาดกระบัง) ไม่มีโอกาสเจอซุ้มสยามสเต็กอีกเลย (มีแต่รถลูกชิ้นศรีไทยกับอาบังขายถั่ว) ความรู้สึกอยากกินเบอร์เกอร์ก็ค่อย ๆ จางลง ... จนได้กลับมาเรียนมหาวิทยาลัยในเมือง ถึงมหาลัยฯที่ผมเรียนจะมีซุ้มสยามสเต็กแต่ก็กลายเป็นของธรรมดาไปซะแล้ว ตอนนั้นร้านฟาสต์ฟู้ดอื่น ๆ มีเยอะแล้ว นึกอยากกินก็เดินออกไปกินข้างนอกได้สบาย ๆ ... เบอร์เกอร์โปะสับปะรดก็เลยถูกผนึกไว้ในความทรงจำ

ซุ้มสยามสเต็กที่ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์

พ้นวัยเรียนมาแล้ว ผมก็ไม่ได้เห็นซุ้มสยามสเต็กอีกเลย เคยกลับไปมหาลัยฯ ไปโรงเรียนเก่า ก็ไม่เจอกลายเป็นฟาสต์ฟู้ดยี่ห้ออื่นไปหมดแล้ว  จนผมนึกว่าสยามสเต็กจะหายไปตามยุคสมัยแล้วซะอีก ... ล่าสุดผมมีโอกาสไปทำธุระที่ ม.ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์บังเอิญเจอ ดีใจ ก็เลยคิดจะย้อนความหลังซะหน่อย ... ลองดูว่ามันจะอร่อยสักแค่ไหน

SiamSteak

25/08/2557

ภูต ผี ปีศาจของไทย┊มือเทวดาที่บางปะอิน

จริง ๆ แล้วเรื่องผีนี่ก็แปลก คนที่เจอ ก็มักจะเจอประจำ ส่วนบางคนถึงแม้จะอยากเจอแค่ไหน เที่ยวเสาะแสวงหา ตามล่า ยังไง ก็ไม่เห็น  ส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อว่าการที่คนเราจะเห็นผีหรือมีประสบการณ์เกี่ยวกับวิญญาณ นั้น เกิดขึ้นโดยบังเอิญ ไม่มีที่มาที่ไป ไม่รู้ล่วงหน้า เหมือนกับการเกิดอุบัติเหตุ  

แต่ก็มีบางคนที่มีความสามารถติดต่อกับวิญญาณได้ สามารถเชิญวิญญาณหรือเทวดามาปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชนได้  ส่วนมากจะเป็นพวกบรรดาพระเกจิอาจารย์ หรือผู้ที่ฝึกกัมมัฏฐานมาอย่างชำนาญแล้ว หนึ่งในนั้นเป็นถึงโอรสของกษัตริย์ คือ "พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจันทรทัตจุฑาธาร กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา" พระองค์เป็นผู้นิพนธ์หนังสือเกี่ยวกับวิญญาณและสิ่งเร้นลับ ชื่อ "เพชรในหิน" และเรื่องเกี่ยวกับศาสนาอีกหลายเรื่อง  กิตติศัพท์ความสามารถของพระองค์เป็นที่เล่าลือกันมากในแวดวงเจ้านายในวัง ว่ากันว่า พระองค์อาจเชิญเทวดามาปรากฏตัวได้ พูดคุยได้ด้วย

พลูหลวง (ประยูร อุลุชาฎะ) ได้เล่าเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ "รหัสวิทยา พลังเร้นลับ" ว่า

--- คราวหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใคร่จะทอดพระเนตรเทวดา จึงให้กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชาทำพิธิติดต่อกับเทวดาภายในพระราชวังบางปะอิน เรียกเทวดามาให้ปรากฏในห้องท้องพระโรง ท่ามกลางบรรยากาศอันขลังและมืด พระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายหลายพระองค์ที่ร่วมอยู่ด้วยก็ได้เห็นมือของเทวดาขนาดใหญ่ยื่นลงมาจากเพดานท้องพระโรง เป็นมืออันสวยประดับด้วยอัญมณีแพรวพรายและมีเสียงอันก้องท้องพระโรง เป็นเสียงเทวดาโดยไม่อาจกำหนดได้ว่ามุมใด หรือ ณ ที่ใดในท้องพระโรง ---

ฟังดูเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นและอัศจรรย์มากๆ ... ผมมีโอกาสไปเที่ยวพระราชวังบางปะอิน พอเข้าไปในห้องท้องพระโรงพระที่นั่งวโรภาษพิมาน ก็อดไม่ได้ที่จะแหงนหน้าขึ้นมองเพดาน (หวังว่าอาจจะเจอร่องรอยอะไรบ้าง) ภาพที่ได้เห็นคือโคมไฟระย้า (แชนเดอเลียร์) ทำด้วยแก้วคริสตัลขนาดใหญ่ ห้อยอยู่กลางห้อง ส่องแสงระยิบระยับสวยงามมาก จินตนาการถึงภาพมือของเทวดาได้ไม่ยาก

