03/02/2564

ไปเสม็ดเราเที่ยวด้วยกัน

Blog ตอนนี้ เนื่องจากสถานที่ที่ไปเที่ยวนั้นผมคุ้นเคยดีอยู่แล้ว และคิดว่าคนอื่นก็น่าจะคุ้นเคยหรือหาข้อมูลกันได้ง่าย ๆ เหมือนกัน ผมเลยลองวิธีเล่าเรื่องใหม่ หลาย ๆ แบบ เล่าเป็นการ์ตูนช่องบ้าง เล่าเป็นรูปบวกคำอธิบายบ้าง เป็นบันทึกแทรกรูปบ้าง เป็นภาพ Sketch บ้าง ... หวังว่าผู้อ่านจะสนุกไปกับมันนะครับ

ถึงระยอง 10 โมงกว่า ๆ แวะบ้านก๋งที่ถนนยมจินดา เอาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่แม่ลิงเย็บมาฝากขาย พวกหน้ากากผ้ากับสายคล้อง ถุงผ้า ... ฯลฯ และเสื้อผ้าของใช้ที่ไม่จำเป็นลง เหลือไว้แต่ของเตรียมขึ้นเกาะ

ก๋งดูดีใจและแข็งแรงกว่าที่ยายเล่าในโทรศัพท์เยอะ พวกท่านเห็นว่าเรายังไม่ได้กินข้าว เลยชวนไปกิน "ก๋วยเตี๋ยวแกงส้ม" แถวบ้าน (ก๋วยเตี๋ยวแกงส้มก็คือ ก๋วยเตี๋ยวสูตรใหม่ เป็นน้ำซุปแกงส้มแดง ๆ คล้ายน้ำแป๊ะซะ เปรี้ยว ๆ หวาน ๆ โรยหน้าด้วยเครื่องทะเล พวก หมึก กุ้ง ปลา) ซึ่งผมคิดว่านาน ๆ กินทีก็อร่อยดี แต่สองลิงแม่ลูกเฉย ๆ เธออยากกินข้าวบ้านมากกว่า รีปไปเปิดฝาชีดู เห็นบนโต๊ะมีกับข้าวอยู่สองอย่าง แกงเขียวหวานเจ้าประจำซื้อมากับเต้าหู้ผัดถั่วงอกฝีมือยาย ... ข้าวสวยก็มีในหม้อ ไม่รอช้าตักกินกันเป็นมื้อ 'เชี่ยง' (เช้ากับเที่ยงรามกัน) ... แน่นอนว่าผมก็ต้องกินด้วย ช่วยไม่ได้
╮(╯_╰)╭

แกงเขียวหวาน ว้าน ... หวาน แถมเย็นชืด ผัดถั่วงอกก็เซ็ง ๆ แล้วก็เค็มไปนิด แต่สองคนนั้นก็กินกันอย่างเอร็ดอร่อย จะว่าไป ถึงจะคิดติโน่นนี่นั่นแต่ผมก็เองเติมข้าวสองจานเหมือนกัน อิ่มหมีพีมันก้นแล้วก็มุ่งหน้าสู่ท่าเรือที่บ้านเพ ... เรือออกตอนเที่ยง

กินข้าวเสร็จเกือบบ่ายสอง รอให้ย่อยสักพัก ... และแล้วก็ได้เวลาทำกิจกรรมชาวเกาะของเราเสียที่ ... ไปดำน้ำกัน

คงเป็นเรื่องธรรมดาที่ "สิ่งที่คิด" กับ "สิ่งที่เป็น" มักจะสวนทางกัน หาดทรายขาวเนียนละเอียดริมฝั่ง ก็มีอยู่เท่าที่เห็นนั่นแหละ เลยลึกลงน้ำมาเป็นพื้นหิน มีฝุ่นตะกอนสีขาว ๆ คลุมอยู่ ย่ำไปย่ำมามันจะฟุ้งทำให้น้ำขุ่น อุปกรณ์ดำน้ำตื้นราคาถูกที่อุตส่าห์ลองมาแล้วอย่างดิบดีที่ร้าน นึกว่าจะใช้งานได้ แต่พอมาลงน้ำจริงก็ติด ๆ ขัด ๆ เป็นฝ้าบ้าง น้ำเข้าบ้าง กล้องสะเทินน้ำสะเทินบกที่กะจะเอาลงน้ำแล้วถ่ายเลย แชะ ๆ ๆ ก็ยังต้องปรับต้องลอง ... ก่อน