โคมระย้าที่ผมเห็นนี้น่าจะเป็นของเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 และคงถูกนำมาติดตั้งช่วงที่ดัดแปลงพระที่นั่งรื้อองค์เดิมจากสองชั้นเป็นชั้นเดียว ในปีพุทธศักราช 2428 (ประเทศไทยมีไฟฟ้าใช้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2427)

ผมไม่แน่ใจว่าเรื่องอัญเชิญเทวดาที่บางปะอินนี้ จะเป็นเรื่องเล่าที่สะท้อนช่วงเวลาอันน่าตื่นเต้นของการมีไฟฟ้าใช้ช่วงแรกๆ ในเมืองไทย หรือเป็นอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์จริงๆ แต่เรื่องนี้ก็สะท้อนความเชื่อเรื่องวิญญาณที่ดำรงค์อยู่ในสังคมไทย ... เรื่อยมา
(ของแถม) โคมระย้ารูปมือ ฝีมือลูกสาวครับ ^_^

07/08/2557

โรงอาหารที่เป็นเหมือนโอเอซิสในห้างฯ

เคยไปหาอะไรกินในห้างฯแล้วหงุดหงิดบ้างมั้ยครับ ... ที่เป็นร้านดัง ๆ ก็คิวยาวรอนาน ... ดูในเมนูรู้สึกว่าราคา OK พอกินให้อร่อยได้ แต่พอเช็คบิลบวกค่าเซอร์วิสชาร์จก็กลายเป็นไม่อิ่มซะงั้น ... ใน Food Court ก็หาที่นั่งยาก ยังไม่ได้เก็บจานเช็ดโต๊ะบ้าง โดนมนุษย์ป้าแย่งที่นั่งบ้าง ถึงต้องใช้ความอดทนเข้าแลก แต่อาหารที่ได้ราคาก็ไม่ได้ถูกกว่าตามร้านเท่าไหร่นัก ไม่คุ้มทั้งคุณภาพและปริมาณ ถ้าไม่ตั้งสติดี ๆ เผลอสั่งอะไรแปลก ๆ อาจโดนฟันหัวแบะได้

ถ้าใครเคยมีอารมณ์นั้น ผมอยากจะแนะนำสถานที่ผ่อนคลายให้ที่หนึ่ง ที่ที่เหมือนเมืองลับแล คือไม่ค่อยมีใครรู้ หรือถึงรู้ก็มักจะไม่กล้าเข้าไป แต่รับรองว่าที่นี่จะช่วยปลอบประโลมจิตใจที่อ่อนล้าจากความรู้สึกถูกเอาเปรียบได้ ไม่มากก็น้อย

ข้าวราด กับสองอย่าง 25 บาท
ขนมถ้วยละ 10 บาท

สถานที่ที่ว่านั่นคือ โรงอาหารของพนักงานห้างฯ หรือ Canteen ครับ  เป็นสวัสดิการของทางห้างฯ ที่จัดพื้นที่ให้คนมาขายอาหารโดยเก็บค่าเช่าราคาถูก หรือไม่เก็บเลย เพื่อให้พนักงานและผู้เช่าได้มีที่กินอาหารราคาประหยัด  Canteen ตามห้างฯส่วนใหญ่จะอยู่ตามซอก ๆ ลานจอดรถ บางที่ต้องแลกบัตร แต่ส่วนใหญ่สามารถตีเนียนแฝงตัวเข้าไปกินได้ง่าย ๆ

ที่แรกที่ผมเคยไปกินก็เป็นที่มาบุญครอง อยู่ตรงซอยเล็ก ๆ ที่ติดกับสนามศุภฯตอนนั้นผมยังเป็นเด็กปวช. ยังไม่รู้ถึงความแตกต่างเท่าไหร่  ต่อมาตอนเรียนมหาลัยก็มีโอกาสรับจ๊อบวาดรูปที่เซ็นทรัลลาดพร้าว พี่ที่รับงานมาให้เขาพาไปกิน และตอนนั้นแหละ ด้วยบรรยากาศที่คึกคัก ปริมาณอาหารและรสชาติทำให้ผมประทับใจสุด ๆ  หลังจากนั้น เวลาเดินห้างฯก็มักจะสอดส่ายสายตาหา Canteen เผื่อไว้เสมอ ๆ

ล่าสุด ด้วยต้องพาลูกสาวไปเรียนเปียโนที่เซ็นทรัลบางนาทุกอาทิตย์ เลิกเรียนก็เป็นเวลาอาหารเที่ยงพอดี กินมาหมดแล้วทุกที่ ทั้งร้าน ทั้ง Food Court ... เบื่อ ๆ อยาก ๆ หมดมุข ก็ตัดสินใจพาลูกไปกินดู ... ถือว่าแก้เบื่อได้ดีเลยหละครับ ส่วนใหญ่เป็นข้าวแกงแต่ก็ดูดีกว่าใน Food Court ซะอีก มีน้ำฟรี มีที่เก็บจาน โต๊ะก็นั่งสบาย คนขายก็ยิ้มแย้มดูเป็นเจ้าของร้าน และที่ชอบที่สุดคือ คนที่มากินที่นี่ส่วนใหญ่ดูผ่อนคลาย เอื้อเฟื้อ มีน้ำใจ

อิ่มแล้ว ได้พลังบวกพอแล้ว ... แต่คิดมาคิดไปก็ไม่เข้าใจ ว่าทำไมใน Food Court โต๊ะถึงนั่งไม่สบาย  ไม่มีน้ำเปล่าให้กินฟรี  ไม่มีที่เก็บจาน ... ทั้งทั้งที่ทั้งหมดจะลดต้นทุน อาจทำให้เราได้กินอาหารในราคาถูกขึ้น และที่สำคัญ มันช่วยทำให้เรารู้สึกถึงคนอื่น ๆ รอบข้างที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมได้ จะได้ไม่รู้สึกแห้งแล้งเกินไปนัก... ก็ได้แค่คิด

31/07/2557

ภูต ผี ปีศาจของไทย┊พญามาร

คำจำกัดความของ "มาร" คือ สิ่งที่ฆ่าบุคคลให้ตายไปจากคุณงามความดี เป็นสิ่งที่ล้างผลาญคุณความดี เป็นตัวกำจัดและขัดขวางบุคคลไม่ให้บรรลุผลสำเร็จอันดีงาม

ในตำนานของชาวพุทธ มารที่มีพลังอำนาจมากที่สุด น่ากลัวที่สุด คือ "พญามารปรนิมมิตวสวัตตี" หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ "พญามาร"  เป็นจอมเทพ (ฝ่ายมาร) อยู่บนสวรรค์ชั้นที่ 6 (ชั้นสูงสุด)  ชอบแทรกแซงครอบงำจิตใจของผู้คน ให้หลงผิด ให้ยึดติดอยู่กับความพอใจในอารมณ์ ความปรารถนา หรือความสนุกสนานสุนทรีย์ในชีวิต การปรากฏตัวของพญามารครั้งใหญ่คือตอนที่ยกทัพไปขัดขวางการตรัสรู้ของเจ้าชายสิทธัตถะ แล้วก็พ่ายแพ้กลับไป 

ส่วนตัวแล้วผมเชื่อว่า "พญามาร" เป็นการอุปมาอุปไมย หมายถึงความสับสนในจิตใจที่เกิดขึ้นระหว่างการทำสมาธิ (ขัดขวางไม่ให้หลุดพ้นจากกิเลส) ในพระไตรปิฎกอธิบายแยกแยะพญามารไว้เป็นคำบาลีค่อนข้างละเอียดซับซ้อน เข้าใจยาก คิดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่กระตุ้นกิเลสภายในจิตใจของผู้คน

--มีพระอาจารย์ด้านกรรมฐานท่านหนึ่ง พูดถึงที่มาที่ไปของกิเลสไว้ชัดเจนดีมาก ท่านว่า กิเลสใหญ่ ๆ มีอยู่สามอย่าง คือ "โลภะ โทสะ โมหะ" และทั้งสามก็เชื่อมโยงส่งเสริมให้เกิดผลต่อเนื่องกัน เริ่มจาก โมหะ คือความหลง ความไม่รู้ หลงคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีตัวตนและเป็นจริงตลอดไป เมื่อมีโมหะเห็นว่าทุกอย่างเป็นจริง ก็ทำให้เกิด โลภะ หรือความโลภ ความอยาก ไขว่คว้าให้ได้มาเป็นของตน ถ้าไม่อยากก็ผลักไส และเมื่อโลภแล้วไม่สมหวัง ก็ทำให้เกิด โทสะ หรือความโกรธ ที่จะเผาผลาญทั้งผู้อื่นและตนเองให้มอดไหม้ไปในกองไฟแห่งความทุกข์

ผมคิดว่าการเข้าใจที่มาที่ไปของกิเลส จะทำให้เราพอมองเห็นภาพลักษณ์ของพญามารได้ชัดเจนขึ้น และอาจจะเข้าใจ ภูต ผี ปีศาจ มากขึ้น เพราะเรื่องผีทั้งหมด ล้วนมีจุดเริ่มต้นมาจากอิทธิฤทธิ์ของพญามารตนนี้ทั้งสิ้น
รูปพญามารฝีมือลูกสาว

28/07/2557

ภูต ผี ปีศาจของไทย┊บทนำ

สมัยเป็นเด็กประถม ผมหมกมุ่นอยู่กับเรื่องลึกลับแทบทุกประเภท  ไม่ว่าจะเป็น เรื่องราวเกี่ยวกับอารยธรรมโบราณ, สัตว์ประหลาด, อสุรกาย, มนุษย์ต่างดาวไปจนถึงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติแปลก ๆ ... ฯลฯ  จำได้ว่าเคยมีหนังสือที่รวบรวมเรื่องเร้นลับจากทั่วโลกอยู่เล่มหนึ่ง เล่มหนามาก แต่ก็อ่านได้แทบทุกวัน  มีอยู่เรื่องเดียวที่ไม่เคยสนใจ ไม่อิน ไม่เก็ต  นั่นก็คือ "เรื่องผี" ... คิดว่าน่าจะเป็นเพราะ "กลัว" นั่นเแหละ