แต่พอเวลาผ่านไป เริ่มปรับตัวได้ ไม่รีบ ไม่ลน ... ตั้งใจหน่อยก็ใช้หน้ากากดำน้ำได้อย่างสบาย ลอยตัวเบา ๆ ไม่ทำให้น้ำขุ่น เลิกพะวักพะวงกับกล้องก็ทำให้มีสมาธิพอมองเห็นตัวอะไรต่อมิอะไรมากขึ้น ถึงตรงหาดที่ดำอยู่นี้จะไม่มีปะการังเป็น ๆ เลย ปลาเอย (มีปลาเยอะอยู่นะ) ปลิงเอย ปูเอย (เจอปูด้วย) ก็สีจืด ๆ สู้ทะเลทางใต้ไม่ได้ แต่โดยรวมแล้วอ่าวปะการัง เกาะเสม็ด ก็เป็นที่ดำน้ำตื้นที่ดี ใช้บรรเทาอาการอยากหัวเปียก อยากอม ๆ พ่น ๆ น้ำเค็ม ของโรคคิดถึงทะเลของผมได้ ... ครับ

อ้าว ... เฮ้ย! แบตกล้องหมด ... ก็ดี ขี้เกียจถ่ายรูปแล้ว

ครั้งนี้ได้เห็นได้เห็นเกาะเสม็ดในแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เห็นความอุดมสมบูรณ์และธรรมชาติที่สวยงามสมเป็น "อุทยานแห่งชาติ" มีพืชแปลก ๆ มีสัตว์น่ารัก ๆ ออกมาให้เห็นหลายตัว ยิ่งเป็นช่วงโควิดระบาดอย่างนี้บรรยากาศยิ่งสงบ คนน้อย เกาะได้พัก คนโชคดีอย่างผมมาเห็นก็เลยผ่อนคลายตามไปด้วย ... โชคดีจริง ๆ

ใครอ่านมาถึงตอนนี้แล้วนึกอยากเห็นภาพจริง ๆ บ้าง ... เลยคัดภาพมาให้ดูเป็นน้ำจิ้ม 8 รูปนะครับ หวังว่าคงพอเห็นบรรยากาศ แต่ยังไงผมก็ว่าถ้าจะให้ดีควรไปสัมผัสเองเลยที่เกาะเสม็ด รับรองฟินกว่าแน่นอน ... ครับ

23/10/2563

สัตว์ประหลาด ... สุดประหลาด ที่วัดโพธาราม

ที่วัดโพธาราม จังหวัดมหาสารคาม มีศาลาการเปรียญใหญ่หลังหนึ่ง รูปแบบ รูปทรงและการตกแต่งแปลกตา เพราะเป็นฝีมือช่างญวน (เวียดนาม) รอบศาลามีปูนปั้นรูปสัตว์ประหลาด พิสดารแบบที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อนประดับไว้ 

มีราว 20 ตัว บางตัวคล้ายสิงโตจีนที่มีแข้งสิงห์แบบไทย บางตัวเหมือนมังกรแต่ก็มีเครา มีหงอน คล้ายพญานาค สภาพไม่ค่อยสมบูรณ์ ถูกทาสีทับหลายชั้น ร่องรอยรายละเอียดลบเลือน บางที่ดูไม่ออกว่าเป็นส่วนไหนของตัวอะไรกันแน่ มีที่ว่างให้ใช้จินตนาการตีความเยอะ และคงถูกตีความใหม่ (ซ่อม) มาแล้วหลายครั้ง ... หลายรูปตรงส่วนที่น่าจะเป็นหางกลับเป็นส่วนหัวของสัตว์อื่น ... เห็นแล้วสนุกดี ผมอยากลองตีความบ้าง ก็เลยออกมาเป็นเลขชุดนี้ เอ๊ย!! ... รูปชุดนี้ครับ

สำหรับคนที่อยากตามไปดูของจริง ผมเคยเขียนถึงวัดโพธารามไว้แล้ว ในตอน ลายแทงสิมอีสาน┊5┊วัดโพธาราม มีปักหมุด Location ไว้ให้ด้วยเผื่อใครกลัวหลง 
ᕕ( ᐛ )ᕗ

18/06/2563

ลายแทงสิมอีสาน┊6┊วัดยางทวงวราราม

ฮูปแต้ม วัดยางทวงวราราม (วัดบ้านยาง)