ภาพพิมพ์แกะไม้รูปผี ของ โฮะคุไซ

23/06/2557

สุโขไกด์┊9┊ของกินกับของฝาก

ถ้าถามว่า "ไปสุโขทัยแล้วกินอะไรดี?" หลายคนอาจตอบว่า "ก็กินก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยสิ" นั่นก็ถูกส่วนหนึ่งนะครับ แต่จากประสบการณ์ตรง สดๆ ร้อนๆ ต้องบอกว่าไม่ใช่แค่ก๋วยเตี๋ยวเท่านั้น ... ตั้งแต่อาหารไทยตามร้านใหญ่ๆ ไปจนถึงรถเข็นข้างทาง ล้วนอร่อยทั้งนั้น เรียกว่า รสมือชาวสุโขทัยนี่ใช้ได้เลยทีเดียว

ผมเลือกเอาร้านที่ประทับใจสุดๆ มาแนะนำ ซัก 3 ร้าน นะครับ

มื้อแรกที่สุโขทัยที่ประทับใจผมเป็น บะหมี่หมูแดง ครับ ไม่รู้ว่าร้านชื่ออะไรแต่มีป้ายบนรถเข็นเขียนว่า "บะหมี่สด" อยู่ถนนจรดวิถีถ่องหน้าธนาคารออมสิน เส้นบะหมี่ของเขาใหญ่กว่าเส้นบะหมีทั่วไปหน่อย คล้ายๆ กับเส้นราเม็งของญี่ปุ่น ... สดอร่อยสมชื่อ ครับ ร้านเปิดตอนค่ำๆ  มีแต่คนสุโขทัยมากิน

มื้อที่สองคือที่ "ร้านแก่งสัก" ที่ศรีสัชนาลัย ร้านนี้บรรยากาศดีอาหารก็อร่อยนะครับ

ร้านนี่น่าจะเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว มี สติกเกอร์บริษัททัวร์เต็มไปหมด

09/06/2557

สุโขไกด์ ┊8┊วัดนอกกำแพงเมือง นอกกระแส?

วันนี้เป็นวันสุดท้ายของผมแล้วที่สุโขทัย เลยตั้งใจว่าจะตระเวนเก็บวัดรอบๆกำแพงเมืองเก่าให้ครบ จะได้ไม่มีอะไรค้างคาใจ ... แต่เท่าที่ไปมา ผมแปลกใจที่ไม่ค่อยมีใครสนใจวัดบริเวณนี้เลย จะมีก็แต่ พวกแบ็คแพ็กเกอร์หลงๆมา กับพวกทัวร์รถตู้อีกนิดหน่อย มาเป็นระลอกๆ แต่ถ้าเทียบกับที่ไฮไลท์อย่าง วัดมหาธาตุ กับวัดศรีชุม แล้วนับว่าเงียบเหงามาก

คงเพราะ ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน? แต่ละวัดมีอะไร? สำคัญแค่ไหน? ไปแล้วจะยังไง? ทำอะไรได้บ้าง? 
ข้าวในนาหน้าวัดเจดีย์สี่ห้อง
รวงข้าวใหม่ ๆ ยามเช้า ที่หน้าวัดเจดีย์สี่ห้อง

04/06/2557

สุโขไกด์ ┊7┊สุขอมไท?

คืนที่สองที่สุโขทัย ก็ผ่านไปได้ด้วยดี  เช้านี้ผมตั้งใจว่า จะเที่ยวชมวัดอื่นๆในเมืองสุโขทัยให้ครบ ... ระหว่างอ่านไกด์บุคไปพร้อมกับกินมื้อเช้า พบว่า ยังมีโบราณสถานที่น่าสนใจอีกเยอะ ทั้งใน และนอกกำแพงเมือง   คงต้องใช้เวลาทั้งวัน ไม่เหลือแรงขับรถกลับกรุงเทพฯแน่ๆ เลยตัดสินใจนอนต่ออีกสักคืน จะได้เที่ยวได้อย่างสบายใจ

ออกจากที่พัก ผมวนไปวัดนอกกำแพงเมืองทางทิศใต้ก่อน เพราะอยู่ใกล้ เส้นทางก็สะดวกดี จะได้ไม่ต้องย้อนไปย้อนมา และตรงนี้มีวัดสำคัญ  แต่ผมจะกั๊กเอาไว้ก่อนไม่เล่าตอนนี้ เพราะมีเรื่องอื่นที่อยากจะเล่ามากกว่า มันติดพันมาจากตอนที่แล้ว ... ตอนที่พาไปเที่ยวเมืองเชลียงที่ศรีสัชนาลัย นั่นก็คือเรื่องของ "ขอม"

ปูนปั้นที่วัดศรีสวาย
ปูนปั้นที่วัดศรีสวาย

08/05/2557

สุโขไกด์ ┊6┊เมืองเชลียง ศรีสัชนาลัยเก่ากับความหลัง

ออกจากเมืองศรีสัชนาลัยก็ได้เวลากินมื้อเที่ยงพอดี ... แถวนี้ไม่ค่อยมีร้านอาหารใหญ่ๆ ดังๆ สักเท่าไหร่ ในหนังสือนายรอยรู้ (ฉบับสุโขทัย) บอกว่า มีอยู่ร้านเดียว อยู่ตรงกลางระหว่างทางไปวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ตรงข้ามวัดโคกสิงคาราม ชื่อร้าน "แก่งสัก"

ภายในร้านก็ร่มรื่นแบบสวนอาหาร ส่วนที่นั่งกินเป็นเรือนไม้ริมแม่น้ำยม มีลมพัดเอื่อยๆ เรียกว่า บรรยากาศดีน่านอนกันเลยทีเดียว อาหารขึ้นชื่อเป็นเมนูแนะนำของที่นี่ส่วนใหญ่เป็นพวกปลาแม่น้ำ เราก็เน้นไปที่ปลา ที่สั่งมี ต้มยำปลาเค้า ปลาเนื้ออ่อนทอดกระเทียม แล้วก็ยำไข่ดาว ... ถึงปลาเค้าจะต้องเปลี่ยนเป็นปลากระพง (ซึ่งทางร้านก็ยืนยันว่าเป็นกระพงแม่น้ำ) แต่ทุกจานก็อร่อยเกินคาด โดยเฉพาะ ยำไข่ดาว นับเป็นมื้อเที่ยงที่ฟินดีจริงๆ

แม่น้ำยมมองจากร้านแก่งสัก

28/04/2557

สุโขไกด์┊5┊ศรีสัชนาลัย เมืองโบราณในอุดมคติ

คืนแรกที่สุโขทัยผ่านไปด้วยดี อาจเป็นเพราะเหนื่อยจากการเดินทาง ผมนอนหลับสนิทและตื่นเช้ามาอย่างสดชื่น มีแรงพร้อมจะเที่ยวต่อ ... เช้านี้ ตามแผน คือ เราจะไปเที่ยวศรีสัชนาลัยกัน

หลังจากจัดการกับบุฟเฟต์เช้าของเกสเฮ้าส์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เราก็มุ่งหน้าสู่อำเภอศรีสัชนาลัย  ผมใช้ทางหลวงหมายเลข 1113 ซึ่ง เชื่อว่าเป็นแนวเดียวกับ "ถนนพระร่วง" ในสมัยสุโขทัย  ผมไม่แน่ใจว่าเมื่อ 700 ปีที่แล้วทางเส้นนี้จะเป็นอย่างไร แต่เท่าที่ดูทิวทัศน์ข้างทางก็ยังสวยงามไม่ต่างจากสมัยที่ผมมาทัศนศึกษาเมื่อ 20 ปีที่แล้วเท่าไหร่นัก ถนนเส้นนี้ยังเป็นถนนสายรอง เล็ก ๆ ตรง ๆ ข้างทางมีแต่ทุ่งนา ... ตอนนี้ช่วงปลายหน้าฝน ทุ่งนาก็เขียวกว่าเมื่อก่อนหน่อย และที่มีเพิ่มขึ้นมาก็เป็นแปลงผัก

ทิวทัศนข้างทางหลวงหมายเลข 1113

11/04/2557

สุโขไกด์ ┊4┊วัดมหาธาตุหัวใจที่ยังคงเต้นอยู่ ... แม้จะเป็นคนละจังหวะก็ตาม

จากเขตอรัญญิกของกำแพงเพชร ผมกลับมาใช้ทางหลวงหมายเลข 101 มุ่งหน้าสู่สุโขทัย ... ถ้าผมมาที่นี่เมื่อ 700 ปีที่แล้ว และกำลังจะไปสุโขทัยก็คงต้องใช้เส้นทางนี้เหมือนกัน เพราะทางหลวงหมายเลข 101 นี้เป็นแนวเดียวกับ "ถนนพระร่วง" ในสมัยสุโขทัย