คงเป็นเรื่องแปลก ถ้ามาถึง อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม แล้วไม่แวะนมัสการพระธาตุนาดูน ... ที่แปลกกว่าคือ แทนที่จะมาตอนเช้า แดดอ่อน ๆ หรือบ่ายแก่ ๆ รอให้แดดร่มลมตกก่อน เรากลับกล้าท้าทายพระอาทิตย์ มาซะเที่ยง ... ที่แปลกที่สุดคือ ถึงแม้จะเป็นช่วงพระอาทิตย์ตรงหัว แดดเปรี้ยง ลานรอบเจดีย์ร้อนระอุระดับกระทะเทปัน แต่พุทธศาสนิกชนผู้ไม่กลัวแดดก็ยังหลั่งไหลมานมัสการพระธาตุ มากมาย ไม่ขาดสาย

จากวัดโพธารามผมแวะไหว้พระธาตุนาดูน โดยหวังว่าไหว้เสร็จแล้วอาจเข้าพิพิธภัณฑ์ดูโน่น ดูนี่ ใช้เวลานานสักหน่อย เพราะรอบ ๆ บริเวณพระธาตุมีที่น่าสนใจหลายที่ แต่แดดเที่ยงวันแรงจนท้อ ลูกลิงก็เริ่มป่วยเพราะโดนแดดแรง ๆ สะสมมาตั้งแต่เช้า เลยตัดสินใจรีบไหว้แล้วขึ้นรถ แวะกินอาหารตามสั่ง ง่าย ๆ แต่อร่อยที่ครัวนาดูน หายเหนื่อยแล้วเดินทางต่อเลย

เป้าหมายสุดท้ายของเราคือ ‘สิมวัดยางทวงวราราม’ หรือเรียกง่ายๆ ว่า “วัดบ้านยาง” วัดที่เป็นต้นแบบในการสร้างสิมให้วัดสระบัวแก้ว ที่ผมเอามาเล่าไว้ตอนแรกนั้นแหละครับ

จากอำเภอนาดูนถึงวัดบ้านยาง อำเภอบอรือ จะผ่านสถานที่น่าสนใจ น่าแวะ หลายที่ ... เคยเห็นในรายการโทรทัศน์ว่าที่บ้านหนองโนใต้ มีคณะ ‘หมอลำหุ่น’ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากฮูปแต้มบนสิม เอาวัสดุพื้นบ้านอย่างกระติ๊บไปทำหุ่นให้เด็กนักเรียนเชิด เล่นเรื่องสินไซย (อยากดูมาก) ... แต่ผมคงมาผิดเวลา ขับรถผ่านไม่เห็นป้ายหรืออะไรที่เป็นสัญลักษณ์ว่ามีคณะหมอลำหุ่นอยู่เลย ก็เลยข้ามไป ... อีกที่เป็นปราสาทขอมหลังเล็ก ๆ ชื่อว่า ‘ปรางค์กู่บัวมาศ’ แต่ทริปนี้ไม่ได้เกี่ยวกับปราสาทหิน ก็เลยข้ามไปอีก

สิมวัดหนองขาม
สิมด้านหน้า
สิงห์หน้าประตูทางเข้า หน้าตาเหมือนหมาพันธุ์คอลลี่

ที่ผมแวะคือ วัดหนองขาม เป็นวัดเงียบ ๆ สิมเก่าได้รับการบูรณะแล้วตั้งอยู่โดด ๆ มีป้ายบอกประวัติของกรมศิลป์ฯ รู้สึกเหมือนโบราณสถานมากกว่า ไม่มีฮูปแต้ม มีแค่สีครามทาเน้นตามขอบหน้าต่าง แต่รูปทรงสไตล์โคโลเนียลของสิมสมบูรณ์สวยดี

พอใกล้ถึง วัดบ้านยาง วิวข้างทางก็เปลี่ยนจากทุ่งนาเขียวชอุ่มเป็นป่าใหญ่ต้นไม้ครึ้ม เลยป่ามาก็ถึงวัด เป็นวัดแบบที่ ‘วัด’ ควรจะเป็น คือ เงียบสงบเย็นสบายแต่ไม่เปลี่ยว สิมสวย รู้สึกว่าเป็นสิมเดียวที่ยังถูกใช้งานอย่างสม่ำเสมอ สะอาด เรียบร้อย พระเยอะเณรก็เยอะ

สิมวัดบ้านยาง
ทางเข้าสิม เหมือนวัดสระบัวแก้วเป๊ะ ๆ เพียงแต่สิงห์วัดนี้ไม่มีลูก
ด้านในสิม