แนวถนนพระร่วงเที่ยบทางหลวงในปัจจุบัน
แนวถนนพระร่วงเที่ยบกับทางหลวงในปัจจุบัน

ถนนพระร่วง คือ คันดินยาวที่เชื่อมต่อระหว่างเมือง จากกำแพงเพชร สุโขทัย ไปจนถึงศรีสัชนาลัย บางคนเชื่อว่าคันดินนี้เป็นถนนโบราณ  แต่จากการสำรวจพบว่า คันดินไม่ได้ต่อเนื่องตลอดทาง ขาดเป็นช่วงๆ และที่สันก็เป็นยอดสามเหลี่ยม อีกหลายคนจึงเชื่อว่าไม่น่าจะเป็นถนน แต่น่าจะเป็นคันกั้นนำ้ขนาดใหญ่ ที่ใช้ป้องกันน้ำหลากจากเทือกเขาด้านทิศตะวันตก  แต่ผมคิดว่าถนนพระร่วงนี้น่าจะถูกใช้ประโยชน์ทั้งสองกรณี เพราะถึงสันคันกันน้ำจะไม่กว้างพอสำหรับคาราวานเกวียน แต่บริเวนที่น้ำท่วมขังก็น่าจะมีเฉพาะฝั่งตะวันตก อีกด้านคงพอใช้ได้ และด้วยความที่เป็นแนวยาวเชื่อมเมืองทั้งสามเข้าไว้ด้วยกัน การเดินทางตามแนวจึงเป็นเรื่องสะดวก (ไม่ต้องกลัวหลง) และมีเมืองเล็กๆ ย่อยๆ เป็นจุดพักเกิดขึ้นตลอดแนวนี้มากมาย

แนวถนนพระร่วงถ้าเทียบกับทางในปัจจุบัน เป็นถนนหลายเส้น คือ จากกำแพงเพชรจะเป็นทางหลวงหมายเลข 101 พอถึงอำเภอคีรีมาส ก็วกเข้าเลียบเขาหลวง เส้น 1319 ซึ่งตัดผ่าหน้าเมืองสุโขทัยเก่าพอดีตรงเส้น 1272 และจากเมืองสุโขทัยไปศรีสัชนาลัยคือ ทางหลาวงหมายเลข 1113

ผมวิ่งรถมาตามถนนพระร่วงในจินตนาการ ไม่นานก็มาถึงสุโขทัย ถึงแล้วก็จัดการเรื่องที่พักที่จองไว้ ... อาบน้ำอาบท่า พักพ่อนพอสมควร แล้วก็ออกมาเดินเล่นที่วัดมหาธาตุ ไปไหว้อนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหง และก็ไปดูพระอาทิตย์ตกที่เขาล่ำลือกัน ... เสร็จแล้วก็จะได้ไปหามื้อเย็นกินกันในตัวเมือง 

ความจริงแล้ว วันแรกนี่ผมมาแค่ซึมซับบรรยากาศเฉยๆ ไม่ค่อยได้ดูอะไรจริงจัง  แต่ตลอดเวลาที่อยู่สุโขทัย ผมก็เข้าๆ ออกๆ มาเดินเล่นวัดนี้เกือบทุกวัน เลยจะยกรายละเอียดมาเล่ารวมๆ กันไปเลย ... นะครับ

--- กลางเมืองสุโขทัย มี "วัดมหาธาตุ" ซึ่งถือเป็นวัดสำคัญที่สุดและเป็นศูนย์กลางของเมือง ตามคติการตั้งเมืองในพุทธศาสนาแบบเถรวาท ที่มักจะนิยมสร้างเจดีย์ไว้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ (วัดมหาธาตุ) ไว้กลางเมือง ---

แผนผังวัดมหาธาตุสุโขทัย

ที่ด้านหน้าของวัด มีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์มากอยู่ที่หนึ่ง แต่ไม่ค่อยมีคนสนใจเพราะไม่ค่อยเหลืออะไรให้ดูแล้ว นั่นคือ "เนินปราสาท" ปัจจุบันมีแต่ฐานอาคารก่ออิฐขนาดใหญ่ คาดว่าแต่เดิมที่บนฐานนั้นน่าจะเป็นอาคารเครื่องไม้ เดิมเชื่อว่าเป็นพระราชวัง แต่จากหลักฐานที่พบทำให้เชื่อว่าบริเวณนี้น่าจะส่วนหนึ่งของวัดมหาธาตุ และอาจจะเป็นศาลาปรุงยาตาแบบวัดในลังกา หรืออาจะเป็นศาลาการเปรียญของวัดก็เป็นได้  ที่ว่าสำคัญเพราะมีบันทึกว่าพระยาลิไททรงผนวชที่นี่ และต่อมารัชกาลที่ 4 ก็ทรงพบศิลาจารึกหลักที่ 1 (พ่อขุนรามคำแหง) สมัยที่พระองค์ยังเป็นพระภิกษุและเสด็จธุดงค์มายังสุโขทัย ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นให้มีคนสนใจศึกษาประวัติศาสตร์สุโขทัย

เนินปราสาท
เนินปราสาท

เข้ามาในวัดจะเจอ "วิหารสูง" เป็นศิลปะอยุธยาแบบที่พบได้ทั่วในกำแพงเพชร คาดว่าสร้างภายหลังสมัยที่อยุธยามีอำนาจเหนือสุโขทัย

พระประธานบนวิหารสูง
พระประธานบนวิหารสูง

หลังวิหารสูงเป็น "วิหารหลวง" เป็นอาคารโถงขนาดใหญ่ ไม่มีผนัง หลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ชายคาลาดลงมาเกือบถึงพื้น คล้ายกับวิหารของพวกล้านนาหรือลาวล้านช้างทางเหนือ แต่เดิมเป็นที่ประดิษฐาน "พระศรีศากยมุนี" พระสำริดปางมารวิชัยขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ในสมัยรัชกาลที่ 1 คราวสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ได้ถูกอัญเชิญมาเป็นพระประธานในพระวิหารที่วัดสุทัศน์ฯ เพื่อเป็นศูนย์กลางของเมือง

>
วิหารหลวงวัดมหาธาตุสุโขทัย
วิหารหลวงวัดมหาธาตุ

เจดีย์ประธานเป็นทรงดอกบัวตูม สัญลักษณ์ของสุโขทัย (ที่ผมยิ่งดู ก็ยิ่งคล้ายกับรูปทรงของพระธาตุแบบอีสาน) มีหมู่เจดีย์บริวารร้อมรอบอยู่ 8 องค์ตามทิศ เชื่อว่ากลุ่มเจดีย์นี้มีการสร้างต่อเติมกันมาหลายสมัย

เจดีย์วัดมหาธาตุ
กลุ่มเจดีย์ประธานวัดมหาธาตุ

เริ่มแรกคงเป็นกลุ่มปราสาท 5 ยอดเรียงกันเป็นแนวกากบาทแบบปราสาทเขมร

กลุ่มเจดีย์วัดมหาธาตุสุโขทัย ยุคแรก โดยสันนิษฐาน

ต่อมามีการปรับเปลี่ยนส่วนยอดให้เป็นทรงระฆังแบบลังกา ในสมัยที่สุโขทัยหันมานับถือศาสนาพุทธเถรวาทแบบลังกา

กลุ่มเจดีย์วัดมหาธาตุสุโขทัย ยุคที่ 2 โดยสันนิษฐาน

ต่อมาในสมัยพระยาลิไท ก็มีการปรับองค์ประธานให้เป็นทรงดอกบัวตูมและเพิ่มเจดีย์ทรงประสาท 5 ยอดไว้ที่มุมทั้ง 4

กลุ่มเจดีย์วัดมหาธาตุสุโขทัยในปัจจุบัน

ท้ายสุดก็มรการก่อฐานไพทีประดับปูนปันรูปพระสาวกกำลังเดินทักษิณาวัตร (เวียนเทียน) ทำให้เจดีย์ทั้งหมดอยู่บนฐานเดียวกัน

ลายปูนปั้นพุทธประวัติ
ปูนปั้นภาพพุทธประวัติ ในหน้าบันแบบลังกา
ปูนปั้นรูปพระสาวกที่ฐานของเจดีย์

รอบๆ วิหารหลวงมีเจดีย์องค์เล็กๆ ย่อยๆ เรียงรายมากมาย คงเป็นที่เก็บอัฐิของเชื้อพระวงศ์ ส่วนใหญ่เป็นเจดีย์ทรงกลมเหรือไม่ก็เป็นทรงดอกบัวตูม แต่มีอยู่ 2 องค์ที่แปลกไป องค์หนึ่งเป็นเจดีย์ 4 เหลี่ยมคล้ายกับเจดีย์กู่กุตที่ลำพูน อีกองค์ก่อด้วยศิลาแลงและไม่น่าจะเป็นเจดีย์ เหมือนปราสาทขอมมากกว่า

เจดีย์ 4 เหลี่ยมแบบกู่กุตที่ลำพูน
ปราสาทขอมที่ปะปนอยู่ในกลุ่มเจดีย์

ด้านทิศใต้ของวิหารหลวง มีเจดีย์องค์ใหญ่อีกองค์ ชาวบ้านเรียกว่า "เจดีย์ 5 ยอด" เป็นทรงดอกบัวตูม ที่ฐานมีลายปูนปั้นประดับ และมีซุ้มมณฑปอยู่ตามทิศ ข้างในมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ เป็นปางมารวิชัย 3 ด้าน ส่วนด้านหน้าเป็นปางไสยาสน์  ด้วยรูปแบบและที่ตั้ง ทำให้เชื่อว่า เจดีย์นี้เป็นที่เก็บอัฐิของพระยาลิไท

เจดีย์ 5 ยอด ที่บรรจุพระอัฐิพระยาลิไท
ลายปูนปั้นที่ฐานเจดีย์ คล้าย ลายปูนปั้นแบบทวาราวดี
แต่มองอีกที ก็เหมือนลายจีน

มีการค้นพบกรุในเจดีย์องค์ย่อมๆ ที่ด้านหน้าเจดีย์ 5 ยอด ภายในมีจารึกที่กล่าวถึงการทำสัตย์สาบานของกษัตร์สุโขทัยพระองค์หนึ่ง ว่า "น้าพระยา" จะไม่ทำร้าย "สมเด็จเจ้าพระยา" (น่าจะเหมายถึงสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) ในยามที่เดินทางมาไหว้พระอัฐิของพระมหาธรรมราชา (พระยาลิไทย ซึ่งเป็นพระเจ้าตา) มีการฝังพระพุทธรูปแบบอยุธยากับพระพุทธรูปสุโขทัยหันหน้าเข้าหากัน เหมือนเป็นหลักฐานการทำสนธิสัญญาระหว่างสุโขทัยกับอยุธยา อีกด้วย (ปัจจุบันของในกรุจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง)