ฮูปแต้มใช้สีโทนเดียวหนักไปทางคราม เขียนเรื่อง พุทธประวัติ พระเวสสันดรชาดก นิทานชาดก นิทานพื้นบ้านหลายเรื่องปนๆ กันไป ... ช่างเขียนฝีมือดีมาก ลายเส้นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่โดดเด่นที่สุดน่าจะเป็นรูปสัตว์ เก็บรายละเอียดได้ครบถ้วนรวมถึงสายพันธุ์ เรียกว่าให้นักชีววิทยามาดูก็รู้ว่าเป็นพันธุ์อะไรไม่ผิดเพี้ยน โดยเฉพาะภาพนก

ฮูปแต้มที่ผนังช่องหนึ่ง วางจังหวะสวยดี
วงดนตรีแบบชาวบ้านยาง
ช่างแต้มท่าทางจะชอบสัตว์มาก แทรกรูปสัตว์ต่าง ๆ ไว้เต็มผนัง
รูปนกนานาชนิด
ภาพนี้อยู่เหนือประตูทางเข้าสิม มาจากนิทานเรื่องอะไรไม่แน่ใจ แต่คุ้นมาก
เพิ่งรู้ว่า สมัยก่อนเขาล่าช้างแล้วเอาคานหามกันอย่างนี้ก็ได้ แถมเอาแมวถ่วงไว้อีกด้านก็ได้อีก ... แมวอ้วนแท้ ๆ
ใครเคยอ่าน ‘เจ้าชายน้อย’ คงคุ้นรูปคล้ายหมวกที่เขาอธิบายว่าเป็น รูปงูเหลือมกินช้างเข้าไปทั้งตัว ... แต่นั่นเพราะคนแต่งเป็นชาวฝรั่งเศส ไม่คุ้นกับทั้งงูและช้าง ... ที่จริงต้องประมาณนี้ ฮ่าฮ่า

ดูเสร็จแล้วประมาณบ่าย 3 โมง จากวัดบ้านยางไปออกอำเภอบรบือได้ไม่ยาก แล้วจากบรบือก็ใช้ทางหลวงหมายเลข 23 กลับมหาสารคามได้เลย ไม่ต้องย้อนไปย้อนมา ถึงมหาสารคามแล้วก็ พักผ่อนตามอัธยาศัยตัวใครตัวมัน พรุ่งนี้ค่อยกลับกรุงเทพฯ เป็นอันปิดทริป ลายแทงสิมอีสาน แค่นี้ (´∀`)

เอาจริง ๆ ผมคิดว่า ทริปแบบนี้ 2 วัน 6 วัด นี่แน่นไปนิดรีบไปหน่อย แถมมารู้ตอนหลัง (ตอนเขียน Blog) ว่าพลาดไปอีกหลายสิมเลย ความจริงถ้าจะให้ครบถ้วนกระบวนความของงานจิตรกรรมฝาผนังแบบพื้นบ้านอีสาน ควรเพิ่มสิมในจังหวัดร้อยเอ็ดเข้าไปด้วย แต่ก็ไม่เป็นไร ยกไปไว้คราวหน้าได้ ... เพราะมีคราวหน้าแน่ ๆ

05/06/2563

ลายแทงสิมอีสาน┊5┊วัดโพธาราม

จากวัดป่าเลไลย์ ผมเลี้ยวเข้าซอยเล็ก ๆ ข้างวัด ผ่านด้านหลังชุมชนบ้านดงบัง ไปตามป้ายสถานที่น่าสนใจที่ติดไว้หน้าวัด อยากรู้จัง ว่าไอ้ “ชุมทางกระรอกป่า” นี่มันจะเป็นอย่างไร ตั้งใจว่า ถ้าเจอศาลก็จะจอดรถไหว้ ถ้าเจอต้นไม้ใหญ่ก็จะลงไปถ่ายรูป

ขับลึกเข้ามาเรื่อย ๆ เห็นต้นไม้ครึ้มข้างทาง มีดงไผ่ ดงวัชพืชสลับกับบ้านคน สวนคร้วและก็คอกควาย ... คิดในใจว่าต้องเจอศาล อีกเดี๋ยวต้องเจอกระรอก รก ๆ อย่างนี้น่าจะมีตัวอะไรบ้างล่ะ ... แต่ก็ไม่เจออะไรสักอย่าง ... รู้สึกเหมือนอยู่ในเขาวงกต แต่ไม่กลัว ถ้าหลงก็แค่ขับย้อนกลับ ... ขับต่อตามทางมาเรื่อย ๆ สักพัก ก็มาโผล่ที่หน้าวัดโพธาราม พอดี ... เอ๋!? (゚д゚;)