ต้นไทรสวยดี

--- วัดมหาธาตุนี้นอกจากจะเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวเมืองสุโขทัยแล้ว ยังถูกใช้เป็นศูนย์กลางทางกายภาพอีกด้วย คือเป็นบริเวณที่ใช้ประกอบพระราชพิธีสำคัญต่างๆของแคว้น คล้ายกับจตุรัสกลางเมือง ของเมืองสมัยใหม่ทั่วไป  ในศิลาจารึกหลักที่ 1 บรรยายถึงสภาพบ้านเมืองในสุโขทัยและกล่าวถึงพระวิหารขนาดใหญ่ ว่า ในยามที่มีงานนักขัตฤกษ์ จะมีผู้คนพากันเบียดเสียดเข้ามาในเมือง เข้ามาจุดเทียนเผาไฟไหว้พระกัน ซึ่งน่าจะหมายถึงวัดมาหาธาตุนี่แหละครับ (ตรงนี้น่าจะเป็นเหตุให้เข้าใจผิดว่าสุโขทัยมีประเพณีลอยกระทง จน ททท. จัดงานแสดงแสง สี เสียง ขึ้นที่นี่ในช่วงวันลอยกระทง)

ในอดีต บรรดาประชากรชาวสุโขทัยที่มาชุมนุมกันตอนนั้น ถ้าดูตามรูปแบบศิลปกรรมในวัดมหาธาตุเอง ก็น่าจะประกอบไปด้วยคนหลากหลายเชื้อชาติ ... คนไทยและไทใหญ่จากทางเหนือ ... พวกลาวจากหลวงพระบางและเวียงจันท์ ... คนมอญ คนจีน และพระจากลังกา ... พวกคนสุพรรณที่พูดสำเนียงเหน่อๆ และก็พวกลูกครึ่งเขมรจากลพบุรี (ละโว้)  สมัยนั้น ... ทุกคนคงมาทำบุญกัน ด้วยหวังจะได้มีโอกาสเกิดใหม่ในยุคพระศรีอารย์

ส่วนในปัจจุบัน แม้ว่าวันที่ผมไปจะไม่ใช่วันนักขัตฤกษ์ หรือมีการจัดงานอะไร แต่ ผู้คนต่างเชื้อชาติก็ยังพากันเบียดเสียดเข้ามาชุมนุมกันที่นี่เหมือนเมื่อ 700 ปีที่แล้ว คนพวกเดิมน่าจะหลอมรวมกันเป็นคนไทยหมดแล้ว และก็มีพวกฝรั่งยุโรปกับญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นมาหน่อย  สมัยนี้ ... ไม่มีใครมาไหว้พระหรือทำบุญกันแล้ว พระศรีอารย์ก็ไม่รู้จะมีจริงรึปล่าว? ทุกคนเขามาเพื่อชมพระอาทิตย์ตกกันต่างหาก

พระอาทิตย์ตกที่วัดมหาธาตุ
พื้นที่จัดงานลอยกระทง (ทั้งๆ ที่ สุโขทัยไม่เคยมีประเพณีนี้มาก่อน)
วัดมหาธาตุจากมุมมองของ นักถ้ำมอง อิอิ

ที่วัดมหาธาตุนี้กลายเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามได้อย่างประหลาด ทั้งๆ ที่ไม่ได้อยู่บนที่สูงเห็นทิวทัศน์ได้กว้าง แต่ด้วยวิหารที่ไม่มีหลังคา (เหลือแต่เสา) ทำเห็นมองเห็นรูปทรงที่สวยงามขององค์พระธาตุได้ชัดเจน บวกกับสระน้ำรอบๆวัด ที่คอยสะท้อนสีสันของท้องฟ้ายามเย็น ทำให้ที่นี่เหมาะที่จะถ่ายภาพพระอาทิตย์ตกเอามากๆ จะเก็บภาพ อัพเฟส เช็คอิน ที่นี่ก็เหมาะสำหรับเรียกไลค์ ... หรือไม่ แค่นั่งชมเฉยๆ ก็ทำให้เกิดความรู้สึกอิ่มใจอย่างประหลาด

ใจอิ่มแต่ท้องหิว เมื่อพระอาทิตย์ตกสนิทแล้ว ผมก็เลยพาครอบครัวไปหาอะไรกินในตัวเมือง ไปเจอบะหมี่ร้านอร่อยร้านหนึ่ง เป็นแผงข้างทางแถวๆ หน้าธนาคารออมสิน ถนนจรดวิถีว่อง ชื่อร้าน "บะหมี่เส้นสด" เส้นเขาสดอร่อยจริงๆ นะครับ (ไม่ใช่เพราะหิว) ใครไม่เชื่อ ... ไปลองดูได้ครับ ;)