สิมวัดโพธาราม
ตรงสันหลังคาทำเป็นรูปพญานาค
นาคเฝ้าทางเข้าสิม
ถ่ายให้ดูความสูง

สิมวัดโพธารามรูปทรงคล้ายสิมวัดป่าเลไลย์ แต่ใหญ่กว่า 2 เท่า ตัวสิมตั้งอยู่บนฐาน 2 ชั้น สูงรวมกันท่วมหัวร่วม 2 เมตร หลังคามุงกระเบื่องรองด้วยเมทัลชีทต่อปีกนกกว้างคลุมทั่วบริเวณสิม ตรงทางเข้ามีบันไดสูง ราวบันไดทำเป็นรูปพญานาคตัวใหญ่ 2 ตัวเฝ้าอยู่ น่าเกรงขามมาก สุดบันไดมีป้ายเขียนว่า “ผู้หญิงห้ามขึ้น” ตามธรรมเนียมอีสาน ... สมัยนี้สมัยที่คนเราชอบหาเรื่องกัน อาจมีคนมองเรื่องนี้เป็นการเหยียดเพศ แต่ผมคิดว่ากรณีนี้เหตุผลหลักน่าจะเป็นเรื่องการจัดสรรพื้นที่ใช้สอยมากกว่า

ถ้ามองอีกมุม ธรรมเนียมแบบนี้ก็เป็นเหตุให้เรามีฮูปแต้มที่กำแพงด้านนอกสิม ซึ่งนอกจากจะเป็นเครื่องช่วยอธิบายให้ญาติโยมผู้หญิงเข้าใจหลักธรรมคำสอน แล้วยังเหลือไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่าของชาวอีสานอีกด้วย

ฮูปแต้มวัดโพธาราม มีเนื้อหาหลายเรื่องปนกัน พระเวสสันดร พระพุทธประวัติ พระป่าเลไลยก์ รามสูร-เมขลา และเรื่องสินไชย เป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซของ อาจารย์ซาลาย และนายสิงห์ วงศ์วาด ทั้งคู่เป็นชาวบ้านดงบัง แต่ผมคิดว่า ใครคนใดคนหนึ่งหรืออาจจะทั้งคู่ ต้องเคยเข้าเมืองหลวงแน่ ๆ หรือไม่ก็มีโอกาสได้เรียนรู้ศิลปะจากหลาย ๆ ที่ เห็นได้จากหน้าประตูทางเข้าสิมมีรูป ‘กระซิบรัก’ แบบเดียวกับที่วัดภูมินทร์ที่น่าน และยังมีรูป พระแม่ธรณีบีบมวยผมที่ดูคล้ายศิลปะแบบทางภาคกลางอีกด้วย

ซุ้มหน้าต่างเป็นช่องสี่เหลี่ยมแคบๆ ธรรมดา
ภาพกระซิบ คล้ายภาพที่วัดภูมินทร์ จ. น่าน
ช่างแต้มมีฝีมือขนานไหนดูได้จากรูปช้าง
พระแม่ธรณีในซุ้มลายกนก สัดส่วนสวยเหมือนทางภาคกลาง
ราหู และชูชก
ศาลาการเปรียญฝีมือช่างญวน
สัตว์ประหลาด ... ประหลาดมั้ยล่ะ
หอไตรกลางน้ำหน้าวัด

นอกจากสิมและฮูปแต้มแล้ว วัดโพธารามยังมีสถานที่น่าสนใจอีก 2 ที่ คือศาลาการเปรียญหลังใหญ่ฝีมือช่างญวน ที่อยู่ข้าง ๆ สิม รูปแบบสถาปัตยกรรมสวยงามแปลกตา มีลายปูนปั้นรูปสัตว์ประหลาด (ประหลาดจริงๆ ) อยู่ที่ซุ้มหน้าต่าง  อีกที่คือหอไตรกลางน้ำที่หน้าวัด อันที่จริงหอไตรนี้คือสิมน้ำหลังเก่า บรรยากาศดีถ่ายรูปแล้วเหมือนย้อนเวลาเลย

อิ่มตาอิ่มใจกับศิลปกรรมสวยๆ แล้ว ก็ถึงเวลาเติมอย่างอื่นให้ ‘อิ่ม’ บ้าง ... คิดแล้วก็รีบขึ้นรถ ไปหาอะไรกินในตัวอำเภอนาดูน พออิ่มท้องแล้วจะเข้าไปไหว้พระธาตุนาดูน ให้อิ่มบุญกันไป ... สบายใจสามอิ่ม
(๑˃̵ᴗ˂̵)و